ศบค.เผยพบผู้ป่วยติดเชื้อ 2 ราย มาจากคูเวต ไม่พบป่วยในประเทศติดต่อ 37 วัน มวยจัดแข่งขันไม่มีคนดูได้ “วิษณุ” ขอความกรุณาฝ่ายค้าน-นักเคลื่อนไหวเห็นใจ ยันสิทธิเสรีภาพใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินถูกผ่อนคลายหมดแล้ว ลุยแก้ พ.ร.บ.โรคติดต่อใน 1 ปี จะได้ไม่ต้องใช้กฎหมายพิเศษ ขณะที่อธิบดีกรมศาสนาแนะเวียนเทียนออนไลน์กันโควิด
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 2 ราย ในสถานที่กักตัวของรัฐ ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 3,173 ราย หายป่วยสะสม 3,059 ราย ซึ่งไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดสะสมคงที่ 58 ราย และไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศติดต่อกัน 37 วัน สำหรับผู้ป่วยทั้ง 2 รายเข้าพักสถานที่กักตัวของรัฐ เดินทางมาจากประเทศคูเวต เป็นชายไทยอายุ 47 ปี และอายุ 48 ปี อาชีพรับจ้าง เดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 29 มิ.ย. โดยทั้ง 2 รายผ่านการคัดกรองที่สนามบินสุวรรณภูมิ พบว่ามีอาการไอ มีไข้ จึงส่งตรวจ ผลตรวจพบติดเชื้อ
ผู้สื่อข่าวถามว่า สนามมวยสามารถจัดการแข่งขันโดยไม่มีคนชม และสามารถถ่ายทอดสดได้หรือไม่ และมีมาตรการรองรับอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ตอบว่า ถ้าไม่มีคนดูสามารถจัดการแข่งขันได้ เพราะความเสี่ยงอยู่ที่กองเชียร์ หากจะมีการจัดแข่งจะต้องหารือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดมาตรการต่างๆ อาจจะต้องไปขออนุญาตหรือปรึกษาหารือก่อนจัดการแข่งขัน
เมื่อถามว่า วันแรกของการเปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด ทาง ศบค.มีแนวทางในการเฝ้าระวังหรือคุมเข้มให้เป็นไปตามมาตรการต่างๆ อย่างไร โฆษก ศบค.แจงว่า กิจการสีแดงเราให้ความสำคัญมาตลอด ผับ บาร์ คาราโอเกะ ตนขอให้ผู้ประกอบกิจการอ่านเพิ่มเติมในมาตรการต่างๆ รวมถึงมาตรการเสริมที่ออกมาในข้อกำหนดด้วย โดยจะมีหน่วยงานรับผิดชอบในส่วนของพื้นที่ ของจังหวัดทั้งหลายเข้าไปตรวจสอบ โดยจะมีแอปพลิเคชันผู้พิทักษ์ไทยชนะ เพื่อกันการแอบอ้าง จึงขอให้ทุกท่านมั่นใจในระบบของเรา
"เมื่อประกาศเข้าสู่การผ่อนคลายระยะที่ 5 ซึ่งไทยทำได้ดีมา 4 ระยะแล้ว เราจะคงสภาพนี้ได้นานแค่ไหน ในขณะที่ต่างชาติติดเชื้อทะลุไป 10 ล้านคนแล้ว ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับคนไทย 60 ล้านคน ขอให้รักษาสุขอนามัยแบบนี้ไปตลอด เชื่อว่าจะผ่านพ้นกลับสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว" โฆษก ศบค.กล่าว
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการขยายระยะเวลาการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน ว่าหลังจากนี้ ศบค.ชุดเล็กจะติดตามประเมินสถานการณ์รายวัน และจะประชุมทุกๆ 7 วัน คาดว่าตลอดเดือน ก.ค.นี้จะประชุม 3-4 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการผ่อนคลายกิจการและกิจกรรมจนเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงไม่กี่อย่าง เช่น ชนไก่ ชนปลากัด ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่กระทบกับวิถีชีวิตและการทำมาหากิน จึงยังเก็บไว้ก่อน อีกทั้งกิจกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่มาพร้อมกับการพนัน แต่ในที่สุดคาดว่าคงจะต้องผ่อนคลาย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายค้านและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องการให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รองนายกฯ ตอบว่า ก็กรุณาเข้าใจและเห็นซึ่งกันและกัน รัฐเองเข้าใจ อาจจะมองว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ แต่ถ้าดูให้ดีแล้วสิทธิเสรีภาพที่เคยถูกจำกัดเพราะการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะนี้ถูกผ่อนคลายไปจนเกือบหมดแล้ว ขอย้ำอีกครั้งว่า ในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ให้อำนาจรัฐ 6 อย่างคือ 1.เคอร์ฟิว มีการยกเลิกแล้ว 2.ห้ามชุมนุมในทางที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาด เรื่องนี้ยังมีอยู่ แต่อยู่ในนามของมาตรการรักษาระยะห่าง จึงไม่ทำให้คนเดือดร้อน อีกทั้งที่ผ่านมาก็มีการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ก็ไม่ได้ว่าอะไรหากรักษาระยะห่าง
ฉุกเฉินที่ไม่ฉุกเฉินแล้ว
3.เรื่องเกี่ยวกับสื่อ ที่ห้ามเฉพาะสื่อที่ไปบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับการแพร่ระบาด ไม่ได้ห้ามการแสดงความคิดเห็นในเรื่องอื่น 4.การห้ามใช้เส้นทางคมนาคม หรือสถานที่ที่เกี่ยวกับการขนส่ง ตอนนี้ไม่ได้ห้ามแล้ว เราเปิดสนามบินแล้ว 5.การห้ามเข้าไปในสถานที่ต่างๆ ตอนนี้เราไม่ได้ห้าม มีการเปิดหมดแล้ว แต่ต้องรักษาความปลอดภัย หากเจ้าหน้าที่ไปตรวจแล้วพบว่าไม่ปลอดภัยสามารถสั่งปิดได้ แต่จะเปิดเฉพาะสถานที่นั้นๆ จะไม่สามารถไปสั่งปิดห้างสรรพสินค้าทุกแห่งเหมือนที่ผ่านมาได้ และ 6.การอพยพคน ซึ่งยังไม่เคยใช้เลย
“รวมความแล้วผลของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็มีอยู่แค่นี้ และไม่มีอะไรอีก หากใครไปอ่านข้อกำหนด คำปรารภ ข้อความ คำนำข้างหน้าที่ยาวๆ ซึ่งคนไม่ค่อยสนใจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะไปสนใจว่าเปิดหรือปิดอะไรเท่านั้น ให้ช่วยอ่านว่าสิ่งที่เหลืออยู่คู่กับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จนถึงวันนี้คือการบูรณาการอำนาจเจ้าหน้าที่ ซึ่งใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ ไม่สามารถเปิดให้บูรณาการแบบนี้ได้ รมว.สาธารณสุขหรืออธิบดีกรมควบคุมโรคไม่มีอำนาจไปสั่งเจ้าหน้าที่ ตม. ตำรวจ แต่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกฯสามารถสั่งได้ โดยนายกฯ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่กว่า 4 หมื่นคนมาสนธิกำลังทำงานร่วมกัน”
เมื่อถามถึงการแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ในการทำงาน นายวิษณุกล่าวว่า ในส่วนนี้ยังต้องทำต่อไป แต่ยังต้องใช้เวลา ขณะนี้เรากำลังถอดบทเรียน เหมือนกรณีของถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนว่ามีอะไรบ้างที่ โดย พ.ร.บ.โรคติดต่อเพิ่งออกมาเมื่อปี 2558 ซึ่งไม่ทันสมัยแล้ว ตัวแพทย์ที่ร่างกฎหมายก็ออกมายอมรับว่าร่างเพื่อใช้ในการรองรับในการแพร่ระบาดระดับเล็ก แต่พอมาเจอการระบาดใหญ่ที่ไปทั่วโลก กฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถรับมือได้
"ผมได้เคยพูดไปแล้วว่าเมื่อเปิด พ.ร.บ.โรคติดต่อตั้งแต่มาตราแรกจนถึงมาตราสุดท้าย ไม่มีที่ไหนสั่งบังคับให้คนสวมหน้ากากอนามัย ไม่มีที่ไหนสั่งให้คนกักตัว ไม่มีที่ไหนสั่งให้รักษาระยะห่าง แต่เราต้องยอมรับว่านี่คือมาตรการป้องกันโรคสมัยใหม่ โดยเมื่อปี 2558 เขาไม่ได้นึกถึง อีกทั้งรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุไว้ว่าหากมีโรคระบาด เราจะต้องให้การรักษาพยาบาลโดยไม่คิดมูลค่า แต่ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อระบุไว้ว่า ให้เก็บค่าใช้จ่ายจากสายการบินที่นำเข้ามา ซึ่งไม่มีใครยอม จึงต้องแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคเรียนรู้ดูสถานการณ์วันต่อวัน วันนี้ผมยังได้แจ้งกับอธิบดีกรมควบคุมโรคว่าให้เตรียมร่างการแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อให้วันหลังจะได้ไม่ต้องมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใช้เพียง พ.ร.บ.โรคติดต่อก็พอ"
ถามว่าจะใช้ระยะเวลาการแก้ไขนานเท่าไร นายวิษณุตอบว่า คงไม่ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ กว่าจะเข้าสภาผู้แทนราษฎร กว่าจะเข้าวุฒิสภา กว่าจะทูลเกล้าฯ ถวาย กว่าจะประกาศใช้ วันนี้ทำเพียงเก็บข้อมูลว่าจะต้องแก้อะไร รวมถึงต้องดูว่าจะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นมาอีกหรือไม่ ขณะนี้ได้เริ่มกระบวนการแก้ไขไปประมาณ 50% แล้ว คาดว่าจะออกมาได้ภายใน 1 ปี
ซักว่าในส่วนที่จะมีการแก้ไข จะต้องมีการกำหนดโรค หรือเขียนกว้างๆ ว่าเป็นโรคระบาดร้ายแรง นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ต้องกำหนดชื่อโรค โดยใน พ.ร.บ.โรคติดต่อใช้คำว่า โรคติดต่อ โรคติดต่อร้ายแรง และโรคระบาด ซึ่ง พ.ร.บ.นี้เป็น พ.ร.บ.โรคต่อติด ไม่ใช่โรคระบาด ในอนาคตจึงคิดว่าอาจจะต้องเปลี่ยนชื่อเป็น พ.ร.บ.โรคติดต่อและโรคระบาด
อย่าเพ่งเล็งเรื่องการเพิ่มโทษ
“มีเรื่องตลกเกิดขึ้นเมื่อตอนที่ผมได้ประชุมกับกระทรวงมหาดไทย เพราะเขามี พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เดิมเราคิดว่าจะนำกฎหมายนี้มาใช้ แต่คำว่าสาธารณภัยเป็นการกระทำที่เกิดจากมนุษย์หรือธรรมชาติ รวมถึงโรคระบาดด้วย แต่กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้เป็นโรคติดต่อ ไม่ใช่โรคระบาด พ.ร.บ. 2 ฉบับใช้คำต่างกัน จึงต้องมีการแก้ไขฉบับใดฉบับหนึ่ง หากจะแก้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็ให้แก้คำว่า โรคระบาดเป็นโรคติดต่อ ซึ่งจะแก้ไขแค่คำเดียว หากไปแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ ก็อาจจะต้องแก้ไขทั้งฉบับ”
รองนายกฯ กล่าวว่า ได้แจ้งไปทางแพทย์แล้วว่า ถ้าจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ อย่าไปเพ่งเล็งเรื่องการเพิ่มโทษ ให้ใส่โทษทางปกครองหรือโทษทางบริหารไปแทน หมายถึงการตำหนิ เตือน หรือให้รัฐเข้าไปจัดการ โดยในกฎหมายเดิมไม่มี เพราะไม่มีประโยชน์หากเกิดโรคระบาดแล้วเอาคนไปเข้าคุก ควรแก้ที่พฤติกรรมดีกว่า 3.เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่โดยไม่ต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ 4.แก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เรื่องที่รัฐต้องป้องกันและรักษาโดยไม่คิดมูลค่า
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่ห่วงคือสถานที่เสี่ยง เช่น โรงเรียน ต้องร่วมกันคัดกรองเด็ก หากมีไข้ขอให้หยุดเรียน แต่ต้องคิดเผื่อว่าผู้ปกครองต้องทำงาน อาจจะต้องเปิดที่ดูแลเด็กใน รพ.สต.ด้วย ส่วนผับบาร์ หากสอบสวนโรคพบว่าเป็นต้นตอ เจ้าของต้องรับผิดชอบ ต้องปิดสถานที่ ดังนั้น เจ้าของต้องกำกับติดตามเปิดให้บริการตามมาตรการ จำกัดจำนวนคนเข้า เช่น 50 คน ก็ต้องเท่านี้ คนเที่ยวก็ต้องระวังตัวเอง อย่าดื่มแก้วเดียวกัน อย่างเหตุระบาดที่ผับย่านทองหล่อ ก็ติดเชื้อผ่านการดื่มแก้วเดียวกัน ถังน้ำแข็งต้องมีที่คีบ อย่าใช้มือจับ เพราะเวลาดื่มจนเมา อาจเผลอแคะขี้มูกขี้ตาแล้วมาจับ และขอให้สาธารณสุขจังหวัดเข้าไปตรวจสอบติดตามเข้มข้น
เมื่อถามว่า หลายกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วใช้กฎหมายทั่วไปในการควบคุมโควิด รมว.สาธารณสุขตอบว่า ถ้าเราคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน คำนึงถึงการปลอดเชื้อของไทย เราจะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ ในส่วนของ สธ.ก็ยังมองเห็นถึงความสำคัญ และความจำเป็น แต่พยายามที่จะไม่ให้ไปรบกวนวิถีชีวิตปกติสุขของประชาชน แต่เราเอา พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ข้างๆ เผื่อมีเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องใช้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อความปลอดภัย ยืนยันว่าใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อปราบโควิด ไม่ได้เอาไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น
ด้าน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. กล่าวว่า แม้ไทยจะคุมสถานการณ์ได้ดี แต่ถ้าเกิดมีผู้ป่วยแค่ 1 ราย 5 ราย อาจจะทำให้เกิดการกระจายเป็นพันเป็นหมื่นรายได้ ดังนั้น ต้องเตรียมความพร้อม เรามีหน้ากากอนามัยประมาณ 40 ล้านชิ้น ชุด PPE ประมาณ 5 แสนชิ้น ยารักษาโรคจำนวนหนึ่ง หน้ากาก N95 ราว 1.9 ล้านชิ้น แต่ขอให้ รพ.ตรวจเช็กสต๊อกอีกครั้ง และเตรียมความพร้อมอุปกรณ์การแพทย์ ให้พร้อมใช้งาน และขอให้ สสจ.ร่วมกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ตรวจสถานที่เสี่ยงต่างๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรการ 5 ข้อ คือ 1.ตรวจวัดอุณหภูมิ 2.ใส่หน้ากากทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ 3.เว้นระยะห่าง จำกัดจำนวนคน 4.จัดจุดล้างมือ-เจลแอลกอฮอล์ และ 5.หมั่นทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส กระตุ้นเรื่องการเช็กอิน-เช็กเอาต์ไทยชนะ และผู้พิทักษ์ไทยชนะสำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ตรวจประเมิน เราจะได้ไม่ต้องล็อกดาวน์กันอีก
เวียนเทียนออนไลน์
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวว่า ขณะนี้ใกล้วันสำคัญในทางศาสนา ทั้งอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา ทางกรมการศาสนาได้จัดทำคู่มือในการจัดพิธีทางศาสนาเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้สามารถร่วมกิจกรรมได้ปลอดภัย เข้าไปในทุกพื้นที่ของศาสนสถานได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ รวมไปถึงพระสงฆ์ต้องสวมหน้ากากอนามัย มีจุดล้างมือ หรือจุดวางสิ่งของทำบุญตักบาตร เตรียมโต๊ะจัดวางมีระยะห่าง จุดเตรียมจานชามถวายพระ กำหนดเส้นทางเข้า-ออกที่หมุนเวียนไม่แออัด พร้อมย้ำคนที่เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาต้องมั่นใจตนเองว่าไม่มีอาการป่วย หรือไอจาม และต้องลงทะเบียนคิวอาร์โค้ดไทยชนะเสมอ
ด้านนายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เผยว่า แนวทางปฏิบัติในการทำบุญ หรือการเข้าไปภายในศาสนสถานช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีบางอย่างที่ทำไม่ได้ เช่น ในศาสนาฮินดู ขอให้งดเว้นการแจกขนม หรือในศาสนาคริสต์ พิธีถือศีลจุ่มซึ่งมีการจุ่มมือสัมผัสกับน้ำ ตรงนี้ก็ขอให้มีการละเว้นเช่นกัน ซึ่งส่วนของไทยเอง กรมการศาสนาได้มีการออกคู่มือหรือจุลสารขนาดเล็ก ให้ประชาชนได้อ่านและเข้าใจว่าสามารถทำอะไรได้-ไม่ได้ และต้องเข้าไปลงทะเบียนในไทยชนะเสมอ เช่น รายละเอียดที่นั่งของประธาน ในพิธีทางศาสนา กำหนดให้ต้องมีระยะห่าง 1-2 เมตร และทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นที่ โล่งหรือแคบ และการเข้ามาในพื้นที่ต้องมีการแยกคัดกรองผู้ป่วย วัดไข้เสมอ
ส่วนพระสงฆ์ที่ต้องสวดเจริญพระพุทธมนต์ ต้องใช้เฟซชิลด์ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่อาราธนาศีล ต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือเฟซชิลด์เพื่อป้องกัน ลมหายใจ การไอจาม เมื่ออยู่ในพื้นที่จำกัด ขณะที่เจ้าหน้าที่ถือเครื่องไทยทาน ก็ต้องมีระยะห่างที่เหมาะสม ส่วนสิ่งของที่ต้องใช้ร่วมกันในทางศาสนา อาทิ ที่กรวดน้ำ ใช้หมุนเวียนกัน เจ้าหน้าที่ต้องมีการทำความสะอาดเสมอ และขอให้ยึดแนวทางตามหลักศาสนา คือสติในการใช้ คนใช้ต้องทำความสะอาด มือก่อนและหลัง เมื่อเรามีสติก็จะเป็นเครื่องป้องกันได้ทุกสิ่ง
ส่วนการทำระยะห่าง เช่น การเวียนเทียนหรือจงกรมภายในวัดขอให้ดูพื้นที่เป็นสำคัญ ในพื้นที่โล่งกว้าง สามารถจุคนได้มาก แต่หากเวียนรอบเจดีย์ ก็เป็นพื้นที่แคบ ก็จุคนได้น้อย ดังนั้นทุกอย่างต้องมีสติ หรือหากกังวล ก็สามารถเวียนเทียนออนไลน์ได้ ก็เกิดกุศลเช่นกัน เพียงแค่ระลึกถึงพระรัตนตรัย
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 1 ของโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศ หลังจากรัฐบาลประกาศขยับวันเปิดภาคเรียนออกไปจากวันที่ 16 พฤษภาคมของทุกปี เนื่องจากประเทศไทยประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ซึ่งบรรยากาศการเปิดภาคเรียนนักเรียนทุกคนต่างตื่นเต้นดีใจที่ได้มาโรงเรียน โดยโรงเรียนทุกแห่งปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัด ทั้งการตรวจวัดไข้นักเรียนก่อนเข้าห้องเรียน จัดเจลแอลกอฮอล์ทุกจุดในบริเวณสถานศึกษา
ด้านนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ภาพรวมการเปิดภาคเรียนวันแรกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และยังไม่พบปัญหาร้องเรียนเข้ามา ซึ่ง สพฐ.ขอขอบคุณบุคลากรทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นครูและผู้บริหารโรงเรียนทุกคน ที่ช่วยกันทำงานอย่างหนักและเตรียมความพร้อมรับมือในเรื่องนี้ จนสามารถเปิดการเรียนการสอนได้อย่างปกติ
นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงการปลดล็อกมวยไทยให้กลับมาแข่งขันได้ว่า ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด มวยไทยจะกลับมาแข่งขันได้ในวันที่ 3 ก.ค.นี้ และจากการที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประกาศให้โปรโมเตอร์เตรียมการจัดการแข่งขันมวยได้ โดยให้ยึดใช้คู่มือและเกณฑ์การแข่งขันเป็นแนวทางปฏิบัติในการจัดการแข่งขันชกมวย ถือเป็นสัญญาณว่าใกล้ที่มวยไทยจะได้กลับมาแข่งขันแล้วจริงๆ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |