6 เดือนหลังเผชิญโควิด-19 จะป่วยตายหรืออดตายดี


เพิ่มเพื่อน    

 

         6 เดือนเต็มนับจากจีนแจ้งองค์การอนามัยโลกพบการแพร่ระบาดของโควิด-19 การระบาดระดับโลกยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก่อนสิ้นเดือนมิถุนายนยอดผู้ยืนยันติดเชื้อทะลุ 10 ล้านคน เฉพาะมิถุนายนมีผู้ป่วยใหม่ถึง 4 ล้านคน ที่น่าเป็นห่วงคือผู้ยืนยันติดเชื้อรายใหม่ตอนนี้มากกว่า 160,000 คนต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

                จากการวิเคราะห์เป็นไปได้ว่าในเดือนหน้า (กรกฎาคม)  ยอดผู้ยืนยันติดเชื้อสะสมทั่วโลกอาจทะลุ 16-17 ล้านคน เพิ่มจากยอดปัจจุบัน 60-70 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุมาจากทั้งจากกลุ่มประเทศที่กำลังระบาดหนักในแถบอเมริกาใต้ แอฟริกา ภูมิภาคอินเดีย และการระบาดระลอก 2 ในหมู่ประเทศที่คลายมาตรการปิดเมือง

จะป่วยตายหรืออดตายดี :

                ถ้ามองในระดับปัจเจกหลายคนกังวลเรื่องเจ็บป่วยล้มตาย แต่ความอดยากเป็นแรงกระตุ้นมากกว่า ถ้ามองภาพรวมจำต้องเปิดเมืองให้ระบบทำงาน

                ยกตัวอย่าง หลังปิดเมืองเพียง 2 เดือน ยอดคนตกงานในสหราชอาณาจักรสูงถึง 2.8 ล้านคน เฉพาะพฤษภาคมเพิ่มขึ้นถึง 529,000 คน หากปิดเมืองต่อไปไม่เพียงคนว่างงานจะเพิ่มขึ้น การจ้างงานอีกครั้งจะยากกว่าเดิม เพราะระบบเศรษฐกิจกับบริษัทต้องใช้เวลาฟื้นตัว (บางแห่งอาจล้มไปเลย) ปัญหาอีกข้อคือภาระการคลังสาหัส รัฐต้องแบกภาระช่วยเหลือคนเหล่านี้ คอยป้อนน้ำป้อนข้าว การนั่งกินนอนกินส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต ภาวะสังคมอย่างประเมินค่าไม่ได้        สิงคโปร์เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องคนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลเก่งกาจในเวทีการเมืองระหว่างประเทศแต่ยังไม่ชนะโควิด-19 ล่าสุดคาดจีดีพีหดตัวร้อยละ 5.8 จากเดิมที่ประเมินเมื่อปีก่อนว่าจะโตร้อยละ 0.6 ภาคอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ 26 ค้าปลีกค้าส่งหดตัวร้อยละ 12.8

                สิงคโปร์พบผู้ติดโรครายใหม่ทุกวัน วันละหลายร้อยราย แต่ต้องคลายมาตรการปิดเมือง ไม่อาจปล่อยให้เศรษฐกิจถดถอยกว่านี้

                เมียนมาเป็นอีกตัวอย่างที่น่าสนใจ ธนาคารโลกประเมินล่าสุดว่าเศรษฐกิจจะโตเพียงร้อยละ 0.5 จากเดิมที่ประเมินว่าโต 6.8 เป็นผลจากปัญหาซัพพลายเชน อุปสงค์อ่อนตัวทั้งภายในกับภายนอกประเทศ ปัญหาการท่องเที่ยว เมียนมาระบาดน้อยแต่ได้รับผลกระทบมาก

                เป็นตัวอย่างเหตุผลว่านานาชาติสนับสนุนการเปิดเมืองเพราะทุกประเทศได้รับผลกระทบ

ระบาดระลอก 2 หลีกเลี่ยงไม่ได้ :

                ก่อนคลายมาตรการปิดเมืองมีคำเตือนมากมายจากฝ่ายสาธารณสุขว่าการเปิดเมืองเสี่ยงระบาดระลอก 2 แต่ไม่ว่าเหตุการณ์วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร หลายประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส เตรียมเปิดพรมแดนให้ประชาชนเดินทางไปมาหาสู่กันแล้ว สถานการณ์เปิดเมืองเปิดประเทศกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

                ความจริงคือรัฐต้องให้ระบบเศรษฐกิจเดินเครื่องแม้ประชาชนเสี่ยงเป็นโรค นายสตีฟ มนูชิน (Steve Mnuchin) รมต.คลังสหรัฐ กล่าวว่า จะใช้มาตรการปิดเมืองหยุดระบบเศรษฐกิจไม่ได้อีกแล้ว เพราะจะเกิดปัญหาตามมาที่รุนแรงเสียหายหนักมากกว่า เรื่องแรกที่ต้องทำคือ “ทุกคนต้องกลับไปทำงาน”

                ผลจากโรคระบาดคนอเมริกันลดการซื้อใช้จับจ่ายและพยายามเก็บออม ใกล้เคียงยุค Great Depression จีดีพีสหรัฐขึ้นกับกำลังซื้อภายในประเทศเป็นหลัก (ราว 2 ใน 3) หากจะรักษาระบบเศรษฐกิจต้องกระตุ้นให้คนออกไปช็อปปิ้ง จึงต้องผ่อนมาตรการปิดเมือง ลดดอกเบี้ย แจกเงินให้ประชาชน ทำนองเดียวกับนายกฯ อังกฤษร้องขอให้ประชาชนไปเดินห้าง ไปจับจ่ายซื้อของจากร้านค้าต่างๆ

                ผลเป็นไปตามคาดหลังคลายมาตรการปิดเมืองไม่นาน  ยอดผู้ป่วยรายใหม่ทั้งในสหรัฐ ยุโรป และอีกหลายประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บางแห่งทำสถิติใหม่รายวัน วันพฤหัสฯ เพียงวันเดียวที่รัฐเทกซัสมีผู้ป่วยใหม่ 5,996 ราย รพ.ใกล้จุดรับผู้ป่วยไม่ได้อีกแล้ว แอนโทนี เฟาซี (Anthony Fauci) ผู้มีบทบาทสูงในสหรัฐ เผยว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่กำลังเพิ่มขึ้นในหลายรัฐหลังคลายมาตรการปิดเมืองให้ระบบเศรษฐกิจเดินเครื่อง

                ประเด็นที่ฝ่ายสาธารณสุขกังวลมากคือผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนสถานพยาบาลไม่อาจรับได้อีก นั่นหมายความว่าแม้อยากจะรับก็รับไม่ได้ โรงพยาบาลเต็มไม่รู้ว่าจะเอาผู้ป่วยไปไว้ไหน ขาดอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้รักษาพยาบาล ขาดแพทย์พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเสี่ยงติดโรคมากขึ้น กระทบต่อการรักษาพยาบาลทั้งหมด (รักษาโรคอื่นๆ) โควิด-19 เพียงโรคเดียวทำให้ระบบสาธารณสุขปั่นป่วน

วัคซีน ยา :

            มีข่าวดีหลายชิ้นว่าวัคซีนจากหลายบริษัทกำลังคืบหน้าด้วยดี ชินโซ อาเบะ นายกฯ ญี่ปุ่น เผยว่า อาจได้ใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ในปลายปีนี้ เช่นเดียวกับองค์การอนามัยโลกคาดว่าภายในปีนี้อาจผลิตวัคซีนได้ 200-300 ล้านชุด ปีหน้าจะผลิตได้อีก 2,000 ล้านชุดจากประชากรโลก 7,600 ล้านคน

                นอกจากนี้ มีข่าววิธีการรักษาอื่นๆ เช่น งานวิจัยล่าสุดจาก Scripps Research Institute พบว่าแอนติบอดีที่อยู่ในเลือดผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายป่วยแล้วช่วยต้านโรค ตอนนี้หลายประเทศหลายบริษัทกำลังเร่งวิจัยเป็นวิธีรักษาอีกแบบ

                เป็นอีกความหวังของมนุษยชาติ

New Normal และโอกาส :

            ไม่ว่าจะชอบหรือไม่โลกเข้าสู่ยุคโควิด-19 หลายอย่างเปลี่ยนไป เกิดชีวิตวิถีใหม่ ต่อไปบางเมือง ปิดบางเมือง เปิดสลับกันไปมา บางประเทศปิด บางประเทศเปิด ที่ใดเปิดย่อมได้ประโยชน์ และเมื่อพบการระบาดที่ใดจะมีมาตรการ เช่น เมื่อกลางเดือนมิถุนายนทางการจีนตรวจสอบอาหารสด อาหารแช่แข็ง ทั้งเนื้อกับอาหารทะเล รวมทั้งสินค้านำเข้า หลังการระบาดระลอกใหม่เชื่อมโยงกับอาหารที่ขายในตลาดสด ทุกร้านเก็บปลาแซลมอนออกจากชั้นขาย

                ปลาแซลมอนคงไม่อยู่ในรายการซื้อของใครหลายคนอีกนาน

                สัปดาห์ต่อมาจีนห้ามนำเข้าอาหารจำพวกสัตว์ปีกจากโรงงานผลิตอาหารแห่งหนึ่งในรัฐอาร์คันซอที่โควิด-19 กำลังระบาดหนัก แม้ อย.สหรัฐชี้ว่าไม่มีหลักฐานว่าเชื้อโรคจะติดผ่านสินค้าเหล่านั้น แต่รัฐบาลจีนไม่ฟัง พร้อมกันนี้จีนห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์สุกรจากเยอรมนีด้วย

                ประเทศที่ปลอดโรค (หรือระบาดน้อย) การส่งออกจะดีขึ้น ยกตัวอย่าง ทางการกัมพูชาประเมินว่าปีนี้อาจส่งออกข้าวได้ถึง 1 ล้านตัน ลูกค้าสั่งซื้อมากขึ้นจากโควิด-19 เฉพาะ 5 เดือนแรกส่งออกแล้ว 350,000 ตัน เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 42

                ด้านเวียดนามเผยปีนี้อาจเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามามากมาย เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน จนรัฐบาลต้องระงับการส่งออกเป็นช่วงๆ เพื่อให้มีพอกับความต้องการในประเทศ การที่เวียดนามขายข้าวได้มากมายมาจากหลายปัจจัย แต่ไม่อาจปฏิเสธว่า ประเทศที่ปลอดโรค ระบบเศรษฐกิจ การทำเกษตรเดินเครื่องเต็มกำลังย่อมได้ประโยชน์เหนือคู่แข่ง และไม่ว่าจะสมเหตุผลหรือไม่ ใครๆ ก็อยากซื้อใช้สินค้าจากประเทศที่ปลอดโรค

                การป้องกันตัวเองไม่ใช่แค่เรื่องใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างเท่านั้น ยังหมายถึงการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็น New Normal บางคนปรับตัวง่าย บางคนเห็นว่ายุ่งยาก ทำลายชีวิตมากกว่า (บางคนถึงกับคิดว่ารัฐกำลังทำลายเสรีภาพอิสรภาพของตน) เป็นเหตุให้คนกลุ่มหลังไม่ให้ความร่วมมือ ใช้ชีวิตเสี่ยงติดโรคอย่างยิ่ง บางคนยังจมอยู่ในความทุกข์ ใช้เวลานั่งคิดวิตกกังวล โทษคนนี้คนนั้น โทษฟ้าโทษฝน ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงปรับตัว

                ความเข้าใจสำคัญคือโควิด-19 ไม่ใช่วันสิ้นโลก เพียงแต่ต้องปรับตัว ในยามนี้หากใช้เวลาแสวงหาเรียนรู้สิ่งดีที่ยั่งยืน ฝึกฝนจนเก่งใช้การได้จริง และตัดสินใจกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ยืนหยัดในทางที่ไตร่ตรองรอบคอบแล้ววิกฤติจะกลายเป็นโอกาส มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย

                หากศึกษาประวัติศาสตร์จะพบว่าโลกเป็นเช่นนี้เรื่อยมา  เราอาจไม่สามารถห้ามไม่ให้วิกฤติเกิด แต่สามารถใช้โอกาสนี้สร้างคุณประโยชน์แบบก้าวกระโดด เริ่มจากก้าวออกจากกรอบความคิดเดิม.

-------------------

ภาพ : ผู้ยืนยันติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวัน

ที่มา : https://www.worldometers.info/coronavirus/

-------------------


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"