12 เม.ย.61- เว็บไซต์ the101.world สัมภาษณ์ เดวิด สเตร็คฟัส (David Streckfuss) นักวิชาการอิสระชาวอเมริกัน ผู้มาปักหลักอยู่ภาคอีสาน มา 25 ปี ใช้ชื่อเรื่อง 'การเมืองผิดเพี้ยน ในประเทศผุพัง'
-นับตั้งแต่การยึดอำนาจของ คสช.ในปี 2557 คุณเห็นอะไรจากการบังคับใช้กฎหมายรูปแบบต่างๆ ของ คสช.?
สิ่งที่เห็นได้ชัดตั้งแต่ คสช. เข้ามายึดอำนาจ คือการพยายามเข้ามารื้อและล้มล้างระบบกฎหมายเดิม แล้วเขียนกฎหมายของตัวเองขึ้นมาใหม่ กระบวนการนี้ทำให้คำว่ากฎหมายไม่มีความหมาย ซึ่งเป็นสภาวะที่น่ากลัว
ไม่ว่าใครก็ตามที่อยู่ในประเทศไทยตอนนี้ ไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิใดๆ เลย เพราะอำนาจอยู่ในมือของคนกลุ่มเดียว กระทั่งคนๆ เดียวด้วยซ้ำ คือนายกรัฐมนตรี แต่การใช้คำว่านายกรัฐมนตรี ก็อาจไม่ถูกนัก เพราะคำว่านายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี คือคำที่มาจากโลกปกติ โลกประชาธิปไตย ใช้กับคนที่เข้าสู่ตำแหน่งผ่านการเลือกตั้ง ไม่ใช่คณะรัฐประหารที่เข้ามายึดอำนาจแล้วแต่งตั้งคนนั้นคนนี้เข้ามาบริหาร
-คุณบอกว่าการที่ คสช. เขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ ทำให้กฎหมายไม่มีความหมาย แล้วรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บังคับใช้อยู่ตอนนี้ มีความหมายอะไรไหม?
ผมไม่นับ (หัวเราะ) เขาทำประชามติก็จริง แต่ทำเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง โดยควบคุมเงื่อนไขต่างๆ ไว้หมดแล้ว ห้ามไม่ให้คนต่อต้าน ไม่ให้คนวิจารณ์ ถ้าต่อต้านหรือวิจารณ์ก็โดนจับ ดังนั้นผมไม่นับ
ถามว่ามีรัฐธรรมนูญแล้วช่วยให้อะไรดีขึ้นไหม ผมว่าไม่ ในทางกลับกัน มันจะยิ่งอำนวยให้สิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแผ่ขยายไปมากขึ้น การที่เขายอมให้มีรัฐธรรมนูญ ก็เพราะเขารู้ว่ารัฐธรรมนูญจะไม่มีความหมาย เช่นเดียวกัน เขาจะยอมให้มีการเลือกตั้ง ก็ต่อเมื่อเขามั่นใจว่าการเลือกตั้งนั้นไม่มีความหมาย
แม้กระบวนการเลือกตั้งอาจทำให้เราเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยมากขึ้น แต่คนที่ได้รับเลือกมา ก็อาจทำอะไรไม่ได้อยู่ดี รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อกีดกันไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง ฉะนั้นจึงไม่มีความหมาย
-ถ้าให้วิเคราะห์ ทำไม คสช. ถึงใช้วิธีการนี้ ทำไมถึงไม่น่ารักเหมือนคณะรัฐประหารปี 2549?
สิ่งที่ คสช. ทำตอนนี้ เปรียบเหมือนการแสดงละครเรื่องประชาธิปไตย โดยมีคณะละครตลกอันธพาลขึ้นมายึดเวที แล้วทำการแสดงเอง ปัญหาคือการแสดงละครของคณะนี้ไม่มีคุณภาพเลย ไม่ให้ความบันเทิงกับผู้ชมเลย ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังล็อคประตูโรงละคร แล้วบังคับให้ผู้ชมนั่งดูการแสดงอันน่าเบื่ออย่างทรมานต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าเรื่องจะจบตอนไหน
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ ไม่ว่ากรณีของไทยหรือของสหรัฐอเมริกา ไม่มีอะไรเมคเซนส์เลย ผมไม่สามารถทำความเข้าใจได้เลยว่าคนบ้าๆ แบบนี้ยังสามารถรักษาตำแหน่งอยู่ได้ (หัวเราะ) เป็นเรื่องเหลือเชื่อมาก แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง ยุคนี้อาจเป็นยุคของ ‘absurd politics’ ซึ่งประเทศไทยนำหน้าไปก่อนประเทศอื่นๆ อีกทั้งเป็นยุคที่เราต้องคิดทบทวนวิธีการสร้างขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยแบบใหม่เพื่อตอบโต้กับ ‘absurd politics’ นี้ต่อไป ซึ่งผมก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าวิธีการนั้นคืออะไร
-สถานการณ์ตอนนี้ถือว่าเหนือความคาดหมาย ?
จะว่าอย่างนั้นก็ได้ ยอมรับว่าผมเสียใจ ผิดหวัง และตกใจนิดหน่อยที่ประชาชนยังสามารถอดทนใช้ชีวิตอยู่ภายใต้สังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในปัจจุบันได้ขนาดนี้ คนไทยนี่อดทนจริงๆ นะ ผมพูดได้เลยว่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่เคยมีเหตุการณ์ใดที่ absurd เท่านี้มาก่อน แต่คนไทยก็ยังอดทนกันได้
ผมคิดว่าคนจำนวนไม่น้อยคงอยู่ในภาวะคล้ายๆ ผม คือภาวะที่สิ้นหวังกับอนาคต ทุกวันนี้ผมดูข่าวไม่ได้แล้ว เพราะมันไม่ใช่ข่าวด้วยซ้ำ มันเป็นเหมือนแค่ประกาศที่รัฐบาล คสช. สร้างขึ้นมา แต่จริงๆ แล้วไม่มีอะไรคืบหน้าเลย และเมื่อยิ่งรู้สึกสิ้นหวังหนักเข้าๆ ก็คิดว่าเอาเวลาไปทำเรื่องอื่นดีกว่า
-ถ้ามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ จุดนี้ถือเป็นจุดที่แย่ที่สุดหรือยัง?
ผมคิดว่าตอนนี้ยังไม่ใช่จุดที่แย่ที่สุด มันจะแย่กว่านี้อีก ประเทศไทยตอนนี้เหมือนย้อนกลับไปสู่ยุคหนึ่งในอดีต คือเมื่อราวๆ สามทศวรรษก่อน แต่ยังไม่รุนแรงเท่ากับยุคจอมพลสฤษดิ์ (ธนะรัชต์) เพราะ คสช. ไม่ได้ใช้ความรุนแรงแบบนั้น ไม่ได้จับคนเข้าคุกเยอะเท่าตอนนั้น แต่ถ้าเทียบกับยุคของพลเอกเปรม (ติณสูลานนท์) ก็ต้องบอกว่าแย่กว่า เหมือนเราอยู่ตรงกลางระหว่างสองยุคนี้ สถานการณ์ตอนนี้มันไม่มีอะไรให้ฉลอง ไม่มีอะไรให้รำลึก นอกจากไว้อาลัยให้กับประเทศไทยที่กำลังก้าวถอยหลังมากๆ
มุมหนึ่งที่น่าสนใจคือ ทุกประเทศจะมีวันแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่ผมคิดว่าประเทศไทยยังไม่มีวันที่เป็นของประชาชนจริงๆ เพราะเพียงแค่เหตุการณ์ความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยจนถึงแก่ความตาย เช่น เหตุการณ์ช่วงเดือนพฤษภาคม 2535 และเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ประเทศไทยยังไม่เคยนำเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการรุนแรงต่อประชาชนมาลงโทษได้เลย
ตั้งแต่ผมย้ายมาอยู่เมืองไทย จนถึงวันนี้ก็ 25 ปี ผมเฝ้าติดตามและสังเกตการณ์กลุ่มที่สนใจเรื่องการเสาะหาความจริงในสังคม ไม่ว่าจะเป็นความจริงเรื่องไหนก็ตาม ตั้งแต่เรื่องเขื่อน เรื่องสมัชชาคนจน จนกระทั่งมาถึงเรื่องเสื้อแดง ที่เริ่มมีความจริงบางอย่างปรากฏออกมา ผมก็เริ่มมีความหวังขึ้นมาเล็กๆ ว่า ประเทศไทยกำลังเดินมาถึงจุดเปลี่ยนที่ดีแล้ว ซึ่งถ้าโชคดีก็อาจจะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นเหมือนในอดีตด้วยซ้ำ แต่พอมีรัฐประหารครั้งล่าสุด แล้วสถานการณ์ล่วงเลยมาถึงตอนนี้ ยอมรับว่าความหวังเล็กๆ ที่เคยมีนั้นหายไปแล้ว
-ถ้าพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทหารกับสถาบันกษัตริย์ คุณมองว่ารูปแบบความสัมพันธ์ในยุคนี้ กับยุคก่อนๆ ต่างกันอย่างไร?
ถ้ามองกว้างๆ ช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 อาจมีการปะทะหรือขัดแย้งกันบ้าง แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา ถ้าใช้คำแบบอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) ก็คือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แผ่ขยายขึ้นเรื่อยๆ ถามว่าศักดิ์สิทธิ์อย่างไร ก็ศักดิ์สิทธิ์ในแง่ที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ แตะต้องไม่ได้ เพราะถูกทำให้เหนือคนธรรมดา ซึ่งตรงข้ามกับระบอบประชาธิปไตย ที่บอกว่าทุกคนมีความเสมอภาค มีสิทธิมีเสียงเท่ากัน
อย่างการใช้ ม.112 ที่บอกว่าเป็นกฎหมายที่มีไว้เพื่อปกป้องสถาบัน คำถามของผมคือ กฎหมายนี้ทำหน้าที่นั้นได้จริงหรือเปล่า ถ้าย้อนไปในสมัยก่อน กฎหมายหมิ่นฯ มักถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ชนชั้นผู้ปกครองทำลายกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ เขามักใช้ม.112 มาแย่งอำนาจกัน ส่วนประชาชนก็อาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่ในระยะหลังมานี้ จะเห็นว่าชนชั้นปกครองเริ่มนำกฎหมายนี้มาใช้กับประชาชนทั่วไป เพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง
สถาบันกษัตริย์ของหลายประเทศในยุโรปที่ยังอยู่ได้จนถึงวันนี้ เพราะเขาไม่ใช้วิธีบังคับให้คนรักและคนนับถือ ไม่ได้ทำให้เป็นสถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์ วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ แตะต้องไม่ได้ เขามีกฎหมายหมิ่นฯ ก็จริง แต่แทบไม่ได้ใช้เลย
ผมเคยคุยกับทูตของสวีเดน ถามว่าคดีหมิ่นฯ ล่าสุดของสวีเดนคดีเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เขาบอกว่าจำไม่ได้ เพราะมันนานมากแล้ว เกินร้อยปีแล้ว ขณะที่ประชากรราวๆ 60-70% ก็ยังอยากรักษาสถาบันนี้ให้คงไว้ สถาบันก็เลยยังอยู่มาได้เรื่อยๆ ผมคิดว่าวิธีการแบบสวีเดนเข้าใจง่าย จัดการได้ดี
-คุณมองสถานการณ์การเมืองของประเทศไทยในอนาคตอย่างไร?
ผมคิดว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่ๆ อย่างน้อยๆ ทุกคนย่อมรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือบางเรื่องเป็นสิ่งที่อยู่ในใจ ซึ่งมองไม่เห็น วัดไม่ได้ การวัดที่เป็นรูปธรรมคือการเปิดโอกาสให้คนพูดสิ่งที่อยู่ในใจ แต่ประเทศไทยไม่เปิดโอกาสให้คนพูด คนอาจคิดอยู่ในใจ แต่พูดออกมาไม่ได้ นี่คือประเด็น
ขอบคุณ ภาพ,เรื่อง the101.world
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |