ข่าวร้ายไม่เคยมาเดี่ยว คู่หูเฮี้ยวๆ ตามมาด้วย


เพิ่มเพื่อน    

             สัปดาห์ก่อน วันเดียวมีข่าวร้ายเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเข้ามาพร้อมๆ กันสามเรื่องเลย

            เริ่มจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประชุมแล้วสรุปว่า ประมาณการของผลผลิตมวลรวมหรือ GDP ของประเทศไทยในปีนี้ จากเดิมที่คาดไว้ที่ -5.3% จะแย่ลงไปถึง -8.1%

            วันเดียวกันนั้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ก็ออกมาบอกว่าเศรษฐกิจโลกที่เคยทำนายไว้ว่าจะติดลบ 3% นั้น เมื่อประเมินใหม่แล้วจะทรุดลงอีกไปอยู่ที่ติดลบ 4.9%

            ให้จีดีพีจีนโตเพียง 1% และสหรัฐฯ -8%

            ส่วนของไทย IMF ประเมินว่าปีนี้จะเป็น -7.7%

            ในวันเดียวกันนั้นเอง สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ของกระทรวงพาณิชย์ ออกข่าวว่าการส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาติดลบ 22.5%

            และหากหักตัวเลขการส่งออกสินค้าเกี่ยวกับน้ำมัน, ทองคำ และอาวุธ จะพบว่าตัวเลขส่งออกในเดือนพฤษภาคมจะติดลบ 27.19%

            ยิ่งหากพิจารณาเป็นรายกลุ่มสินค้าจะพบว่า การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบติดลบถึง 62.6%  น้ำมันสำเร็จรูปติดลบ 42.4% เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบติดลบ 39.5% เครื่องจักรและส่วนประกอบติดลบ 37% เคมีภัณฑ์ติดลบ 30% และเม็ดพลาสติกติดลบ 26.7%

            ทั้งหมดนี้ฉายให้เห็นภาพที่ย่ำแย่กว่าที่คาดคิดกันตั้งแต่ต้นปี

            เหตุเป็นเพราะยังไม่มีทีท่าว่าโควิด-19 จะสงบในเร็ววันนี้

            และไม่มีใครรู้ว่ามันจะจบหรือไม่และจะจบอย่างไร

            ทำให้การประเมินสถานการณ์ของไทยเราในทุกๆ ด้านจะต้องมีการตระเตรียมและวางแผนกันอย่างรอบด้าน

            เพราะอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ตลอด...จนกว่าจะพบวัคซีน ซึ่งก็ไม่มีใครบอกได้ว่าจะพบหรือไม่และจะพบเมื่อไหร่

            กนง.แถลงว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี

            แต่หากจำเป็นก็อาจจะงัดเครื่องมือการเงินมาใช้ได้อีก ไม่บอกปัดมาตรการใดๆ ทั้งสิ้น

            กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวกว่าประมาณการเดิม เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 รุนแรงกว่าที่คาดไว้

            กนง.เชื่อว่าในช่วงครึ่งหลังของปี กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวในประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ดีซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย 

            อีกปัญหาหนึ่งคือเมื่อเงินบาทกลับมาแข็งอีก ก็อาจมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วย

            กนง.มีความเห็นว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักและเงินสกุลภูมิภาค ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ

            "คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม" คำอธิบายจาก กนง.ตอนหนึ่งระบุ

            แม้ว่าระบบการเงินจะมีเสถียรภาพ เพราะธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง

            แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง

            แปลว่าหนี้เสียหรือ NPLs จะต้องสูงขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้

            ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระยะที่ 2

            และเร่งดำเนินการให้ธนาคารพาณิชย์ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ธุรกิจ รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้า

            เพราะแม้แบงก์ชาติจะมีนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือ SMEs ในรูปของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft Loans แต่ก็ยังมีธุรกิจขนาดกลางและเล็กจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ เพราะธนาคารพาณิชย์หลายแห่งยังมีความลังเลที่จะปล่อยเงินกู้เพราะกลัวหนี้เสียพุ่ง

            สถานการณ์อาจจะคลี่คลายและในปี 64 กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับขยายตัว 5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3%

            แต่หากปีหน้าเศรษฐกิจขยายตัวได้ 5% ก็ต้องเข้าใจว่ามาจากฐานที่ต่ำลงจากที่ทรุดหนักในปีนี้ด้วย

            ที่ต้องเตรียมตัวเตรียมใจอย่างยิ่งก็คือว่า ต้องคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบมากสุดในไตรมาส 2

            โดยในช่วงครึ่งหลังของปีจะค่อยๆ ฟื้นตัวตามลำดับ โดยจะเห็นการติดลบของเศรษฐกิจค่อยๆ ลดลงไป

            กนง.ได้ตั้งสมมติฐานตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 63 โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 8 ล้านคน  ลดลงจากการประเมินครั้งก่อนที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 15 ล้านคน จากปี 62 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.8 ล้านคน

            ส่วนปี 64 คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 16.2 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวจะทยอยเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 64 จากจำนวนวัคซีนที่แพร่หลายมากขึ้น และในปี 65 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นไปอีก

            แต่ทั้งหมดนี้ต้องยอมรับว่าปัจจัยความไม่แน่นอนยังมีสูงมาก...และการวิเคราะห์ถึงวันนี้ก็ยังอาจแปรเปลี่ยนได้ หากสถานการณ์การแพร่เชื้อโควิดยังมีความแปรปรวนอย่างสูงโดยเฉพาะที่สหรัฐฯ และอเมริกาใต้.

            (พรุ่งนี้: ส่งออกปีนี้ท่าจะแย่กว่าที่คาด)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"