เสียงแห่งความชื่นชมยินดีจากการที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก้าวขึ้นมานั่งเป็นหัวเรือใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐอย่างเต็มตัวยังไม่ทันจะจางลง แต่ก็ดูเหมือนว่าจะมีพายุลูกใหญ่รอ “รับน้อง” ทีมบริหาร พปชร.อยู่หลายลูกเลยทีเดียว ทั้งการปั๊มชีพจรเศรษฐกิจ ที่จากเดิมก็ “หนัก” แบบคนป่วยมาหลายปีแล้ว แล้วปีนี้ดันมีเรื่องโควิด-19 มาซ้ำเติม จากที่ “พิเศษ” อยู่แล้วเลยกลายเป็น “พิเศษใส่ไข่” ยิ่งทำให้ดูว่าโจทย์นี้ยากกว่าสมัยตอนที่ทีมของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มารับช่วงต่อจากทีมของ ”หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เสียอีก
ขณะเดียวกัน มีหลายฝ่ายออกมาประสานเสียงว่า “มีโอกาสไม่น้อย” เลยทีเดียวที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจในแบบที่หนักที่สุดที่เคยประสบมาจากหลายปัจจัยรุมเร้า ทั้งการทรุดตัวมาอย่างยาวนาน การย้ายฐานการผลิตของบริษัทอุตสาหกรรมชั้นนำไปยังประเทศเพื่อนบ้าน การหดตัวของการส่งออก และยังถูกซ้ำเติมด้วยพิษโควิด-19 ที่ทำให้รายได้หลักของประเทศอย่างการท่องเที่ยว “หายวับ” ไป เป็นการซ้ำเติมสภาพร่อแร่ให้หนักไปกว่าเดิมอีก
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงแบบ “พลิกโฉม” ของพรรคพลังประชารัฐนั้น แทนที่จะเป็นเรื่องที่สร้างความหวัง ความเชื่อมั่น และมั่นคงแก่ประชาชน กลับกลายเป็นว่า ยิ่งเป็นการตอกย้ำความระส่ำระสายของสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ให้หนักข้อกว่าเดิมไปอีก เมื่อปรากฏชื่อของ “นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์” โฆษกรัฐบาลคนปัจจุบัน เป็นคนรับช่วงต่อในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่ของพรรคพลังประชารัฐ
โดยเฉพาะเรื่องประสบการณ์ในการทำงานที่ยังคงมีข้อสงสัยอยู่เต็มไปหมดว่า “ไหวรึเปล่า?” หากเทียบกับสิ่งที่ “สี่กุมาร” ในคาถาของนายสมคิด ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เคยฝากผลงานเอาไว้
คำถามดังกล่าวถูกตอบไปหนึ่งส่วนจากโพลของซูเปอร์โพลที่ออกมาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (28 มิ.ย.) โดยเฉพาะในประเด็น “ความรู้สึกเห็นใจของประชาชน สงสาร หดหู่ใจต่อการเมือง เมื่อเห็นสี่รัฐมนตรีถูกกระทำโดยผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลและคนในพรรคพลังประชารัฐ” จำแนกตามกลุ่มการเมืองของประชาชน พบว่า พลังเงียบส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.3 รู้สึกสงสาร เห็นใจ หดหู่ใจต่อการเมืองไทย เมื่อเห็นสี่รัฐมนตรีถูกกระทำโดยผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลและคนในพรรคพลังประชารัฐ และแม้แต่ในกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลก็ได้ความรู้สึกสงสารเห็นใจมาจำนวนมากถึงร้อยละ 43.6 ในขณะที่ร้อยละ 29.5 ของผู้ไม่สนับสนุนรัฐบาลรู้สึกสงสาร เห็นใจ หดหู่ใจต่อการเมืองไทย ตามลำดับ ในขณะที่คนที่สนับสนุนรัฐบาลร้อยละ 56.4 ไม่รู้สึกอะไร และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.5 ของคนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลไม่รู้สึกอะไรเช่นกัน
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.5 ไม่เห็นด้วยต่อการลาออกจากทุกตำแหน่งของสี่รัฐมนตรี ในขณะที่ร้อยละ 37.5 เห็นด้วย
โดย นายนพดล กรรณิกา ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า “สี่รัฐมนตรีกับใจประชาชน” คือจุดเน้นของโพลชิ้นนี้ที่ชี้ให้เห็นว่า สี่รัฐมนตรีได้ใจประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มพลังเงียบผู้ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ที่สงสาร เห็นใจและหดหู่ต่อการเมืองไทย เพราะสี่รัฐมนตรีเหล่านี้ถูกผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลและคนในพรรคพลังประชารัฐกระทำ โดยส่วนตัววิเคราะห์ว่าสี่รัฐมนตรีเหล่านี้คือผู้ที่มีบุญคุณที่ไม่ควรถูกทรยศหักหลัง อกตัญญูและสามารถอุ้ม ค้ำจุนความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มากกว่า ด้วยเหตุผลหลายประการ ดังนี้
สี่รัฐมนตรีเป็นเสมือนคณะนายทหารชั้นผู้น้อยผู้กล้าในกองทัพส่วนหน้าที่ลุยฝ่ากระสุนกระแสสังคมเพื่อกรุยทางให้ผู้หลักผู้ใหญ่เข้าสู่อำนาจได้อย่างแนบเนียน และทำให้ต่างชาติยอมรับได้แบบพื้นป่าไร้รอยต่อ ประการต่อมา สี่รัฐมนตรียังไม่มีประวัติด่างพร้อย ยังไม่ได้สร้างความเสื่อมเสียต่อรัฐบาล
นอกจากนี้ สี่รัฐมนตรีมีส่วนสำคัญในการสร้างผลงานปรากฏต่อสายตาต่างชาติ ทำให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่น่าลงทุน มีผลงานในประเทศโดยเฉพาะช่วงวิกฤติโควิด-19 เงินเยียวยาอัดฉีดตรงถึงกระเป๋าของประชาชน ลดค่าไฟ ลดราคาน้ำมัน ค่าก๊าซ และกำลังลงสู่เศรษฐกิจฐานรากชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ผู้หลักผู้ใหญ่ควรใจเย็น อย่าเป็นไปตามแรงยุของคนข้างๆ ควรใช้หลัก “ให้คนคิดเป็นคนทำ”
ประการที่สี่ สี่รัฐมนตรีได้ต่อสู้ในสนามรบผ่านงบประมาณกฎหมายกู้เงินต่างๆ ให้ผู้หลักผู้ใหญ่และผู้มี “ภาวะตัณหา” ทั้งหลายสำเร็จแล้ว ก็จะถูกขจัดออกไปทันที มันจะเป็นการฝืนกระแสแห่งความดีงาม เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ลูกหลานในอนาคตของพวกเราทุกคน เหมือนกับเสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพลผู้เสียสละช่วยเหลือให้ทุกท่านเข้าสู่อำนาจในขณะนี้ แบบนี้คือ คุณธรรมความดีเหรอ
สิ่งเหล่านี้อย่างน้อยก็ยังสามารถเรียกรอยยิ้มจากนายสมคิดได้เมื่อถูกถามถึงผลโพลที่ออกมา แม้จะเป็นแค่รอยยิ้มจางๆ ก็ตามที ซึ่งจากนี้ดูเหมือนว่ามีแนวโน้มสูงเลยทีเดียวจากกระแสข่าวที่ออกมา ที่สี่กุมารอาจจะไม่ได้ไปต่อกับเรือแป๊ะ หรือหากได้ไปก็อาจจะถูกลดความสำคัญลงจนไม่ได้เป็นส่วนสำคัญแต่อย่างใด ซึ่งผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็คงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์
แต่อีกเรื่องที่เชื่อว่าจะกลายเป็นประเด็นอย่างแน่นอนคือ การพลิกโฉมของพรรคพลังประชารัฐในครั้งนี้ เกิดจากความต้องการสยบความขัดแย้งที่เกิดขึ้นใน พปชร. โดยให้ พล.อ.ประวิตรขึ้นมาสยบความระส่ำระสายเท่านั้น หรือมีเรื่อง “การแทงหลัง” กันเองภายในรัฐบาล ตามที่กระแสข่าวปรากฏกันแน่ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องจับตาดูกันต่อไป และสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาจากประเด็นนี้นับว่าน่าสนใจไม่น้อยกว่าการทำงานของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของ พปชร.เลยทีเดียว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |