5จีหนุนธุรกิจบันเทิงแนวใหม่ ตอบโจทย์นิวนอร์มอล ปูโอกาสสร้างรายได้


เพิ่มเพื่อน    

    สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา นำไปสู่การหยุดชะงักของภาคธุรกิจการแสดงโชว์และการแข่งขันกีฬา อีกทั้งยังเปลี่ยนพฤติกรรมการรับชมการแสดงโชว์ของผู้บริโภค จากที่รับชมในสถานที่สาธารณะ เป็นการรับชมการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อคงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing)
    ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เล็งเห็นว่า เทคโนโลยีความจริงเสมือน หรือ 'เวอร์ชวล เรียลลิตี้' (Virtual Reality: VR) มีศักยภาพยกระดับประสบการณ์การรับชมการแสดงโชว์และการแข่งขันกีฬาขึ้นไปอีกขั้น เนื่องด้วยเทคโนโลยี VR สามารถนำเสนอมุมมองการรับชมแบบ 360 องศา พร้อมทั้งรองรับระบบเสียงรอบทิศทาง ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับอรรถรสใกล้เคียงกับการรับชมในสถานที่จริง อีกทั้งอุปกรณ์แว่นตา VR ซึ่งใช้ควบคู่กับสมาร์ทโฟนเพื่อใช้ในการรับชมยังมีราคาถูกลงในระยะหลัง เนื่องจากมีอุปทานจากผู้ผลิตรายใหม่ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยราคาถูกสุดที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้อยู่ที่เพียงหลัก 100 บาท
    ดังนั้น เมื่อพิจารณาประกอบกับเม็ดเงินของตลาดการจัดแสดงโชว์และการแข่งขันกีฬาที่เติบโตในอัตรากว่าร้อยละ 40 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่กว่าพันล้านบาท จึงแสดงให้เห็นว่าธุรกิจบันเทิงเสมือนจริง (VR Entertaining Business) สามารถกลายเป็นตลาดบันเทิงรูปแบบใหม่ที่สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต
5 จี หนุนธุรกิจโต
    อย่างไรก็ตาม ธุรกิจการบันเทิงเสมือนจริงจะเน้นการลงทุนไปที่ระบบภาพและเสียงที่คมชัดไม่สะดุด จึงควรให้บริการผ่านเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สาย 5G เนื่องจากมีความรวดเร็วในการส่งข้อมูลมากกว่าแบบเดิม และยังมีความหน่วงที่น้อยกว่า ทำให้มีคุณสมบัตินำเสนอประสบการณ์รับชมโชว์หรือการแข่งขันกีฬาผ่านเทคโนโลยี VR ได้อย่างลื่นไหล ดังนั้นจะเห็นว่าผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการก้าวเข้ามาทำธุรกิจดังกล่าว จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมสำหรับการให้บริการ อีกทั้งต้องมีความเชี่ยวชาญในการสร้างแพลตฟอร์มนำเสนอคอนเทนต์ในระดับหนึ่ง ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทย
    "ปัจจุบัน ผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทยพึ่งพารายได้หลักจากบริการสื่อสารโทรคมนาคม (ข้อมูลและเสียง) มากกว่าร้อยละ 85 ของรายได้ทั้งหมด ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงในบริการดังกล่าว ทำให้รายได้โดยรวมของอุตสาหกรรมไม่โตเท่าที่ควร ส่งผลให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทยต้องหาโอกาสทางธุรกิจใหม่จากบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง"
    ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าธุรกิจบันเทิงเสมือนจริง น่าจะถือเป็นหนึ่งตัวเลือกที่มีศักยภาพ เนื่องจากบริการดังกล่าวมีความแตกต่างจากการบริการคอนเทนต์ออนไลน์ในอดีต ไม่ว่าจะเรื่องอรรถรสที่สมจริง หรือแม้แต่ประเด็นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เป็นไปได้ยากกว่า เพราะการคัดลอกคอนเทนต์ไปฉายซ้ำไม่สามารถให้ประสบการณ์แบบ 360 องศา ที่มุมมองภาพจะเปลี่ยนตามองศาการมองของผู้บริโภคได้
    ซึ่งจากการวิเคราะห์บนฐานของธุรกิจคอนเสิร์ตและกีฬาในปัจจุบัน คาดว่าธุรกิจบันเทิงเสมือนจริงน่าจะมีศักยภาพสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดยรวมไม่ต่ำกว่า 1.7 พันล้านบาท และสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตได้มากกว่าร้อยละ 0.64 ของมูลค่าอุตสาหกรรมดังกล่าวในประเทศไทยเบื้องต้น อย่างไรก็ดีจำนวนผู้ใช้บริการในช่วงแรกจะขึ้นอยู่กับการทำการตลาดเพื่อให้ความรู้กับผู้บริโภคในเทคโนโลยีใหม่นี้ ประกอบกับระดับการผ่อนคลายภาวะล็อกดาวน์ในระยะข้างหน้า ซึ่งปัจจัยข้างต้นจะเป็นตัวกำหนดจังหวะการเติบโตของธุรกิจบันเทิงเสมือนจริงในอนาคต
โอกาสทางธุรกิจ
    อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ค่ายเพลงทั่วโลกเริ่มปรับกลยุทธ์เข้าสู่การหารายได้ผ่านช่องทางออนไลน์เต็มรูปแบบ จึงเริ่มมีการจัดโชว์ให้ผู้บริโภครับชมผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต และเก็บค่าบัตรเข้าชมในราคาต่ำ อนึ่ง มีกรณีตัวอย่างของผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหญ่เกาหลีใต้ที่ใช้โมเดลธุรกิจลักษณะเดียวกัน เปิดให้รับชมคอนเสิร์ตผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เล็งเห็นว่า กลยุทธ์การพาร์ตเนอร์กับค่ายเพลงต่างชาติจะช่วยเสริมความน่าดึงดูดให้กับธุรกิจ โดยกลุ่มพันธมิตรค่ายเพลงเป้าหมายแรกที่ควรจับมือด้วยน่าจะเป็นค่ายเพลงรายใหญ่เกาหลีใต้ เนื่องด้วยประเทศไทยมีฐานผู้บริโภคที่ชื่นชอบศิลปินเกาหลีใต้ที่แข็งแรงและมีกำลังทรัพย์ในการใช้บริการ
    อย่างไรก็ดี ในระยะเริ่มต้นผู้ประกอบการโทรคมนาคมอาจต้องซื้อใบอนุญาตการถ่ายทอดสดคอนเทนต์จากค่ายเพลงหรือสมาคมกีฬาก่อน เพื่อสร้างคอนเทนต์ที่หลากหลายมาตอบโจทย์ผู้บริโภคซึ่งมีความชอบที่แตกต่างกัน แต่ในระยะถัดมาเมื่อมีฐานผู้ใช้บริการมากเพียงพอแล้ว อาจสามารถต่อยอดสร้างรายได้ผ่านการให้บริการโฆษณาบนแอปพลิเคชันต่อไปได้
ชู 5 จีดิจิทัล อินฟราสตรักเจอร์
    เอไอเอส ประกาศวิสัยทัศน์เครือข่าย AIS 5G - Forging Thailand’s Recovery สร้าง 5G ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ให้เป็นดิจิทัลอินฟราสตรักเจอร์ (Digital Infrastructure) ใหม่ของประเทศ รวมถึงสนับสนุนการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) พร้อมผนึกผู้นำอุตสาหกรรมทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดอย่าง AIS 5G ที่เสริมขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมหลักทั้งหมดที่จะเป็นกลไกในการฟื้นฟูประเทศในแต่และภาคส่วนนั่นเอง อาทิ ภาคสาธารณสุข, AIS 5G ทำงานร่วมกับ Robot และ AI เข้าไปสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการคัดกรองคนไข้
    นอกจากนี้ยังมีภาคอุตสาหกรรมในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) 5G ในฐานะ ICT Infrastructure เพื่อเสริมขีดความสามารถในการบริหารจัดการในทุกๆ ส่วนงาน, ภาคการค้าปลีก, Multimedia ใหม่ สร้าง Immersive Experience ที่ 5G Immersive Experience กับเทคโนโลยี AR/VR พร้อมร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สร้างประสบการณ์ใหม่ของ Unseen Thailand ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงคอนเทนต์ด้านการศึกษาและความบันเทิง พลิกโฉมการสร้างสรรค์คอนเทนต์ของ Creator สัญชาติไทย ด้วย Next Reality Studio - AR/VR Studio แห่งแรกของเมืองไทย และ 5G กับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม การเกษตร และการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดยผนึกพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้าง SDG Lab ในพื้นที่ 100 ไร่ ในอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี หรือสวนป๋วย ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ต้นแบบการรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการดูแลสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมที่สุดแห่งหนึ่ง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"