สืบพยาน‘อีซอ’ ‘ช่อ’เตือนสังคม ลุ้น‘กม.อุ้มหาย’


เพิ่มเพื่อน    

  ศาลจังหวัดสงขลานัดพร้อม 29 มิ.ย. คดีไต่สวนการตายนายอับดุลเลาะ เสียชีวิตในระหว่างควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธฯ ขณะที่ "ช่อ พรรณิการ์" ชี้จับตาร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย ฉบับ กมธ.ยุคปิยบุตร ยื่นสภา 8 ก.ค.นี้

     เมื่อวันอาทิตย์ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกใบแจ้งข่าวความคืบหน้าของคดีไต่สวนการตายของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ระบุว่า ในวันที่ 29 มิถุนายน 2563 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดสงขลานัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐานของทั้งฝ่ายพนักงานอัยการและฝ่ายญาติผู้ตาย แล้วกำหนดวันนัดสืบพยานต่อไป
    โดยคดีนี้ ตามหลักการถือว่าทั้งพนักงานอัยการและฝ่ายญาติของผู้ตายโดยทนายความของนางสาวซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของนายอับดุลเลาะ ร่วมกันค้นหาความจริงด้วยการนำสืบพยานบุคคลและหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารได้กระทำต่อนายอับดุลเลาะ ตั้งแต่การควบคุมตัวจากบ้านไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร วิธีการซักถามซึ่งฝ่ายทหารเรียกว่า ดำเนินกรรมวิธี การควบคุมดูแลภายในค่ายฯ ตลอดจนการรักษาพยาบาล  
    เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงถึงที่มาของการหมดสติของนายอับดุลเลาะภายในห้องควบคุมในค่ายอิงคยุทธบริหาร และต่อมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาล และทนายความของญาติผู้ตายจะนำสืบถึงพยานหลักฐานที่คณะกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งแต่งตั้งโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ได้สอบข้อเท็จจริงกรณีนายอับดุลเลาะด้วย
    ทั้งนี้ คดีชันสูตรพลิกศพนายอับดุลเลาะ พนักงานอัยการจังหวัดสงขลาขอให้ศาลไต่สวนการตาย และนางสาวซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของนายอับดุลเลาะ ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้ร้องซักถามโดยแต่งตั้งทนายความเพื่อซักถามพยานที่พนักงานอัยการนำมาเบิกความต่อศาล และจะได้นำพยานที่ฝ่ายญาติผู้ตายอ้างมาเบิกความด้วย คดีดังกล่าวเป็นคดีหมายเลขดำที่ ช.1/2563 ของศาลจังหวัดสงขลา    
    ที่ จ.ยะลา น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า มาร่วมงานเปิดศูนย์คณะก้าวหน้าชายแดนใต้ ณ จังหวัดยะลา พร้อมกันนี้ได้ร่วมวงเสวนาในหัวข้อ “ความยุติธรรมที่เปลี่ยนไม่ผ่านท่ามกลางผู้คนและหมุดที่สูญหาย” ระบุช่วงหนึ่งว่า กฎหมายอุ้มหาย หรือกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ภาคประชาชนต่อสู้กันมายาวนาน ภายหลังเลือกตั้งพรรคอนาคตใหม่ได้ร่วมมือกับพรรคการเมืองอื่นๆ ผลักดันผ่านกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ที่มีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นประธานกรรมาธิการ โดยขณะนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่ต้นร่างมาจากภาคประชาสังคม และได้ถูกปรับปรุงโดยกรรมาธิการจนเสร็จเมื่อ 2 วันก่อน และจะยื่นสู่สภาใหญ่ในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้
    “แต่สิ่งที่น่ากังวัลคือ ร่างกฎหมายฉบับนี้ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อาจเข้ามาร่วมโหวตด้วยหากมองว่าเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ากฎหมายฉบับนี้อาจจะไม่สามารถผ่านมติได้ หรือหากผ่านอาจถูกแปรญัติ เปลี่ยนแปลง ตัดหลักการสำคัญจนไม่สามารถปกป้อง คุ้มครองประชาชนได้จริง" น.ส.พรรณิการ์ระบุ
    น.ส.พรรณิการ์ระบุด้วยว่า ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานฯ จะส่งเข้าสู่สภาถึง 4 ร่าง คือ ร่างจากกระทรวงยุติธรรม,  ร่างจาก กมธ.กฎหมายฯ และร่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ อีก 2 พรรค แต่ฉบับของ กมธ.นี้นับว่าจะมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากเพราะคุ้มครอง และจะกำหนดให้คดีไม่มีอายุความ สามารถสืบหาจนกว่าจะได้มาซึ่งความยุติธรรม และจะใช้ระบบไต่สวน ที่จะทำให้ศาลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเรียกหาเอกสารหลักฐานได้เอง อีกทั้งยังกำหนดให้มีคณะกรรมการฯ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญ ในการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน สามารถทำหน้าที่ไปตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐให้ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้อย่างเคร่งครัด.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"