'ฮ่องกง 1982' : เติ้งบอกอะไรแธตเชอร์?


เพิ่มเพื่อน    

           รูปเติ้ง เสี่ยวผิงของจีน กับนายกฯ "หญิงเหล็ก" มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ของอังกฤษ ระหว่างการไปเยือนจีนปี 1982 เพื่อต่อรองอนาคตของฮ่องกง กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกไปอีกยาวนาน

            และกลับมามีความหมายอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพราะเป็นวันครบรอบ 23 ปีของการที่อังกฤษส่งคืนเกาะฮ่องกงให้แก่จีน

            ท่ามกลางความกังวลเรื่องที่ปักกิ่งประกาศบังคับใช้ "กฎหมายความมั่นคงฮ่องกง" ที่ทำให้เกิดคำถามขึ้นมามากมาย

            โดยเฉพาะประเด็น "หนึ่งประเทศ, สองระบบ" ที่อยู่ในข้อตกลงระหว่างผู้นำจีนและอังกฤษฉบับนี้

            หากตีความตามกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง สัญญานั้นบอกว่าฮ่องกงจะยังคงระบบการเมืองและเศรษฐกิจของตนไว้ 50 ปี...หรือหากนับจากปีนี้ก็จะเหลือ 27 ปี

            แต่การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงฮ่องกงโดยปักกิ่ง ทำให้มีการตีความว่าระบบ "หนึ่งประเทศ,  สองระบบ" กำลังหมดไป

            เหลือเพียง "หนึ่งประเทศ, หนึ่งระบบ" หรือ "หนึ่งประเทศ, หนึ่งระบบครึ่ง" หรือไม่

            เพราะเนื้อหาในกฎหมายฉบับนี้ทำให้ปักกิ่งมีอำนาจเรื่องความมั่นคงเหนือฮ่องกงในหลายๆ ด้าน...รวมถึงกระบวนการยุติธรรมที่อาจถูกตีความว่าอำนาจสุดท้ายอาจจะอยู่ที่จีนแผ่นดินใหญ่ ไม่ใช่ฮ่องกงอีกต่อไป

            ปักกิ่งอ้างว่ากฎหมายฉบับนี้ต้องการจะ "ปกปักรักษา" เสถียรภาพของฮ่องกงซึ่งมีความสำคัญต่ออนาคตของเกาะแห่งนี้

            จีนแผ่นดินใหญ่บอกว่ากฎหมายฉบับนี้มุ่งไปที่กลุ่มแยกแผ่นดิน, ก่อการร้าย, กลุ่มบ่อนทำลายความมั่นคง ไม่มีผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการทำธุรกิจ ที่มีความสำคัญต่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด

            คนที่มีความเห็นต่างไม่เชื่อว่าปักกิ่งจริงใจในการรักษาสถานภาพความเป็นฮ่องกง

            จึงกลายเป็นความขัดแย้งระลอกใหม่ที่กำลังจะเปลี่ยนสถานะของฮ่องกงอย่างมีนัยสำคัญจริงๆ

            ตอนที่นายกฯ อังกฤษ แธตเชอร์ไปหาเติ้ง เสี่ยวผิงที่ปักกิ่ง ในเดือนกันยายนปี 1982 นั้น อังกฤษเพิ่งชนะสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์กับอาร์เจนตินาได้สามเดือน

            ถือว่ากำลังฮึกเหิมเต็มที่

            ผู้นำอังกฤษตั้งใจจะไปเจรจากับเติ้งเพื่อต่ออายุการ "เช่า" เกาะแห่งนี้ 99 ปีหลัง "สงครามฝิ่น" ที่มีกำหนดจะสิ้นสุดลงในปี 1997

            แต่ "เสือเฒ่าเติ้ง" บอกแธตเชอร์ว่า "ไม่มีทาง" และยืนยันว่าจีนจะเอาเกาะแห่งนี้คืนตามสัญญา

            "ประเด็นนี้ต่อรองเจรจากันไม่ได้ไ เติ้งบอกผู้นำอังกฤษอย่างแข็งกร้าว

            เติ้งบอกว่าสัญญากับอังกฤษมีสาระที่จีนเสียเปรียบมาตลอด

            และแธตเชอร์ต้องตะลึงไม่น้อยเมื่อได้ยินประโยคเด็ดจากเติ้งว่า

            "เราพร้อมจะให้ฮ่องกงรักษารัฐบาลปัจจุบัน (แบบตะวันตก) และระบบเศรษฐกิจเดิมกับกฎหมายทั้งหลายทั้งปวงเอาไว้ เพียงแต่ต้องอยู่ใต้อธิปไตยของจีนเท่านั้น"

            เติ้งออกแบบกติกาใหม่ครั้งแรกในโลกที่เรียกว่า "หนึ่งประเทศ, สองระบบ" เพราะต้องการจะใช้ความเป็นเมืองท่าเสรีและศูนย์กลางการเงินของฮ่องกงให้เป็นประโยชน์แก่จีน ซึ่งขณะนั้นยังมีปัญหาด้านเศรษฐกิจมากมาย

            ความจริงแนวคิด "หนึ่งประเทศ, สองระบบ" เกิดขึ้นก่อนหน้านี้กับไต้หวันในปี 1979 ซึ่งเป็นจังหวะที่ปักกิ่งประกาศ "รวมชาติอย่างสันติ" กับเกาะแห่งนี้

            นั่นก็เป็นการ "แหวกแนว" หลักการเดิมๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่เคยยืนยันว่าจะต้องรวมชาติด้วยวิธีการทางทหารให้สำเร็จจงได้

            แต่เติ้งเป็นนักปฏิบัติตัวยง รู้ดีว่าการใช้กำลังทหารเพื่อยึดไต้หวันกลับมาเป็นของจีนแผ่นดินใหญ่ มีแต่จะสร้างความเสียหายให้แก่จีนเอง

            ในปี 1981 จึงมีข้อเสนอให้ไต้หวันเป็น "เขตปกครองพิเศษ" ที่สามารถมีรัฐบาลของตนเหมือนเดิม  อีกทั้งยังมี "การปกครองตนเองในระดับสูง" และสามารถมีกองทัพเป็นของตนเองได้

            เพียงยึดหลักใหญ่ประการเดียวที่ปักกิ่งต้องการคือ มี "จีนเดียว" และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน

            ดังนั้นเมื่อเกิดกรณีฮ่องกง เติ้งจึงใช้แนวทางเดียวกันนี้เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ของจีน แต่พร้อมจะอ่อนข้อเรื่องสิทธิในการปกครองตนเองระยะเวลาหนึ่ง

            แธตเชอร์ไปเยือนจีนอีกครั้งในปี 1984 เพื่อร่วมพิธีลงนามในสัญญาฉบับนี้

            เติ้งบอกผู้นำอังกฤษว่า

            "ตัวเลข 50 ปีไม่ใช่เอ่ยขึ้นมาเล่นๆ ความจริงเรามีแผนที่จะพัฒนาจีนอย่างจริงจังในช่วงระยะเวลานั้น"

            ผมเชื่อว่าในใจของเติ้งนั้นคงจะต้องการใช้ฮ่องกงเป็น "แม่แบบ" ของการพัฒนาจีนแผ่นดินใหญ่ และประเมินว่าถ้าได้ 50 ปีคงจะพอสำหรับการปรับแผนทั้งหมด

            แต่จีนแผ่นดินใหญ่สามารถสร้างความเจริญด้านเศรษฐกิจได้เร็วกว่าที่คาด

            วันนี้ปักกิ่งต้องการจะรวบรัดขั้นตอนให้ฮ่องกงอยู่ใต้ระเบียบแบบแผนของจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อสามารถเดินหน้าขจัดความเคลื่อนไหวที่ปักกิ่งเห็นว่าเป็นอันตรายต่อแผนการระยะกลางและระยะยาวของนโยบาย "จีนเดียว" อย่างกร้าวและเด็ดขาดอย่างที่เห็นกัน

            อ่านประวัติศาสตร์ให้รอบด้านจะเห็นปัจจุบันและวาดภาพอนาคตได้ชัดเจนขึ้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"