เศรษฐกิจไทยในปี 2563 เรียกว่าเจอ “มรสุม” ลูกใหญ่ที่หนักหนาเอาการ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งไม่เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่หลายประเทศทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน จากมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการดังกล่าว แต่ก็มีผลในด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดต้องหยุดชะงักลง
ทั้งนี้ ผลจากมาตรการล็อกดาวน์ประเทศได้เริ่มสะท้อนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนขึ้น จากการประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจของหลายหน่วยงานที่มองไปในทิศทางเดียวกันว่า “ปี 2563 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวติดลบอย่างแน่นอน” โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ลดลงเหลือขยายตัวติดลบ 8.1% จากคาดการณ์เดิมที่คาดว่าจะขยายตัวติดลบ 5.3% อีกทั้งได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกในปีนี้ ขยายตัวติดลบ 10.3% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ติดลบ 8.8% ขณะที่คาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในปีนี้จะเหลือเพียง 8 ล้านคนเท่านั้น ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 15 ล้านคน
ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะติดลบ 3.6% จากคาดการณ์เดิมที่ติดลบ 1.5% การลงทุนภาคเอกชนติดลบถึง 13.8% จากคาดการณ์เดิมที่ติดลบ 4.3% จะมีเพียงเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวเดียวที่ยังสามารถทำงานได้ คือ “การลงทุนภาครัฐ” ที่คาดว่าจะยังสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ที่ระดับ 5.8% เท่าคาดการณ์เดิม
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2/2563 โดยเฉพาะในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากนั้นจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือเป็นการฟื้นตัวแบบติดลบน้อยลง
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ยังสามารถทำงานได้อย่าง “การลงทุนภาครัฐ” ยังเดินเครื่องได้อย่างเต็มกำลังหรือไม่ โดยเฉพาะการลงทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่รัฐบาลหวังว่าจะใช้การลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นอีกแรงที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในยามที่เจอวิกฤติโรคระบาดครั้งใหญ่
โดยก่อนหน้านี้มีรายงานเกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน (PPP) เกือบจะทุกโครงการ “ล่าช้า” ออกไปจากกำหนดการณ์เดิม 6-10 เดือน ร้อนถึง “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ต้องถือไม้เรียวออกมาจัดแถวรัฐวิสาหกิจเจ้าของโครงการให้เร่งเดินหน้าการลงทุนให้ได้ตามแผนงานที่เคยเสนอไว้ แม้ว่าจะมีความล่าช้าไปบ้าง แต่ก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ใช่ช้าขนาดเป็นปี อีกทั้งรัฐวิสาหกิจเจ้าของโครงการที่เดินหน้าได้ล่าช้านั้น จะต้องให้เหตุผลให้ได้ด้วยว่า ความล่าช้าที่เกิดขึ้นเพราะอะไร!
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า โครงการ PPP แบ่งเป็น 2 ส่วนสำคัญ คือ 1. โครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน ในส่วนนี้ได้กำชับให้เร่งดำเนินการ หรือในบางโครงการที่มีแผนลงทุนในปีหน้า ก็ให้ขยับมาเร่งลงทุนภายในปีนี้ ให้มีการปรับเปลี่ยนการลงทุนโดยเน้นการจ้างงานให้มากขึ้น และ 2.โครงการที่มีแผนเข้า PPP ซึ่งตอนนี้ทุกโครงการขอหยุดหมด “สมคิด” ได้กำชับให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เร่งติดตามว่าโครงการหยุดชะงักเพราะอะไร มีเหตุผลหรือไม่ หากไม่มีเหตุผลก็ไม่ให้มีการชะลอโครงการ แต่หากมีการชะลอโครงการหรือยังไม่ยอมลงทุนก็ให้หน่วยงานยกเลิกโครงการ และให้ไปหาโครงการที่มีความพร้อมอื่นมาเดินหน้าแทน
ขณะที่ “อุตตม สาวนายน” รมว.การคลัง ยอมรับว่าการลงทุน PPP มีความล่าช้า เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ได้เกิดจากปัญหาเกียร์ว่างของส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจเจ้าของโครงการแต่อย่างใด โดยกระทรวงการคลังจะเดินหน้าเร่งประสานให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งลงทุน เพราะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ต้องพึ่งพาการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ชดเชยภาคการส่งออกที่เคยเป็นกำลังหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอดีต แต่ขณะนี้ภาคการส่งออกยังได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย
คงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อว่าเครื่องยนต์เศรษฐกิจ อย่าง “การลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ” ที่ยังสามารถทำหน้าที่ประคองเศรษฐกิจไทยได้ขณะนี้ จะยังเดินเครื่องได้อย่างเต็มกำลังหรือไม่ หรือการชะลอการลงทุนในหลายๆ โครงการตามแผน PPP จะเป็นสัญญาณสำคัญที่ทำให้ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ “โคม่าหนักมากจริงๆ”.
ครองขวัญ รอดหมวน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |