สังคมรุมยี้ขวาง พปชร.ชู "นฤมล" คุมทีมเศรษฐกิจ "อนุชา" โร่แจงดับกระแสร้อน อ้างคิดนโยบายให้พรรค ไม่ใช่มือ ศก.ของรัฐบาล กลุ่มแคร์เตือน "ตุลามหาวิกฤติ" หนักกว่าต้มยำกุ้ง 4 เท่า แนะรัฐบาลอัดฉีดเอสเอ็มอี 2 ล้านล้าน ลดดอกปลอดต้น 4 ปี "ชวน" เชื่ออภิปรายงบ 64 ไร้ปัญหา วิป 2 ฝ่ายตกลงกันเอง
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน นายอนุชา นาคาศัย เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ชี้แจงถึงกรณีพรรคเตรียมตั้งทีมเศรษฐกิจใหม่ของพรรค นำโดยนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเหรัญญิกพรรค ว่าพรรคพลังประชารัฐมีความจำเป็นที่ต้องทำงานให้ประชาชนหลายด้านอย่างเร่งด่วน และทำงานเชิงรุก ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล อีกทั้งยังเป็นความต้องการของพรรคพลังประชารัฐที่ต้องตั้งทีมขึ้นมา ทั้งด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง ซึ่งในแต่ละด้านจำเป็นต้องมีบุคคลจากทุกภาคส่วนเข้าร่วม ทั้งนักวิชาการ นักการเมือง นักธุรกิจ คนรุ่นใหม่ โดยในด้านเศรษฐกิจนั้นถือเป็นความเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ จึงได้แต่งตั้งนางนฤมลเป็นทีมเศรษฐกิจของพรรค ในฐานะที่เป็นสมาชิกพรรคและนักวิชาการ ส่วนด้านอื่นๆ นั้นจะเปิดเผยรายชื่ออีกครั้ง
"ยืนยันว่าพรรคพลังประชารัฐต้องเร่งผลิตนโยบายเร่งด่วนเพื่อเยียวยาหลังโควิดลงสู่รากหญ้าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจ เพื่อจะสะท้อนไปยังนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเพื่อพิจารณา และยังให้เห็นว่าพรรคมีนโยบายที่ดี สามารถตอบโจทย์ของประเทศทางด้านเศรษฐกิจในสภาวะปัจจุบันอย่างเร่งด่วนและระยะยาวได้ ทั้งนี้? การตั้งนางนฤมลขึ้นมาเป็นทีมเศรษฐกิจนั้น ยืนยันว่าเป็นการคิดนโยบายให้กับพรรค ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาคุมทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล" เลขาธิการพรรคประชารัฐระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การชี้แจงเรื่องดังกล่าวของนายอนุชา มีขึ้นภายหลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับการชูนางนฤมลเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์จากบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ
โดยนายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวตอนหนึ่งว่า "อดสงสัยไม่ได้ว่า จะไหวหรือ เพราะถ้าพิจารณาจากการที่นางนฤมลที่ทำหน้าที่โฆษกของรัฐบาลเป็นเวลา 1 ปีเศษ การทำงานที่ปรากฏต่อสาธารณชนก็คือไม่ต่างกับรัฐบาลชุดนี้ไม่มีโฆษก ท่านนายกรัฐมนตรีคงทราบดี จึงได้แต่งตั้งให้นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน เป็นโฆษก ศบค. เพราะถ้าให้โฆษกรัฐบาลเป็นผู้แถลงข่าวเรื่องโควิด-19 เชื่อได้เลยว่าประชาชนจะไม่รับฟัง การให้ความร่วมมือของประชาชนจะไม่เกิดขึ้น เมื่อประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ การแก้ปัญหาโควิด-19 คงไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้
วิกฤติเศรฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ ควรต้องมีความสามารถที่ประชาคมโลกยอมรับในระดับเดียวกับนายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลกและอดีตเลขาธิการอังค์ถัด หรือนายกรณ์ จาติกวณิช ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นรัฐมนตรีคลังโลก อาจเป็นการติเรือทั้งโกลน แต่เป็นการดูจากผลงานที่ผ่านมาประชาชนไม่เชื่อถือ และด้วยความเป็นห่วงประเทศชาติ"
นางฟองสนาน จามรจันทร์ โหรชื่อดัง และอดีตสื่อมวลชน โพสต์เฟซบุ๊กว่า "ถล่มให้เละเลย พวกเรา!!! นี่แหละราหูจะรุมกันค้นทรัพย์เมือง ถ้าได้ทีมเศรษฐกิจแบบนี้ยุบสภาใส่หน้าเลยท่านนายกฯ ชาติกำลังหน้าสิ่วหน้าขวานทางเศรษฐกิจ นายกฯ อย่าหลงกลพวกนักการเมืองเฮง...กระบวยหัก เปลี่ยนม้ากลางศึก พวกนี้เคยประสบความสำเร็จอะไร?-อนุชา-นฤมลเป็นใคร? ฮึ-ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงากันบ้าง!!!
นอกจากนี้ยังโพสต์เพิ่มเติมอีกว่า "พวกเขามีปัญญาแค่นี้ค่ะ-ซือแป๋ กรุงรัตนโกสินทร์-สิ้นคนดีก็คราวนี้-ประชาธิปไตยแบบแค่ตาโต!!!-กลมสวย"
เพจ Darin Karn ที่สนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และมีแฟนคลับจำนวนมาก โพสต์ข้อความตอนหนึ่งว่า "...พอได้ยินว่า พรรคตั้ง อ.แหม่มนำทีมเศรษฐกิจ เลยได้แต่คิดว่า... ขนาดทำงานเป็นโฆษกรัฐบาลยังไม่ได้เรื่อง.... จะมานำทีมเศรษฐกิจนี่....จะขนาดไหน.....คิดเอาละกัน....!!"
ตุลามหาวิกฤติหนักกว่าปี 40
กลุ่มแคร์ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ เฟซบุ๊ก “CARE คิด เคลื่อน ไทย” เรื่อง “ทางรอดจากตุลามหาวิกฤติ” โดย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กล่าวว่า ผู้ป่วยจากไวรัสโควิด-19 ในประเทศเป็นศูนย์คนนานกว่า 30 วัน หรือผู้ป่วยที่อาการรุนแรงจริงๆ บางวันมี 1 คน บางวันไม่มีเลยนั้น สถานการณ์แบบนี้หลายประเทศประกาศชัยชนะพร้อมเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้ว วันนี้ควรเริ่มคุยกันเรื่องท่องเที่ยวได้แล้ว ซึ่งที่กังวลคือ 150 วันอันตราย หรือเดือน ต.ค.ที่จะมาถึง เศรษฐกิจจะหนักหนามากชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน กล่าวได้ว่าเป็นตุลามหาวิกฤติ
จากนั้นกลุ่มแคร์ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง "ชุบชีวิตเศรษฐกิจไทย : อัดฉีด SME 2 ล้านล้าน ลดดอกปลอดต้น 4 ปี" ว่ามีการคาดการณ์โดยภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องว่า คนไทยอาจตกงานได้มากถึง 5-7 ล้านคน นอกจากนั้นนักศึกษาที่เพิ่งจบการศึกษาจะว่างงานอีก 4 แสนคน มีข่าวต่อเนื่องว่า บางธุรกิจปิดโรงงานและย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทย และบางธุรกิจ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ จะปลดคนงาน เพราะยอดขายรถยนต์ตกต่ำ ซึ่งทำให้พนักงานโดยเฉพาะวัยกลางคนเสี่ยงตกงานอีกนับหมื่นคน
ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 นั้น มีคนไทยตกงานประมาณ 1.4 ล้านคน ดังนั้นมหาวิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้จึงมีแนวโน้มรุนแรงมากกว่า 4 เท่าตัว ในปี 2540 เราเห็นการล่มสลายของสถาบันการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ความรุนแรงอยู่ในวงจำกัดและกระทบคนรวยเป็นส่วนสำคัญ จึงมีวลี “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” แต่ครั้งนี้ชนชั้นกลางและคนยากจนหลายสิบล้านคนตลอดจนธุรกิจ SME เป็นล้านราย มีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องล้มละลายเพราะจ่ายหนี้สินคืนธนาคารไม่ได้ ทั้งนี้ ความเดือดร้อนของประชาชนและธุรกิจจะปรากฏให้เห็นอย่างกว้างขวางตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้
ดังนั้นกลุ่มแคร์ขอเสนอให้รัฐบาลสนับสนุน “สินเชื่อผ่อนปรนวงเงิน 2 ล้านล้านบาท คิดดอกเบี้ย 2% ต่อปี ปลอดการชำระเงินต้นเป็นเวลา 4 ปี” (โดยธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์ที่ดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี) และรัฐบาลรับความเสี่ยงของความเสียหายจากการปล่อยกู้ดังกล่าวเกือบทั้งหมด (ซึ่งแตกต่างจากสินเชื่อ 5 แสนล้านบาทในปัจจุบันที่เมื่อประเมินในรายละเอียดแล้ว รัฐบาลจะรับใช้ความเสียหายให้เพียงประมาณ 30%) โดยขยายขอบเขตให้ SME ที่ไม่ใช่ลูกหนี้สถาบันการเงินได้รับการสนับสนุนสินเชื่อดังกล่าวด้วย
หากมีความเสียหายจากการปล่อยกู้ รัฐบาลสามารถออกเป็นพันธบัตรให้ธนาคารแห่งประเทศไทยซื้อที่ดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ระยะเวลาใช้คืน 100 ปี เพื่อชดใช้ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากหนี้เสียให้กับสถาบันการเงินในอนาคต ทั้งนี้ มาตรการ “อัดฉีด SME 2 ล้านล้าน ลดดอก ปลอดต้น 4 ปี” จะช่วยให้ SME นับล้านรายสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจ และยังจ้างพนักงานกว่า 10 ล้านคนต่อไปได้ ช่วยให้ประชาชนกว่า 10 ล้านคนไม่ต้องพักชำระหนี้ และเปิดโอกาสให้ SME มีเวลาเพียงพอที่จะวางแผนปรับตัว ปรับต้นทุน เพิ่มการลงทุน หรือแม้กระทั่งปรับเปลี่ยนธุรกิจไปทำธุรกิจประเภทอื่นๆ ก็ได้
มูลนิธิฟรีดดริด เอแบร์ท ร่วมกับภาคีสังคมแรงงาน ได้จัดงานสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่มผู้นำแรงงาน โดยนายอนุสรณ์ ธรรมใจ อนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย การกำหนดอัตราเงินสมทบ และการพัฒนาสิทธิประโยชน์ สำนักงานประกันสังคม ได้บรรยายในหัวข้อ “การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการจ้างงานหลังโควิด” ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจที่หดตัวอย่างรุนแรงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศทำให้เกิดสถานการณ์ทยอยเลิกจ้างอย่างต่อเนื่องในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและกิจการต่อเนื่อง ธุรกิจสายการบิน เป็นต้น คาดว่าอัตราการว่างงานอาจขึ้นแตะระดับ 10% (คิดเป็นประมาณ 3.81 ล้านคน) ของกำลังแรงงาน และอาจทำให้มีคนว่างงานหรือทำงานไม่เต็มเวลา ว่างงานแฝง และทำงานต่ำระดับเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 ล้านคน
บี้ใช้เงินกู้ 4 แสนล้านจ้างงาน
นายอนุสรณ์กล่าวว่า การประเมินตัวเลขของทางการที่มองว่าอัตราการว่างงานจะขึ้นไปแตะระดับ 4% และอาจมีคนว่างงานไม่เกิน 2 ล้านคน น่าจะเป็นการมองโลกในแง่บวกเกินไป และประเมินว่าเศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจนหลังคลายล็อกดาวน์ แต่อัตราการว่างงานในระดับ 4% ถือว่าเป็นอัตราการว่างงานสูงสุดในรอบ 23 ปี ใกล้เคียงกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินปี 2541 ซึ่งมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 4.4% ซึ่งรัฐบาลต้องรีบดำเนินการเพื่อให้เกิดความหนืดในการเลิกจ้าง ด้วยการแก้กฎหมายให้มีการจ่ายเงินชดเชยเพิ่มขึ้นอีกในกรณีที่มีการเลิกจ้าง และให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อจูงใจให้บรรษัทข้ามชาติยังคงจ้างงานและขยายกิจการในไทย รวมทั้งเร่งรัดใช้งบประมาณเงินกู้ 4 แสนล้านบาทเพื่อทำให้เกิดการจ้างงานขนาดใหญ่
ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ระหว่างวันที่ 1-3 ก.ค. ว่าจากข้อตกลงของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล และคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิป) ทั้งสองฝ่าย ทำให้ปัญหาเรื่องเวลาหมดไป ซึ่งมีข้อตกลงว่าพรรคฝ่ายค้านได้เวลา 22 ชั่วโมง 30 นาที ส่วนฝ่ายรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลได้เวลา 22 ชั่วโมง โดยแต่ละฝ่ายจะต้องบริหารเวลาด้วยตัวเอง ดังนั้นจะให้ใครพูดกี่นาทีก็เป็นเรื่องของฝ่ายนั้นๆ สำหรับระยะเวลา 3 วันก็เป็นไปตามที่ตกลงกัน ซึ่งจะเริ่มประชุมตั้งแต่ 09.00-24.00 น. เพื่อให้ครบตามเวลาที่กำหนด
เมื่อถามว่า กรอบเวลาการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) น้อยหรือไม่ นายชวนกล่าวว่า ถูกต้อง เพราะเดิมรัฐบาลอยากได้วันที่ 24-25 มิ.ย. เนื่องจากมีปฏิทินกำหนดระยะเวลาไว้เรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อคำนวณเวลาที่เรารับเรื่องมาจะมีเวลาประมาณ 7 วันเท่านั้นก่อนการประชุม แต่เอกสารงบประมาณมีจำนวน 2 กล่องใหญ่ๆ ซึ่งไม่สามารถพิจารณาได้ทัน ดังนั้นคิดว่าอย่างน้อยต้องใช้เวลา 10 วัน จนในที่สุดรัฐบาลขอเปลี่ยนเป็นวันที่ 1-3 ก.ค. ทำให้ ส.ส.ทุกคนได้ดูเอกสารอย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกันมีการเตือนในชั้น กมธ.ว่า ระยะเวลา 105 วัน จะเริ่มตั้งแต่วันที่เรารับกฎหมายนี้เข้ามาที่สภา ดังนั้นปฏิทินจึงไปเร่งรัดในช่วงการพิจารณาของ กมธ. ซึ่งเขาก็ทำได้
ส่วนการนำเข้าพิจารณาในวาระ 2 และ 3 จะทันก่อนปิดสมัยประชุมหรือไม่นั้น ประธานสภาฯ กล่าวว่า เรื่องนี้กำลังคำนวณกันอยู่ว่า กมธ.จะทำเสร็จในช่วงใด หากเสร็จช่วงปลายสมัยประชุมนี้ก็ไม่ต้องเปิดประชุมวิสามัญ แต่หากไม่ทันต้องเปิดการประชุมสมัยวิสามัญตามปกติ ซึ่งไม่ได้มีปัญหาอะไร
ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ได้เชิญ ส.ส.ของพรรคประชุมในวันอังคารที่ 30 มิ.ย. เวลา 13.30 น. เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการประชุมในวันพุธที่ 1 ก.ค.นี้ โดยก่อนหน้านี้ มี ส.ส.จำนวน 23 คนสนใจอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2564 และได้หารือร่วมกันถึงกรอบและแนวทางการอภิปรายที่มีเป้าหมายชัดเจนว่า การจัดงบประมาณควรเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน สามารถขับเคลื่อนประเทศตามนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการฟื้นฟู บรรเทา และแก้ปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณควรเป็นไปเพื่อให้เกิดการฟื้นตัวและการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากเพื่อช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ทั้ง 3 ฉบับ และ พ.ร.ก.โอนงบปี 2563 ที่ผ่านสภาไปแล้ว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |