"สมคิด" งัดไม้แข็งบีบรัฐวิสาหกิจเร่งลงทุนโครงการ PPP ไม่ปลื้ม 10 โครงการล่าช้า สศช.จ่อเคาะงบฟื้นฟูเศรษฐกิจก้อนแรก 8 หมื่นล้าน ชง ครม. 8 ก.ค.นี้ คาดสร้างมูลค่าเงินหมุนเวียนในระบบ 2 เท่า จ้างงานกว่า 4 แสนคน ขุนคลังรับคาดไว้อยู่แล้วโควิดทุบ ศก.ไทย หลัง IMF ประเมินต่ำสุดในเอเชีย
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่ดี กระทบกับเศรษฐกิจไทย แต่ส่วนที่ประเทศพึ่งพาได้คือการลงทุนในประเทศ ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้รายงานความคืบหน้าโครงการ PPP แทบทุกโครงการมีความล่าช้าออกไป 6-10 เดือน ซึ่งได้กำชับกับนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร. ให้สื่อความให้รัฐวิสาหกิจที่เป็นเจ้าของโครงการลงทุนพยายามให้โครงการเดินหน้าต่อไปให้ได้ จะช้าไปบ้างไม่เป็นไร แต่ไม่ใช่ช้าขนาดเป็นปี
ทั้งนี้ โครงการ PPP มี 2 ส่วน คือ โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการอยู่แล้ว ให้เร่งดำเนินการโดยเร็ว เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมาได้สั่งการให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้เร่งการลงทุนของปีหน้าให้มาลงทุนภายในปีนี้ และปรับเปลี่ยนการลงทุนที่เน้นการจ้างงานให้มากขึ้น และอีกส่วนคือโครงการมีแผนเข้า PPP ตอนนี้ทั้งหมดขอหยุดโครงการหมด ได้ให้ สคร.ไปติดตามว่าหยุดโครงการเพราะอะไร มีเหตุผลหรือไม่ หากไม่มีเหตุผลไม่ให้ชะลอโครงการ หากชะลอโครงการหรือไม่ยอมลงทุนให้ยกเลิกโครงการไปเลย ให้ไปหาโครงการอื่นมาทดแทน
"รัฐบาลต้องการเห็นโครงการลงทุน PPP ไม่ใช่แต่เรื่องโครงการโครงการสร้างพื้นฐานเท่านั้น ต้องการให้การลงทุน PPP ในโครงการด้านสังคม ด้านการแพทย์ สาธารณสุข การศึกษา ที่อยู่อาศัยเพื่อคนชรา การท่องเที่ยว การเกษตร ในส่วนนี้มีความตื่นตัวน้อยเพราะไม่มีแรงจูงใจ ได้ให้ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไปดูมาตรการจูงใจเพิ่มเติม และให้ สคร. ประชาสัมพันธ์ว่ารัฐบาลมีการร่วมลงทุนในลักษณะนี้ เพื่อให้เอกชนเสนอโครงการเข้ามา" นายสมคิดระบุ
นายชาญวิทย์ นาคบุรี ที่ปรึกษาด้านการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ สคร. กล่าวว่า โครงการ PPP มีทั้งหมด 90 โครงการ มูลค่า 1.09 ล้านล้านบาท มีโครงการที่สำคัญ 18 โครงการ มูลค่า 4.72 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีกว่า 10 โครงการที่ลงทุนล่าช้า ซึ่งนายสมคิดได้สั่งการให้ สคร.ติดตามใกล้ชิดหากการลงทุนไม่เป็นไปตามแผน ให้เชิญผู้บริหารเจ้าของโครงการมาร่วมประชุมเพื่อชี้แจงในครั้งหน้า
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า โครงการลงทุน PPP ล่าช้า เพราะผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 และการส่งวัสดุอุปกรณ์จากต่างประเทศเพื่อก่อสร้างลงทุนไม่สามารถทำได้ เพราะมีการปิดประเทศ
ออก กม.ลูกไล่บี้ลงทุน
"ที่ประชุมวันนี้ได้ออกกฎหมายลูก PPP เรื่องโครงการลงทุนที่มีมูลค่าไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแม่ PPP ทั้งหมด ให้ปฏิบัติตามกฎหมายลูกที่จะออกมา ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ กิจการโครงการไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ให้เป็นอำนาจของหน่วยงานเจ้าของโครงการ หรือรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงดำเนินการไปได้เลย และโครงการที่มูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ให้เสนอ สคร.เพื่อเสนอให้คณะกรรมการ PPP พิจารณาว่าต้องดำเนินการตามกฎหมายแม่หรือไม่ หากไม่จำเป็นก็ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการหรือรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงดำเนินการไปได้เลย" ผู้อำนวยการ สคร.กล่าว
อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ณ สิ้นเดือน พ.ค.2563 รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ยังคงสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ตามเป้าหมาย ซึ่งเป็นผลมาจากการนำงานที่สามารถเบิกจ่ายได้มาทดแทนผลกระทบเหล่านี้ เช่น เงินเบิกจ่ายล่วงหน้าให้กับผู้รับจ้างหรือค่าทดแทนเพื่อชดเชยให้กับประชาชน ซึ่งช่วยผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบและช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรคโควิด-19
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การลงทุน PPP ล่าช้าเพราะการระบาดของโควิด-19 ไม่ได้มาจากปัญหาเกียร์ว่างของหน่วยงานเจ้าของโครงการ ซึ่งเศรษฐกิจต้องการลงทุนและการบริโภคในประเทศ เพราะการส่งออกวันนี้ช่วยเศรษฐกิจไม่ได้ คลังจะต้องเร่งประสานหน่วยงานเจ้าของโครงการเพื่อเร่งการลงทุน
รมว.การคลังยังกล่าวถึงกรณีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะขยายตัว -7.7% ต่ำที่สุดในเอเชีย เนื่องจากผลกระทบจากโควิด -19 ว่าเศรษฐกิจถูกกระทบ เป็นสิ่งที่คาดไว้แล้ว ทุกอย่างที่คลังทำก็มุ่งหวังว่าจะช่วยกันประคองให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ ส่วนมากน้อยเท่าไหร่ ขึ้นกับว่าทำแล้วสามารถเข้าเป้า ตรงเป้าแค่ไหน ยังลำบากที่จะบอกวันนี้ว่า ที่คลังทำไปแล้วจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ร้อยละเท่าไหร่
"จะบอกว่าเศรษฐกิจขยายตัวได้ขนาดไหน ในตอนนี้คงไม่ใช่ เพราะเหตุการณ์โควิดยังพูดไม่ได้ว่าจะไปแค่ไหน อย่างไร แต่ที่พูดได้คือ คลังจะต้องทำในสิ่งที่มีความจำเป็น และตอบโจทย์ประชาชน ผู้ประกอบการตอนนี้" นายอุตตมระบุ
ส่วนแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากนี้ จะมุ่งเน้นการฟื้นฟูในพื้นที่เป็นหลัก ในระดับชุมชน เพราะการจ้างงานสำคัญมาก มองไปในอนาคตอีก 6 เดือน ต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำ เศรษฐกิจหลังโควิด-19 จะเป็นอย่างไร ก็เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน การปรับตัวของธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายเล็ก ทั้งนี้ คลังจะมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะไปสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดูว่าจะมีมาตรการออกมาช่วยการปรับตัวของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายเล็กอย่างไร
วันเดียวกัน นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงข่าวชี้แจงความก้าวหน้าการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของโควิด-19 กรอบวงเงิน 400,000 ล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟู เศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 จากจำนวนข้อเสนอโครงการแผนงาน รวมทั้งสิ้นกว่า 46,429 โครงการ เป็นเงินกว่า 1.456 ล้านล้านบาท
นายทศพรกล่าวว่า ล่าสุดได้พิจารณารอบแรกเสร็จโดยมีข้อเสนอโครงการที่ผ่านการพิจารณา 213 โครงการ รวมวงเงินประมาณ 101,482.28 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 แผนงาน คือ แผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก 58,069.70 ล้านบาท แผนงานสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน 20,989.81 ล้านบาท และแผนงานกระตุ้นอุปโภคบริโภค และการกระตุ้นการท่องเที่ยว วงเงิน 22,422.77 ล้านบาท
ฟื้นศก.ล็อตแรก8หมื่นล้าน
อย่างไรก็ตาม ทาง สศช.และคณะอนุกรรมการจะพิจารณากลั่นกรองพิจารณาอีกครั้ง คาดว่าวงเงินจะลดลงเหลือประมาณ 70,000-80,000 ล้านบาท จากนั้นจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 ก.ค.นี้ ส่วนโครงการชุดที่ 2-3 จะดำเนินการนำเสนอ ครม.เดือน ส.ค.และ ก.ย. ต่อไปตามลำดับ โครงการที่ผ่านมาการพิจารณาชุดแรกนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดผลต่อระบบเศรษฐกิจเกิดมูลค่าผลผลิตใหม่อย่างน้อยเกือบๆ 2 เท่า จ้างงานประมาณ 410,415 คน สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน/ตำบล 79,604 หมู่บ้าน 3,000 ตำบล
นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ สศช. กล่าวถึงโครงการที่ไม่ผ่านการพิจารณาของ สศช.ว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการที่เสนอมาบางอันแม้ชื่อโครงการดูดี แต่รายละเอียดเมื่อพิจารณากลับพบว่าไม่ก่อให้เกิดการจ้างงานหรือสร้างอาชีพ และบางโครงการเงินที่จ่ายออกไปผู้ได้รับเงินคือ กิจการเอกชน
ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาติดตามตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กล่าวถึงกรณีที่มีปัญหาความขัดแย้งกับกรรมาธิการฝ่ายค้านระหว่างการประชุมว่า แม้ในการประชุมจะมีลักษณะที่เหมือนขัดแย้งกันบ้างก็เป็นปกติในการประชุมกรรมาธิการ แต่กรรมาธิการบางคนสำคัญตนผิด คิดว่าใช้การกดดันวอล์กเอาต์ และประกาศลาออกจากตำแหน่ง ทำให้ กมธ.มีปัญหา แต่ปรากฏว่าไม่ทำตามอย่างที่พูดยังมาประชุมอยู่ นอกจากนี้จะเชิญนายกรัฐมนตรีมาชี้แจง ทั้งที่ไม่ได้มีอำนาจขนาดนั้น เพราะ กมธ.ชุดนี้มีหน้าที่แค่ศึกษาตรวจสอบหาข้อเท็จจริง เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงแล้วก็ให้ข้อเสนอแนะกลับไป พร้อมติดตามโครงการว่าโปร่งใสหรือไม่เท่านั้น
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ทางเลือก..ทางรอด ประเทศไทย ยุคโควิด-19” โดยส่วนใหญ่ระบุว่าปัญหาเศรษฐกิจจะสามารถแก้ไขได้จะต้องเน้นสร้างงาน สร้างอาชีพ รองลงมาคือ อยากให้มีการพักหนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาของประชาชนให้มากขึ้น มีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจนถึงระดับรากหญ้า
ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ภาควิชการประชาสัมพันธ์ นิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักวิจัยซูเปอร์โพล มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการสำรวจความนิยมความคิดเห็นของประชาชนต่อตัวเลือกหรือทางออกของสภาพคล่องทางการเงิน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.5 ต้องพึ่งพาหาสภาพคล่องจากเงินกู้ในระบบ รองลงมาคือ ร้อยละ 21.2 ต้องพึ่งพาหาสภาพคล่องจากทั้งเงินกู้ในระบบและนอกระบบ ส่วนแหล่งในการเลือกใช้บริการคือโรงรับจำนำอีซี่ มันนี่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |