คดี “รถชน” ธรรมดาๆ กลายเป็นคดีมหากาพย์ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง สะท้อนกระบวนการยุติธรรมของไทย เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่เรื่องที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด พล.ต.ต.กฤษฏิ์ เปียแก้ว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 (บก.น.5), พ.ต.อ.สุคุณ พรหมายน รอง ผบก.น.5, พ.ต.อ.ไตรเมต อู่ไทย รอง ผบก.น.5, พ.ต.อ.ชุมพล พุ่มพวง ผกก.สน.ทองหล่อ, พ.ต.อ.สัมฤทธิ์ เกตุแย้ม พนักงานสอบสวนทรงคุณวุฒิ สน.ทองหล่อ, พ.ต.ท.วิบูลย์ ถิ่นวัฒนากูล และ พ.ต.ท.วิรดล ทับทิมดี พนักงานสอบสวน ฐานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม กรณีสอบสวนช่วยเหลือนายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มกระทิงแดง ไม่ให้ถูกดำเนินคดีขับรถขณะเมาสุรา ขับรถเร็วเกินกว่าอัตรากฎหมายกำหนด และไม่ดำเนินการออกหมายจับนายวรยุทธ เพื่อให้ได้ตัวมาส่งพนักงานอัยการฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาหลบหนี
คณะกรรมการ ป.ป.ช.แยกเป็นกรณี กรณีมีเจตนาละเว้นไม่ดำเนินคดีกับนายวรยุทธ ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และกรณีไม่นำรายงานผลการคำนวณความเร็วของกองพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งพบว่านายวรยุทธขับขี่รถยนต์ ด้วยความเร็วโดยเฉลี่ย 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มาประกอบการทำความเห็นในทางคดีนั้น ป.ป.ช.มีมติว่า พ.ต.ท.วิรดล ทับทิมดี มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความตั้งใจอุตสาหะ เพื่อให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการ เอาใจใส่ ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ และประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 78 (9) ส่วนกรณีละเว้นไม่ดำเนินการออกหมายจับนายวรยุทธนั้น ป.ป.ช.มีมติว่า พ.ต.อ.ชุมพล พุ่มพวง พ.ต.อ.สัมฤทธิ์ เกตุแย้ม, พ.ต.ท.วิบูลย์ ถิ่นวัฒนากูล และ พ.ต.ท.วิรดล ทับทิมดี มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 78 (9)
ส่วนกรณีคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ร่วมลงนามในสำนวนการสอบสวน คดีจราจร 632/2555 ของ สน.ทองหล่อ ป.ป.ช.มีมติว่า พล.ต.ต.กฤษฏิ์ เปียแก้ว, พ.ต.อ.สุคุณ พรหมายน และ พ.ต.อ.ไตรเมต อู่ไทย ในฐานะผู้บังคับบัญชา ไม่กำกับดูแล ติดตาม เพื่อให้การสอบสวนเป็นไป โดยถูกต้องรอบคอบ และเป็นธรรม เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย อันถือเป็นความบกพร่อง ซึ่งมีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 78 (9) เช่นกัน พร้อมส่งเอกสารหลักฐานและคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ย้อนเหตุการณ์ที่ ป.ป.ช.ชี้มูลเจ้าหน้าที่ของรัฐ ช่วงเช้าวันที่ 3 ก.ย.55 นายวรยุทธซิ่งเฟอร์รารีคันหรูมาด้วยความเร็ว 170 กม.ต่อชั่วโมงในซอยสุขุมวิท 35 ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ เจ้าหน้าที่สายตรวจ สน.ทองหล่อ ลากร่างไปหลายร้อยเมตรเสียชีวิตคาเครื่องแบบ แต่ไม่พบรถยนต์คู่กรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจแกะรอยตามคราบน้ำมันพบจุดสุดท้ายที่บ้านเจ้าสัวเครื่องดื่มกระทิงแดง และไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบ ยื้อกันอยู่นาน หนำซ้ำมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวพ่อบ้านเข้ามอบตัวแทน แต่โป๊ะแตก ถูกจับได้ “บอส” วรายุทธ ทนแรงกดดันไม่ไหวต้องเข้ามอบตัว ถูกแจ้งหลายข้อหา ก่อนประกันตัวแล้วหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศหลายปี อ้างติดภารกิจ ไม่สบาย ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำตัวส่งฟ้องได้ หลายข้อหาจึงหมดอายุความ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่ประวิงเวลา ช่วยเหลือไม่ให้ทายาทเครื่องดื่มกระทิงแดงต้องรับโทษ เหลือเพียงข้อหาเดียว ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งมีอายุความ 10 ปี
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ได้ออกมาชี้แจง ตร.มีคำสั่งที่ 228/2559 สืบสวนข้อเท็จจริง ก่อนส่งสำนวนไปยัง ป.ป.ช.พิจารณา ไต่สวนข้อเท็จจริงพร้อมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ตามที่ถูกกล่าวหา และวันที่ 29 ต.ค.2562 คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว มีมติว่า การกระทำของ พล.ต.ต.กฤษฎิ์ เปียแก้ว พร้อมพวก มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความตั้งใจ อุตสาหะ เพื่อให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการ เอาใจใส่ ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ และประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 78 (9) และส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐานคำวินิจฉัย เพื่อให้ดำเนินการทางวินัย
วันที่ 31 มี.ค.2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งที่ 167/2563 เรื่อง ลงโทษกักยาม ภาคทัณฑ์ และยุติเรื่อง โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 98 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 89 ประกอบ กฎ ก.ตร.ว่าด้วยอำนาจการลงโทษข้าราชการตำรวจ อัตราโทษ และการลงโทษ ภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง หรือตัดเงินเดือน พ.ศ.2547 และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง โดย “ภาคทัณฑ์” พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน, พล.ต.ต.ชุมพล พุ่มพวง, พ.ต.อ.สัมฤทธิ์ เกตุแย้ม, ว่าที่ พ.ต.อ.วิบูลย์ ถิ่นวัฒนากูล “กักยาม” พ.ต.อ.วิรดล ทับทิมดี มีกำหนด 3 วัน ส่วน พล.ต.ต.กฤษฏิ์ เกษียณอายุราชการ 1 ต.ค.56 พ.ต.อ.ไตรเมต เกษียณอายุราชการ 1 ต.ค.59 แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางวินัย เมื่อ 29 ต.ค.2562 โดย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้เมื่อ 6 เม.ย.2562 และไม่มีบทยกเว้นหรือบทเฉพาะกาลที่บัญญัติให้มีผลใช้บังคับย้อนหลัง ถือได้ว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมาย จึงได้แยกเรื่องการพิจารณาไว้
“ยืนยันว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรต้นธารของการอำนวยความยุติธรรมกับผู้ที่กระทำความผิดกฎหมายบ้านเมือง ให้ความสำคัญถึงเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งในประเด็นข้อสงสัย กระแสวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมถึงความบกพร่อง ย่อหย่อนของเจ้าหน้าที่ตำรวจในขั้นตอนการดำเนินคดีตามกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ตลอดจนดำเนินการลงโทษทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน”
ข้อหา “ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” ถึงแม้จะมีอายุความ 10 ปี แต่ตอนนี้นับถอยหลังเหลือเวลาเพียง 7 ปี ถ้าตำรวจนำตัวส่งฟ้องไม่ทันตามกำหนดทุกอย่างจบ ซึ่งโอกาสรอดคดีเป็นไปได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ “บอส” ได้ประกันตัวก็หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ตลอดจนสื่อต่างประเทศพยายามเกาะติดคดีนี้ พบโผล่อยู่หลายประเทศ พยายามชี้เบาะแสให้ทางการ ตำรวจสากลได้ออกหมายจับแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล เจ้าหน้าที่ปัดความรับผิดชอบกันไปมา
ถึงแม้จะเป็นแค่คดีอุบัติเหตุรถชน แต่สะท้อนถึงต้นธารกระบวนการยุติธรรมไทย ถ้าเป็นประชาชนคนทั่วไป ติดคุกจนออกมาแล้วป่านนี้ หลายคนลืมไปแล้วว่าคดีนี้ยังอยู่ในขั้นตอนกฎหมาย ถ้า ป.ป.ช.ไม่ชี้มูล สื่อกระพือข่าว ป่านนี้คงเงียบหายไปตามกาลเวลา ผู้ต้องหานับวันรอเป็นผู้บริสุทธิ์.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |