เดินหน้าปรองดองจัดเวทีทำความเข้าใจ ทำไมต้องนิรโทษคดีการเมือง


เพิ่มเพื่อน    

          อีกหนึ่งคดีที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมืองที่จบสิ้นคดีความไปแล้วในชั้นศาล นั่นก็คือ "คดีชุมนุมปิดล้อมบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อปี 2550" ที่ล่าสุด เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลฎีกามีคำตัดสินให้จำคุกอดีตแกนนำ นปช.-เสื้อแดง คือ วีระกานต์ มุสิกพงศ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, วิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ คนละ 2 ปี 8 เดือน

            ในส่วนของคดีความและการรับโทษทางคดีของแต่ละคนก็ว่ากันไป ขณะเดียวกัน ช่วงที่ผ่านมาประเด็นเรื่องข้อเสนอ-เสียงเรียกร้องให้รัฐบาลและพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินหน้าสร้าง "ความปรองดอง-สมานฉันท์" ก็เริ่มกลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า มีคนในรัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างการศึกษา เก็บข้อมูล รับฟังความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการสร้างความปรองดอง เพียงแต่รูปแบบยังไม่ชัดว่าจะทำในลักษณะใด เพราะต้องยอมรับว่าในทางการเมือง เวลามีการจุดประเด็นเรื่อง "การสร้างความปรองดอง" ขึ้นมา ก็มักจะมีคนทั้งเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยตามมา โดยเฉพาะหากมีการเสนอแนวทาง "นิรโทษกรรม" ที่เป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง 

            เรื่องดังกล่าว "อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 และอดีตคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)" เปิดเผยแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการสร้างความปรองดอง-การนิรโทษกรรม ในคดีการเมืองที่มีแรงจูงใจทางการเมืองต่อจากนี้ว่า เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจเรื่องการสร้างความปรองดอง การนิรโทษกรรม และเพื่อรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อให้มีการเดินหน้าเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะถึงตอนนี้หมดเวลาที่จะมาซื้อเวลากันอีกต่อไปแล้ว ทางคณะกรรมการญาติวีรชนฯ จึงจะจัดเวทีเสวนาในเรื่องการสร้างความปรองดองสองครั้งในช่วงใกล้เคียงกัน

            ....เวทีแรกจะจัดในวันจันทร์ที่ 29 มิ.ย. ในช่วงบ่าย ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อหวังสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะว่าสังคมจำเป็นต้องมีความรักใคร่ สมานฉันท์ ที่ก็จะมีตัวแทนด้านต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ จะมีนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง, นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ที่จะมาบอกสังคมว่า ถ้าไม่ปรองดอง เศรษฐกิจบ้านเมืองเราจะแก้ไขได้ลำบาก แล้วก็จะมี พลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ที่ศึกษาและทำงานเรื่องการสร้างความปรองดองมาตลอด-นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต สว.-ดร.ภูมิ มูลศิลป์ ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อดีตอนุกรรมการศึกษาการสร้างความปรองดอง สปช. และตัวแทนจากพรรคการเมือง เช่น นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย และตัวแทนพรรคการเมืองคนอื่นๆ ที่กำลังประสานงาน 

            "อดุลย์" กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ทางกลุ่มผู้ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวและญาติวีรชนฯ จะจัดเวทีเสวนาเรื่องการสร้างความปรองดองอีกครั้งในวันอาทิตย์ที่ 12 ก.ค. ที่จะเชิญทุกภาคส่วน ทั้งจากฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกวุฒิสภา-ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน-ตัวแทนกองทัพ ที่ก็จะทำหนังสือเชิญ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.-ตัวแทนกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง-ตัวแทนคู่ขัดแย้ง เช่น จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.-นายสุริยะใส กตะศิลา ตัวแทนจากอดีตพันธมิตรฯ เสื้อเหลืองและ กปปส.-นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส.-ตัวแทนกลุ่มญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ทางการเมือง-ตัวแทนนักวิชาการ เช่น พลเอกเอกชัย จากสถาบันพระปกเกล้า

            "หากสังคมไทยไม่มีการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย สิ่งที่จะเกิดต่อไปในระยะยาวก็คือ ความขัดแย้งในสังคมไทยก็ยังคงมีอยู่ ที่ก็จะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาของชาติด้านต่างๆ ที่จะไม่มีวันทำได้เลย เพราะจะมีการขัดแข้งขัดขากันหมด

            แต่หากทำเรื่องปรองดองได้ ก็จะทำให้ทุกฝ่ายมารวมตัวกัน โดยถือชาติเป็นหลัก มาช่วยกันสร้างชาติใหม่ ไปสู่มิติใหม่ มาช่วยกันแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เพราะหลังจากนี้มีปัญหาหลายเรื่องสำคัญรออยู่ที่เป็นปัญหาหนักๆ ทั้งสิ้น เช่น ปัญหาคนอดอยาก ตกงาน คนจะลำบากกันมาก โดยเฉพาะคนในเมือง จากผลพวงเหตุการณ์ไวรัสโควิด"

            "อดุลย์-อดีตคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ" ย้ำว่า การจัดเวทีเสวนาเรื่องปรองดองทั้งสองครั้งดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ตัวแทนแต่ละฝ่ายได้มาร่วมกันขึ้นเวที แสดงความเห็น นั่งพูดคุยกันถึง แนวทางการที่จะหลอมรวมชาติให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อร่วมกันสะท้อนความเห็นออกมาให้สังคมได้รับทราบ โดยเฉพาะการสื่อสารไปถึงบุคคลกลุ่มต่างๆ จึงควรที่ทางพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี จะรับฟังความรู้สึก ความคิดเห็นต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น หากการจัดเวทีเรื่องปรองดอง สมานฉันท์ ในวันที่ 12 ก.ค. ถ้าทุกฝ่ายที่มาร่วมให้ความเห็น เห็นชอบกันแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีต้องแสดงความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชาติ โดยนายกฯ ก็ควรให้ความร่วมมือในเรื่องนี้เหมือนคนอื่นๆ เพราะนายกฯ เป็นบุคคลเพียงคนเดียวที่จะนำเสนอเรื่องนี้ได้ ซึ่งถ้านายกฯ ทำได้ ผมว่าเอาไปเลย สังคมจะมอบคำว่า "ฮีโร่" ให้กับนายกรัฐมนตรี เพราะยังไม่มีใครทำได้ในการนำเสนอเรื่องนี้

            "ประธานญาติวีรชนพฤษภา’35" กล่าวต่อไปว่า พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ควรฟังเสียงเรียกร้องของทุกภาคส่วนในเรื่องนี้ ซึ่งหากทุกภาคส่วนเห็นด้วยกับแนวทางการสร้างความปรองดอง นายกรัฐมนตรีก็ควรทำเรื่องนี้ให้เป็นความจริง เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านรับสั่งไว้ว่า "ให้มีความรักสามัคคี สมานฉันท์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน" นี่คือสิ่งที่ในฐานะประธานญาติวีรชนฯ ก็น้อมรับสั่งและปฏิบัติตามตลอด ตั้งแต่สมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในหลวงรัชกาลที่ 10 นี่คือสิ่งที่ผมต้องดำเนินการภายใต้พระราชดำรัสที่พ่อหลวงทรงสอนสั่งไว้

            "อดุลย์" ให้ความเห็นอีกว่า หากจำกันได้ ถ้าย้อนหลังไปถึงเหตุการณ์เมื่อ 28 ปีที่ผ่านมา นับแต่เหตุการณ์พฤษภา 2535 ที่ญาติวีรชนฯ ประกาศอโหสิกรรมให้กับพลเอกสุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรี และพวก สมัยเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ที่หลังจากนั้นกลุ่มญาติวีรชนฯ ก็ได้ไปขอพบพูดคุยกับพลเอกสุจินดา โดยพลเอกสุจินดาก็ให้ความร่วมมือโดยการไม่ทำตัวให้มีบทบาทใดๆ อีกเลยเพื่อให้สังคมสงบ ซึ่งจากการอโหสิกรรมดังกล่าวก็ทำให้เกิดความปรองดอง สมานฉันท์ขึ้นมา บ้านเมืองก็สงบมาร่วม 20 ปีจากวันนั้น

            "สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวกับอดีตนายกฯ พลเอกสุจินดา คือรูปแบบที่เราไม่ต้องมานั่งอธิบายกันอีกว่าหลังจากนี้เราควรทำอย่างไร นอกจากเมตตาธรรมแบบนี้ และที่สำคัญที่สุดก็คือว่า บุคคลที่อยู่ในข้อขัดแย้งที่จะเข้าสู่กระบวนการปรองดอง-นิรโทษกรรม ล้วนแล้วแต่มีเจตนารมณ์ที่ดีต่อประเทศไทย จนทำให้แรงจูงใจทางการเมืองดังกล่าวอาจทำให้เขาได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง เช่น เสื้อเหลือง-เสื้อแดง-กปปส. แม้กระทั่งทหารก็ทำหน้าที่เพื่อความมั่นคงของชาติ ทุกส่วนมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งนั้น"

                เมื่อถามถึงว่าจากที่เคยได้ไปร่วมพูดคุยฟังความเห็นจากตัวแทนกลุ่มต่างๆ เช่น เสื้อเหลือง อดีตพันธมิตรฯ-เสื้อแดง นปช. หรือกลุ่ม กปปส. ตัวแทนที่ไปคุยมาด้วย เขาตกผลึกชัดเจนหรือยังว่าเอาด้วยกับแนวทางปรองดอง นิรโทษกรรม "อดุลย์-อดีตคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช." ตอบคำถามนี้ว่า เอาด้วยแน่นอน ผมคุยมาหมดแล้ว ก็มีคนมาช่วยประสานให้ด้วย เช่น นายประสาร มฤคพิทักษ์-สุริยะใส กตะศิลา-จตุพร พรหมพันธุ์ ที่ช่วยประสานทุกฝ่าย ทุกคนช่วยกันมาก แม้แต่นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี อดีตแนวร่วม นปช.เสื้อแดง ก็มาช่วยประสาน ก็ถูกด่ากันจากทั้งสองฝ่าย แต่ก็ทนมหาทนเลย เพราะต่างก็มุ่งหวังจะให้สังคมไทยสงบลง

            "คนที่มีชื่อมาร่วมประสานงานข้างต้น อย่างเช่น ที่ไปคุยกับแกนนำ กปปส.อย่าง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็บอกผ่านมาว่า หากจะทำเรื่องนี้ ขอให้ได้กับประชาชนเป็นหลัก ให้ประชาชนได้ ไม่ต้องมาคำนึงถึงตัวเขา นายสุเทพเขาก็ใจใหญ่ ใจกว้าง ผมก็ยินดีมากที่ได้ยินแบบนี้ หรืออย่างตู่ จตุพร ก็บอกตลอดว่าเรื่องปรองดองที่หากจะทำกัน ไม่ต้องมาคำนึงถึงผม ให้ทำให้ถึงประชาชนทั่วไป เช่นเดียวกับอดีตแกนนำพันธมิตรฯ อย่างคุณพิภพ ธงไชย ก็พูดแบบเดียวกัน ทุกคนทุกสายพูดแบบเดียวกันหมด ว่าไม่ต้องคำนึงตัวเขา แต่ให้คำนึงตัวประชาชนที่ลำบาก ที่ติดคุกติดตะราง ครอบครัวลูกเมียก็ลำบาก หลายคนติดคุกมาหลายปีแล้ว ก็ควรให้โอกาสเขาเถอะครับ" อดุลย์ระบุ

            โรดแมปการขับเคลื่อนในเรื่องการพยายามทำให้เกิดกระบวนการปรองดองทางการเมือง รวมไปถึงการนิรโทษกรรมในคดีการเมืองที่มีแรงจูงใจทางการเมือง หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ท่ามกลางกระแสสังคมที่มีทั้งเห็นด้วย-ต่อต้าน คงต้องรอดูต่อกันไป.             

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"