สิ่งที่หลายฝ่ายจับตามองต่อจากนี้ หลังที่ประชุมใหญ่ พรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันเสาร์ที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา เทเสียงท่วมท้น เลือก บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็น หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคนใหม่ แทน อุตตม สาวนายน รมว.คลัง และที่สำคัญ รายชื่อกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ รวม 27 คน ขุมกำลังของ กลุ่มสมคิด-สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่เคยเป็นกรรมการบริหารพรรคชุดก่อน ปรากฏว่า ทั้งหมดไม่มีใครได้รับเลือกให้กลับมาอยู่ในแผงกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐชุดใหม่ ภายใต้การนำทีมของบิ๊กป้อมและเสี่ยแฮงค์ อนุชา นาคาศัย
ไม่ว่าจะเป็น อุตตม สาวนายน, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน อดีตเลขาธิการพรรค, สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษาฯ อดีตรองหัวหน้าพรรค, กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกฯ และอดีตโฆษกพรรคพลังประชารัฐ, พรชัย ตระกูลวรานนท์ อดีตเหรัญญิกพรรค อดีตรองอธิการบดีธรรมศาสตร์ 6.วิเชียร ชวลิต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ และอดีตนายทะเบียนพรรค 7.ชวน ชูจันทร์ อดีตกรรมการบริหารพรรค 8.สันติ กีระนันทน์ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
ด้วยเหตุนี้สิ่งที่หลายคนจับตาก็คือ กลุ่มสมคิด จะเดินต่อไปอย่างไรในพรรคพลังประชารัฐและในรัฐบาล หลังเวลานี้พื้นที่และเส้นทางเดินของ กลุ่มสมคิด ในพลังประชารัฐเดินมาถึงจุด สิ้นสุดทางเดิน แล้ว จะเหลือก็แค่ต้องรอดูว่า การปรับคณะรัฐมนตรี ประยุทธ์ 2/2 รัฐมนตรีในกลุ่มรวม 4 เก้าอี้ รองนายกฯ-รมว.คลัง-รมว.พลังงาน-รมว.อุดมศึกษาฯ ทั้งหมดจะอยู่ครบหรือไม่ หรือต้องมีบางคนหลุดจากเก้าอี้ ซึ่งหากสุดท้ายต้องมีใครบางคนหรือทั้งหมดขาลอย โดนปรับออกหมดหรือเกือบหมด ก็คาดว่าการตัดสินใจทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งจากคนใน กลุ่มสมคิด หรือทีม 4 กุมาร พลังประชารัฐ คงถึงจุดที่ต้องตัดสินใจแล้วว่าจะ อยู่หรือไป
ชวน ชูจันทร์ ประธานประชาคมตลาดน้ำคลองลัดมะยม อดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ผู้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อขอจดแจ้งจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ไม่รู้สึกติดใจที่ไม่ได้รับเลือกให้กลับมาเป็นกรรมการบริหารพรรค เนื่องจากไม่ยึดติดอะไร แม้จะเริ่มก่อตั้งพรรคมาแต่ต้น แต่ก็เข้าใจดีว่า การเมืองก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการณ์ในช่วงนั้นๆ เราก็เหมือนคนสร้างบ้าน ที่ส่วนใหญ่คนสร้างบ้านก็ไม่ใช่คนที่อยู่ในบ้านนั้นตลอด เพราะพอสร้างเสร็จก็มีคนเข้ามาอยู่ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป
ชวน-อดีตกรรมการบริหารพรรค พปชร. ย้ำว่า เรื่องที่อาจจะมีอดีตกรรมการบริหารพรรค พปชร.บางกลุ่มแยกออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่นั้น เรื่องดังกล่าวยังไม่รู้ คงยังตอบไม่ได้ แต่อยากบอกในฐานะที่เคยไปร่วมตั้งพรรคการเมืองมาก่อน บอกได้เลยว่าการตั้งพรรคการเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตั้งแล้ว หากไม่มีคนไปทำงานให้ ก็ไปได้ยาก สุดท้ายก็จะได้ ส.ส.มาแค่ 2-3 คน แต่สำหรับพลังประชารัฐ ตอนนี้ถือว่าเป็นพรรคใหญ่แล้ว เป็นพรรครัฐบาล หากทีมผู้บริหารชุดใหม่ทำพรรคให้เป็นพรรคของประชาชนจริงๆ มันก็เดินต่อไปได้ ก็อยากให้กำลังใจกัน ทำพลังประชารัฐให้เป็นพรรคของประชาชนทุกคนให้ได้จริงๆ หากทำได้ประชาชนก็จะสนับสนุนต่อไปเรื่อยๆ
สำหรับภารกิจสำคัญของ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคนใหม่ ในระยะสั้นๆ ที่หลายคนมองเห็นต่อจากนี้ก็คือ การต้องหลอมรวมทุกกลุ่มทุกขั้วการเมืองในพรรคพลังประชารัฐที่มีนับสิบกลุ่มให้มีความเป็นหนึ่งเดียว เป็นเอกภาพมากขึ้น โจทย์ยากของบิ๊กป้อมในเรื่องนี้จะเกิดขึ้นก็ตอน ปรับคณะรัฐมนตรี ที่คาดว่าช้าสุด อาจเกิดหลังร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ผ่านความเห็นชอบจากทั้งสภาฯ และวุฒิสภาแล้ว ที่คาดว่าจะอยู่ในช่วงเกือบต้นเดือนกันยายนเลยทีเดียว แต่เร็วสุดก็อาจช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้ก็ได้ หากว่าพลเอกประยุทธ์มีความจำเป็นต้องปรับ ครม.ให้เร็วขึ้น
คาดว่าเมื่อถึงช่วงก่อนปรับ ครม. ในพลังประชารัฐคง "ฝุ่นตลบ" กันพอสมควร แต่หากบิ๊กป้อมคุมสภาพภายใน พปชร.ได้ มันก็พิสูจน์บารมีของพลเอกประวิตรกับการเป็นหัวหน้าพรรค พปชร.ได้เป็นอย่างดี จากนั้นภารกิจอื่นๆ ทางการเมือง ถึงจะตามมาเป็นลำดับ เช่น การเตรียมพร้อมจัดทัพ-หาคนลงสมัครรับเลือกตั้งระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะในตำแหน่งสำคัญๆ เช่น ผู้ว่าฯ กทม.และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในพื้นที่เป้าหมายของพลังประชารัฐ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |