ศบค.พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 2 ราย กลับจากกาตาร์ โรงเรียน 85% ผ่านเกณฑ์ประเมินพร้อมเปิดเทอม สธ.ตั้งผู้พิทักษ์อนามัย รร.ตามเช็ก ครม.ไฟเขียวต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน "บิ๊กตู่" ย้ำจำเป็นใช้คุมโควิด ปัดปิดกั้นชุมนุม โต้แช่แข็งเศรษฐกิจ 2แกนนำ สนท.ฉีกหมายเรียกหน้า สน.ปทุมวัน โชว์อารยะขัดขืนต้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน เวลา 11.30 น. พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 2 ราย โดยทั้งสองรายมีอาชีพพนักงานนวด เดินทางมาจากกาตาร์ และเข้าพักในสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ รายที่ 1 เป็นชายอายุ 27 ปี รายที่ 2 เป็นชายอายุ 28 ปี เดินทางถึงไทยวันที่ 16 มิ.ย. เข้าพักในสถานที่ที่รัฐจัดให้ใน จ.ชลบุรี ตรวจหาเชื้อครั้งแรก 21 มิ.ย. ไม่พบเชื้อ และตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 27 มิ.ย. พบเชื้อ โดยทั้งสองรายไม่มีอาการ
ส่วนผู้ติดเชื้อในประเทศยังคงเป็นศูนย์ราย สำหรับผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ 3,171 ราย โดยเป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,444 ราย และในสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ 234 ราย ผู้ป่วยรักษาหายเพิ่มขึ้น 3 ราย รวมรักษาหายป่วยแล้ว 3,056 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 57 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยคนไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศและอยู่ในสถานที่ที่รัฐจัดให้ ขณะที่ผู้เสียชีวิตคงที่ 58 ราย
พญ.พรรณประภากล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกผู้ป่วยยืนยันสะสม 10,408,433 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3,422 คน รวมเสียชีวิตแล้ว 507,497 ราย ขณะที่ 3 ประเทศอันดับแรกที่มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา บราซิล และรัสเซีย ซึ่งสหรัฐมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่มากที่สุดของโลก ส่วนในประเทศเอเชียพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ขณะประเทศไทยขยับอันดับจาก 95 ลงมาที่อันดับ 96 ของโลก
ในส่วนของเที่ยวบินนำคนไทยที่ตกค้างกลับไทยวันที่ 30 มิ.ย. จากมาเลเซีย 265 ราย, เวียดนาม 17 ราย, ญี่ปุ่น 201 ราย, ไต้หวัน 160 ราย สำหรับสถิติคนไทยเดินทางกลับเข้าประเทศผ่านจุดผ่านแดนทางบกเมียนมา 4 ราย, สปป.ลาว 9 ราย, มาเลเซีย 158 ราย และกัมพูชา 33 ราย โดยข้อมูลระหว่างวันที่ 18 เม.ย.-29 มิ.ย. ยอดเดินทางเข้าสะสมผ่านจุดผ่านแดน 21,455 ราย โดยทั้งหมดเข้าสถานที่กักตัวในพื้นที่ สำหรับผลการตรวจกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลาย วันที่ 29 มิ.ย. ผลการตรวจ 16,507 ราย ปฏิบัติไม่ครบ 6 ราย ไม่ปฏิบัติ 0 ราย ไม่มีแพลตฟอร์มไทยชนะ 4,492 ราย
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย แถลงถึงการเตรียมความพร้อมโรงเรียนก่อนเปิดเทอมว่า เป็นที่น่ายินดีว่าโรงเรียนทั่วประเทศ ทั้งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสังกัดหน่วยงานอื่น ได้ร่วมประเมินตนเองของสถานศึกษาผ่านระบบ Thai Stop COVID เพื่อสำรวจความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน โดยมีโรงเรียนเข้าร่วมประเมินทั้งหมด 33,637 แห่ง จาก 38,450 แห่ง โดยเป็นโรงเรียนสังกัด สพฐ. 28,836 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 85.7 ของโรงเรียนทั้งหมด ซึ่งผ่านเกณฑ์ประเมินครบทุกข้อ (44 ข้อ) ร้อยละ 94.19 และโรงเรียนในสังกัดอื่นส่วนใหญ่ผ่านเกณฑ์การประเมินตนเอง มีความพร้อมที่จะเปิดการเรียนการสอนในวันที่ 1 ก.ค.นี้
ผุดผู้พิทักษ์อนามัย รร.
“กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข มีกลไกการประเมินและติดตามในแต่ละโรงเรียนตามพื้นที่เขตการศึกษา และมีผู้พิทักษ์อนามัยโรงเรียนซึ่งเป็นจิตอาสาเข้ามาร่วมติดตามการปฏิบัติตามมาตรการและให้คำปรึกษาด้านต่างๆ จังหวัดละ 2 คน ซึ่งจะรายงานผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องกลับมายังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การดำเนินงานควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และมีความปลอดภัยอย่างสูงสุด” อธิบดีกรมอนามัยระบุ
ที่ทำเนียบรัฐบาล นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-31 ก.ค. 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในภาพรวมทั่วโลกยังคงมีความรุนแรงในหลายภูมิภาค รวมทั้งรัฐบาลได้มีมาตรการผ่อนคลายภายในประเทศในระยะที่ 5 จึงยังมีความจำเป็นต้องบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนด ทั้งการควบคุมการเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง การจัดทำระบบติดตามตัว การกักตัว และการเฝ้าระวังบุคคลต้องสงสัย รวมถึงการกำหนดมาตรการควบคุมโรคที่สามารถใช้บังคับอย่างครอบคลุมในทุกกิจการ/กิจกรรม แบบบูรณาการทั้งพลเรือน ทหารและตำรวจ เพื่อการบริหารจัดการวิกฤติให้เป็นเอกภาพ ลดความเสี่ยงไม่ให้มีการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศในระลอกที่สอง
ทั้งนี้ การขยายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วประเทศ ควบคู่กับการผ่อนคลายมาตรการบังคับใช้ ไม่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตแบบปกติของประชาชน และไม่เป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุม ครม. ถึงกรณีที่มีการออกมาคัดค้านการที่รัฐบาลขยายเวลาการประกาศใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เพื่อคุมสถานการณ์โควิด-19 ว่า ไม่ขอตอบ เพราะมีเหตุผลความจำเป็นอยู่แล้ว แต่ยืนยันว่าไม่ได้ปิดกั้นประชาชนเลย ประชาชนจะชุมนุมก็ไปขออนุญาตชุมนุมตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ แต่ในส่วนนี้ไม่ต้องการให้คนไปรวมกลุ่มกันจำนวนมากเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด ซึ่งแล้วแต่พวกท่าน จะกลัวหรือไม่กลัวก็ไม่รู้ ตนไม่ได้ไปขู่อะไรอยู่แล้ว ขอให้เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของการใช้กฎหมายด้วย พร้อมรับฟังทุกเรื่อง
ส่วนการผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 5 ที่อนุญาตให้เปิดกิจการอาบอบนวดได้ แต่ห้ามค้าประเวณี มีการตั้งข้อสังเกตว่าจะสามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตรงนี้ต้องคำนึงถึงว่าจะสร้างความสมดุลได้อย่างไร กับภาคเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ ผู้รับบริการ และผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อาชีพเหล่านี้ ส่วนเรื่องการห้ามค้าประเวณี คงต้องไปตรวจบ้าง ในสถานที่ขอให้ระมัดระวังก็แล้วกัน ถ้าถูกจับได้ต้องถูกลงโทษ เพราะถือว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรการ และกฎหมายการห้ามค้าประเวณีมีอยู่แล้ว ทุกอย่างอยู่ที่คนปฏิบัติทั้งสิ้น กฎหมายมีทุกตัวแล้วทำไมต้องเพิ่มภาระเจ้าหน้าที่ให้ไปตรวจอีก ถ้าเรารู้จักว่าจะต้องทำตัวอย่างไรในช่วงนี้ก็ต้องระมัดระวังตัวเองให้มากที่สุด เพราะการผ่อนคลายระยะที่ 5 เป็นความเสี่ยงสูง รัฐบาลยอมรับความเสี่ยงเหล่านี้ ซึ่งเราต้องเตรียมตัวให้พร้อมในการรับสถานการณ์ไว้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสาธารณสุข ด้านการบริการ ตรวจโรค รักษาโรค ทั้งหมดได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว เราถึงกล้าที่จะผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 5
โต้ พรก.ฉุกเฉินฟรีซ ศก.
"อยู่ที่คนเราทุกคน รู้อยู่แล้วว่าอะไรคือความเสี่ยง อะไรคืออันตราย อย่าไปเผลอลืมตัว เมื่อดื่มสุราไปแล้วก็มักจะไม่กลัวอะไรทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้เป็นอันตรายของพวกเรา นายกฯ เป็นห่วงทุกคน มาตรการอาจจะเยอะไปบ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เป็นเพียงการเริ่มต้น ถ้ามันดี ก็จะสามารถผ่อนคลายอย่างอื่นได้อีก แต่กฎหมายปกติยังคงต้องใช้อยู่ เหมือนกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งสามารถให้เจ้าหน้าที่ทำงานร่วมกันได้ เพราะบางทีเป็นกฎหมายเฉพาะกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง เจ้าหน้าที่สวนที่ทำไม่พอ ก็ต้องบูรณาการคนเข้าไปทำงาน ซึ่งต้องใช้กฎหมายรวม นั่นคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกัน หลายพื้นที่อาจมองว่าตรงจุดนี้ไม่ติดเชื้อ แพร่ระบาดน้อย ไม่เห็นควรตั้งใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่โอกาสจะแพร่ไปที่อื่นมันมีหรือไม่ ที่จะไปรับมาจากพื้นที่อื่น จึงต้องมีมาตรการกลางเอาไว้ ไม่ให้ก้าวล่วงซึ่งกันและกัน" นายกฯ ระบุ
เมื่อถามว่า มองว่าการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเป็นการแช่แข็งเศรษฐกิจประเทศ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เอาอะไรมาพูดว่าเป็นการแช่แข็ง พูดอย่างนั้นคงไม่ถูกต้องมากนัก เพราะวันนี้มีสถานการณ์โควิด-19 เป็นหลักอยู่แล้วเพิ่มเติมจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งได้ดูในต่างประเทศว่ามีมาตรการอะไรรองรับบ้างกับสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ทั้งการปรับลดดอกเบี้ย เพิ่มเงินทุนหมุนเวียน ตนก็ทำแบบที่เขาทำ มีแต่รายละเอียดยิบย่อยที่เราต้องทำเพิ่มเติม หลักการสำคัญ เราทำเหมือนกันคนอื่นเขาหมด ทั้งนี้ ต้องดูพื้นฐานของเราว่าเข้มแข็งพอหรือยัง ซึ่งต้องมาจากรวมไทยสร้างชาติ ทุกคนต้องร่วมมือกัน ช่วยกันแสดงความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ ตนตำหนิใครไม่ได้อยู่แล้ว ต้องรับฟังจากทุกคน ขอบคุณ หลายคนตั้งใจดีอยู่แล้ว แต่บางทีไม่เข้าใจกัน ก็วิพากษ์วิจารณ์กันไป จนทำให้ประเด็นสำคัญหายไปหมด หลายเรื่องด้วยความไม่เข้าใจแล้วไปพูดกันต่อ เลยทำให้วุ่นวายไปหมด
นายกฯ ย้ำว่า วันนี้สถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศยังรุนแรงอยู่ อย่าประมาท ประเทศไทยแม้ว่าจะติดเชื้อยอดรวมกว่า 3 พันคนดูน้อย แต่หากมีการแพร่ระบาดจะทำอย่างไร ทุกอย่างประมาทไม่ได้ สำหรับมาตรการที่จะออกมาหลังต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในรอบนี้นั้น จะเป็นข้อกำหนดที่สอดคล้องกับกิจกรรมกิจการที่ผ่อนคลาย ข้อกำหนดบางอันยกเลิกไป และมีการเพิ่มบางส่วนเข้ามา เพื่อสุขภาพของพวกเราเองทุกคน ไม่ใช่เพื่ออำนาจตน ทุกคนมองแต่อำนาจ ซึ่งอำนาจอยู่กับเราไม่นาน ถ้าเราไม่มีวิธีการทำอย่างโปร่งใส โดยตนพยายามทำตามกฎหมาย ไม่ใช้วิธีนอกกฎหมายอยู่แล้ว
ขณะที่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปเรื่อยๆ ทั้งที่ไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อแล้ว แสดงว่ารัฐบาลไม่สนใจเสียงเรียกร้องเรื่องปากท้องของประชาชน เสียงของคนตกงานเกือบ 10 ล้านคน มันเบาไปหรืออย่างไร จึงไม่ยอมยกเลิก ตราบใดที่ยังบังคับใช้กฎหมายพิเศษอยู่แบบนี้ ไม่มีวันที่นักลงทุนจะเชื่อมั่น ดังนั้นจะไม่มีการจ้างงานใหม่ คนจะตกงานมากมายอยู่เหมือนเดิม การที่รัฐบาลยังเดินหน้าใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อ แสดงว่า พล.อ.ประยุทธ์เลือกความมั่นคงของรัฐบาล มากกว่าการแก้ไขความเดือดร้อนให้กับประชาชน
อารยะขัดขืนฉีกหมายเรียก
ที่บริเวณหน้า สน.ปทุมวัน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) จัดกิจกรรม "อารยะขัดขืน! ไม่ขอยอมรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หลังจากที่พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ออกหมายเรียกนายพริษฐ์ และ น.ส.ปนัสยา มารับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน “ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย” จากการชุมนุมที่สกายวอล์กหน้าหอศิลปวัฒนธรรม ในกิจกรรมทวงความเป็นธรรมให้กับนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกอุ้มหายในประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.63
โดย น.ส.ปนัสยาอ่านแถลงการณ์ว่า "ถึงนายกรัฐมนตรีเผด็จการ พล.อ.ประยุทธ์ และพวก พวกเราสองคนเป็นนักศึกษามหา'ลัยธรรมศาสตร์ ยืนหยัดต่อต้านอำนาจเผด็จการของพวกคุณมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งกำมะลอที่พวกขึ้นจัดขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจของตัวเอง พวกเราไม่แน่ใจว่าพวกคุณจำหน้าพวกเราได้หรือเปล่า แต่คุณคงจำได้ว่าเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา พวกเราพร้อมเพื่อนๆ หลายสถาบันลุกฮือต่อต้านอำนาจของพวกคุณ พวกคุณโหนกระแสไวรัสโควิด-19 ใช้เป็นข้ออ้างปิดมหา'ลัย ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาห้ามเราชุมนุม ทั้งที่เชื้อไวรัสเพิ่มแพร่ระบาดมาระยะหนึ่งแล้ว แต่รัฐบาลของคุณไม่ได้มีท่าทีใส่ใจ ไม่มีแม้กระทั่งปิดพรมแดนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัส แต่มาสนใจควบคุมการระบาดเมื่อพวกเราขยายวงไปทั่วประเทศแล้วเท่านั้น พวกคุณประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาตั้งแต่เดือน มี.ค.จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 3 เดือน และจะเป็น 4 เดือน เมื่อพวกคุณต่อออกไปอีก ตั้งแต่ประกาศใช้มาพยายามบอกว่าเป็นการควบคุมโรค ไม่มีนัยทางการเมือง เราจะเชื่อพวกคุณได้อย่างไร และขนาดนี้มีผู้ได้รับความเดือดร้อนจากพวกคุณเพียงเพราะอยากรักษาอำนาจโดยใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือ"
นายพริษฐ์อ่านแถลงการณ์ต่อว่า "ตอนนี้ประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อแม้แต่รายเดียวมาเป็นเวลานานนับเดือน แต่ระยะฟักตัวของโรคมีเพียง 14 วัน ควรจะนับได้แล้วว่าประเทศไทยปลอดภัยจากการแพร่ระบาด ถ้ายังไม่อุ่นใจใช้กฎหมายธรรมดา เช่น พ.ร.บ.โรคระบาดมาควบคุมสถานการณ์ได้ ไม่เหลือเหตุผลใดๆ เลยที่ประเทศอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ข้ออ้างใดๆ ที่พวกคุณจะพูดเพื่อใช้หรือเพื่อต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับนี้นั้นฟังไม่ขึ้น เป็นการแก้ตัวแบบข้างๆ คูๆ ทั้งสิ้น เราไม่ขอยอมรับอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เราไม่ขอนับถือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดังนั้นวันนี้จะไม่มีการเข้าไปเซ็นเอกสารการรายงานตัวหรือมอบตัวแต่อย่างใด กระบวนการไม่ยุติธรรมตั้งแต่ต้นเราไม่ยอมรับเราไม่นับถือ"
ทั้งนี้ ภายหลังอ่านแถลงการณ์ดังกล่าวแล้วได้ฉีกเอกสารหมายเรียกของพนักงานสอบสวน เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วย จากนั้นได้เดินทางกลับทันทีโดยไม่ได้เข้าไปในโรงพักแต่อย่างใด ทั้งนี้ นายทัตเทพ เรืองประไพรกิจเสรี ผู้ต้องหาตามหมายเรียกอีกรายไม่ได้เดินทางมาด้วย
ด้าน พ.ต.อ.ผาติกรณ์ ศรชัย ผกก.สน.ปทุมวัน เปิดเผยว่า จากนี้จะรวบรวมหลักฐานและประชุมพิจารณาอีกครั้งว่าจะออกหมายเรียกครั้งที่ 2 หรืออย่างไร เนื่องจากผู้ต้องหาทั้งสองก็เดินทางมาที่สน. เป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ และแสดงอารยะขัดขืนไม่เข้ามามอบตัว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |