ทุเรียน ราชาแห่งผลไม้ไทย กลายเป็นสินค้าส่งออกสร้างรายได้ที่สำคัญให้กับไทย และมีตลาดหลักที่ประเทศจีน ซึ่งในช่วงโควิด-19 ความต้องการทุเรียนของประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่แหล่งผลิตทุเรียนหลักไม่ได้มีแต่ภาคตะวันออก ทั้งระยอง จันทบุรีและตราดเท่านั้น แต่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก็นับว่าเป็นอีกแหล่งผลิตทุเรียนชั้นดีของประเทศ ที่ปัจจุบันสามารถส่งออกไปจีนได้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้พาไปเยี่ยมชมการผลิตทุเรียนของพี่น้อง จ.ยะลาและนราธิวาส ซึ่งก่อนหน้านี้ปิดทองฯ ได้เข้าไปดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการทุเรียนคุณภาพ หรือโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตรให้มีคุณภาพตามศาสตร์พระราชาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อเนื่องสู่ปีที่ 3 โดยยึดหลักแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า ทุเรียนที่ยะลานับว่าเป็นหนึ่งผลิตผลที่สำคัญของจังหวัด ก็พร้อมเริ่มต้นฤดูเก็บเกี่ยวตั้งแต่มิถุนายน และคาดว่าการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จะช่วยให้การส่งออกสะดวกขึ้น พื้นที่ จ.ยะลาปลูกทุเรียนใน 8 อำเภอ เพราะมีสภาพแวดล้อมและอากาศที่เหมาะสม เนื้อทุเรียนของที่นี่มีลักษณะเด่น คือ เนื้อแห้ง เหนียว เนียนนุ่มหอม พันธุ์ที่นิยมปลูกคือ หมอนทอง ซึ่งเป็นพันธุ์หลักส่งออก และพันธุ์ทางเลือก ได้แก่ มูซานคิงส์ โอฉี่หรือหนามดำ พวงมณี ฯลฯ รวมกว่า 73,000 ไร่ ผลผลิตในปีนี้พร้อมการเก็บเกี่ยวกว่า 53,000 ไร่ หรือได้ผลผลิตประมาณ 53,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 10,000 ตัน ซึ่งเป็นผลจากการที่เกษตรกรเข้าร่วมโครงการทุเรียนคุณภาพ ที่ปิดทองฯ เข้ามาดำเนินการช่วยเหลือ ส่งผลให้มีเกษตรกรอื่นๆ หันมาปลูกทุเรียนมากขึ้นด้วย โดยในปี 2563 มีเกษตรเข้าร่วมโครงการ ทั้งสิ้น 447 ราย และมีทุเรียนเข้าร่วมกว่า 20,000 ต้น ซึ่งมากที่สุดใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และคาดว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน 2563 จะมีผลผลิตทุเรียนคุณภาพประมาณ 1,640 ตัน
การัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผอ.สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ
นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า การดำเนินโครงการในปี 2563 มีเกษตรกรที่เข้าร่วม 625 ราย มากสุดที่ จ.ยะลา รองลงมาคือ จ.นราธิวาสและ จ.ปัตตานี รวมต้นทุเรียน 29,201 ต้น คาดว่าจะได้ผลผลิตประมาณ 1,800 ตัน แบ่งเป็นเกรด AB ที่เป็นมาตรฐานส่งออกไม่มีหนอน ประมาณร้อยละ 85 รองลงมาคือ เกรด C ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 160 ล้านบาท มากกว่า 2 เท่าของปี 2562 ซึ่งเป็นการประมาณการผลผลิตและรายได้เฉพาะที่จำหน่ายให้กับโครงการ ทั้งนี้ เป้าหมายของโครงการในปี 2564 คาดว่าจะมีทั้งเกษตรกรหรือจำนวนต้นทุเรียนของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเป็น 2 เท่าของปี 63
นายการัณย์ กล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมรับซื้อทุเรียนคุณภาพ 3 จังหวัดชายแดนใต้ล็อตแรก ในวันที่ 18 มิถุนายน 2563 มีเกษตรกรนำเข้ามาขาย 31 ราย แบ่งเป็นทุเรียนเกรด AB 4,930 กิโลกรัม รวม 493,000 บาท เกรด C 2,814 กิโลกรัม รวม 225,120 บาท และตกไซต์ 2,254 กิโลกรัม รวม 135,240 บาท ซึ่งก็คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ แต่ที่สำคัญคือการป้องกันหนอนเจาะผลทุเรียน เพราะทุเรียนที่ปลูกบนภูเขา จะต้องเจอกับปัญหานี้ จึงต้องเน้นการดูแลในระยะผลผลิตออก ฉีดพ่นสารป้องกันแมลงค่อนข้างถี่ แต่ทำตามมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตร และหยุดใช้ 20 วัน ก่อนเก็บเกี่ยว โดยเกษตรกรจะได้รับการดูแล คำปรึกษาในการแก้ปัญหาเบื้องต้น จากอาสาทุเรียน ถือเป็นฟันเฟืองจักรสำคัญของโครงการ เพื่อให้เกษตรกรปฏิบัติตามคู่มือการผลิตทุเรียนคุณภาพในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การกำจัดวัชพืชสวนทุเรียน การให้น้ำ ใส่ปุ๋ย การป้องกันโรคและแมลง ฯลฯ รวมทั้งเป็นผู้ที่เก็บข้อมูลนำไปสู่การประมวลผล และประเมินสถานการณ์เป็นระยะตั้งแต่กระบวนการผลิต การเก็บเกี่ยว และรวมถึงเป็นตัวเชื่อมการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่สถาบันกับเกษตรกรตลอดกระบวนการของโครงการ เพื่อให้ได้ทุเรียนที่มีคุณภาพและมีฐานข้อมูลในการพัฒนาต่อไป
ผลผลิตทุเรียนในสวน 3 จังหวัดชายแดนใต้
นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าเกษตรกรทุเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มีแรงจูงใจที่สำคัญในการหันมาใส่ใจทุเรียน ดูแลตามมาตรฐานของโครงการ คือการมีตลาดรองรับที่แน่นอน และราคารับสูงกว่าตลาดทั่วไป และความต้องการของตลาดในจีนยังมีปริมาณมาก โดยราคาตลาดทั่วไป ทุเรียนเกรด AB ราคาอยู่ประมาณ 80-85 บาท ซึ่งเราจะรับซื้อเพิ่มขึ้น 20-25% ประมาณ 100 บาท/กิโลกรัม ส่วนเกรด C ราคา 80 บาท/กิโลกรัม และตกไซต์ราคา 60 บาท/กิโลกรัม อย่างการรับซื้อล็อตแรก คาดว่า 100% ขายได้ทั้งหมด เพราะเป็นทุเรียนมีคุณภาพ แต่ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญคือ หนอนเจาะทุเรียน จึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการปรึกษาและหาทางออก แต่ที่ขนส่งทุเรียนไปยังประเทศจีนปราศจากหนอน ดังนั้น จากจุดรับซื้อที่ล้ง จ.ยะลา ก็จะถูกขนส่งไปยังล้งในเครือเจริญโภคภัณฑ์ จ.ชุมพร ทำการคัดแยกอีกหนึ่งรอบ และบรรจุบกล่องขึ้นเรือที่ท่าแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ส่งต่อไปยังตลาดปลายทางประเทศจีน โดยใช้เวลาประมาณ 7 วัน
อาแว แบรอ เกษตรกรยะลา ร่วมพัฒนาทุเรียนคุณภาพ
เนินเขา ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เป็นหนึ่งในพื้นที่ปลูกทุเรียน โดยมีนายอาแว แบรอ อายุ 56 ปี เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทุเรียนคุณภาพต่อเนื่อง 2 ปีเป็นเจ้าของ ซึ่งได้เล่าให้ฟังว่า ปลูกทุเรียนมา 25 ปีแล้ว บนพื้นที่ 8 ไร่ ส่วนใหญ่จะปลูกพันธุ์หมอนทอง ก้านยาว ชะนี และมีทุเรียนเบญจพรรณบ้างเล็กน้อย ก่อนเข้าร่วมโครงการก็ปลูกทุเรียนแบบปล่อย ไม่ได้สนใจมากนัก ทำให้ผลผลิตมีหนอนเจาะเมล็ดมาก ผลเล็กไม่ได้ขนาด ต้นไม่สมบูรณ์ เพราะไม่รู้ความเรื่องโรคแมลง ไม่รู้วิธีป้องกันและรักษา ทำให้ขายทุเรียนได้กิโลกรัมละ 20 บาท หรือขายตามราคาคนที่มารับซื้อ เท่าไหร่ก็ขาย พอได้เข้าร่วมโครงการครั้งแรกในปี 2562 พันธุ์ทุเรียนที่นำเข้าร่วมคือ หมอนทอง จำนวน 42 ต้น แต่ก็ยังไม่ได้คุณภาพมากนัก ส่วนใหญ่เป็นเกรดต่ำ ทำให้สูญเสียรายได้ไปมาก
" ผลผลิตที่ผมนำไปขายระหว่าง 8 กรกฎาคม-15 กันยายน 2562 ขายได้ 3,622 กิโลกรัม เป็นเกรด AB 1,184 กิโลกรัม เกรด C 1,729 กิโลกรัม และตกไซส์ 709 กิโลกรัม มีรายได้ 242,919 บาท เฉลี่ยรายได้ต่อต้น 6,073 บาท คิดเป็นเกรดคุณภาพ AB เพียงร้อยละ 33 เพราะยังขาดเรื่องของระบบน้ำและการดูแล พออาสาทุเรียนเข้ามาช่วยดูแลในปีนี้ จึงเข้าร่วมโครงการต่อเนื่อง รวมต้นทุเรียนทั้งหมด 56 ต้น และมีการจดบันทึกการดูแลเอง รวมไปถึงการทำตามมาตรฐานของโครงการทุกขั้นตอน และคาดว่าปีนี้จะได้ผลผลิต 1 ล้านบาทแน่นอน ทำให้สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ดีขึ้นด้วย" อาแว กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |