แปลงตัวอย่างโคก หนอง นา โมเดล ของขวัญเรือน ใจไหม เกษตรกรกำแพงเพชร
การเตรียมความพร้อมรับมือกับน้ำท่วม น้ำแล้ง และสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นหัวใจของการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน จังหวัดกำแพงเพชรมีตัวอย่างความสำเร็จของเกษตรกรและคนรุ่นใหม่สนใจใช้ศาสตร์พระราชาเป็นแนวทางปฏิบัติพัฒนาพื้นที่ด้วย "โคก หนอง นา โมเดล" ทำให้รอดในทุกวิกฤติ และช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ
โครงการ "โคก หนอง นา โมเดล” เกิดจากความร่วมมือของ ปตท.สผ. โครงการเอส 1 และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราชบรมนาถบพิตร และน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน มาเผยแพร่ให้เกษตรกรใน จ.กำแพงเพชร และ จ.สุโขทัย เกิดความตระหนักและนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินงานก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ในปีนี้
วีระวัฒน์ อ่วมสร้อย ผจก.อาวุโสฝ่ายปฏิบัติการผลิต โครงการเอส 1
วีระวัฒน์ อ่วมสร้อย ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการผลิตโครงการเอส 1 กล่าวว่า จากการที่โครงการ "โคก หนอง นา โมเดล" ขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนแก่ชุมชนในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2561 ปตท.สผ.ส่งเสริมโมเดลต้นแบบที่สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรธรรมชาติน้อมนำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงผสมกับภูมิปัญญาพื้นบ้าน ซึ่งระยะแรกสนับสนุนเกษตรกรในกำแพงเพชรเข้ารับการอบรมสร้างความรู้และลงมือปฏิบัติจริงในแปลงต้นแบบ 4 แปลง จากความสำเร็จในแปลงต้นแบบ ทำให้ชาวบ้านพึ่งพาตัวเองได้ มีน้ำใช้และยังแบ่งปันได้ ปี 2563 นี้ มีการขยายผลสร้างคนสร้างแปลงตัวอย่างที่ทำโคก หนอง นา โมเดล เพิ่มเติมใน จ.สุโขทัย 5 แปลง และ จ.กำแพงเพชรอีก 2 แปลง ปัจจุบันรวมมีแปลงเกษตรที่ต่อยอดศาสตร์พระราชาแล้ว 11 แปลง งบที่ ปตท.สผ.สนับสนุนกว่า 1.6 ล้านบาท นอกจากนี้ เพื่อบริการจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ให้กลุ่มเกษตรกรมีน้ำใช้ มีผลผลิตเพิ่มรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ปตท.สผ.เพิ่มโครงการธนาคารน้ำใต้ดินจังหวัดกำแพงเพชรจำนวน 3 แปลงเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาด้วย
“ ศาสตร์พระราชานำไปสู่การทำเกษตรพอเพียง ทุกวันนี้เกษตรกรสามารถต่อยอดและยืนด้วยขาของตัวเองได้ โดยเฉพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ ทุกแปลงที่ทำโคก หนอง นา และธนาคารน้ำจะเป็นต้นแบบ ขยายผลเชื่อมโยงเป็นระบบ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย ธนาคารน้ำใต้ดินที่กระจายทั่วพื้นที่จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้ ทั้ง 2 โครงการ ปตท.สผ.จะติดตามผลการทำงานอย่างต่อเนื่องและพร้อมปรับเปลี่ยนแผนให้เหมาะสม" วีระวัฒน์ กล่าว
ขุดบ่อทำหนอง กระจายน้ำด้วยการคลองไส้ไก่ แก้วิกฤติแล้ง
ด้าน สมศักดิ์ การเจริญกุลวงศ์ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า โคก หนอง นา โมเดล เป็นการประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในหลวง ร.9 ทั้งเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรให้เหมาะสมตามภูมิสังคม โดยแบ่งพื้นที่ 30:30:30:10 เริ่มจากทำโคกปลูกผัก ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ ถัดมาทำนา ยกคันนาหัวสูงเพื่อเก็บน้ำฝน และอีกส่วนทำแหล่งน้ำขุดบ่อทำหนอง มีระบบการกระจายน้ำด้วยการขุดคลองไส้ไก่ให้มีน้ำกระจายชุ่มฉ่ำเต็มพื้นที่ ส่วนที่เหลือสำหรับอยู่อาศัย ทำปศุสัตว์ ในหลวง ร.9 พระราชทานแนวคิดทำให้ตัวเองพออยู่พอกิน ปลูกทุกอย่างที่กิน
“ ส.ป.ก.นำเกษตรกรไปฝึกอบรมเพื่อพัฒนาจำนวน 31 คน ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นน้ำน่าน จ.น่าน และคัดเลือกเกษตรกรที่มีความพร้อมมั่นใจจะเดินตามศาสตร์พระราชาไปเรียนรู้ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี โดย ปตท.สผ.ร่วมสนับสนุนและพัฒนาออกแบบแปลงต้นแบบของเกษตรกร อดีตขุดสระต้องเป็นสี่เหลี่ยม แต่โคก หนอง จะขึ้นกับพื้นที่เพื่อให้ระบบน้ำกระจายทั่ว ทำเกษตรให้ได้ผลต้องแก้ดินและน้ำ กำแพงเพชรมีทั้งปัญหาน้ำหลาก เกิดน้ำท่วมขัง ระบบนิเวศเสียหาย ส่วนที่ดอนหน้าแล้งแห้งขอด เรานำศาสตร์พระราชาส่งเสริมและปรับปรุงพื้นที่ในแปลงเกษตร ช่วยให้อยู่ได้ตลอดทั้งปี" สมศักดิ์กล่าว
สมศักดิ์ การเจริญกุลวงศ์ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดกำแพงเพชร
ส่วนการเพิ่มธนาคารน้ำใต้ดิน บรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกร ปฏิรูปที่ดินกำแพงเพชร บอกว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ปริมาณฝนปี 63 จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 5 ฝนจะทิ้งช่วงนาน 2 เดือน มิถุนายนถึงกรกฎาคมปีนี้แล้งมากจึงต้องวางแผนจัดการน้ำรับสถานการณ์ เป็นปีแรกที่ทำธนาคารน้ำ เป็นการส่งน้ำที่อยู่ผิวดินที่ปกติจะระเหยไปวันละ 1 เซนติเมตร ลงไปฝากไว้ใต้ดินเก็บน้ำไว้ใช้ช่วงหน้าแล้ง ได้รับการจุดประกายความรู้จากสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณของหลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ และองค์การบริหารส่วนตำบลวังหามแห จ.กำแพงเพชร ปีนี้ทำแปลงต้นแบบทั้งหมด 3 แปลง มีธนาคารน้ำระบบเปิด 1 แปลงและธนาคารน้ำระบบปิด 2 แปลง ซึ่งการขุดหรือเจาะบ่อธนาคารน้ำขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ ยึดหลักการตามหลักอุทกธรณีวิทยา แต่จะไม่ลึกเกิน 10 เมตร
ขวัญเรือน ใจไหม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ก้าวตามศาสตร์พระราชา
ก้าวตามศาสตร์พระราชาพลิกฟื้นพื้นดินแตกระแหง ผลผลิตไร้คุณภาพกลับมาเป็นหนึ่งในแปลงตัวอย่าง "โคก หนอง นา" แห่งกำแพงเพชร ขวัญเรือน ใจไหม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ต.คลองพิไกร อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชรเกษตรกรหญิงร่วมเรียนรู้การใช้ศาสตร์พระราชาและทดลองโครงการธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิดในแปลงเล่าว่า เดิมปลูกพืชเชิงเดี่ยวประสบปัญหาดินเสื่อมโทรมเปลี่ยนมาปลูกพืชไม้ผลและเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ทุกปี เจอน้ำท่วมขังและฝนแล้ง ใช้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้อยู่รอดปีต่อปี กระทั่งได้ร่วมอบรมศาสตร์พระราชาที่ จ.น่าน และเรียนรู้การพัฒนาแปลงเกษตรด้วยระบบกสิกรรม ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำ ปี 61 ก็ปรับพื้นที่ขุดบ่อทำหนอง ขุดคลองไส้ไก่ ปลูกไม้กินได้ ทั้งละมุด มะพร้าว กล้วย ไผ่ ในหนองก็ปล่อยพันธุ์ปลา เวลานี้พืชที่ลงไว้ผลิดอกออกผล เพราะไม่ขาดน้ำ เห็นผลเป็นรูปธรรม
“ สัญญาณภัยแล้งที่เห็นตั้งแต่ปี 62 แปลงเกษตรของเราก็กระทบแต่น้อย มีน้ำใช้และยังแบ่งปันให้แปลงเพื่อนบ้าน แต่ไม่ได้วางใจเมื่อ ปตท.สผ.เสนอให้ทำธนาคารน้ำได้ไปดูงานที่สถาบันน้ำหลวงพ่อสมานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 63 รู้สึกทึ่งกับหลักการออมน้ำไว้ใต้ดิน กลับมาตัดสินใจขุดบ่อเจาะสะดือบ่อลึก 10 เมตร พื้นที่กว้างปากบ่อ 30x40 เมตร มั่นใจว่าแม้แล้งนี้จะยาวนาน แต่เราจะผ่านไปได้และอยู่รอดด้วยศาสตร์พระราชา" ผู้ใหญ่ขวัญเรือนกล่าวด้วยรอยยิ้ม
ยศพล บุญศิลปประสิทธิ์ เกษตรกรรุ่นใหม่ เชื่อมั่นศาสตร์พระราชา ร่วมพัฒนาแปลงเกษตรที่ลานกระบือ และทำธนาคารน้ำใต้ดิน
ขณะที่ ยศพล บุญศิลประสิทธิ์ เกษตรกรรุ่นใหม่วัย 25 ปี กล่าวว่า ตนเป็นลูกเกษตรกร จบ ม.6 ไม่เรียนต่อ อยากค้นหาตัวเอง ไปเป็นพนักงานโรงงานที่ปราจีนบุรี รู้สึกชีวิตไร้ค่า ต่อมาลองทำงานโรงกลั่นน้ำมันที่ระยอง ได้เงินดี แต่ชีวิตไม่สามารถก้าวกระโดดได้ อิ่มตัว ตัดสินใจกลับมาทำสวน และมีโอกาสศึกษาแนวพระราชดำริในหลวง ร.9 ปี 2561 ได้ทุนจากกระทรวงเกษตรฯ ไปฝึกงานด้านเกษตรที่ญี่ปุ่น 11 เดือน กลับมาปี 62 นำความรู้ที่ได้มาพัฒนาสวนและผลิตผลให้ได้มาตรฐาน จนปี 2563 ร่วมโครงการ "โคก หนอง นา โมเดล" ของ ปตท.สผ. อบรมและฝึกปฏิบัติที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องเพิ่ม ค้นพบว่า นี่เป็นศาสตร์ของความอยู่รอด มีวิธีจัดการที่ลุ่มที่ดอนอย่างสมดุล ชั่วโมงทำงานน้อยลง แต่มีคุณภาพมากขึ้น มีเวลาไปศึกษาเพิ่มเติม วันที่เราไม่ทำงาน ธรรมชาติก็ยังทำงานอยู่ แม้ท้อ มีน้ำตาบ้างในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพราะครอบครัวไม่เข้าใจแนวคิด แต่ใช้วิธีทำให้ดู เมื่อขุดบ่อทำหนองคดโค้งรอบพื้นที่ มีการทำระดับเพื่อให้เป็นที่อยู่ของปลา อึ่ง และช่วยชะลอน้ำได้ด้วย รวมถึงปลูกป่า สภาพแวดล้อมก็ฟื้นฟูขึ้นมา
“ แปลงเกษตรเนื้อที่ 16 ไร่ ต.หนองหลวง อ.ลานกระบือ เดิมแม่ทำไร่มันสำปะหลังและปลูกอ้อย ผมหันมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ปลูกกล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ ปลูกไผ่ ปลูกพืชผักด้วย ขุดบ่อทำหนองคดโค้งรอบพื้นที่ พื้นมีระดับเพื่อให้เป็นที่อยู่ของปลา อึ่ง และช่วยชะลอน้ำได้ รวมถึงปลูกป่า ต้นไม้ สภาพแวดล้อมก็ฟื้นฟูขึ้นมา ปีนี้ทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ผมตั้งใจทำสวนกล้วยที่มีคุณภาพดีที่สุด ตอนนี้คัดเลือกหน่อพันธุ์กล้วยไข่ที่มีลักษณะเด่นให้ผลผลิตดีจำหน่ายแก่เกษตรกรที่สนใจ รวมถึงเปิดเพจกล้วยไข่กำแพงเพชร "สวนยายแอ๊ะ” เป็นช่องทางการตลาดบนโลกโซเชียล ผลตอบรับดีมาก" ยศพล ชาวสวนรุ่นใหม่กล่าวและสุดภาคภูมิใจที่เป็นหนึ่งในแปลงต้นแบบกำแพงเพชร พร้อมเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่ายศาสตร์พระราชาสู่ความยั่งยืนให้มากขึ้น
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |