'ฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล'ศิลปินศิลปาธร สร้างคุณค่าจาก’สถาปัตยกรรมสารเลว’


เพิ่มเพื่อน    

ฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล สถาปนิกไทย ผู้คว้ารางวัล'ศิลปาธร' สาขาสถาปัตยกรรม 

 

 

     ออกตัวว่าสร้างงานจาก ”สถาปัตยกรรมสารเลว” ที่หลายคนมองข้าม คิดว่าไร้ค่าเพื่อถ่ายทอดวิถีของคนไทย    แต่ ฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล ศิลปินสถาปนิก ได้รับการคัดเลือกและยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล”ศิลปาธร” ประจำปี 2563 สาขาสถาปัตยกรรม จากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) สถาปนิกหนุ่ม ฉัตรพงษ์ เปิดใจว่า การทำงานค้นหาภาษาสถาปัตยกรรมที่แท้จริงในเมืองไทย คิดว่า เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ตามท้องถนน เช่น ชุมชน บ้านพักคนงานก่อสร้าง รถเข็น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้อาจดูไม่เรียบร้อย สกปรก แต่มีความบริสุทธิ์ เพราะสร้างจากชาวบ้าน ไม่ใช่นักออกแบบ แต่สามารถแก้ปัญหาชีวิตประจำวันได้  จึงถอดรหัส ทำงานวิจัย และนำมาใช้ในงานออกแบบ สร้างผลงานจริง

       ฉัตรพงษ์ สถาปนิกไทยดีกรีปริญญาโท มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปริญญาตรี และระดับปริญญาโท ด้านสถาปัตยกรรม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลก และผู้ก่อตั้ง CHAT architects เขาสนใจศึกษาวิจัยเกี่ยวกับบ้านพักคนงานก่อสร้าง ชุมชนมักกะสัน และชุมชนอ่างศิลา เพื่อค้นหาความงามที่ซุกซ่อนอยู่และนำมาพัฒนาต่อยอดเป็น”สถาปัตยกรรมสารเลว” บอกเล่าถึงสุนทรียภาพของชนชั้นที่หลากหลาย  ในขณะที่โลกกำลังเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่ารวดเร็ว

 

โรงแรมเดอะลาบาลิส ที่เขาใหญ่ หนึ่งในผลงานเด่นศิลปินศิลปาธร 

 

     ในส่วนผลงานศิลปินรางวัล”ศิลปาธร” ผู้นี้ สะท้อนถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในแง่มุมที่ถูกซุกซ่อนอยู่ผ่านทางสถาปัตยกรรม การให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่รอบตัว แต่อาจถูกมองข้าม การเปิดมุมมองให้มนุษย์ตระหนักถึงคุณค่าของการอยู่ร่วมกันระหว่างส่วนพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะ การสร้างความยืดหยุ่น การใช้ซอย ถนนเล็กๆ ซึ่งเป็นตัวแทนการเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน ด้วยรั้วบานพลิก  ซอยไม่ตัน ซุ้มต้นไม้ในซอย  ผนังแก้วริมถนนที่พลุกพล่าน บ่งบอกถึงทัศนคติของศิลปินที่แสดงถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันจนกลายเป็นชุมชนที่น่าอยู่ ดังจะเห็นได้จากงานบ้านเอกมัย ศาลาอารียา

        “ เริ่มงานออกแบบใหม่ๆ ยอมรับว่า หลงทาง มีแต่การยกแบบดีไซน์จากระดับโลก ดูเว็บไซต์ออกแบบสวยๆ  แต่มันกลวง  หันกลับมาคิด บ้านเรายังไม่ได้บันทึกสถาปัตยกรรมสารเลวที่มันสอนเราว่า สิ่งดีๆ ไม่ใช่ของแพง แต่อยู่บนท้องถนน ผมเริ่มทำโปรเจ็ค“Bangkok Bastards”   สถาปัตยกรรมสารเลวสร้างให้เกิดคุณค่า  เดินหน้าบันทึกและเข้าใจถึงเคล็ดลับน่ารักๆ ในการออกแบบชุมชนแออัด หรือสลัม ความเป็นไทยเกิดขึ้นจากสิ่งที่คาดไม่ถึง  ผมพยายามทำความเข้าใจ สะสมสิ่งเหล่า เข้าใจเชิงลึก และค่อยๆ ซึมในงาน  ทำให้ได้สถาปัตยกรรมครบรส นี่คือ การสร้างวิธีออกแบบใหม่ๆ    “  ฉัตรพงษ์ กล่าว

          งานออกแบบล่าสุด ศิลปินศิลปาธร กล่าวว่า ดัดแปลงโรงแรมม่านรูดเก่าด้วยนั่งร้านก่อสร้าง พลิกให้กลับมาใช้ใหม่ สร้างประโยชน์ให้สังคม  ก็คือ พลิกของที่มืดเป็นสว่าง  กลายเป็นโรงแรมโฮสเทลชื่อ สามเสน สตรีท โฮเต็ล ที่เปิดตัวเองให้กับท้องถนน  มีโปรเจ็คเตอร์ฉายหนังหรือหนังกลางแปลงอยู่ในคอร์ตยาร์ต  เพื่อดึงผู้คนหรือเพื่อนบ้านเข้ามามีส่วนร่วม คนเข้าพักมีระเบียงชมหนังจากห้อง  ขณะที่ระเบียงด้านหน้าโรงแรม ลูกค้าโรงแรมสามารถอยู่ร่วมกับชาวสามเสนได้ รวมถึงรองรับสตรีทฟู๊ด มีนั่งร้านที่เป็นเวทีแนวตั้งสำหรับแสดงดนตรีในชุมชน  อีกตัวอย่างงานโรงแรมที่ภาคภูมิใจ โรงแรมเดอะลาบาลิส ที่เขาใหญ่  ในพื้นที่จะเห็นโรงแรมสไตล์ยุโรป หอเอนปิซ่าจากอิตาลี สถาปัตยกรรมอังกฤษเป็นคฤหาสน์ คนไทยเก่งการจับหลายอย่างมาผสมผสาน เเนวคิดผังโรงเเรมเกิดจากการผสมสวนเขาวงกตของปราสาทตะวันตกกับบริบทเขาใหญ่ ปากช่อง สร้างโรงเเรมเขตร้อนในหุบเขาเเบบใหม่

 

ผลงานออกแบบสามเสน สตรีท โฮเต็ล ปรับโรงแรมม่านรูดเป็นโฮเต็ล สตรีท

 

              นอกจากนี้ ยังมีโรงแรมนันดา เฮอริเทจน์ ผลงานโดดเด่นไม่แพ้กัน โรงแรมออกแบบโดยมีแนวความคิดการผสมผสานวัฒนธรรมเก่า – วัฒนธรรมใหม่  องค์ประกอบอาคารเกิดจากการประยุกต์วัสดุและโครงสร้างสถาปัตยกรรมต่างยุคเข้ามาไว้ด้วยกัน  ตึกปูนฉาบเรียบทาสีเทาเข้มกับโครงสร้างเหล็กที่ดูโมเดิร์น ถูกตกแต่งรายละเอียดไปด้วยแผ่นไม้เก่า เฟอร์นิเจอร์โบราณ รีไซเคิลวัสดุจากบ้านไม้สักเก่าของเจ้าของโครงการเกือบทุกชิ้นเข้ามาจัดวาง เปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ ประกอบร่างฟื้นคืนชีวิตใหม่ขึ้นอีกครั้งภายในพื้นที่ส่วนกลางของโรงแรม

                นอกจากงานโรงแรม สถาปนิกไทยผู้นี้มีกำลังความคิดในการสร้างผลงานพัฒนาพื้นที่ชุมชน เจ้าตัวบอกว่า การพัฒนาชุมชนไม่ใช่การสร้างอาคาร ดีไซเนอร์หลายคนหวังดีช่วยสร้างอาคารให้ แต่จริงๆ แล้วชาวบ้านไม่ต้องการสิ่งปลูกสร้าง เขาต้องการน้ำที่สะอาด อยากแก้ปัญหาขยะ การปรับปรุงพื้นที่สีเขียว  ตนพยายามช่วยเรื่องพื้นฐานก่อน จากนั้นจึงค่อยปรับปรุงกายภาพอาคาร ส่งผลให้พื้นที่โดยรอบมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยากให้สถาปนิกรุ่นใหม่ถามความต้องการของประชาชน เราเจอมาเยอะ อาคารถูกทอดทิ้ง หรือชาวบ้านถอดของไปขาย กลายเป็นขยะในที่สุด

                “ ผมว่า ศิลปะมีค่ามากสำหรับงานสถาปัตยกรรม คุณค่าของงานศิลปะ ไม่ใช่แค่สร้างความสวยงาม แต่เป็นกระจกเงาสะท้อนสังคม ผลงานที่เราผลิตมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการวิพากษ์วิจารณ์สภาพสังคม ภาคภูมิใจมากที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปาธร สาขาสถาปัตยกรรม เพราะคณะกรรมการมาได้พิจารณาจากอาคารสถาปัตยกรรมดีเด่น แต่มีความเป็นมนุษย์ เป็นผลงานสร้างสรรค์ที่พูดถึงสังคม มีการใช้ทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างผลงาน ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มด้านเศรษฐกิจ “ ฉัตรพงษ์ ศิลปินศิลปาธรคนใหม่ดีใจที่ได้ร่วมสานต่อศิลปะ พร้อมอุทิศเวลาและความคิดช่วยชาติ

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"