นายสกลธี ภัททิยกุล ดีกรีอดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขตพญาไท บางซื่อ หลักสี่ และจตุจักร ครั้นการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 ร่อนจดหมายลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และต่อมาเปิดเผยว่า ไปรับตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ใหญ่ในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทาบทาม อีกทั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ก็เห็นดีเห็นงามด้วยนั้น หลายฝ่ายเกิดคำถามว่าเป็นรองพ่อเมือง กทม.จำเป็นต้องไขก๊อกหรือไม่
คำตอบ คือ "ไม่ต้อง"
แต่หากสังเกตจากคำให้สัมภาษณ์ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ก็จะพบว่า เหตุผลที่ต้องหันหลังให้ เพราะการรับตำแหน่งครั้งนี้ไปในนามทหาร ไม่ใช่ในนามพรรคประชาธิปัตย์
ขณะเดียวกัน ท่านรองผู้ว่าฯ กทม. กลับไม่ได้อธิบายเหตุผลตามที่ เดอะมาร์ค ระบุไว้ โดยเจ้าตัวชี้แจงทำนองว่า คิดได้โดยตัวเองว่า “เมื่อได้รับตำแหน่งใหม่นี้มาจากผู้ใหญ่ในรัฐบาล ผมรู้สึกลำบากใจหากจะเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. โดยที่ยังเป็นสมาชิกพรรคอยู่ด้วย ดังนั้นเพื่อความสบายใจ จึงแจ้งลาออก”
นี่ก็เป็นลีลาพลิ้วๆ ที่อยากยกตัวอย่างให้ได้รู้จักนักการเมืองมากขึ้น
แต่ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นคือ จากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการตอกย้ำคำพูดที่ใครต่อใครว่ากันว่า นายสกลธีเป็นตัวคอนเน็กทหารชั้นดี โดยเฉพาะช่วงชุมนุมมวลมหาประชาชน เขาคือคนหนึ่งที่เป็นผู้เชื่อมระหว่าง กปปส.และทหาร โดยได้บารมีบิดา พล.อ.วินัย ภัททิยกุล อดีตเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) สนับสนุน ด้วยเหตุเดียวกันนี้เองทำให้มือประสานสิบทิศของรัฐบาลทหาร ดึงตัวให้ไปนั่งเก้าอี้รองผู้ว่าฯ กทม.เล่นไปพลางๆ ก่อน เพราะระยะเวลารองผู้ว่าฯ กทม. เหลือเวลาอีกไม่เท่าไหร่ ก็จะต้องมีการเลือกตั้งเก้าอี้พ่อเมือง กทม.อีกครั้ง
นอกจากนี้ยังทำให้แน่เสียยิ่งกว่าแน่ว่า รัฐบาลทหารทำพรรคการเมืองแน่นอน และมี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นแมวมอง โดยมีข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านายสกลธี ลาออก ปรากฏว่าได้เข้าพบนายสมคิด ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา และมีกระแสข่าวว่าหารือเรื่องอนาคตทางการเมือง
หากไม่มีอะไรพลิกล็อก ต่อจากนี้ไป "สกลธี" คงสวมเสื้อเขียวเต็มตัว จะเหลือก็เพียงการตัดสินใจว่าต้องการลุยกับสนามเลือกตั้งระดับใด ระหว่างเวทีเมืองหลวงของประเทศหรือเวทีระดับชาติ ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับอีกปัจจัย เนื่องจากการส่งตัวผู้สมัครชิงที่นั่ง ส.ส.ต้องเหลียวหลังแลหน้าดูคู่แข่งด้วย และอย่าลืมว่า แม้ปี 50 เขาจะชนะเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งครั้งต่อมาในปี 54 เขาพ่ายแพ้ให้กับนายสุรชาติ เทียนทอง บุตรชายของนายเสนาะ เทียนทอง แห่งพรรคเพื่อไทย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสถานการณ์พรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกรัฐบาลทหารดึงอดีต ส.ส.ไป 1 คน คงไม่สะเทือน เพราะมีข่าวแว่วว่าขณะนี้มีคนอยากลงมากกว่าจำนวนพื้นที่เลือกตั้ง ดั่งจะเห็นจากคำพูดของหัวหน้าพรรค ที่ไม่เหลือเยื่อใยแม้แต่น้อย โดยระบุว่า “ในส่วนของพรรค ผมว่าเราเดินต่อได้ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ผู้สมัครเขตหลักสี่ ผมคิดว่ามีหลายคนสนใจอยู่”
แต่ก็อย่าประมาท เพราะแมวมองคงจะต้องดูดคนร่วมพรรคทหารอีกแน่ โดยเฉพาะในกลุ่มอดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร สาย กปปส. ซึ่งหากกางประสบการณ์ด้านการเมืองจะพบว่า “ตั้น” ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ น่าสนใจ เพราะเป็นอดีต ส.ส.กทม. 2 สมัย ได้แก่ การเลือกตั้งซ่อมปี 52 และเลือกตั้งปี 54 เขตราษฎร์บูรณะ และทุ่งครุ
หากประชาธิปัตย์ในส่วนกรุงเทพมหานครเกิด เลือดไหลไม่หยุด จริง คงสะเทือนไม่น้อย เพราะนอกจากปัญหาเรื่องผู้สมัครหน้าใหม่ที่ชาวบ้านในพื้นที่จะไม่คุ้นเคยแล้วนั้น
อย่าลืมว่ามีแผลเก่าที่คนของพรรค อย่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯ กทม.สร้างไว้ ทำให้คนกรุงรู้สึกผิดหวังและเข็ดขยาด ซึ่งแน่นอนว่าจุดนี้จะเป็นจุดอ่อนให้คู่แข่งขยี้ และมีผลเสียต่อทั้งสนามเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ฉะนั้น ประชาธิปัตย์อย่าทะนงตนว่ากรุงเทพมหานครยังคงเป็นฐานเสียงของตัวเอง เพราะอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้
เหนือสิ่งอื่นใด หากดูคะแนนสนามเลือกตั้งทุกระดับ จะพบว่าสนามกรุงเทพมหานครคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างพรรคเพื่อไทยหายใจรดต้นคอทีเดียว!!!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |