ชะลอสร้างกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงาม มติกมธ.-โยธายอมจัดเวทีหารือ นักวิชาการเผยตั้งงบทำตลิ่งปี 64 ไว้นับหมื่นล้านบาททั้งทะเล-แม่น้ำ
27 มิ.ย.63 - นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ 1 ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นประธาน ให้สัมภาษณ์ถึงการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่มีการร้องเรียนการสร้างกำแพงกันคลื่นบริเวณชายหาดม่วงงาม ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา ของกรมโยธาธิการ ว่า กมธ.ได้เชิญทุกฝ่ายมาร่วมชี้แจง ทั้งผู้แทนกรมโยธาธิการ ผู้แทนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผู้แทนกรมเจ้าท่า ผู้แทนชาวบ้าน ผู้แทนเทศบาลและฝ่ายสนับสนุน ภายหลังจากที่ ส.ส.สงขลา ทั้ง 8 คนได้ร้องเรียนเข้ามาและได้มีการตั้งตัวแทนลงไปสำรวจพื้นที่ในเบื้องต้น
นายสาทิตย์ กล่าวว่า กมธ.มีมติ 1.ให้ชะลอโครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นออกไปก่อน โดยขณะนี้มีการลงนามในสัญญาระยะที่ 1 และกำลังพิจารณาลงในระยะที่ 2 ซึ่งทางกรมโยธาธิการเห็นด้วย 2.จัดให้มีเวทีในการพูดคุยกันโดยผู้แทนจังหวัด ผู้แทนหน่วยงาน ฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่คัดค้าน เพื่อหาข้อยุติร่วมกัน หากจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแบบจะต้องทำอย่างไร ทั้งนี้ปัจจุบันข้อมูลเกี่ยวกับการกัดเซาะของหาดม่วงของหน่วยงานราชการยังมีความขัดแย้งกันอยู่โดยกรมทรัพยากรทางทะเลฯระบุว่าไม่มีการกัดเซาะ แต่กรมโยธาธิการระบุว่ามีการกัดเซาะเล็กน้อย ทำให้ฝ่ายคัดค้านเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีการสร้างเขื่อนกันคลื่น
“ตอนนี้เกิดความขัดแย้งขึ้นทั้งในเรื่องของข้อมูล และความขัดแย้งในพื้นที่ กมธ.จึงพยายามให้ทุกฝ่ายได้หาทางออกร่วมกัน ในเบื้องต้นจึงได้เสนอให้ชะลอโครงการออกไปก่อน เพื่อจัดเวทีพูดคุยร่วมกันโดยเชิญคนที่เป็นกลางเป็นเจ้าภาพ” นายสาทิตย์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าปัจจุบันกรมโยธาธิการได้ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นในหลายพื้นที่ชายหาดและทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น กมธ.จะรับเรื่องร้องเรียนมาดูแลทั้งหมดหรือไม่ นายสาทิตย์กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมธิการขึ้นมาศึกษาเรื่องการสร้างกำแพงกันคลื่น เพราะขณะนี้ได้เกิดปัญหามากมาย และปัจจุบันยังไม่สูตรการแก้ปัญหาชัดเจน กรมโยธาธิการจึงได้ใช้โครงสร้างแข็งเข้าไปก่อสร้างในพื้นที่ที่เกิดการกัดเซาะรุนแรง อย่างไรก็ตามพื้นที่ใดที่ยังไม่มีการกัดเซาะไม่รุนแรงก็มีวิธีการที่เหมาะสมหลายรูปแบบ
“ตอนนี้มีการสร้างกำแพงกันคลื่นกันมาก นับตั้งแต่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯได้ถอดเรื่องการทำอีไอเอออก เพราะเดิมทีการสร้างจะต้องผ่านอีไอเอก่อน พอบอกว่าไม่ต้องทำอีไอเอแล้วจึงได้มีโครงการสร้างแนวกันคลื่นด้วยโครงสร้างแข็งเกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นคณะอนุ กมธ.จะได้ร่วมกันศึกษาในเรื่องนี้ด้วย”นายสาทิตย์ กล่าว
ด้านนายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ในการจัดทำงบประมาณปี 2564 พบว่ามีการตั้งงบประมาณที่เกี่ยวกับการก่อสร้างตลิ่งแม่น้ำลำคลองและตลิ่งชายทะเลในส่วนของกรมโยธาไว้นับหมื่นล้านบาท โดยตั้งไว้ในหมวดต่างๆ กระจัดกระจาย เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวนานาชาติ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ขณะเดียวกันในส่วนของกรมเจ้าท่าก็มีการตั้งงบประมาณในลักษณะเดียวกันไว้นับพันล้านบาท
“การที่หน่วยงานราชการได้ตั้งวงเงินงบประมาณไว้สูงมาก เพราะไม่เข้าใจปัญหาของทะเล หลายพื้นที่ที่ก่อสร้างไปแล้ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชายหาดตลอดแนว พอชายหาดเปลี่ยนแปลงและบางจุดมีทรายน้อยลงก็ไปตีความว่าพื้นที่บริเวณนั้นถูกกัดเซาะ กลายเป็นสาเหตุการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด เมื่อโครงการแรกยังไม่เสร็จก็มีการตั้งงบผูกพันในปีต่อๆมา บางโครงการเป็นงบเหลือค้าง ก็นำมาเริ่มใหม่ ผมไม่รู้ว่ามีงบโครงการนี้มากมายหรืออย่างไร ถึงต้องรีบใช้กันให้หมด”นายศักดิ์อนันต์กล่าว
อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า นอกจากงบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างแล้ว หน่วยงานราชการยังตั้งงบสำหรับศึกษาวิจัยด้านนี้ไว้ปีละ 100-200 ล้านบาท แต่เป็นการศึกษาวิจัยเพื่อออกแบบ และตรวจรับกันเองในหน่วยงาน ทั้งๆ ที่ตอนนี้มีคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ดังนั้นจึงควรใช้กลไกของคณะกรรมการฯชุดนี้ซึ่งมีปลัดกระทรวงและผู้แทนภาคส่วนต่างๆ เป็นกรรมการร่วมกันพิจารณา แต่ตอนนี้หน่วยงานราชการกลับไปตั้งงบกันเองโดยไม่สนใจคณะกรรมการชุดนี้เลย
ขอบคุณภาพจากเพจ Saveหาดม่วงงาม
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |