มนุษยชนปากจัด! เผด็จการกระจอก


เพิ่มเพื่อน    


     ฮิวแมนไรต์วอตช์หัวดำ ชื่นชมลัทธิ 3 นิ้ว  แขวะ "บิ๊กตู่" เผด็จการกระจอก คุกคามเด็ก เป็นเรื่องใหญ่ เรียกแขก สถาบันสิทธิมนุษยชนทั่วทั้งโลก ช่วยเรียกร้องความยุติธรรมให้เกิดขึ้น ซัดนายกฯ ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ แต่เป็นเพียงสิทธิมนุษยชนลวงโลก "ณัฐวุฒิ" ให้เสรีภาพเสื้อแดงตั้งพรรค แต่ นปช.ค้าน เกรงเสียงแตก ขณะที่คนเสื้อแดงจริงๆ อยากตั้งพรรค ระบุอยู่เพื่อไทยถูกครอบงำ
    กรณีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำนวน 3 คนชูป้าย ”ชาวจุฬารักลุงตู่ (เผด็จการ) ต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังร่วมกิจกรรมที่จุฬาฯ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ต่อมานิสิตกลุ่มนี้อ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่บุกถึงบ้าน และมีการสอบถามประวัติด้วยนั้น
    เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ได้เกิดปฏิกิริยาจากองค์กรด้านสิทธิเสรีภาพในทันที โดยเฉพาะนายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์วอตช์ประจำประเทศไทย ได้ทวีตข้อความโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ว่า “เผด็จการกระจอก! คุกคามเด็ก!”
    นายสุณัยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวแห่งหนึ่งถึงเหตุการณ์นี้ด้วยว่า ยังคงสะท้อนถึงบรรยากาศภายใต้รัฐบาล คสช. ที่มีการใช้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคุกคามคนเห็นต่างที่ออกมาวิจารณ์ระบอบทหารเป็นอย่างดี แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะบอกปล่อยไป แต่ทุกครั้งจะมีปฏิกิริยาตรงกันข้ามตามมาทันทีต่อคนที่ออกมาวิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งหน้า ตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ที่ใส่เสื้อสกรีนข้อความไม่เอารัฐประหาร ชู 3 นิ้ว ต่อต้านเจาะจงต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ ก็ถูกเล่นงานดำเนินคดีจนถึงวันนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้คือความอยุติธรรมของระบอบคสช.
    เขากล่าวว่า ท่าทีของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงต่อนิสิตกลุ่มนี้ มีความน่าเป็นห่วงมาก เราไม่ควรมองเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก สถาบันสิทธิมนุษยชนทั้งในไทยและต่างประเทศ ควรออกมาช่วยกันเรียกร้องความยุติธรรมให้เกิดขึ้น แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ แต่ก็เป็นเพียงสิทธิมนุษยชนลวงโลก ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องตรงกันข้ามทั้งสิ้น การคุกคามคนเห็นต่างยังมีอย่างต่อเนื่อง มีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ 
    “ล่าสุดคือกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่เรียกร้องตามโรดแมป แต่กลับถูกตั้งข้อหามาตรา 116 และนับวันก็ยิ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีมากขึ้นทุกที วันที่ 5 พฤษภาคม ที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะนัดชุมนุมใหญ่ จึงต้องช่วยกันจับตา” นายสุณัยกล่าว
    นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และในฐานะอดีต ผอ.สำนักข่าวกรองฯ  กล่าวประเมินสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ว่า   จากรายงานของหน่วยงานด้านความมั่นคง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือกิจกรรมของพรรคการเมือง ขณะนี้ก็มีการดำเนินการตามที่กฎหมายเปิดช่องไว้ให้แล้ว ซึ่งบางส่วนเขาก็กำลังทำอยู่ บางส่วนก็อยู่ระหว่างการเรียกร้องขอให้ยกเลิกในบางสิ่งบางอย่าง ก็เป็นเรื่องที่ คสช.จะพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป 
ยังไม่มีสิ่งบอกเหตุความรุนแรง
    ในส่วนที่สองเป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวที่มีการชุมนุม การรวมตัวกันชุมนุมเรียกร้องของบางกลุ่ม ซึ่งช่วงนี้จะมีต่อเนื่อง มองว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในช่วงเวลาที่เป็นเรื่องของการเลือกตั้งและงานการเมืองในอนาคต ซึ่งเป็นลักษณะที่เป็นธรรมชาติ สิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงทำคือการติดตามเฝ้าดู การทำความเข้าใจ การยึดหลักกฎหมาย และมีวิธีการปฏิบัติเพื่อให้เดินต่อไปได้
    เมื่อถามว่า มีอะไรน่าเป็นห่วงที่จะทำให้การเมืองสะดุดหรือไม่ นายสุวพันธุ์ตอบว่า รัฐบาลมีหน้าที่ที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปให้ได้ ก็จะดูไปตามช่วงของเวลาว่าเหตุการณ์สถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างไร หน้าที่ของรัฐบาลคือการทำให้ไปถึงเป้าหมายหรือตามโรดแมปกำหนด
    ถามว่า แนวโน้มเหตุการณ์หรือสถานการณ์อาจจะมีความรุนแรงขึ้นหรือไม่ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ตอบว่า เท่าที่ดูรายงานยังไม่มีสิ่งบอกเหตุที่จะไปถึงขั้นนั้น และเท่าที่ทราบ ฝ่ายความมั่นคงก็จะดูแลในช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้เกิดความสงบเรียบร้อยราบรื่น ดูแลความปลอดภัยของประชาชนในชั้นสูงสุด และหลังจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็คงจะได้มีการประเมินกันอีกครั้ง
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคม กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะมีการยกระดับการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น โดยมีข้ออ้างครบ 4 ปีของการรัฐประหาร นายสุวพันธุ์ ระบุว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย ซึ่งในภาพรวมมั่นใจว่าจะดูแลสถานการณ์ให้เกิดความสงบเรียบร้อยได้
    ซักว่าประเมินกลุ่มเคลื่อนไหวจะเป็นคนกลุ่มเดิม หรือกลุ่มนิสิตนักศึกษา รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ตอบว่า คงต้องดูว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไร มีใครบ้าง จำนวนคนที่มาร่วมมีเท่าไหร่ ทั้งนี้ ตนไม่ได้ร่วมประเมินสถานการณ์กับฝ่ายความมั่นคง จึงไม่สามารถพูดอะไรได้
    “ในฐานะอดีต ผอ.สำนักข่าวกรองฯ มองว่าวันนี้ ยังไม่มีสิ่งบอกเหตุที่จะก่อให้เกิดความผิดปกติหรือทำให้บ้านเมืองเดินต่อไปไม่ได้ ที่สำคัญรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อยและเดินไปตามโรดแมป ก็ต้องดูแลในเรื่องดังกล่าวอย่างดี จึงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง” นายสุวพันธุ์กล่าว
    วันเดียวกันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ 101 องศาข่าว ถึงกรณีที่นายสกลธี ภัททิยกุล อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ไปเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่านายสกลธีมาพบตนเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดี โดยนายสกลธีเล่าให้ฟังว่า ได้รับการทาบทามจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้ไปทำงานเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. 
ดีใจคนหนุ่มไฟแรงออก
    ซึ่งนายสกลธีตัดสินใจว่าอยากจะไป ซึ่งถือเป็นสิทธิของเขาที่ได้เลือกแล้ว และเป็นเส้นทางที่เขาได้เลือก ขณะที่ตนบอกว่าเมื่อเป็นอย่างนี้ เขาคงจะต้องลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งการที่ลาออกนี้เพื่อจะได้ให้ทำงานอยู่ตรงนั้นมีความเป็นกลาง ส่วนต่อไปวันข้างหน้าจะไปอยู่กับพรรคไหน อย่างไรนั้น เป็นสิทธิ์ของเขา ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ต้องเดินหน้าหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ลงเขตหลักสี่แทนนายสกลธี คงไม่มีปัญหาอะไร 
    "ผมไม่ทราบว่าหลังจากนั้นเขาจะตัดสินใจอย่างไร หรือมีข้อตกลงอะไร ทุกคนต้องเลือกเส้นทางของตัวเอง แล้วในส่วนของพรรค ผมว่าเราเดินต่อได้ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ผู้สมัครเขตหลักสี่ ผมคิดว่ามีหลายคนสนใจอยู่” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว 
    ด้านนายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่จะมีคนหนุ่มไฟแรง มีความสามารถ และรู้ปัญหาของชาว กทม. เพราะเคยทำหน้าที่ ส.ส.กทม.มาก่อน เข้าไปช่วย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.แก้ไขปัญหา ให้ทำงานในเวลาที่เหลืออยู่เป็นผลสำเร็จ ให้ชาว กทม.มีความสุขที่สุด  ทั้งนี้ ความเป็นสถาบันยาวนานของพรรคประชาธิปัตย์กว่า 72 ปี เราสร้างนักการเมืองมาหลายรุ่น ตั้งแต่อดีต และจะทำต่อไปในอนาคต 
    "เรามีทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่สมัครใจพร้อมจะทำงานเพื่อประชาชนในทุกภาคของประเทศ ซึ่งเป็นความปรารถนาของพรรคที่อยากมีนักการเมืองที่มือสะอาด รู้ใจ รู้ปัญหาประชาชน และตอบโจทย์ประชาชน แก้ปัญหาประชาชนได้ทันใจ"
    นายจุติมั่นใจว่า นายสกลธีทำหน้าที่นี้ได้ดี ใครคิดอยากทำงานเพื่อประเทศ ก็ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ สร้างประเทศไทยให้เป็นสังคมที่น่าอยู่ เป็นสังคมที่มีความสุข มีความเท่าเทียม มีความเป็นธรรมและเอื้ออารีต่อกัน 
    นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. เปิดเผยว่า ขณะนี้แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรค เป็นอดีต ส.ส. และเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว ในการพูดคุยกันนอกรอบนั้น แกนนำนปช.ได้ให้เสรีภาพกับแกนนำ นปช.ทุกคนที่จะตัดสินใจว่าจะเป็นสมาชิกพรรคใดหรือไม่ หรือเป็นผู้สมัครส.ส.ของพรรคใดหรือไม่ แต่หลักการคือบทบาทของพรรคการเมืองที่แกนนำ นปช.จะเข้าไปร่วมนั้น จะต้องยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตย ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ และไม่ตอบสนองต่อวิถีเผด็จการใดๆ ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม หลายคนได้ยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยไปแล้วเมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นแนวร่วมสำคัญกับกลุ่ม นปช.อยู่แล้ว
พรรคเสื้อแดง
    เขายังกล่าวถึงกระแสข่าวการตั้งพรรคการเมืองของคนเสื้อแดงด้วยว่า คนเสื้อแดงผ่านการต่อสู้ทางการเมืองมาอย่างยาวนาน ซึ่งอาจจะมีบางส่วนที่มีแนวคิดว่าอยากจะขับเคลื่อนในระดับนโยบาย ดังนั้นการตั้งพรรคการเมืองจึงอาจจะมีขึ้นได้สำหรับคนบางกลุ่ม 
    "ตรงนี้เราถือเป็นเสรีภาพ แต่สำหรับแกนนำ นปช.นั้น ยังไม่มีแนวคิดที่จะตั้งพรรคการเมือง"
    ส่วนกระแสข่าวแกนนำ นปช.เดินทางไปพบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ประเทศจีนนั้น นายณัฐวุฒิยืนยันว่า แกนนำ นปช.ไม่มีใครเดินทางไปพบกับนายทักษิณในช่วงนี้ ส่วนแกนนำเสื้อแดงคนอื่นๆ จะมีการเดินทางไปพบนายทักษิณหรือไม่นั้น ไม่ทราบ แต่สำหรับแกนนำ นปช.ยังไม่มีใครเดินทางไป
      นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ โฆษก นปช. เปิดเผยว่า แกนนำ นปช.ไม่จัดตั้งพรรคการเมือง แต่ถ้าจะมีสมาชิกคนใดไปสังกัดพรรคการเมือง ถือว่าเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล ทางกลุ่มห้ามไม่ได้ โดยหลักการของ นปช.คือไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนนอก แต่จะสนับสนุนประชาธิปไตย
    นายนิสิต สินธุไพร สมาชิกพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการโรงเรียน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน กล่าวว่า แกนนำหลัก นปช.ไม่มีแนวคิดตั้งพรรคการเมือง เรายังเห็นว่าควรมาสนับสนุนพรรคเพื่อไทยให้ทำการเมืองให้ได้เสียงมากขึ้น ให้มีเอกภาพมากขึ้นน่าจะดีกว่า และเมื่อย้อนดูการทำพรรคการเมืองของกลุ่มที่เคยเคลื่อนไหวในอดีต เช่น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อมาทำพรรคก็ไม่ประสบความสำเร็จ หรือแม้แต่กลุ่ม กปปส. หากจะมาทำพรรค คงยากที่จะประสบความสำเร็จ เพราะไปใกล้เคียงกับแนวทางพรรคหลักคือพรรคประชาธิปัตย์ การจะไปดึงคะแนนเสียงออกมาคงเป็นเรื่องยาก  
    “สมาชิกส่วนใหญ่ยังอยู่กับพรรคหลักคือพรรคเพื่อไทย ที่ยังยืนหยัดต่อสู้ทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย สู้เราไปพัฒนาแนวทางประชาธิปไตยให้แข็งแรงดีกว่า"
    นายนิสิตกล่าวว่า ที่ผ่านมามีคนพยายามเดินเรื่องพรรคเสื้อแดง เป็นบุคคลที่ไม่มีชื่อเสียงมากนักในระดับพื้นที่ ท้องถิ่น การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เคยส่งผู้สมัครของพรรครับเลือกตั้ง แต่สุดท้ายไม่ได้ทั้ง ส.ส.เขต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 
    "ถ้าคนเสื้อแดงตั้งพรรคจะเป็นการไปดึงคะแนนเสียงเพื่อไทยนั้น คิดว่าในระยะต้นคงดึงไปยาก ฐานมวลชนยังสนับสนุนกับพรรคหลัก แต่ยอมรับว่ามีแนวร่วมเสื้อแดงบางส่วนพยายามเดินเรื่องนี้ พยายามที่จะทำพรรค แต่ไม่มีคนสนับสนุน” นายนิสิตกล่าว
เสื้อแดงอยากตั้งพรรค
    ขณะที่นายสิระ พิมพ์กลาง แกนนำคนเสื้อแดง สกลนคร ให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าตั้งพรรคได้ก็ดี คะแนนจะได้กระจายออกไป หากไม่ตั้ง พรรคอนาคตใหม่จะแย่งฐานคะแนนตรงนี้ที่แนวร่วมเสื้อแดงบางส่วนจะเทไปให้ แต่ถ้าตั้งจะเป็นการดึงคะแนนตรงนี้กลับมา 
    อย่างไรก็ดี การตั้งพรรคต้องใช้ทุนพอสมควร ไม่แน่ใจว่าจะไปหาทุนกันจากที่ไหน เพราะตอนนี้ทุกคนก็ลำบากกันหมด แค่ตั้งต้นยังไม่ต้องทำอะไรเลย เรื่องสติกเกอร์ เรื่องป้าย เรื่องบัตรแนะนำตัว ต่างต้องใช้ทุนทั้งนั้น ในส่วนของนโยบายต้องแยกออกจากพรรคเพื่อไทยให้ชัด ตรงนี้จะเป็นการดึงคะแนนจากเสื้อแดงที่มีอุดมการณ์มาได้
    “เวลาไปเดินขบวน ไม่ใช่ว่าเสื้อแดงทั้งหมดจะอยู่กับพรรคเพื่อไทย กับ ส.ส.บางคนไม่กินเส้นกันก็มี"
    เขากล่าวว่า เรื่องนโยบายก็ต้องมาวาง จะทำอย่างไรให้ทหารเป็นทหาร กระบวนการยุติธรรมไม่ให้ถูกแทรกแซง ให้เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย ส่วนตัวผม หากมีการตั้งพรรค มีการชักชวนไป ก็จะไปอยู่ด้วยแน่นอน ไปไหนไปกัน เพราะสู้กันมาด้วยกัน อยากให้ตั้งพรรคเสื้อแดง จะได้คนรุ่นใหม่ พวกมีอุดมการณ์จะได้สร้างประชาธิปไตยแบบใหม่ เพื่อทำให้ดีกว่าเดิม หากยังอยู่กับพรรคเพื่อไทย ก็ยังวนอยู่กับการเมืองแบบเก่า ไม่หลากหลาย ถ้าแยกออกมาก็ดี จะได้มีความเป็นอิสระทางความคิด
    เมื่อถามว่า หากคนเสื้อแดงแยกมาทำพรรคจริง คิดว่าจะมี ส.ส.เสื้อแดงในพรรคเพื่อไทยออกมาอยู่กับพรรคเสื้อแดงกันหลายคนหรือไม่ นายสิระกล่าวว่า คงไม่มี เขาคงอยู่กับพรรคต่อไป หรือถ้ามีคงมีไม่กี่คน เพราะส่วนใหญ่จะอิงไปกับสายทางพรรคแล้ว แต่ไม่จำเป็นต้องดึง ส.ส.เพื่อไทยเสื้อแดงออกมา ควรไปมุ่งหาเสื้อแดงในพื้นที่ที่มีอุดมการณ์ เป็นคนรุ่นใหม่ ไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งน่าจะดีกว่า
    “แกนนำเสื้อแดงก็ต้องเห็นใจมวลชนเสื้อแดงที่ออกมาสู้เพื่อประชาธิปไตย เราก็อยากได้รัฐธรรมนูญ การปกครองที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ถ้ายังอยู่กับเพื่อไทย คงถูกครอบงำจาก ส.ส.เก่าๆ แก่ๆ ไม่มีโอกาสที่เสื้อแดงที่มีอุดมการณ์ได้แสดงความคิดเห็นได้แสดงออก” นายสิระกล่าว  
    ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และผู้ก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป เปิดเผยว่า หลังจากพรรคประชาชนปฏิรูปได้จัดประชุมเลือกว่าหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค คำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคไปเมื่อวันที่ 7 เม.ย.61 ที่ผ่านมา ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างเตรียมเอกสารต่างๆ ให้ครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุด ก่อนที่จะไปยื่นคำขอจดแจ้งจัดตั้งพรรคกับทาง กกต.ในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ 
    ผู้ก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูประบุว่า พรรคประชาชนปฏิรูปมีแนวทางชัดเจนว่าจะเป็นเครื่องมือของประชาชน เป็นพรรคที่เป็นองค์กรสาธารณะระดับชาติ ช่วยเหลือประชาชน เพิ่มอำนาจให้ประชาชน โดยให้มีสภาประชาชนปฏิรูปประจำจังหวัดทุกจังหวัด
15 พรรคยื่นคำขอ
    พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณารับรองคำขอจดจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ของกลุ่มการเมืองต่างๆ ว่า ขณะนี้ทางสำนักงาน กกต.อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารและคุณสมบัติของกลุ่มการเมืองที่ยื่นคำขอเข้ามา เบื้องต้นมีจำนวน 15 พรรคการเมือง 
    "ผมได้ลงนามและออกหนังสือรับแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง (แบบ พ.ก.7/2) ประกอบด้วย พรรคพลังชาติไทย พรรคเครือข่ายประชาชนไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคทางเลือกใหม่ พรรคกรีน พรรคประชานิยม พรรคพลังสยาม พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคสังคมประชาธิปไตยประชาชน พรรคประชาชาติ พรรคพลังพลเมืองไทย  พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภาคีเครือข่ายไทย" พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าว
    พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า เข้าใจหลังเทศกาลสงกรานต์จะมีอีกหลายพรรคที่จะได้รับหนังสือรับแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง (แบบ พ.ก.7/2) ส่วนที่มีบางกลุ่มการเมืองออกมาเรียกร้องให้เร่งดำเนินการออกใบแบบ พ.ก.7/2 นั้น ขอชี้แจงว่า กกต.พยายามเร่งดำเนินการตรวจสอบอยู่ เพียงแต่ว่าข้อมูลบางอย่างจำเป็นต้องรอการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย แต่ก็ยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว 
    เขากล่าวว่า การขออนุญาตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ของพรรคการเมืองนั้น ขณะนี้ กกต.ได้ส่งหนังสือไปให้ คสช.พิจารณาแล้ว จำนวน 30 กลุ่ม และได้รับอนุญาต จำนวน 9 กลุ่ม อย่างไรก็ตาม อยากเน้นย้ำให้กลุ่มการเมืองที่จะยื่นเอกสารขออนุญาต คสช. ระบุข้อมูลต่างๆให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นวัน เวลา และสถานที่จัดประชุม โดยเฉพาะสถานที่จัดประชุม ซึ่งมีความสำคัญ
    พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. มีท่าทีไม่ปฏิเสธเล่นการเมืองว่า ไม่ทราบ และไม่มีความเห็นในเรื่องดังกล่าว 
    เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ระบุทราบว่ามีการพูดคุยกันถึงการตั้งพรรค รองนายกฯ ตอบว่า ตนไม่ทราบและไม่ได้อยู่ในวงดังกล่าว แค่ทำงานแก้ปัญหาไอยูยู แก้ปัญหาบริหารจัดการน้ำก็หมดเวลาแล้ว 
    ซักว่าหากมีการชวนไปเข้าร่วม จะเข้าร่วมหรือไม่ พล.อ.ฉัตรชัยตอบว่า ไม่มีความเห็น เวลานั่งคุยกับพล.อ.ประยุทธ์ ท่านไม่เคยพูดเรื่องดังกล่าวกับตน อาจจะคุยกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯหรือใครหรือไม่นั้น ไม่ทราบ แต่ยืนยันตนไม่ได้อยู่ในวง 
    เมื่อถามย้ำว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์เล่นการเมืองพร้อมจะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่หรือไม่ พล.อ.ฉัตรชัย ตอบว่า ตนเป็นเพื่อนท่าน และทำงานร่วมกันมานาน ยืนยันพร้อมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เต็มที่ แต่การสนับสนุนทำได้หลายรูปแบบ 
     ถามว่า เห็นด้วยกับการมีพรรคการเมืองสานต่อนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า “ผมคิดว่าการวางแนวทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ใครจะมาเป็นรัฐบาลต่อไป ถ้าทำต่อจะดีเป็นประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ได้ ถ้ามาแล้วทำต่อจะเป็นเรื่องดี อยากเห็นความต่อเนื่องในการทำงาน”. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"