ผ่านไปแล้ว สำหรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ในวาระที่ 1 หลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบ 273 เสียง ไม่เห็นชอบ 200 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง
ภาพรวมการอภิปราย ถือว่า จืดชืด ไม่เข้มข้นเหมือนในอดีต ที่จะมีการชำแหละการจัดทำงบประมาณที่เจาะลึก ทั้งความลักลั่น ความไม่สมเหตุสมผล และช่องโหว่ที่อาจจะรั่วไหล
ฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ยังไม่สามารถสร้างความลำบากใจให้กับรัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เท่าที่ควร หากเทียบกับเมื่อครั้งพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้นำในฝ่ายค้าน
แต่อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญในการอภิปรายในครั้งนี้ หากไม่เน้นหนักไปที่วาทกรรม หรือฉายา ซึ่งเป็นสีสัน สามารถจำแนกได้อยู่ 2 ประเด็น ที่ฝ่ายค้านให้น้ำหนักค่อนข้างเยอะ นั่นคือ เรื่องการจัดสรรงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในประเทศ และหนี้ที่เพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยเรื่อง “การใช้งบประมาณ” ของรัฐบาล และเรื่อง “การก่อหนี้” ถือเป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านล็อกเป้ามาตั้งแต่การอภิปรายพระราชกำหนดกู้เงิน ซึ่งมีการอภิปรายไปก่อนหน้านี้ไม่นาน
เป็นสัญญาณเตือนว่า ต่อจากนี้ประเด็นเรื่องการใช้งบประมาณของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นในแง่ความไม่สอดคล้อง หรือความไม่ชอบมาพากล จะถูกจับจ้องเป็นพิเศษ
และในภายภาคหน้าอาจกลายมาเป็นเงื่อนไขในการโค่นล้มรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้ เฉกเช่นเดียวกับเรื่องการก่อหนี้ หากมองข้ามวาทกรรมของฝ่ายค้าน ที่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ตั้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าเป็น “บิดาแห่งความเหลื่อมล้ำ” หรือ “ผู้นำแห่งการก่อหนี้” แล้ว ลงลึกในเนื้อหาที่ฝ่ายค้านนำเสนอ ถือว่ามีประเด็นที่น่าสนใจว่า เรื่องการก่อหนี้จะเป็นอีกเงื่อนไขที่ลดทอนความสามารถของรัฐบาลได้
โดยเฉพาะการฉายภาพการก่อหนี้ นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาบริหารประเทศเมื่อปี 2557 ที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล พยายามเล่นตัวเลข
“ปี 2564 นอกจากจะเป็นปีที่ประชาชนทุกข์แสนสาหัสแล้วยังต้องถูกจารึกในประวัติศาสตร์ด้วยว่าเป็นปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ใช้งบประมาณแผ่นดินครบ 20 ล้านล้านบาท ตั้งแต่บริหารประเทศยึดอำนาจมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ท่านเป็นนายกฯ ที่ใช้งบบริหารแผ่นดินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย แต่น่าแปลกใจที่เงิน 20 ล้านล้านบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้น้อยมาก โตเพียง 3 ล้านล้านบาทเท่านั้น จาก 13 ล้านล้านบาทในปี 2557 ที่ท่านยึดอำนาจมาเป็น 16 ล้านล้านบาทในปี 2562 การแก้ปัญหาที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจไทยดื้อยาขนาดหนัก”
หรือการที่ น.อ.อนุดิษฐ์ชี้ให้ประชาชนเห็นถึงความน่ากลัวของ “หนี้” ที่มหาศาล ว่าการกู้เงินของรัฐบาลกำลังจะสร้างภาระให้ประชาชน และอาจทำให้ประเทศล้มละลายได้
“ฐานะทางการคลังของรัฐบาลมีความเปราะบางและสุ่มเสี่ยงต่อการล้มละลาย รัฐบาลกู้เองโดยตรงและหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันทั้งสิ้น 6.98 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.8 ของจีดีพี หากรวมหนี้ที่กู้มาชดเชยการขาดดุลงบประมาณรวม 2.791 ล้านล้านบาท จะต้องใช้เวลาชำระคืนถึง 64 ปี ยังไม่นับรวมหนี้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1.1 ล้านล้านบาท หรือหนี้ที่จะต้องกู้ในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเกือบ 100 ปีจึงจะชำระหมด”
ขณะที่รัฐบาลเอง ก็ไม่สามารถปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวได้ โดย พล.อ.ประยุทธ์ก็เหมือนจะยืดอดยอมรับเรื่องหนี้ที่มีจำนวนมหาศาล เพียงแต่พยายามชี้แจงว่า เพราะมีความจำเป็นจากปัญหาที่มีจำนวนมาก
“มันก็เป็นอย่างนี้ทุกรัฐบาล แต่ว่าวันนี้ปัญหาเรามากขึ้นก็ต้องใช้งบประมาณมากขึ้น ไม่โทษใคร เพราะโทษใครไม่ได้ โทษประชาชนก็ไม่ได้ โทษคนอื่นก็ไม่ได้ ต้องโทษตัวเอง”
เช่นเดียวกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ยก 2 เหตุผลหลักๆ ขึ้นมาคือ 1.เป็นรัฐบาลที่บริหารประเทศยาวนานกว่ารัฐบาลอื่นๆ และ 2.ต้องเผชิญวิกฤติที่รัฐบาลอื่นๆ ไม่เคยประสบพบเจออย่างโควิด-19
“ถ้าว่าจะจริงมันก็จริง เพราะรัฐบาลอยู่นาน เวลาพูดถึงรัฐบาลนี้ต้องไปนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 เขาอยู่นานกว่าคนอื่น ทำงานมากกว่าคนอื่น และต้องใช้เงิน รวมถึงต้องมาเจอวิกฤติโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลอื่นไม่เจอ เมื่อต้องใช้เงิน ดังนั้นจะเอาเงินมาจากไหน สมัยก่อนมาจากภาษีอากร วันนี้ประชาชนไม่มีรายได้ ปิดบ้าน ปิดเมือง ปิดประเทศ ล็อกดาวน์ รายได้ก็ไม่มี รัฐบาลจำเป็นต้องทำ 2 อย่างคือ 1.แก้ปัญหาโควิด-19 และ 2.แก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ตรงนี้ก็มีการชดเชยเยียวยากันอยู่ แล้วจะไปเอาเงินจากไหน ก็ต้องเอามาจากการกู้ ดังนั้นจะกู้มากกู้น้อยก็ไม่แปลก ขอให้มีปัญญาใช้หนี้เขา อย่าเบี้ยวก็แล้วกัน”
แน่นอนว่า ณ วันนี้ เรื่องหนี้อาจไม่เพียงพอที่จะดึงรัฐบาลลงจากอำนาจ แต่หากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีแนวโน้มย่ำแย่หลังจากนี้อันสืบเนื่องมาจากโควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น หรือทรุดหนัก ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะใช้ในการลดทอนความชอบธรรมการบริหารประเทศ เพราะ “หนี้” มากขึ้น แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนวิ่งสวนทางกัน
อีกประเด็นที่อ่อนไหว และเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทุกครั้งที่ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตคือ งบประมาณของกองทัพ และการจัดซื้ออาวุธของกองทัพ
อย่างเรื่องการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ก็ถูกมองว่า ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในประเทศ ที่ประชาชนต้องการความช่วยเหลือ แต่กลับมีการจัดสรรงบให้กับฝ่ายความมั่นคงมากเกินไป
เหมือนที่ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายเอาไว้ว่า ขณะนี้ประเทศกำลังเจอกับภัยคุกคามทางโรคระบาด ไม่ใช่ภัยคุกคามทางทหาร
“ขอเรียกว่า งบ ลวง พราง ซึ่งมีข้อสังเกต 3 ข้อ คือ 1.ลวงว่าลด แต่ไม่ได้ลด จากงบประมาณของกระทรวง 2.23 แสนล้านบาท เหมือนกับสัดส่วนของปีก่อนๆ แต่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2557 แม้ว่าปีนี้จะดูเหมือนว่าลดลงไป 8,200 ล้านบาท เมื่อไปดูที่การโอนงบประมาณจากปี 2563 จำนวน 17,700 ล้านบาท เหลืองบประมาณของกระทรวงกลาโหมเดิมเหลือ 2.13 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับงบประมาณปี 2564 จะเห็นว่าได้เพิ่มขึ้นจากงบประมาณที่ใช้ไปเมื่อปีที่แล้วหลักหมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันงบเรือดำน้ำ ซื้อเครื่องบินของกองทัพอากาศก็ยังมีอยู่
2.การตัดงบอำพราง กระทรวงกลาโหมก่อหนี้ผูกพันข้ามปีถึง 173,144 ล้าน หรือ 77.46% ของงบฯ ขณะที่ทั้งรัฐบาลมีหนี้ผูกพัน 1,199,000 ล้าน หรือเพียง 36.33% ซึ่งน้อยกว่าเท่าตัว หมายความว่ารัฐบาลไหนเข้ามาก็ต้องใช้หนี้ส่วนนี้ และ 3.เงินนอกงบประมาณที่ไม่ได้รายงานจากรายได้ที่เป็นธุรกิจของกองทัพ เช่น ปั๊มน้ำมัน, สนามม้า, สนามมวย”
ขณะที่เรื่องอันตรายที่สุด คือ การทุจริต หรือการเตรียมการทุจริต ที่ไม่ว่ากฎหมายตัวไหนที่เกี่ยวข้องกับการเงินของรัฐบาล ทั้ง พ.ร.ก.กู้เงิน ในส่วนของงบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท หรือแม้แต่การจัดสรรงบประมาณใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 จะเกิดข่าวในลักษณะของความไม่ชอบมาพากลขึ้นเสมอ
อย่างล่าสุด ที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ก็ออกมาปูดกลางสภาว่า มีการใช้ตำแหน่งไปในทางที่มิชอบ
“ถ้างบประมาณ 2564 ไม่มีการปรับแผนแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำแล้ว ก็ต้องไปใช้เงินจากพระราชกำหนดกู้เงิน 4 แสนล้านบาท ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์เคยประกาศว่าห้ามใครมาแทรกแซงเงิน 4 แสนล้านบาท แต่ตอนนี้ที่จังหวัดตรังพบว่ามีคนแอบอ้างเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี และระบุว่ามีงบในมือ 300 ล้านบาท ใครจะขอให้บอกมา”
ขณะเดียวกัน ปัจจุบัน “รัฐบาลบิ๊กตู่” ก็กำลังเผชิญกับปัญหา “ภาพลักษณ์” หลังเกิดการแก่งแย่งอำนาจกันเองภายในพรรคพลังประชารัฐ
มูลเหตุของเรื่องไม่ใช่การบริหารประเทศ หรือเพื่อความเหมาะสม แต่เพราะมีบางคนต้องการเข้าไปเป็นรัฐมนตรี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์
อย่างข่าวความต้องการไปนั่ง รมว.พลังงานแทนนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ที่มุ่งโรมรันกันชนิดจะเอาเป็นเอาตาย จนมิอาจถูกตั้งข้อสงสัยได้ว่า เป็นเพราะขุมทรัพย์มหาศาลในกระทรวงพลังงานหรือไม่
หรือแม้แต่กรณีการขับไล่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และกลุ่ม 4 กุมาร ที่มีการอ้างว่า เป็นเรื่องการบริหารเศรษฐกิจไม่มีประสิทธิภาพ แต่สุดท้ายก็ถูกเฉลยว่า แค่เพียงต้องการเปิดพื้นที่สู่เก้าอี้รัฐมนตรีของคนที่ต่อแถวอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ
โครงสร้างกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐชุดใหม่ สะท้อนได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากชื่อของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ กับชื่อของนายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท ที่เข้ามาเป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ กับไร้ชื่อ ส.ส.ในซีกนายสมคิดแล้ว นอกนั้นทุกอย่างเหมือนเดิมหมด
การลงทุนลาออกของ 18 กรรมการบริหารพรรคชุดเก่า ถูกเฉลยว่า เป็นแค่เพียงแผนล้างกลุ่ม นายสมคิด และ 4 กุมารออกเท่านั้น
ความไม่พอใจของประชาชน ถูกสะท้อนจากปรากฏการณ์ต่อต้านชื่อนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกเสนอชื่อขึ้นเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคคนใหม่ แทนที่กลุ่ม 4 กุมาร
“คนใหม่” ที่มา ไม่ได้ “เท่าเดิม” หรือ “ดีกว่าเดิม” หากแต่เป็นคนที่มีความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ ตรงนี้ไม่ต่างอะไรกับการพาการเมืองไทยกลับสู่วังวนเดิมในอดีต
กลายเป็นว่า รัฐบาลยังต้องมาเผชิญวิกฤติความศรัทธาอีกกระทง
โดยเฉพาะการกลับไปสู่ระบบการเมืองแบบเก่า คือ ระบบโควตา ที่ใครมี ส.ส.ในมือมากกว่า สามารถต่อรองเพื่อมีอำนาจได้ โดยไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพและฝีมือ
เหล่านี้เป็นสิ่งบั่นทอน และอาจต้องสูญเสียแนวร่วมที่เคยให้การสนับสนุนในช่วงที่ผ่านมา
ยังไม่นับถึงปัญหา การเกี๊ยะเซียะกันระหว่าง “รัฐบาล” กับ “ฝ่ายค้าน” บางส่วน ที่มักจะมีข่าวคราวประเภทนี้ออกมาทุกครั้งที่มีการพิจารณากฎหมายสำคัญๆ ว่า มีการหยิบยื่นและแลกเปลี่ยนอะไรบางอย่างเสมอ
ซึ่งหากเป็นจริง คือการทำให้ “ระบบตรวจสอบ” ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับบริหารเข้าสู่สภาวะ “ล้มเหลว” เหมือนที่เคยเผชิญกันมาในสมัยไทยรักไทย
เส้นทางต่อจากนี้ของรัฐบาล ล้วนเป็น “ความแหลมคม” ทั้งสิ้น
หากการกู้เงิน หรือการใช้งบประมาณมหาศาลครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้ประชาชนรู้สึกถึงสภาพที่ดีขึ้น หรือตรงกันข้ามคือย่ำแย่ลง หรือเลวร้ายกว่านั้นคือ เกิดการทุจริตแบบโจ่งแจ้งด้วย
แล้วยังไปผสมโรงกับความเชื่อถือ ศรัทธา อันมีมูลเหตุมาจากการแก่งแย่งเพื่อไปแสวงหาประโยชน์ภายในรัฐบาล
ถือเป็น "มหันตภัย" ที่น่ากลัว หากก้าวผ่านไม่ได้.!!!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |