ภายหลังการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐชุดใหม่ เมื่อวันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน ประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดไม่ใช่ชื่อ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคคนใหม่ หรือชื่อของ “เสี่ยแฮงค์” นายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท และเลขาธิการพรรคคนใหม่
แต่เป็นชื่อ “อ.แหม่ม” นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เหรัญญิกพรรคคนใหม่ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดหลังถูกระบุว่าจะเข้ามาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่ของพรรค
แม้ นายอนุชา จะออกมาอธิบายภายหลังว่า หมายถึงดูนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่ของรัฐบาล แต่มันก็ไม่ทันการณ์ เพราะ “นฤมล” สะบักสะบอมไปพอสมควรแล้ว
ชื่อ “นฤมล” ถูกต่อต้านมากกว่าสนับสนุน โดยเฉพาะมีการนำไปเทียบชื่อชั้นกับหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนปัจจุบันอย่าง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หรือแม้แต่ 4 กุมาร ทั้ง นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง
กองเชียร์พรรคพลังประชารัฐเองนั้นไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงทีมเศรษฐกิจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะเข้าใจว่าบุคคลที่จะมาแทนที่คือนักการเมืองที่ผนึกกำลังกันโค่นกลุ่ม 4 กุมารออกจากพรรค
และทันทีที่มีการพูดว่า “นฤมล” จะมานำทัพเรื่องเศรษฐกิจในวันประชุมใหญ่สามัญ มันยิ่งสมทบความรู้สึกที่ไม่เห็นด้วยของกองเชียร์อยู่แล้ว
ไม่ใช่เพราะ “นฤมล” ไม่เก่ง หากแต่ในความคาดหวัง ชื่อบุคคลที่จะมาแทนที่มันควร “ดีกว่า” ของเดิม หรืออย่างน้อยควร “เท่ากัน”
“อ.แหม่ม” นั้น แม้จะรับคำชื่นชมในแวดวงวิชาการ เพราะเป็นศาสตราจารย์ที่อายุยังน้อย หากแต่ชั่วโมงบินและประสบการณ์ในการงานบริหารนั้นยังไม่มี จึงเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน
มีการตั้งข้อสังเกตกันไปต่างๆ นานา ว่าการเปิดชื่อ “นฤมล” ครั้งนี้เหมือนเป็นการจงใจ หรือ “วางยา” ให้กระสุนตกใส่
นั่นเพราะขณะนี้ภายในพรรคพลังประชารัฐเองมีแคนดิเดตที่มุ่งหวังจะขึ้นเป็นรัฐมนตรีกันหลายคน ไม่ใช่เพียง “นฤมล” เท่านั้น แต่เมื่อเก้าอี้มีอย่างจำกัด สุดท้ายต้องมีทั้งคนที่
“สมหวัง” และ “ผิดหวัง”
เรื่องที่เกิดขึ้นจึงถูกมองว่าเป็นเกมเพื่อกำจัดคู่แข่งทางอ้อมหรือไม่
อย่างไรก็ตาม สำหรับเส้นทางของ “นฤมล” นั้น นายสมคิดเป็นผู้ชวนมาทำงานในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพราะเห็นว่าเป็นคนรุ่นใหม่ มีความรู้ความสามารถ ในตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีของนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง
เข้ามาอยู่พรรคพลังประชารัฐพร้อมกับ 4 กุมาร และถูกจัดอยู่ใน ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 5 ซึ่งการได้อยู่ในอันดับต้นๆ ในทางการเมืองส่วนใหญ่มักจะได้เป็นรัฐมนตรี ทว่า ภายหลังการเลือกตั้ง ด้วยความที่เสียงปริ่มน้ำ ทำให้พรรคพลังประชารัฐต้องสูญเสียกระทรวงสำคัญไปให้กับพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนมาก
พรรคพลังประชารัฐเหลือโควตาไม่กี่ที่ ในส่วนของกระทรวงเศรษฐกิจ นายสมคิดตัดสินใจให้นายอุตตม นายสนธิรัตน์ และนายสุวิทย์ ได้นั่งรัฐมนตรีก่อน ขณะที่ “นฤมล” พลาดหวัง
เหตุการณ์ครั้งนั้นเกือบทำ “นฤมล” ลาออกจาก ส.ส.เพื่อกลับไปสอนหนังสือ กระทั่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ แนะนำให้มาเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อจะได้อยู่ใกล้สายตานายกฯ และจะได้แสดงฝีมือให้เห็น
แต่งานโฆษกรัฐบาลดูจะเป็นงานไม่ถนัด อีกทั้งความฝันของ “นฤมล” คือการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ทำให้บางช่วงบางตอนดูไม่ค่อยมีสมาธิ
ขณะที่ระยะหลังมักไม่เห็นปรากฏตัวกับ ร.อ.ธรรมนัส แต่ไปปรากฏตัวอยู่ข้างๆ ศูนย์กลางอำนาจในพรรคพลังประชารัฐอย่าง “บิ๊กป้อม” แทน ไม่ว่าจะการลงพื้นที่หรือการประชาสัมพันธ์
และช่วงที่มีความเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ก็มีความสนิทกับ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ที่เคยมีข่าวว่าอยากจะขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการ และมี “อ.แหม่ม” เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ
สถานะ “นฤมล” ในพรรคไม่ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มก๊กใด แต่เป็นหนึ่งในนักการเมืองที่เข้าไปใกล้ชิดกับ “บิ๊กป้อม” ผู้มีอำนาจสูงสุดในพรรคพลังประชารัฐ
และสถานะตอนนี้ก็คือหนึ่งในแคนดิเดตรัฐมนตรีที่มีลุ้นในการปรับคณะรัฐมนตรีที่จะมาถึง ดังนั้นจึงไม่อาจหลบเลี่ยงสงครามภายในที่กำลังจะเกิดขึ้นได้
วันนี้ในพรรคพลังประชารัฐไม่มีใครอยากผิดหวังซ้ำสอง และแน่นอนใครที่ไม่เท่าทันก็อาจตกเป็นเหยื่อของคู่แข่งได้ทั้งสิ้น
หากจะมองในแง่ดีว่าเป็นการเปิดตัวหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค ไม่มีนัยแอบแฝงอย่างอื่น มันก็คงเป็นการเปิดตัวที่ “เจ็บตัว” ที่สุด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |