Travel bubble ความหวังดึงศก.ไทยกลับมา


เพิ่มเพื่อน    

      เมื่อพูดถึงโควิด-19 นอกเหนือจากความร้ายแรงของอาการที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่หนีไม่พ้นเลยคือ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่แค่ไทยที่ได้รับผลกระทบ แต่เรื่องนี้ส่งผลไปทั่วโลก การจับจ่ายของประชาชนลดลง และที่สำคัญนักท่องเที่ยวลดลงเช่นกัน จึงทำให้เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้อันดับหนึ่งของประเทศหายไปด้วย

            ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้คือยุคมืดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ที่อยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ตั้งแต่ธุรกิจยักษ์ใหญ่ในวงการท่องเที่ยว จากที่เคยเรืองอำนาจก็ล่มสลายภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนเท่านั้น ซึ่งไม่นับธุรกิจการท่องเที่ยวในระดับ SMEs โดยปัญหาดังกล่าวเป็นผลมาจากการขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เหมือนเป็นปัจจัยหลักในธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทย จากช่วงปกติที่ไทยมีนักท่องเที่ยวกว่า 3 ล้านคนต่อเดือน กลายเป็น 0 ราย เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่บริษัทท่องเที่ยวบางแห่งจะต้องปิดตัวลง เนื่องจากไม่ได้มีแผนสำรองเพื่อรองรับการเกิดวิกฤตการณ์ในครั้งนี้

            แน่นอนว่า หน่วยงานภาครัฐได้หาแนวทางในการกอบกู้วิกฤตการณ์เพื่อดึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในครั้งนี้ หลังจากการผ่อนปรนโดยมาตรการของรัฐบาล ห้างร้านต่างๆ เริ่มกลับมาเปิดตัวอีกครั้ง ส่งผลให้ภาครัฐมีนโยบายการรวมพันธมิตรกลุ่มท่องเที่ยวขึ้นมา นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า Travel Bubble หากจะเป็นการนิยามด้วยความเข้าใจอย่างง่าย Travel Bubble คือการที่เราสามารถเดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศพันธมิตร โดยที่ประเทศเหล่านั้นมีมาตรการความปลอดภัยในระดับที่ดีเยี่ยม มีค่าสถิติของผู้ติดเชื้อในระดับที่น้อย และนักท่องเที่ยวที่ไปยังประเทศนั้นๆ ไม่จำเป็นต้องทำ State Quarantine หรือกักตัวเพื่อรอดูอาการ 14 วัน เรียกได้ว่าเป็นการเปิดโอกาสให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มทั่วไปและกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจสามารถเดินทางเคลื่อนย้ายได้ จากการควบคุมของรัฐ ผลที่ตามมาจะทำให้โรงแรม ร้านอาหาร สถานบันเทิง ธุรกิจในภาคบริการฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้

            ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบรายได้จากการท่องเที่ยวของไทย พบว่า จีนมีนักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศไทย 27.6% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด สร้างรายได้ให้ประเทศคิดเป็น 28.1% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด โดยมีนักท่องเที่ยวมาเลเซีย 10.5% สร้างรายได้ 5.5% ญี่ปุ่น 4.5% สร้างรายได้ 4.6% ดังนั้นการทำ Travel Bubble ในระยะต้นต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่ใช่การเปิดให้เดินทางโดยเสรี และจะต้องคำนึงถึงหลักการต่างๆ เช่น ดูจากประเทศที่มีความเสี่ยง จากต่ำ ปานกลาง จนถึงสูง เจรจากับประเทศเสี่ยงต่ำเป็นคู่ๆ ไป โดยขณะนี้มี 2 ประเทศที่มีหนังสือเสนอมาตรการ Travel bubble อย่างเป็นทางการมาที่ไทยแล้วคือจีนกับญี่ปุ่น แต่ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้หมดตามสถานการณ์ โดยแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจีนจะหมดไปแล้ว แต่จากการอุบัติขึ้นของไวรัสหมูสายพันธุ์ใหม่ในโรงฆ่าสัตว์ประเทศจีน ทำให้การเปลี่ยนแปลงประเทศจับคู่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ฉะนั้นรัฐบาลจะต้องศึกษาประเทศคู่ทางให้ละเอียด

            นอกจากนั้น Travel bubble ยังกำหนดกลุ่มบุคคลที่ให้เข้ามาในแต่ละระยะและแผนการดำเนินกิจกรรมในประเทศ โดยกำหนดมาตรการร่าง Travel bubble ของประเทศต้นทางที่ได้จับคู่ การป้องกันตั้งแต่ประเทศต้นทางมีการตรวจคัดกรอง และทุกคนที่เข้ามาจะต้องมีประกันที่ครอบคลุมการตรวจรักษาโควิด-19 เผื่อกรณีนักท่องเที่ยวที่ติดเชื้อเดินทางเข้ามาในประเทศก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของภาครัฐได้ ที่ทุกวันนี้เน้นรักษาคนไทยด้วยกันเอง อีกทั้งต้องได้รับ Travel certificate/Visa ที่ออกโดยสถานทูตไทยก่อนที่จะเดินทางเข้ามา

            ส่วนมาตรการในประเทศ โดยเฉพาะปราการแรกของไทยคือ สนามบิน อาจมีการกำหนดแยกโซนในอาคารระหว่างประเทศสำหรับผู้ที่เดินทางแบบ Travel bubble หรือจัดสนามบินเฉพาะ เช่น อู่ตะเภา หลังจากนั้นเมื่อผ่านด่านสนามบินมาได้ นักท่องเที่ยวต้องมีแอปติดตามตัว เช่น DDC Care หรือหมอชนะ ซึ่งทุกคนจะต้องมีสมาร์ทโฟน ถ้าใครไม่มีจะต้องซื้อ หรือเช่าได้ที่สนามบิน และเดินทางด้วยรถของโรงแรมเท่านั้น ห้ามใช้ขนส่งสาธารณะ ในส่วนของโรงแรม จะต้องจัดชั้นที่พักแยกเฉพาะสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยทำความร่วมมือกับโรงพยาบาล ทั้งนี้ในระยะเริ่มแรกรัฐบาลยังไม่ให้คนทั่วไปเดินทางเข้ามายังประเทศไทย แต่จะเริ่มจากกลุ่มนักธุรกิจและกลุ่มศัลยกรรมเสริมความงามที่จะเข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลของไทย หลังจากนั้นค่อยพิจารณาความเป็นไปได้ในการเปิดให้คนทั่วไปมาเที่ยว

            ซึ่งในปัจจุบันมีตัวอย่างจากออสเตรเลียที่ได้มีการทำข้อตกลงผ่านการจับคู่เดินทางกับประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งประชากรระหว่าง 2 ประเทศสามารถเดินทางไปมาได้แบบไม่ต้องกักตัว 14 วัน และมีเงื่อนไขเกี่ยวกับข้อตกลง ยกตัวอย่างเช่น ใบรับรองตรวจโรคโควิด-19 ซึ่งต้องมีผลเป็นลบ นำมาแสดงกับเจ้าหน้าที่สนามบิน สำหรับประเทศอื่นที่ไม่ได้ทำข้อตกลงด้วยก็ยังคงมาตรการห้ามเดินทางเข้าออกประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ จนกว่าจะมีการประกาศข้อตกลงอื่นๆ เพิ่มเติม

            ด้านสิงคโปร์และมณฑล 6 แห่งของจีน ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ กวางตุ้ง เทียนจิน ฉงชิ่ง เจียงซูและเจียงซี ได้เริ่มดำเนินการข้อตกลง “Fast Lane” ร่วมกัน เพื่อให้นักเดินทางที่เดินทางเพื่อธุรกิจและงานต่างๆ ทางราชการ สามารถเดินทางระหว่างสิงคโปร์ และทั้ง 6 มณฑลได้โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน แต่ต้องตรวจเชื้อไวรัสทั้งก่อนและหลังเดินทางล่วงหน้าอย่างน้อย 48 ชั่วโมง และต้องมีหนังสือเชิญจากบริษัท หรือภาครัฐของประเทศปลายทางด้วย

            สำหรับไต้หวัน เป็นอีกหนึ่งประเทศที่จัดการกับไวรัสได้ดีเยี่ยม และมีแผนทำ Travel bubble เช่นกัน นอกจากนี้ไต้หวันยังทำโปรแกรมทดลองร่วมกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเพื่อแก้ปัญหาการกักตัวหลังการเดินทาง โดยให้นักเดินทางจากซานฟรานซิสโกจำนวน 500 คน ตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 จากต้นทางก่อนบินมาที่เมืองไทเป และตรวจหาเชื้อซ้ำตลอดช่วง 14 วันที่กักตัว เพื่อค้นหาว่าผู้ที่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อจำเป็นจะต้องกักตัวหลังจากการเดินทางยาวนานถึง 14 วันหรือไม่ หากการทดลองเสร็จสมบูรณ์อาจทำให้ช่วงเวลากักตัวของนักเดินทางสั้นลงกว่าเดิม

            สำหรับประเทศไทย แม้ว่าการกลับมาของการท่องเที่ยวจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่ก็เป็นสิ่งเดียวในขณะนี้ที่สามารถริเริ่มกลับมาฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศไทยให้ดีกว่าเดิมได้ ซึ่งจะต้องรอสัญญาณจากรัฐบาลว่าจะเริ่มโครงการนี้อย่างเป็นทางการได้เมื่อไหร่ เพื่อให้กิจการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้ฟื้นฟูตัวเองไปตามลำดับ.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"