เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 เป็นวันครบรอบ วันอภิวัฒน์สยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลายองค์กรกิจกรรมรำลึกถึงคุณูปการของ คณะราษฎร ผู้นำการเปลี่ยนแปลงเมื่อ 88 ปีที่ผ่านมา
โดยเมื่อเวลาประมาณ 05.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย หรือ Democracy Restoration Group (DRG) ได้จัดกิจกรรม "ลบยังไง ก็ไม่ลืม" ซึ่งเป็นกิจกรรมย้อนเวลา กลับไปสู่ช่วงเวลาประวัติศาสตร์ฉายภาพเคลื่อนไหวจำลองเหตุการณ์การอ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 โดยนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ต่อหน้าทหารบก ทหารเรือ และราษฎร
ส่วนที่บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา เกียกกาย คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.) นำโดยนายอนุสรณ์ อุณโณ ประธาน ครช. พร้อมด้วยมวลชนประมาณ 200 คน ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ในหัวข้อ "24 มิถุนา ทวงคืนมรดกคณะราษฎร ทวงสัญญารัฐธรรมนูญประชาชน"
พร้อมทั้งยื่นหนังสือเพื่อทวงถามความคืบหน้าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา และขอให้ประกาศให้วันที่ 24 มิ.ย.ของทุกปีเป็นวันชาติและวันกำเนิดประชาธิปไตยของไทย โดยมีตัวแทนคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และแกนนำพรรคฝ่ายค้าน เป็นตัวแทนรับหนังสือ
ที่น่าสนใจปีนี้ฝ่ายกองทัพจัดกิจกรรมเช่นกัน โดย พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้มอบหมายให้พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ. ผู้แทนกองทัพบก เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายแด่ พลเอกพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช และบำเพ็ญกุศลอุทิศแด่ พันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของนายทหารที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดพิธีรำลึก
กองประชาสัมพันธ์กองทัพบกยังได้เผยแพร่ข้อมูลประกอบวาระงานดังกล่าวว่านายทหารทั้งสองนายยังเป็นนายทหารประชาธิปไตย เมื่อปี พ.ศ.2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่าคณะราษฎร ถือเป็นการรัฐประหารเพื่อล้มราชบัลลังก์
ส่วนที่พรรคเพื่อไทย จัดเสวนา “ทิศทางรัฐธรรมนูญไทย” วิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่าเป็นการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร คสช. และปลุกประชาชนร่วมกันแก้ไขให้เป็น รธน.ของประชาชน
กิจกรรมของทั้ง 2 ขั้วดังกล่าวสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองผ่านมาแล้ว 88 ปี ที่ก็ยังมีร่องรอยความขัดแย้งแตกแยกทางความคิดที่ยังฝังลึกในสังคมไทย จากคนรุ่นก่อนจนถึงคนรุ่นปัจจุบัน
นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ระบุว่า การที่กองทัพบกจัดงานพิธีรำลึกกบฏบวรเดชนั้นไม่เหมาะสม ในฐานะบทบาทของกองทัพขัดกับบทบาทหน้าที่ กองทัพบกอย่าสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งภายในขึ้นมาใหม่ มองไปข้างหน้า ร่วมพัฒนาประเทศไทยด้วยกันใหม่ในฐานะและบทบาทที่ถูกต้อง แก้ไขความขัดแย้งในสังคมไทยในอดีต ซึ่งในอนาคตอันใกล้คงต้องมีการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิดทั้งหมดเพื่อการปรองดองแห่งชาติ และแก้ไขความขัดแย้งเรื้อรังที่ผ่านมากว่า 10 ปี เหมือนเช่นที่เกิดนโยบายการเมืองนำการทหารในช่วง 40 ปีก่อนหน้านี้
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมได้สั่งให้ทีมงานกลับไปรวบรวมรายชื่อบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีการเมืองทั้งหมดเพื่อนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการนิรโทษกรรมคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง
แต่ พล.อ.ประยุทธ์ กลับปฏิเสธว่ากลุ่มใดที่มีการกระทำผิดกฎหมายแล้วจะดึงเข้ามา ต้องไปว่ากันตามคดีความให้จบสิ้นก่อน วันข้างหน้าหากมีการรับโทษกันแล้วก็จบ เพราะทุกคนก็เป็นคนไทยด้วยกัน แต่ถ้าไม่รับโทษแล้วจะทำอย่างไร ไม่เช่นนั้นคนก็ไม่เกรงกลัวการทำผิด ถ้าทำการเมืองโดยที่ต้องเอาทุกคนเข้ามา ผิดถูกไม่เป็นไร กฎหมายก็จะเสียหมดทั้งประเทศ ความเป็นประชาธิปไตยต้องมีกฎหมาย กฎหมายคือประชาธิปไตยที่ให้ความเท่าเทียมกับทุกคน
นายกฯ กล่าวด้วยว่า ขอให้ทุกคน "รวมใจไทยสร้างชาติ" โดยเอาสิ่งที่มีอยู่แล้ว ทำของเดิมให้ดีที่สุด พร้อมมีการตรวจสอบรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุน
และก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. นายกรัฐมนตรีออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย แถลงเรื่อง "วิธีการทำงานแบบ New Normal ของนายกรัฐมนตรี “โดยประกาศเปลี่ยนโฉมประเทศไทยหลังโควิด พร้อมดึงประชาชนร่วมวางอนาคตประเทศใหม่
จึงเป็นที่น่าจับตาว่า พล.อ.ประยุทธ์ กำลังเดินยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อสร้างแนวร่วมในการทำงานของรัฐบาล ซึ่งจะต้องเผชิญวิกฤติรอบด้านในอนาคตอันใกล้จากผลพวงการแพร่ระบาดไวรัสโควิดโดยเฉพาะวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังลุกลามทั่วโลก
ทางด้าน นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ’35 และอดีตคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ออกแถลงการณ์เรียกร้อง “หยุดฉีกสัญญาประชาคม แบ่งแยกแล้วปกครอง เดินหน้าสู่การปรองดอง หลอมรวมคนไทยทุกภาคส่วน” ระบุว่า เป็นที่น่าเศร้าอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทยที่มีความแตกแยกและขัดแย้งทางการเมืองมาอย่างยาวนาน แต่รัฐบาลไม่มีนโยบายหรือแนวทางการสร้างความสมานฉันท์และการปรองดองที่เป็นรูปธรรมเพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยไปข้างหน้า ทั้งที่ คสช.ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ได้ประกาศเป็นสัญญาประชาคมว่าจะเข้ามายุติปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จะทำให้ประชาชนในชาติเกิดความรักความสามัคคี ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูป
จากนั้นได้ตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) และคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองโดยตรงเพื่อรับฟังปัญหาจากพรรคการเมืองและภาคประชาชนทุกฝ่าย นอกจากนี้คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช. ได้ศึกษาแนวทางและข้อเสนอแนะแนวทางการสร้างความปรองดองไว้อย่างครบถ้วน ซึ่งได้ส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ให้รัฐบาลแล้วแต่รัฐบาลกลับไม่ดำเนินการ
ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนฯ เรียกร้องให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมสนับสนุนการสร้างความปรองดอง เริ่มต้นด้วยการนิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ไม่รวมถึงการกระทำความผิดอาญาโดยเนื้อแท้ ความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชัน และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมองว่ารัฐบาลจะไม่สามารถผนึกประชาชนทุกภาคส่วนได้เลยหากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังเรื้อรังและสร้างความปรองดองของคนในชาติ
ส่วนที่นายกฯ พูดว่าเรื่องปรองดองอะไรต่างๆ จะต้องเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย นั้น นายอดุลย์ บอกว่า ทุกวันนี้เหลืองกับแดงส่วนใหญ่ตอนนี้เขาก็เข้าคุกกันเกือบหมดแล้ว เพราะฉะนั้นเขาก็ได้รับความทุกข์ยากลำบากกันมาระยะหนึ่ง แล้วทำไมถึงไม่เข้าไปปลดเปลื้องความทุกข์ยากลำบากที่เขามีเจตนาดีต่อบ้านเมืองทุกฝ่าย เพราะหากเอาตามกฎหมายอย่างที่คนเสื้อเหลือง-แดงเจอ ทหารเองก็ต้องติดคุกกันหมด เพราะหากนำกฎหมายมาพูด พลเอกสุจินดา คราประยูร ตอนหลังเหตุการณ์ปี 2535 พลเอกสุจินดาก็ต้องเข้าคุกเหมือนกัน ทุกคนก็ต้องเข้าคุกกันหมด แล้วทำไมจะต้องทำแบบนั้น
“ญาติวีรชนฯ ประกาศอโหสิกรรมให้กับพลเอกสุจินดา และพวกสมัยเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ที่หลังจากนั้นกลุ่มญาติวีรชนฯ ก็ได้ไปขอพบพูดคุยกับพลเอกสุจินดา โดยพลเอกสุจินดาก็ให้ความร่วมมือโดยการไม่ทำตัวให้มีบทบาทใดๆ อีกเลยเพื่อให้สังคมสงบ ซึ่งจากการอโหสิกรรมดังกล่าว ก็ทำให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ขึ้นมา บ้านเมืองก็สงบมาร่วม 20 ปี” นายอดุลย์กล่าว
ล่าสุด ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก 5 นปช. คือ นายนพรุจ หรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. คนละ 2 ปี 8 เดือน กรณีชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ เมื่อปี 2550
การนิรโทษกรรม คงยังเป็นยาแสลงทางการเมืองไทย หลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผลักดัน พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแบบสุดซอยเข้าสภาตอนตี่สี่ นำไปสู่ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย นายอดลุย์จึงฝากถึงนายทักษิณ ชินวัตร ว่า ถ้าอยากกลับบ้านแบบเท่ๆ ต้องรู้จักการอดทนรอคอยและพิสูจน์ตัวเองให้ได้ก่อน ต้องเสียสละให้ประชาชนที่ก่อน จากนั้นคนในชาติจะพิจารณาเองว่าจะให้โอกาสนายทักษิณหรือไม่อย่างไร
ขณะที่ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย มองว่า “การสร้างความปรองดองของคนในชาติคือหัวใจของการสร้างชาติ สร้างแผ่นดิน หลักคิดของตนในเรื่องนี้คือ ผู้นำประเทศควรน้อมนำคุณธรรมทางศาสนามาใช้ในการสร้างความปรองดองของคนในชาติ โดยคุณธรรมทางศาสนาที่สำคัญนั้นได้แก่ อภัย และเมตตา เพื่อให้อภัยและเมตตาแก่บุคคลที่ต้องคดีการเมือง และคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับการเมือง ยกเว้นคดีทุจริต แต่กระบวนการกล่าวหาว่าผู้ใดทุจริต กระบวนการนั้นก็ต้องยืนอยู่บนหลักนิติธรรม ถึงจะได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ ที่สำคัญได้รับการยอมรับจากผู้ถูกกล่าวหา”
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการญาติวีรชนฯ เตรียมจัดเวทีเสวนา 2 นัด เพื่อทำความเข้าใจต่อสังคม ทำไมต้องปรองดอง-นิรโทษกรรมคดีการเมือง ในวันที่ 29 มิ.ย. และวันที่ 12 ก.ค.ที่จะถึงนี้
แนวทาง การทำงานแบบ New Normal ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะ รวมใจไทยสร้างชาติ ยังต้องรอพิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรม แต่หากยังกอดกฎหมายแบบเดิมทั้งที่กลุ่มคู่ขัดแย้งมองว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้าม และใช้ปกป้องพวกพ้องตัวเองก็ยากจะรวมใจคนไทยทุกภาคส่วนได้
การสร้างความปรองดองที่ต้องเริ่มด้วยการนิรโทษกรรมคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมืองจะสำเร็จหรือไม่ หลังมีการจุดกระแสขึ้นมาอีกครั้ง ภาคประชาชนเริ่มขานรับ หากผู้นำรัฐบาลมีความเข้าใจถึงหัวใจการสร้างความปรองดองเหมือนเหตุการณ์ความขัดแย้งในอดีต แล้วกล้าตัดสินใจนำพาสังคมไทยออกจากหล่มความขัดแย้ง ก็จะได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษ แต่หากยังขาดความกล้าหาญ สังคมไทยก็ยังติดหล่มความขัดแย้งเช่นนี้อีกต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |