ถก‘อาเซียน’ชื่นมื่น บิ๊กตู่ชูรวมเป็นหนึ่ง เดินหน้าหลังโควิด!


เพิ่มเพื่อน    

  อาเซียนชื่นมื่น “บิ๊กตู่” ผงาดชูศักยภาพประเทศปราบโควิดติดอันดับโลก หนุน 3 แนวทางนิวนอร์มอลขับเคลื่อนอาเซียนยุคหลังโควิด ก้าวสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัลและสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผลิตวัคซีนที่ทุกคนเข้าถึงได้ พร้อมปลุกพลังอาเซียนผนึกเป็นแกนกลาง หลุดจากเป็นหมากเบี้ยมหาอำนาจไม่ถูกบังคับให้เลือกข้าง

    เมื่อวันศุกร์ เวลา 08.50 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศ และเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมประชุมด้วย
    โดยช่วงแรกของการประชุม นายเหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียน กล่าวเปิดการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ทุกประเทศของอาเซียนและทั่วโลกต้องต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิค-19 ที่สร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจและสังคมของอาเซียนและทั่วโลก สำหรับการต่อสู้กับโควิด-19 ของอาเซียน ถือเป็นภูมิภาคหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับโควิด-19 เห็นได้จากหลายๆ ประเทศในภูมิภาคมีอัตราการรักษาหายของผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก และมีจำนวนผู้เสียชีวิตน้อย และหลายประเทศก็ไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศหลายวันติดต่อกัน
    ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถ้อยแถลงเพื่อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนอาเซียนในยุคหลังโควิด-19 ตอนหนึ่งว่า ขอแสดงความชื่นชมและยินดีกับเวียดนามที่การประชุมสุดยอดอาเซียนและอาเซียนบวกสาม สมัยพิเศษ ว่าด้วยโควิด-19 เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จด้วยดี ซึ่งช่วยเสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียนในการรับมือกับโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยดีขึ้นเป็นลำดับ สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี รัฐบาลจึงได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต แต่ยังคงบังคับใช้มาตรการด้านสุขอนามัย การรักษาระยะห่างทางสังคม และการใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ ป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกสอง ในขณะที่กำลังปรับตัวรับกับวิถีใหม่
    นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า อีกด้านหนึ่ง ทุกคนก็กำลังรับมือกับสภาพภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ผันผวนมากขึ้น เราได้เห็นการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจ การเพิ่มขึ้นของกระแสชาตินิยมและต่อต้านโลกาภิวัตน์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเสถียรภาพระหว่างประเทศ และท้าทายระบบพหุภาคีนิยม อาเซียนจึงควรร่วมมือกันต้านกระแสเหล่านี้ เสริมสร้างระบบภูมิภาคนิยมให้เข้มแข็งและส่งเสริมการช่วยเหลือเกื้อกูลระดับโลก
    "ผนึกกำลังในการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค หลีกเลี่ยงการถูกบังคับให้เลือกข้าง และเป็นสะพานเชื่อมโยงมหาอำนาจที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับภูมิภาคใช้มุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิกให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้อาเซียนสามารถรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ ส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจในภูมิภาคได้อย่างยั่งยืน" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอเสนอ 3 แนวทางเพื่อขับเคลื่อนอาเซียนในยุคหลังโควิด-19 โดยประการแรก อาเซียนที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น ด้วยการเร่งดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกัน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว นอกจากนี้ควรเริ่มพิจารณาแนวทางร่วมกันในการผ่อนคลายมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง เพื่อช่วยฟื้นฟูธุรกิจและการเดินทาง โดยอาจพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความพร้อมก่อน สร้างช่องทางพิเศษสำหรับนักธุรกิจและประชาชน บนพื้นฐานของมาตรการด้านสาธารณสุขที่ยอมรับร่วมกัน
     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ประการที่สอง อาเซียนที่เข้มแข็งขึ้น ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ผ่านการขับเคลื่อนการบูรณาการทางเศรษฐกิจ/เร่งลงนาม RCEP ภายในปีนี้ เพื่อช่วยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และ 10 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจดิจิทัลคือกุญแจสำคัญที่จะเพิ่มมูลค่าจีดีพีของอาเซียนให้สูงขึ้นอีกถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG
    นายกรัฐมนตรีระบุว่า และประการที่สาม อาเซียนที่มีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นคือ สร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาว ครอบคลุมประเด็นความมั่นคงทางสาธารณสุข โดยเฉพาะหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ทั้งนี้ ไทยจะร่วมบริจาคเงินจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ สนับสนุนกองทุนดังกล่าว เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือ
      อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ นอกเหนือจากการประชุมสุดยอดอาเซียน นายกรัฐมนตรีจะร่วมการประชุมผู้นำอาเซียน สมัยพิเศษ เรื่องการส่งเสริมศักยภาพสตรี และการหารือกับผู้แทนภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ สมัชชารัฐสภาอาเซียน เยาวชนอาเซียน และสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนอีกด้วย
     โดยนายกรัฐมนตรีเสนอแนะแนวทางในการเสริมสร้างศักยภาพสตรี สนับสนุนบทบาทสตรีในการร่วมสร้างประชาคมอาเซียน และได้ยกย่องพลังสตรี เช่น อสม.ไทย ว่าในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไทยได้ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของสตรีในฐานะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ที่เข้มแข็งทางการทำงานในเชิงป้องกันและการต่อสู้กับการแพร่ระบาดในชุมชน ดังนั้นจึงถือว่าเป็นหน้าด่าน และทำให้ขณะนี้การควบคุมโรคเป็นไปได้ด้วยดี เพราะมีสตรี อสม.จำนวนหลายล้านคนเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานอันแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขไทย
    ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในเวลา 18.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมการประชุมผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษ ในการประชุมนอกเหนือจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยเป็นการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน
     โดย พล.อ.ประยุทธ์ระบุช่วงหนึ่งว่า ไทยยินดีต่อข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน เรื่องกลไกระดับภูมิภาคของภาครัฐและเอกชน และสนับสนุนให้คณะกรรมการที่ปรึกษาธุรกิจพิเศษทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับคณะทำงานโควิด-19 ภายใต้คณะมนตรีประสานงานอาเซียน ซึ่งเป็นกลไกที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการทำงาน
     “ไทยพร้อมสนับสนุนภาคเอกชนอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้อาเซียนมีความเข้มแข็งและกลับมาเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดอีกครั้ง ตลอดจนเป็นฐานการผลิตและการลงทุนที่สำคัญจากต่างประเทศในฐานะหุ้นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจโลก” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"