ร้อนวิชา! 'พระมหาไพรวัลย์' เพิ่งเรียน ป.เอก 'สันติศึกษา' จวกยับผู้บรรยายธรรมวิจารณ์พระ ดร.ไม่ละกิเลส


เพิ่มเพื่อน    

26 มิ.ย.63 - จากกรณี อ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์ นักบรรยายธรรม มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.) ได้นำเสนอประเด็นเรื่อง "พระ ดร. พระเรียนหนังสือทางโลก บวชทำไม" ผ่านเฟซบุ๊ก ชมรมบ้านธัมมะ มศพ. มีเนื้อหาว่า ก่อนอื่นต้องรู้จักคำว่า บวช บวชทำไม บวชเพื่อสละ ละขัดเกลากิเลสเพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม นี่คือจุดประสงค์ของการบวช แต่บวชแล้วไปเรียนวิชาทางโลก แล้วบวชทำไม แล้วใครต้องการเป็น ดร.

ดร.ท่านพระอานนท์ หรือ ดร.ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระเถระเหล่านั้นเรียนวิชาทางโลก เป็น ดร.ไหม ไม่เลย เพราะฉะนั้นไม่มีความหมายเลยสักนิดเดียว ถ้าเป็นผู้บวช เพราะบวชคือ สละ ละหมด พระภิกษุเรียนวิชาทางโลกได้ ดร.ทำไม เพื่อได้ ไม่ใช่เพื่อละ บวชทำไม ถ้าเข้าใจว่าภิกษุคือใคร บวชคืออะไร ดังนั้นภิกษุเรียนแบบระบบวิชาการทางโลกมีปริญญาตรี โท เอก มีทำงานวิจัย วิชาบริหาร วิชารัฐศาสตร์ เหมือนคฤหัสถ์เลย นี่แสดงถึงความประพฤติและการสะสมแบบไม่ใช่พระภิกษุแต่เป็นคฤหัสถ์ เพราะคฤหัสถ์จะเรียนอะไรก็ได้ เพราะไม่ใช่เพศบรรพชิตที่บวชมาเพื่อสละละทุกสิ่ง พระดร. ดร.อวิชชา เพราะทำไปด้วยความไม่รู้ พระเรียนหนังสือทางโลก วิกฤตพระพุทธศาสนา

ล่าสุด พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ เพิ่งได้สมัครเรียนออนไลน์ในระดับปริญญาเอก สาขาวิชาสันติศึกษา รุ่นที่ 5 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า อาตมาขอติงนิดเดียวเท่านั้นเองนะ คืออาตมาคิดว่าโยมยายสุจินต์มองอะไรแคบไป ที่จริงการศึกษามีคุณูปการมาก ต่อให้การศึกษานั้นจะเป็นวิชาการในทางโลกแบบที่โยมยายสุจินต์พูดถึงก็ตาม

อาตมาเห็นว่า ธรรมะ หรือความเป็นพุทธศาสตร์ควรบูรณาการได้ ต่อยอดได้ และก็เป็นการบูรณาการหรือการต่อยอดเพื่อรับใช้ศาสนานั่นแหล่ะ แต่ก่อนที่จะไปถึงการบูรณาการเช่นนั้น เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการซึ่งพระเณรจำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้ในศาสตร์อื่นๆ ด้วย

อาตมามองว่า พระเณรแต่ละรูปในยุคปัจจุบันนี้มีสิทธิ์ที่จะสนใจศึกษาในเรื่องอะไรที่ตนต้องการแสวงหาความรู้ก็ได้ การที่โยมยายสุจินต์อ้างพระอานนท์ หรืออ้างใครในสมัยพุทธกาลมาเปรียบกับพระเณรในยุคนี้ ดูไม่ค่อยเป็นธรรมสักเท่าไหร่

โยมยายสุจินต์อาจลืมไปว่า พระอานนท์มาจากตระกูลกษัตริย์ ท่านได้รับการศึกษามาอย่างดี เช่นเดียวกัน แม้แต่พระพุทธเจ้ายังผ่านการศึกษามาถึง ๑๘ ศาสตร์ ใครจะมองอย่างไรไม่ทราบ แต่อาตมาเห็นว่า ความรู้ ๑๘ ศาสตร์ ที่พระพุทธเจ้าเคยได้เรียนมา เป็นประโยชน์อย่างมาก เกื้อกูลอย่างมาก แม้แต่ในการเผยแผ่ศาสนาของพระองค์ในหนหลัง

และถ้าพูดอย่างจริงจังแล้ว แม้แต่หลังที่พระพุทธเจ้าหรือพระสาวกออกบวช ก็ไม่ได้หมายถึงว่า ท่านไม่ต้องเรียนรู้อะไรเลย การที่ท่านพยายามทำความเข้าใจกับสังคมกับวิธีคิดของผู้คนในยุคนั้น ไม่ว่าจะก่อนแสดงธรรมหรือก่อนที่จะประกาศศาสนา สิ่งเหล่านั้น หากมองให้ดีแล้วจะเห็นว่าล้วนเป็นการศึกษาในทางสังคมศาสตร์และในทางมนุษยศาสตร์ทั้งสิ้น (พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ภิกษุเรียนการนับปักษ์ เพราะชาวบ้านตำหนิว่า ภิกษุไม่รู้อะไรเลย)

"อาตมาออกจะรังเกียจคำว่า บวชทำไม บวชทำไม ของโยมยายสุจินต์อยู่มากเหมือนกันนะ เพราะมันฟังดูแล้วเหมือนเป็นคำพูดของคนที่ใจแคบโลกแคบเหลือเกิน"

ตามความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กุลบุตรชาวพุทธในสังคมสยาม นับย้อนหลังไปกว่า ๑๐๐ ปี ล้วนออกบวชด้วยเหตุผลอันหลากหลายมากมายแตกต่างกัน

ที่บวชตามประเพณีก็มี ที่บวชเพราะหนีราชภัยก็มาก ที่บวชเพราะต้องฝึกหัดขัดเกลาตัวเองก่อนการออกเรือนก็ถมเถ ในสมัยก่อนวัดเป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษา และศาสนาก็เปิดกว้างให้กุลบุตร สามารถอาศัยร่มเงาแห่งผ้ากาสาวพัตร์ฝึกหัดอุปนิสัยตลอดจนถึงศึกษาเล่าเรียนในศิลปะวิทยาการต่างๆ ได้

การศึกษามีคุณูปการมาก แม้อย่างน้อยที่สุดมันให้ชีวิตใหม่กับเด็กผู้ชายหลายต่อหลายคนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ศาสนาไม่ได้มีข้อห้ามเลยว่า พระภิกษุสามเณรจะแสวงหาความรู้ไม่ได้ กลับประเด็นมันอยู่ที่ว่า ท่านแสวงหาไปเพื่ออะไรต่างหาก หากมองจากมุมนี้ อาตมาเห็นว่า โยมยายสุจินต์ไม่ควรมองโลกเหมารวมหรืออย่างคับแคบเกินไป

ศาสนาไม่มีข้อห้ามว่า พระภิกษุสามเณรที่เข้ามาบรรพชาอุปสมบทแล้วลาสิกขากลับไปครองเรือนไม่ได้ ดังนั้นประโยชน์อย่างน้อยที่สุดของการศึกษา มันอาจช่วยส่งเสริมให้อดีตพระอดีตเณรที่เคยอาศัยผ้ากาสาวพัตร์บวชเรียน ได้ตอบแทนคุณของศาสนาในทางใดทางหนึ่งก็ได้ ได้เป็นพลเมืองที่ดีที่มีคุณภาพของประเทศชาติต่อไป อย่างนี้ก็ได้ บางรูปบวชแล้วสึกไป เป็นถึงพระมหากษัตริย์ที่ปรีชาสามารถก็ได้

แต่ไหนแต่ไรมา วัดกับบ้านล้วนเกื้อกูลอาศัยกัน และศาสนาก็มีคุณกับลูกหลานของชาวบ้าน มากกว่าการให้นิพพานหรือการพ้นทุกข์ อาตมาเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องของอาตมาหรือไม่ใช่เรื่องของโยมยายสุจินต์ที่จะไปจำกัดหรือตีกรอบว่า พระเณรในอุดมคติควรเป็นแบบไหน หรือพระเณรที่บวชเข้ามาแล้ว ควรมุ่งศึกษาปฎิบัติแต่ในทางใดทางหนึ่งเท่านั้น

การศึกษาที่แท้จริง แม้ในเรื่องทางโลกไม่ได้ขัดกับความเป็นพระความเป็นนักบวชหรือขัดกับพระธรรมวินัยอย่างใดเลย อาตมากลับเห็นต่างไปว่า การขัดเกลาตัวเองกับการแสวงหาความรู้ เป็นสิ่งที่ไปด้วยกันได้ และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับศาสนาได้

มีพระหลายรูปที่เป็นเครื่องสาธกในเรื่องนี้ได้ดี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ก็เคยผ่านการศึกษาในมหาวิทยาลัยทางโลกมาก่อน และการศึกษานั้นก็ไม่ได้ทำให้ท่านหลงทางหรือออกห่างจากความเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด กลับกันเพราะอาศัยองค์ความรู้อื่นๆ ที่ท่านได้ศึกษาเพิ่มเติม ธรรมะของท่านจึงยิ่งเด่นชัด และเป็นไปเพื่อสันติภาพแก่สังคมอย่างแท้จริง

"อาตมาเห็นว่า โยมยายสุจินต์ อายุมากแล้ว และอาจจะถึงแก่มรณกาลในอีกไม่นานนี้ นี่พูดแบบธรรมะนะ ไม่ได้แช่งหรืออะไร พวกเราทุกคนล้วนถูกมรณภัยคุกคามอยู่ตลอดเวลา พระพุทธเจ้าสอนพวกเราเช่นนี้ และเพราะเหตุที่อาตมากล่าวเช่นนี้ อาตมาจึงอยากให้โยมยายสุจินต์มีความใจกว้าง อยากให้โยมยายมองโลกด้วยเมตตาธรรมมากขึ้นอีกหน่อย"

ศาสนาเป็นสิ่งที่จะถูกสืบทอดโดยคนยุคต่อไป พระเณรรุ่นต่อไป อุบาสกอุบาสิการุ่นต่อไป อาตมายืนยันว่า นอกจากธรรมะ อันเป็นสรณะอันประเสริฐแล้ว องค์ความรู้อื่นๆ เป็นสิ่งที่พระเณรไม่ควรดูแคลนเลย เป็นสิ่งที่พึงศึกษาได้ (อย่างเป็นเรื่องรองจากการศึกษาพระธรรมวินัยอย่างดีแล้ว)

ยิ่งมีองค์ความรู้มาก มีความแตกฉานในศาสตร์อื่นๆ มาก ธรรมะที่ศึกษามาแล้ว ก็จะเป็นสิ่งที่พระเณรสามารถบูรณาการสามารถปรับใช้อย่างเข้าถึงและเข้าใจในคนกลุ่มอื่นๆ ศาสนาอื่นๆ เป็นธรรมะที่สอดคล้องและไปกันได้กับสังคม กับวิธีคิดกับมุมมองของคนในโลกสมัยใหม่

การศึกษาไม่ใช่เรื่องเสียหาย การแสวงหาความรู้เป็นเรื่องจำเป็น อาตมามองอย่างนี้นะ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"