เมื่อสิงคโปร์ประกาศยุบสภาเลือกตั้งใหม่วันที่ 10 กรกฎาคมนี้ ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ก็กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ต้องวิเคราะห์ศึกษา
ผมเห็นว่าบทเรียนของเพื่อนบ้านประเทศนี้ น่าจะทำให้ไทยเราสามารถวางแผนการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ ที่ควรจะเกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อเปิดกว้างให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารวิกฤติในระดับท้องถิ่นอย่างทั่วถึง
นายกฯ หลี่ เสียนหลง ของสิงคโปร์ประกาศยุบสภาเลือกตั้งใหม่ในจังหวะนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า
"เราไม่รู้ว่าโควิดจะสงบเมื่อไหร่ แต่ที่รู้แน่ๆ คือมันจะไม่จบก่อนเดือนเมษายนปีหน้า...ซึ่งเป็นเส้นตายที่สภาชุดนี้หมดอายุ เราจึงคิดว่าน่าจะต้องจัดเลือกตั้งตอนนี้เลยเพื่อให้รัฐบาลใหม่มีเวลา 5 ปีในการแก้ปัญหาวิกฤติอย่างเต็มที่"
แน่นอนว่าหลี่ เสียนหลงมั่นใจว่าพรรค PAP จะต้องชนะเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากอีกครั้งหนึ่ง
พรรครัฐบาลมีที่นั่งในสภาวันนี้ 82 ที่นั่ง ขณะที่ฝ่ายค้านมีเพียง 9 ที่นั่ง
ผลเลือกตั้งครั้งนี้คงจะไม่เปลี่ยนโครงสร้างที่นั่ง ส.ส.ในสภามากนัก
แต่ที่ต้องจับตาคือ การเลือกตั้งครั้งนี้จะนำไปสู่การ "ผลัดใบ" การเมืองครั้งใหม่หรือไม่
เพราะหลี่ เสียนหลงได้ประกาศก่อนหน้านี้ว่า เขาเตรียมจะก้าวลงจากตำแหน่งนายกฯ และเปิดทางให้ทายาทขึ้นมาแล้ว
คนคนนั้นคือ รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง เฮง สวีเคียต ที่มานั่งรออยู่แล้ว
หากเป็นเช่นนั้นก็แปลว่า จะมีทีมบริหารใหม่ที่จะมาบริหารวิกฤติที่หนักหน่วงที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติเลยทีเดียว
จะ "เอาอยู่" หรือไม่ ไม่มีใครบอกได้
แต่ที่รู้แน่ๆ คือถ้าไม่จัดทีมใหม่ ไม่ระดมสรรพกำลังคนเก่งของประเทศมาทำสงครามกับโควิด ก็จะต้องเจอกับหายนะของบ้านเมืองทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเป็นแน่แท้
การเลือกตั้งของสิงคโปร์ครั้งนี้ก็เป็นแบบ New Normal เพราะต้องระวังเรื่องโรคระบาดอย่างยิ่ง
เริ่มด้วยการให้ผู้สูงวัยใช้สิทธิ์หย่อนบัตรก่อน โดยทุกคนต้องใส่ถุงมือ ยืนเว้นระยะห่างในคูหาเลือกตั้ง
พรรคการเมืองหาเสียงผ่านทีวีและวิทยุตามโควตาที่ กกต.ของเขาจะจัดให้เท่านั้น
การจัดการชุมนุมทางการเมืองถูกสั่งห้ามเด็ดขาด
ผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถเคาะประตูบ้านประชาชนเพื่อหาเสียง แต่ก็ต้องทำอย่างระมัดระวัง ไม่เผลอไปแพร่เชื้อใส่กัน
แน่นอนว่าผู้สมัครจะสามารถหาเสียงผ่าน social media ได้ ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะเป็นช่องทางของการหาเสียงที่ได้ผลที่สุด
หลี่ เสียนหลงจะก้าวลงจากตำแหน่งหลังการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ และจะก้าวลงอย่างไร เป็นประเด็นที่กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชนและผู้คนอย่างน้อยก็ในอาเซียนเป็นอย่างยิ่ง
เพราะนอกจากว่าโควิด-19 จะเป็น "ศึกยิ่งใหญ่ที่สุดตั้งแต่สถาปนาประเทศมา" แล้ว ก็ยังมีประเด็นว่าหากนายเฮง สวีเคียต ขึ้นมาเป็นนายกฯ ต่อจากหลี่ เสียนหลง หลังเลือกตั้ง เขาจะเป็นผู้นำของเกาะนี้คนแรกที่ไม่ได้อยู่ในแวดวง "ตระกูลลี"
นั่นคือความท้าทายที่ทับซ้อนกับวิกฤติเศรษฐกิจ ที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนสิงคโปร์อย่างยิ่ง
หลี่ เสียนหลง ยอมรับว่าการทำสงครามกับโรคระบาดครั้งนี้ยิ่งใหญ่และหนักหน่วงที่สุดในชีวิต
"เราไม่รู้ว่าไวรัสตัวนี้จะหายไปเมื่อไหร่ หรือจะหายไปหรือไม่ แต่ที่รู้แน่ๆ คือมันจะอยู่กับเราอีกระยะหนึ่งแน่นอน อาจจะหนึ่งปีหรือยาวนานกว่านั้น..."
ถ้าเป็นเช่นนี้กระบวนการ "ส่งไม้ต่อ" ทางการเมืองจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง
หลี่ เสียนหลง ในวัย 68 แม้จะยังดูเหมือนมีความคล่องแคล่วไม่น้อย แต่เขาก็ยอมรับว่าไม่มีอะไรแน่นอนจากนี้ไป
เดิมทีเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียเข้ามา "ป่วน" หรือ disrupt การเมืองของสิงคโปร์ไม่น้อย พรรคฝ่ายค้านและคนรุ่นใหม่ที่ไม่เห็นด้วยกับ PAP ก็เริ่มมีบทบาทคึกคักมากขึ้น
อีกทั้งน้องชายของนายกฯ ที่ชื่อ หลี่ เสียนหยาง ก็ได้ประกาศไปร่วมกับพรรคฝ่ายค้านที่ตั้งขึ้นมาใหม่ชื่อ Progress Singapore Party (PSP) โดยนักการเมืองอาวุโส ตัน เฉิงบ็อก ที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่กับพรรค PAP
น้องชายคนนี้มีเรื่องระหองระแหงกับหลี่ เสียนหลง อย่างเปิดเผย กรณีพินัยกรรมของคุณพ่อลี กวนยิว จนกลายเป็นเรื่องดรามาทางการเมืองระดับต้นๆ ของเกาะแห่งนี้
วันนี้หลี่ เสียนหยาง ออกมาบอกว่า
"ผมสมัครเป็นสมาชิกพรรคใหม่นี้ เพราะผมเห็นว่าพรรค PAP ได้นำประเทศหลงทางแล้ว..."
ทันใดนั้นการเมืองสิงคโปร์ก็ร้อนฉ่าขึ้นมาทันที!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |