5 ก.ค.63-นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ เปิดเผยว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 และการล็อกดาวน์ปิดเมืองในช่วงที่ผ่านมาได้เพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและเกิดสถานการณ์เลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมจำนวนมาก ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงมากอยู่แล้ว ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของประเทศไทยนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นบ้าง หลังจากมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด การแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรเพื่อให้เกษตรกรได้ราคาที่เหมาะสมในช่วงก่อนหน้านี้ แต่หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจได้ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
ขณะเดียวกันวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้จะส่งผลให้โครงสร้างของกลุ่มทุนในไทยเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะเดียวกับวิกฤติปี 2540 นอกจากยังส่งผลต่อกลุ่มอาชีพต่างๆแตกต่างกันไป โดยกลุ่มอาชีพทักษะสูงรายได้สูงนั้นเป็นกลุ่มที่สามารถปรับตัวมาทำงานที่บ้านได้มากกว่าอาชีพที่ใช้ทักษะกลางหรือทักษะต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้ว เช่น ธุรกิจบริการท่องเที่ยวธุรกิจในสถานบันเทิง ค้าขายและบริการ สนามมวย ผับบาร์ อาบอบนวด เป็นต้น หรือ งานที่ต้องใช้ทักษะระดับกลาง เช่น ลูกจ้างและแรงงานในสายการผลิตของโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานที่อาศัยการส่งออกเนื่องจากส่งออกของไทยหดตัวรุนแรง เนื่องจากเงินเดือนมีความสัมพันธ์กับทักษะ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้จะส่งผลต่อลูกจ้างกลุ่มรายได้ระดับกลางและระดับต่ำอย่างรุนแรงกว่า
"พนักงานระดับบริหารมีรายได้สูงส่วนใหญ่สามารถทำงานที่บ้านได้ ไม่สัมผัสใกล้ชิดได้ แรงงานกลุ่มนี้กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มระดับเงินเดือนสูงที่สุด ขณะนี้ กว่าร้อยละ 40-50 ของกลุ่มลูกจ้างที่จัดว่ามีเงินเดือนต่ำและค่อนข้างต่ำนั้นเจอภาวะ ‘สองเสี่ยง’ คือ ปิดเมืองก็เสี่ยงจากการสูญเสียรายได้ เปิดเมืองก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยที่กลุ่มลูกจ้างรายวันและอยู่ภายใต้การจ้างงานแบบเหมาช่วงได้รับผลกระทบมากที่สุด และ ขณะนี้มีการทยอยเลิกจ้างจำนวนมาก โดยไม่ได้รับค่าชดเชยจากการเลิกจ้างตามกฎหมาย"
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การคลายล็อกดาวน์เฟสห้าบรรเทาปัญหาได้ระดับหนึ่งแต่ยังมีแรงงานจำนวนมากยังเสี่ยงต่อการว่างงาน รัฐต้องไม่ซ้ำเติมปัญหาด้วยการเลิกจ้างพนักงานองค์กรของรัฐและรัฐวิสาหกิจในขณะนี้ แต่รัฐควรสนับสนุนทางงบประมาณเพื่อให้องค์กรที่ประสบภาวะขาดทุนสามารถดำเนินกิจการและรักษาการจ้างงานไปให้ได้ก่อนในช่วงนี้ การดำเนินการปฏิรูปองค์กรที่จะนำมาสู่การลดขนาดองค์กรหรือการเลิกจ้างควรชะลอไปก่อน ควรปฏิรูปองค์กรหรือแก้ปัญหาการประสบปัญหาฐานะทางการเงินหรือภาวะหนี้สินด้วยวิธีการอื่นๆก่อน การเลิกจ้างโดยไม่แจ้งล่วงหน้านอกจากสร้างภาวะตื่นตระหนกในระบบเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการดำเนินการที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในตลาดแรงงานอีกด้วย
"ผมจะได้เสนอให้ สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจเพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือกรณีการถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมและการปฏิรูประบบแรงงานสัมพันธ์ภายใต้วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ หรือ เรียกโดยย่อว่า ศูนย์เฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยศูนย์เฉพาะกิจจะดำเนินการรับข้อร้องเรียนและให้คำปรึกษาเพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยผ่านระบบ Website ของสถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยทางศูนย์เฉพาะกิจจะทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานต่างๆ ในกรณีที่มีการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมขนาดใหญ่ มีการเลิกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ทางศูนย์เฉพาะกิจฯจะจัดหานักวิชาการด้านแรงงานและทนายความอาสาสมัครเข้าร่วมการเจรจาต่อรองเพื่อให้แรงงานได้รับค่าชดเชยให้ถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่แก้ไขล่าสุด ส่วนการเยียวยาและรองรับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างที่กระทบอย่างรุนแรงต่อความยากลำบากของผู้ใช้แรงงานและครอบครัวนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยเฉพาะ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม ต้องดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน"
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า แม้ปัจจุบันมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมเฟสห้าแล้วควรจะทำให้สถานการณ์การจ้างงานกระเตื้องขึ้น แต่การกระเตื้องขึ้นเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย เพราะนโยบายสาธารณะโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมาของรัฐบาล คสช และ รัฐบาลต่อเนื่องมาจาก คสช ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นปฏิรูปทางเศรษฐกิจมากเท่าที่ควร อาจมีความริเริ่มบางอย่าง เช่น การผ่านกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผ่านกฎหมายภาษีมรดก และ ความพยายามจัดตั้ง บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ การผ่านกฎหมาย PPP เป็นต้น แต่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหา ส่วนยุทธศาสตร์โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจต้องปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดเพราะสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก และ การร่างแผนยุทธศาสตร์ก็ยังขาดการมีส่วนร่วมและเป็นแผนแบบราชการ ไม่กล้าคิดนอกกรอบ ไม่ Address ปัญหาในเชิงโครงสร้าง การบริหารนโยบายเศรษฐกิจก็หวังพึ่งพาทุนขนาดใหญ่มากเกินไป ยิ่งบริหารยิ่งทำให้อำนาจผูกขาดทางการเมืองและเศรษฐกิจควบแน่นมากขึ้น แทนที่จะทำให้คลายตัว เปิดเสรีเพิ่มการแข่งขัน มุ่งสู่ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ
"แต่ช่วงที่ผ่านมาผลงาน คือ รัฐบาลสามารถเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพได้ดี ทั้งระบบราง ทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนักในเรื่องการลงทุนทางด้านวิจัยและสร้างนวัตกรรม การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ การทำให้ประเทศไทยมีระบบนิติรัฐที่เข้มแข็ง มีกฎระเบียบที่โปร่งใสและเป็นมาตรฐานสากล ผ่อนคลายกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นที่ทำให้เกิดคอขวดในการลงทุนและการจัดการทางด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ ซึ่งการลงทุนและการดำเนินการเหล่านี้ บางทีอาจสำคัญมากกว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านกายภาพด้วยซ้ำไป การปิดเมืองที่ผ่านมาได้ส่งผลระยะยาวทำให้กิจการบางส่วนประสบภาวะล้มละลายและไม่สามารถฟื้นกลับมาได้อีก การมีมาตรการเยียวยาลูกจ้างควบคู่นโยบายที่ช่วยเหลือหรือเพิ่มแรงจูงใจให้นายจ้างไม่ปลดพนักงานมีความสำคัญมาก และต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ด้วยการทำให้เศรษฐกิจภายในเติบโตมากขึ้นจากมาตรการการคลังและนโยบายการเงินผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ การว่างงานระยะยาวอาจทำให้ลูกจ้างสูญเสียทักษะการทำงานและลดทอนความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของประเทศ รวมทั้ง “ไทย” ยังคงอยู่บนเส้นทางของความถดถอยต่อไปนานกว่าที่ควรจะเป็น"
อีกสิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ แรงงานส่วนหนึ่งอาจกลายเป็นแรงงานนอกระบบ ทำให้ไร้ความคุ้มครองจากการประกันสังคมภาคบังคับ ยกเว้นเข้าสู่มาตรา 39 และ มาตรา 40 กรณีจ่ายเงินสมทบเองของกฎหมายประกันสังคม กลุ่มเปราะบาง ที่สมาชิกในครอบครัวต้องอาศัยรายได้จากการทำงานของหัวหน้าครอบครัวเพียงคนเดียว หากว่างงาน ครอบครัวเหล่านี้จะเป็นกลุ่มที่รัฐต้องเข้ามาดูแลอย่างเร่งด่วนที่สุด เพราะมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายจากปัญหาทางเศรษฐกิจมากที่สุดและมักจะเป็นลักษณะฆ่ายกครัว ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาโดยด่วน
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า จากงานศึกษาวิจัยภายใต้สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ของเนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู ศุภนิจ ปิยะพรมดี พรพจ ปรปักษ์ขาม นฎา วะสี พบว่า แรงงานไทยที่อยู่ในกิจการที่ถูกปิดชั่วคราวมีประมาณ 6.1 ล้านคน โดยเกือบ ๆ สี่ล้านคนส่วนมากอยู่ในภาคการค้า ธุรกิจอาหารและโรงแรม รองลงมาเป็นกิจการด้านการศึกษาและบริการส่วนบุคคล ในการผ่อนปรนระยะแรก แรงงานที่จะได้กลับไปทำงานมีราว 0.87-2.37 ล้านคน ในระยะต่อ ๆ มา เมื่อศูนย์การค้าและตลาดนัดสามารถเปิดเต็มตัว แรงงานอีก 1.7 ล้านน่าจะได้กลับเข้างาน หากนายจ้างยังต้องการจ้างงานอยู่ งานของคณะผู้วิจัยของเนื้อแพรและคณะ ได้พัฒนาดัชนีใหม่สองตัวซึ่งสร้างจากลักษณะงานที่ทำ ได้แก่ (1) ดัชนีวัดความง่ายในการปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงาน (flexible work location) และ (2) ดัชนีโอกาสที่จะต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่นในการทำงาน (physical proximity)
"ดัชนีทั้งคู่มีความเกี่ยวข้องกับวิกฤตครั้งนี้โดยตรง โดยตัวแรกวัดความเสี่ยงของลูกจ้างในการสูญเสียรายได้จากการทำงาน เป็นการรวมคะแนนจากดัชนีย่อยสองตัว ได้แก่ หนึ่ง ดัชนีด้านลักษณะงานที่ผูกติดกับเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องกล สถานที่ หรือยานยนตร์ (Machine Dependent) และ สอง ดัชนีด้านลักษณะงานที่เอื้อต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น งานที่ใช้คอมพิวเตอร์มาก หรือเน้นวิเคราะห์ข้อมูล (ICT Enabled) ส่วนดัชนีตัวที่สองวัดความเสี่ยงในการระบาดของโรค โดยวัดว่า งานที่ทำต้องมีการติดต่อกับผู้อื่นมากน้อยเพียงใด เป็นงานที่มีลักษณะเป็นการบริการ หรือให้ความช่วยเหลือกับบุคคลอื่นหรือไม่ จากการวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยของสองดัชนีนี้ตามกลุ่มอาชีพหลัก งานวิจัยของเนื้อแพรและคณะ พบว่ากลุ่มผู้บัญญัติกฎหมาย ข้าราชการ ผู้จัดการ และผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มงานที่ใช้ทักษะสูง มีค่าดัชนีความง่ายในการปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงานสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ เพราะงานไม่ได้ผูกติดกับเครื่องมือหรือสถานที่และยังเอื้อต่อการใช้ ICT ส่วนกลุ่มพนักงานบริการและขายสินค้า มีค่าดัชนีด้านการสัมผัสใกล้ชิดกับคนอื่นสูงที่สุด สำหรับเกษตรกรและผู้ปฏิบัติการด้านเครื่องจักรในโรงงาน กลุ่มนี้มีค่าดัชนีด้านงานที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกับกลุ่มอื่นจะต่ำที่สุด แต่งานที่ทำไม่สามารถปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงานได้ง่าย"
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า สังคมไทยไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างการรักษาเศรษฐกิจหรือรักษาชีวิตคน แต่ประเทศไทยต้องมีนโยบายหรือมาตรการในอนาคตที่สามารถรักษาระบบเศรษฐกิจและการจ้างงาน การมีรายได้ ไปพร้อมกับการรักษาชีวิตผู้คนและป้องกันการแพร่ระบาดไปได้พร้อมกัน โดยขอแนะนำให้นำเอาดัชนีความเสี่ยงด้าน Flexible Work Location และ Physical Proximity มาไขว้กัน ทำให้ผู้บริหารประเทศทราบว่า กลุ่มคนต่างๆได้รับผลกระทบต่างๆกันและเพิ่มความเหลื่อมล้ำเพราะกลุ่มคนที่มีรายได้สูงมักจะมีลักษณะงานที่ทำงานจากที่บ้านและสัมผัสทางกายภาพน้อย จะเปิดหรือปิดเมืองก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ลักษณะจะสามารถทำงานที่บ้านได้ (ไม่ต้องเดินทาง) ไม่ต้องสัมผัสผู้คนทางกายภาพ เช่น กลุ่มผู้บริหาร กลุ่มนักลงทุนในตลาดการเงิน งานที่ปรึกษา งานวิชาการ อาจารย์ระดับอุดมศึกษา งานเกี่ยวกับ ICT และธุรกิจออนไลน์ เป็นต้น ขณะที่บางกลุ่มจะเปิดหรือปิดเมืองก็มีความเสี่ยง เช่น งานร้านอาหาร งานในสถานบันเทิงต่างๆ งานในบ่อนการพนันและสนามมวย งานในสถานอาบอบนวดและสปา กิจการร้านตัดผมและเสริมสวย บุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะทันตแพทย์ มัคคุเทศก์ ครูระดับปฐมวัยและมัธยมต้น เป็นต้น
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |