พื้นที่ป่าถาวรเฉลิมพระเกี
ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ 102 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับพื้นที่ป่าโดยรวมทั้งประเทศถือว่ายังน้อย และยังห่างไกลจากเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ.2560-2575 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่รัฐบาลวางแผนจะเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ด้วยการผนวกพื้นที่อนุรักษ์จากพื้นที่ป่าสงวนฯ ส่งเสริมชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ให้ปลูกป่าตามโครงการในพื้นที่ทำกินประมาณ 4 ล้านไร่ เช่น โครงการป่าสร้างรายได้ รวมทั้งจัดตั้งป่าชุมชน ป่าคงสภาพ ป่าสงวน ส่งเสริมปลูกสวนป่าเอกชน ทั้งในที่ ส.ป.ก. และเอกชน อีกทั้งจะเร่งฟื้นฟูพื้นที่บุกรุก
อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีพื้นที่ป่ารั้งท้ายในอาเซียน การฟื้นฟูสภาพป่าทำได้ล่าช้า ส่งผลให้การสูญเสียพื้นที่ป่าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทบต่อระบบนิเวศและเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน ซึ่งต้องอนุรักษ์ผืนป่าที่มีอยู่ให้อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตอาหาร ช่วยประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่วนปัญหาการบุกรุกป่าเพื่อทำกิน รวมทั้งทำรีสอร์ต ก็ยังมีข่าวให้ได้ยินเป็นระยะๆ แม้รัฐบาลเองออกมาตรการห้ามตัดไม้ทำลายป่าอย่างเด็ดขาด
สภาพแปลงปลูกป่าถาวรเฉลิ
ล่าสุด ได้รับสัญญาณที่ไม่ดีและบั่นทอนความหวังในการฟื้นฟูและรักษาป่าไม้ เครือข่ายพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคม (INEB) ได้เสนอรายงานถึงองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) องค์กรระดับโลกด้านการอนุรักษ์ กรณีตรวจพบว่า โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติในหลวง รัชกาลที่ 9 ในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 ที่ป่าเคยเขียวขจีอุดมสมบูรณ์จากการปลูกป่าฟื้นฟู วันนี้กลายเป็นเขาหัวโล้น อีกทั้งสถานการณ์อยู่ในขั้นวิกฤติขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ได้เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบสะสางปัญหาดังกล่าว เพราะผิดวัตถุประสงค์โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงห่วงใยทรัพยากรป่าไม้ของชาติ พระราชทานโครงการพระราชดำรินี้ป้องกันการบุกรุกทำลายป่าและเพิ่มผืนป่าให้ไทย หวังเกิดประโยชน์ต่อทรัพยากรธรรมชาติและพสกนิกรของพระองค์
นายจตุรงค์ จงอาษา นักวิชาการพิเศษเครือข่ายพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคม (INEB) กล่าวว่า INEB มีภารกิจสำคัญในการรณรงค์แก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยสนับสนุนกลุ่มศาสนา พระสงฆ์ และกลุ่มพลเมืองได้มีส่วนร่วมในต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปัญหาการบุกรุกและตัดไม้ทำลายป่า เป็นตัวการสำคัญในการก่อภาวะโลกร้อน สำหรับงานที่ INEB ติดตามและเร่งดำเนินการแก้ปัญหาขณะนี้ คือ การบุกรุกทำลายป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติในหลวง รัชกาลที่ 9 ในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 กรณีโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ FPT ที่ 15 อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เป็นผืนป่าพื้นที่ 2,700 ไร่ ปตท.เข้ามาฟื้นฟูตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 จนป่าฟื้นตัว ความสมบูรณ์ของป่าและมีสัตว์ป่าเข้ามาหากินและอยู่อาศัย และที่สำคัญแปลงปลูกป่า FPT 15 ยังเป็นส่วนหนึ่งของป่าต้นน้ำลำตะคอง และป่าสัก ต้นไม้ที่ปลูกในแปลงปลูกป่า FPT 15 เปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งการสนองพระราชดำริในหลวง ร.9 และราชินีใน ร.9 ด้านการอนุรักษ์ แต่เป็นที่น่าสลดใจ ป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ไม่มีใครดูแล ปัจจุบันแปลงปลูกป่า FPT 15 ถูกบุกรุกอย่างน่าเกลียด ไถป่าแผ้วถางทำไร่มันสำปะหลังเกือบ 1,000 ไร่ ขณะที่รัฐบาลไม่สนใจ จัดอีเวนต์ปลูกป่า วนเวียนเปิดงาน ถ่ายรูปว่าปลูกป่า
“ ทำไมผืนป่าหลายพันไร่ที่เคยได้ชื่อป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ถวายให้ในหลวง ร.9 และพระราชินี ร.9 เพื่อทำการอนุรักษ์ โดนทำลาย ส่งผลให้สูญเสียพื้นที่ป่าไป ช่องโหว่เกิดจากความเกี่ยงงอนในการทำงานดูแลรักษาพื้นที่ป่าของกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ เพราะปี 2545-2555 ได้รับงบประมาณของโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ในการดูแลป่า เมื่อหมดงบ ไม่มีใครรับผิดชอบ ต้นมัน ป่ามัน เหมือนเมื่อ 30 ปีก่อนกลับมา ไร่ข้าวโพดปลูกในแปลงป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ เป็นเรื่องเศร้า ป่าเคยหัวโล้น ช่วยกันอนุรักษ์มาเกือบ 20 ปี จนเขียวขจี เมื่อไม่มีเจ้าภาพดูแล 8 ปีที่ผ่านมา จึงมีชาวไร่ ชาวนา นายทุนและกลุ่มผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น เข้าไปแผ้วถาง ทำไร่เลื่อนลอย อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาสำรวจสภาพป่าที่แท้จริงขณะนี้เป็นอย่างไร และพื้นที่ถูกยึดครอบครองเท่าไหร่ แม้กระทั่งภาคประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมติดตามตรวจสอบการรุกป่ากรณีนี้ " นายจตุรงค์กล่าว
แปลงปลูกป่า FPT15 ที่ยังไม่มีการส่งมอบพื้นที่ ขาดการดูแล พบถูกบุกรุก สูญเสียป่าที่ฟื้นกลับมา
นายจตุรงค์ กล่าวต่อว่า นอกจากการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ปัญหาบุกรุกแปลงป่า FPT 15 แล้ว INEB มีแนวทางในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า โดยร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) สำนักงานภูมิภาคเอเชีย ดำเนินโครงการ "แนวทางการบริหารจัดการพื้นที่เชื่อมต่อระบบนิเวศ (Ecological Corridor) กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว กับกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่" เป็นแนวเชื่อมต่อระบบนิเวศ ความยาวของแนวป่านี้มีสำนักสงฆ์เขาโป่งนก สาขาวัดระฆังโฆษิตาราม ซึ่งร่วมโครงการพุทธอุทยานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สำนักสงฆ์ภูแสนดาว ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงพญาเย็น ต่อเนื่องมาถึงแปลง FPT 15 แนวทางการทำงานจะใช้เครือข่ายสำนักสงฆ์ที่ตั้งอยู่ในบริเวณเทือกเขาร่วมกันดูแลรักษาและฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อให้เป็นแนวเชื่อมต่อระบบนิเวศธรรมที่ต่อกันด้วยตระหนักคุณค่าป่าดงพญาเย็น ถือเป็นป่าต้นน้ำลำตะคองและป่าสัก พื้นที่โดยทั่วไปเป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง มีพันธุ์ไม้สำคัญ คือ ไม้แดง ประดู่ มะค่าโมง มะเกลือ และไม้ไผ่ซางขึ้นอยู่ทั่วพื้นที่ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ขณะนี้กำลังเร่งยกร่างโครงการ จากนั้น INEB และภาคีจะหารือกับกรมอุทยานฯ ต่อไป แนวทางเหล่านี้จะรักษาป่าต้นน้ำ ช่วยบรรเทาวิกฤติขาดแคลนน้ำ และควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้น
นายประทีป มีคติธรรม เจ้าหน้าที่ IUCN แผนงานประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผืนป่าบริเวณนี้กลายเป็นไร่และบ้านเรือนประชาชน ป่าถูกแบ่งแยกเป็นส่วนกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายของสัตว์ป่าน้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มช้าง เสือ ต้องใช้ป่าขนาดใหญ่ เหตุนี้ IUCN ร่วมขับเคลื่อนโครงการแนวเชื่อมต่อระบบนิเวศป่าภูเขียว-น้ำหนาว กับป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (Ecological Corridor) มีการประเมินว่ามีศักยภาพเป็นเส้นทางเดินของสัตว์ป่า ภูมิประเทศก็โดดเด่น เพราะเป็นขอบของที่ราบสูงโคราช หากจะทำ 'คอริดอร์’ เชื่อมความยาวของแนวป่านี้ จะมี 2 ส่วน ส่วนแรก ระยะแรก 36 กิโลเมตร เนื้อที่ 27,312 ไร่ ส่วนที่สอง 23 กม. เนื้อที่ 15,625 ไร่ ส่วนนี้สภาพพื้นที่มีสำนักสงฆ์ 2 แห่ง และแปลงปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ FPT 15 ที่ปัจจุบันเสี่ยงต่อการบุกรุกทำลายป่าอย่างมาก มีราษฎรเข้าไปครอบครองและเหลือผืนป่าบางส่วน หากทำได้จะมีแนวป่าสมบูรณ์พื้นที่ถึง 4.3 หมื่นไร่ ตนคิดว่าการอนุรักษ์ป่า ภาครัฐมักจะมองนโยบายทวงคืนผืนป่าเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่ใช่ แนวทางจะต้องรักษาสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ให้คงอยู่ด้วย
แนวเชื่อมต่อระบบนิเวศกลุ่มภู
นายประทีป กล่าวว่า การอนุรักษ์ผืนป่าผ่านโครงการนี้จะผลักดันไปสู่การบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีทางเลือก 3 รูปแบบ คือ 1.ยกระดับให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า อนุรักษ์ไว้ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ซึ่งต้องทำการสำรวจชนิดของสัตว์และพันธุ์พืช 2.วนอุทยาน เพราะสภาพพื้นที่มีธรรมชาติที่สวยงามเหมาะสงวนรักษาไว้เป็นแหล่งคุ้มครองธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติของประชาชน และ 3.ป่าชุมชน รูปแบบนี้ลดปัญหาข้อโตแย้งกับชุมชน หากขอจัดตั้งเป็นเขตห้ามล่าหรือวนอุทยาน โดยชุมชนดำเนินการยื่นคำขอจัดตั้งเป็นป่าชุมชนตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 ตั้งคณะกรรมการป่าชุมชน และทำแผนจัดการป่าชุมชน แบ่งเขตอนุรักษ์ เขตใช้ประโยชน์ และเขตฟื้นฟู
“ ขณะนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง ทาง IUCN และ INEB จะจัดทำเป็นโครงการเพื่อเสนอให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (โคราช) โดยเราจะทำการศึกษาและสำรวจข้อมูลเบื้องต้น กำหนดขอบเขตพื้นที่เป้าหมาย ลักษณะภูมิประเทศ ธรณีวิทยา คุณค่าและความสำคัญของระบบนิเวศ เช่น สภาพป่าไม้ ชนิดพันธุ์สำคัญทั้งสัตว์ป่าและพืชพันธุ์ ข้อมูลชุมชน จัดประชุมหารือ อปท. ชุมชนที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นวิเคราะห์ ประเมินแนวทางรูปแบบจัดการพื้นที่ที่เหมาะสม ก่อนจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์เสนอกรมอุทยานฯ คาดว่าจะใช้เวลาทำงาน 1 ปี นอกจากช่วยฟื้นฟูป่า ยังลดความขัดแย้งในพื้นที่อีกด้วย" นายประทีป กล่าว
พื้นที่เหมาะสมผลักดันทำ'คอริดอร์'เชื่อมสองกลุ่มป่า สภาพธรรมชาติสวยงาม และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด
ด้าน นายสุรพล ดวงแข นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้มีช่องว่างระหว่างการส่งมอบพื้นที่แปลงปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ กรณีแปลง FPT 15 มีปัญหาความคาบเกี่ยวระหว่างสองหน่วยงาน คือ กรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ กอปรกับความล่าช้าในการส่งมอบผืนป่า เพราะหากรับมอบคืนแล้ว หน่วยงานรัฐต้องตั้งงบและกำลังคนดูแลจัดการพื้นที่ ช่องว่างตรงนี้ทำให้มีการบุกรุกพื้นที่ แม้จะมีพลังการอนุรักษ์จากพระของสำนักสงฆ์ในพื้นที่ป่าต้านทานการทำลายป่า แต่เริ่มสู้กลุ่มผู้บุกรุกไม่ไหว นำมาสู่การพูดคุยหารือทางออกร่วมกันในการประชุม IUCN ประเทศไทย เพื่อหยุดยั้งการทำลายป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ อีกทั้งตนเห็นด้วยกับการจัดทำโครงการแนวเชื่อมต่อระบบนิเวศ ถือเป็นคอริดอร์แรกในสองกลุ่มป่า อีกทั้งเสริมศักยภาพของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ผืนป่ามรดกโลกอีกด้วย
“ โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ แต่ต้องทบทวน แก้ไขข้อผิดพลาดของโครงการที่ผ่านมา ตรวจสอบทุกแปลงอย่างจริงจัง เมื่อส่งมอบแล้วต้องพร้อมรับ เพราะต้องมีงบประมาณและกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลบริหารจัดการพื้นที่ อีกหัวใจสำคัญต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมดูแลรักษาป่าด้วย เช่น ปตท. เคยมีโครงการหมู่บ้าน ปตท.พัฒนา หลังฟื้นฟูป่าแล้ว ทำงานกับชุมชนโดยรอบ ส่งเสริมอาชีพในครัวเรือน ส่งเสริมความตระหนักคุณค่าของผืนป่า ทำให้คนรักและหวงแหน ชุมชนกลายเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังป่า ป้องกันการลักลอบล่าสัตว์ หลายแปลงปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ก็ประสบความสำเร็จฟื้นป่าจนเขียว ทำให้สัตว์ป่ากลับคืนมา อีกทั้งป้องกันไฟป่าและมีคุณค่าเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้ประเทศ ถึงเวลาสำรวจแปลงปลูกป่าถาวรฯ อย่างไรก็ตาม หากหน่วยงานรัฐไม่มีความพร้อมในการดูแล ก็ยังมีแนวทางให้ภาคเอกชนสนับสนุนการบริหารจัดการต่อไป ผมคิดว่า เป็นอีกทางออกที่น่าสนใจ" นายสุรพลกล่าว ทิ้งท้ายฝากรัฐบาลต้องใส่ใจรักษาผืนป่าของไทยและตรวจสอบโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ อย่างมีคุณภาพ เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้บ้านเมือง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |