ปิดฉากคดี นปช.บุกบ้านสี่เสาฯ กดดัน "ป๋าเปรม" ลาออก ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก 5 นปช.“นพรุจ-วีระกานต์-ณัฐวุฒิ-วิภูแถลง-เหวง” 2 ปี 8 เดือน ชี้ไม่ชุมนุมโดยสงบ ทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ และละเมิดสิทธิ พล.อ.เปรม “จตุพร” ยอมรับชะตากรรมสำนวนคดีที่สองไม่รอดคุกแน่ “ธิดา” บอกจะมาเยี่ยมให้บ่อย ยันจำเลยเป็นบุคคลที่มีประโยชน์ น่าจะทำงานต่อได้
ที่ศาลอาญา วันที่ 26 มิ.ย. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีชุมนุมปิดล้อมบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อปี 2550 หมายเลขดำ อ.3531/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ฟ้องนายนพรุจ หรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006, นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน, นายวันชัย นาพุทธา, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. เป็นจำเลยที่ 1-7 ใน ความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ
จากกรณีเมื่อวันที่ 22 ก.ค.2550 แกนนำและแนวร่วม นปช.นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคน จากเวทีปราศรัยเคลื่อนที่สนามหลวงไปยังบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม เพื่อเรียกร้องกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งระหว่างเหตุการณ์ดังกล่าว มีการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ ซึ่งนายนพรุจ จำเลยที่ 1 ได้ใช้ไม้เสาธงตีประทุษร้ายร่างกาย ร.ต.อ.ทวีศักดิ์ นามจันทร์เจียม เป็นเหตุให้กระดูกข้อมือแตกเป็นอันตรายสาหัส
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ก.ย.2558 ให้จำคุกนายนพรุจ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ฯ ส่วนนายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ, นายวิภูแถลง และ นพ.เหวง จำเลยที่ 4-7 คนละ 4 ปี 4 เดือน ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายฯ และเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานฯ ให้ยกฟ้องนายวีระศักดิ์และนายวันชัย จำเลยที่ 2-3 ริบของกลางทั้งหมด
ต่อมาวันที่ 10 ม.ค.2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า พวกจำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ ตามมาตรา 138 วรรคสอง ให้จำคุกคนละ 1 ปี และมีความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายโดยเป็นหัวหน้าสั่งการ ซึ่งเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามมาตรา 215 วรรคหนึ่งและวรรคสาม, มาตรา 216 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 215 วรรคสาม เพียงกรรมเดียว จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 4 ปี คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 2 ปี 8 เดือน ส่วนนายนพรุจ จำเลยที่ 1 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ยกฟ้องจำเลยที่ 2-3
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้นายนพรุจ จำเลยที่ 1, นายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ, นายวิภูแถลง, นพ.เหวง แกนนำ นปช. จำเลยที่ 4-7 ทั้งหมดเป็นจำเลยที่ต้องสู้คดีถึงชั้นฎีกา เดินทางมาศาล หลังจากก่อนหน้านี้มีเหตุต้องเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกามาแล้ว 4 ครั้ง อาทิ กรณีจำเลยที่ 4-7 ยื่นขอกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ โดยวันนี้มีนางธิดา ถาวรเศรษฐ ที่ปรึกษา นปช., นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. พร้อมญาติ แกนนำและมวลชน นปช. ส่วนหนึ่งเดินทางมาให้กำลังใจ
หลักฐานชัดฝ่าฝืน กม.
เวลา 10.00 น. ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษา ใช้เวลากว่า 1.30 ชั่วโมง โดยศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว กรณีจำเลยที่ 4-7 เพิ่งยื่นฎีกาแก้ไขคำให้การเป็นรับสารภาพนั้น ไม่อาจกระทำได้ ต้องทำก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ปัญหาวินิจฉัยนายนพรุจ จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางทำร้ายเจ้าพนักงานหรือไม่ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและ พ.ต.ต.ทวีศักดิ์ นามจันทร์เจียม (ยศในคำพิพากษา) ตำรวจผู้บาดเจ็บเป็นพยานเบิกความ ภายหลังผู้บังคับบัญชามีคำสั่งสลายชุมนุม พยานเห็นรถกระบะพุ่งเข้ามาจะชนแถวเจ้าพนักงานตำรวจ แต่ตำรวจหลบพ้น รถเสียหลักชนเกาะกลางถนน คนขับรถวิ่งหนีเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุม โดยเห็นจำเลยที่ 1 อยู่ท้ายรถยืนถือเสาธงพร้อมขว้างอิฐใส่ตำรวจ พ.ต.ต.ทวีศักดิ์พยายามเข้าไปดึงขาจำเลยที่ 1 ที่ยืนอยู่บนกระบะ จำเลยที่ 1 จึงกระโดดชันเข่ากระทุ้งใส่ เป็นเหตุให้ พ.ต.ต.ทวีศักดิ์ได้รับบาดเจ็บข้อมือขวาหัก จึงจับกุมจำเลยที่ 1 ดำเนินคดี
ศาลเห็นว่าตำรวจเป็นประจักษ์พยานโดยตรง เบิกความไม่มีพิรุธ จำเลยที่ 1 ยืนบนรถกระบะและถูกจับกุมจริง เหตุแห่งการจับกุมเกิดจากจำเลยที่ 1 ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหน้าที่ เป็นความผิดซึ่งหน้า ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างไม่มีภาพถ่ายพยานหลักฐานเพียงพอนั้น เห็นว่าในเหตุชุลมุนวุ่นวาย เจ้าพนักงานตำรวจผู้ถ่ายรูปต้องคอยหลบหลีกก้อนอิฐที่ปาเข้าใส่จากหลายทิศทาง ไม่มีโอกาสถ่ายรูปจำเลยที่ 1 ให้เห็นทุกขั้นตอน ต้องอาศัยพยานในที่เกิดเหตุ ประจักษ์พยานที่จับกุมจำเลยที่ 1 ให้การตรงไปตรงมา ไม่มีพฤติการณ์กลั่นแกล้งจับกุมเพื่อหวังประโยชน์ใดๆ มีน้ำหนักรับฟัง และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (รักษาการ ผบ.ตร.ขณะเกิดเหตุ) สั่งการให้จับตนเพราะมีเหตุโกรธเคืองนั้น เห็นว่าการจับกุมจำเลยเกิดจากการทำผิดซึ่งหน้า เป็นการกล่าวอ้างเลื่อนลอย พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักเชื่อมโยงกัน จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามคำพิพากษาศาลล่าง ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษนั้น เห็นว่าพฤติการณ์เป็นการก่อเหตุร้ายแก่เจ้าพนักงานตำรวจ ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง มิได้สำนึกถึงความผิด ไม่สมควรรอการลงโทษ ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง
ปัญหาวินิจฉัยนายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ, นายวิภูแถลง และนพ.เหวง จำเลยที่ 4-7 ชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติคุ้มครองการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่ได้หมายความให้ใช้เสรีภาพปราศจากขอบเขตละเมิดสิทธิผู้อื่น กระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง โจทก์มีเจ้าพนักงานตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่เบิกความเป็นพยานหลายปากเกี่ยวกับวันเกิดเหตุที่กลุ่ม นปก. (ชื่อขณะนั้น) นัดหมายเดินขบวนไปปราศรัยที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งไม่ได้ขออนุญาตเคลื่อนขบวน ตำรวจจึงวางแผนรักษาความสงบเรียบร้อย โดย พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล (ขณะเกิดเหตุ) ได้แจ้งผู้ชุมนุมว่าตำรวจ ไม่อนุญาตให้ผ่านเส้นทางเพราะเป็นพื้นที่หวงห้าม แต่จำเลยที่ 7 ยืนยันที่จะผ่านจุดสกัด
จากนั้นผู้ชุมนุมได้ประชิดจุดสกัดตามคำปราศรัยของจำเลยที่ 5 ดึงแผงรั้วเหล็กทิ้งคลองผดุงกรุงเกษม ผลักดันตำรวจและฝ่าแนวกีดขวาง จนไปปักหลักชุมนุมที่หน้าบ้านพัก พล.อ.เปรม โดยจำเลยปราศรัยโจมตีเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจ และจะชุมนุมจนกว่า พล.อ.เปรมจะลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี ตำรวจเจรจาให้ยุติการชุมนุม แต่จำเลยไม่ยินยอม พร้อมปราศรัยให้ผู้ชุมนุมฮึกเหิมพร้อมก่อความรุนแรง ตำรวจมีมติให้ผลักดันผู้ชุมนุมอย่างละมุนละม่อม ไปเชิญแกนนำมาเจรจา หากไม่เป็นผลให้ตัดสายสัญญาณเครื่องขยายเสียง แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ ถูกผู้ชุมนุมขว้างอิฐ ไม้ และขวดน้ำ จนต้องล่าถอย จึงมีมติให้จับกุมแกนนำและสลายการชุมนุมด้วยกระบอง แก๊สน้ำตา จากนั้นถูกผู้ชุมนุมใช้อิฐและสิ่งของอื่นขว้างเข้าใส่จนต้องล่าถอยมา 3 ครั้ง จึงสามารถสลายการชุมนุมได้สำเร็จ
ฎีกายืนคุก 2 ปี 8 เดือน
ตามทางนำสืบ โจทก์มีพยานหลักฐานวัตถุพยานภาพ วิดีโอ และเทปปราศรัย ขณะจำเลยชุมนุมที่สนามหลวงเป็นการชุมนุมโดยสงบมาตลอด เหตุที่จำเลยที่ 4-7 ต้องการนำผู้ชุมนุมไปปราศรัยที่หน้าบ้านสี่เสาฯ นั้น จำเลยเบิกความถึงภาพ พล.อ.เปรมนำคณะยึดอำนาจเข้าเฝ้าว่าเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมของประธานองคมนตรี เมื่อปราศรัยมานานไม่ได้รับการตอบสนองจึงนัดหมายไปทวงถาม พล.อ.เปรมโดยตรง เรียกร้องให้ตอบข้อสงสัยและกดดันให้ลาออก จำเลยที่ 4-7 เชื่อว่า พล.อ.เปรมอยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจ โดยความจริงแล้วจำเลยไม่มีหลักฐานมั่นคงมาพิสูจน์ให้รับฟังได้ และ พล.อ.เปรมไม่ได้นัดหมายหรือแถลงข่าวให้จำเลยที่ 4-7 ฟังคำตอบหรือคำชี้แจง การที่จำเลยที่ 4-7 นำผู้ชุมนุมไปปราศรัยโจมตีจึงเป็นการใช้เสรีภาพเกินขอบเขต ละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของ พล.อ.เปรม
จำเลยที่ 4-7 และกลุ่ม นปก.เคลื่อนขบวนโดยไม่ได้รับอนุญาต ตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย มีอำนาจโดยชอบในการควบคุมการชุมนุมสาธารณะ จำเลยและแกนนำได้ปราศรัยแสดงเจตนาจะไปให้ถึงบ้าน พล.อ.เปรมสำเร็จ ทั้งหมดเป็นหลักฐานประจักษ์ตอกย้ำละเมิดกฎหมายและละเมิดสิทธิเสรีภาพของพล.อ.เปรม ไม่เป็นการชุมนุมโดยสงบ มั่วสุมชุมนุมโดยใช้กำลังประทุษร้าย กีดขวางการจราจรไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนจุดสกัด เมื่อถึงหน้าบ้านพัก พล.อ.เปรม จำเลยได้ปราศรัยจะชุมนุมอยู่ที่นี่จนกว่าจะชนะ จนกว่า พล.อ.เปรมจะพ้นตำแหน่ง ส่งเสียงดังรบกวนไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเครื่องขยายเสียง ประชาชนไม่สามารถใช้ถนนได้ การที่ตำรวจตัดสินใจดำเนินการยับยั้งสมเหตุสมผล เพราะแกนนำและผู้ชุมนุมไม่ตอบสนอง พร้อมต่อต้านขว้างปาสิ่งของใส่ตำรวจ มีเจตนาเผชิญหน้า ตำรวจไม่ได้ก่อเหตุทำร้ายผู้ชุมนุมก่อน ไม่ทำให้ผู้ชุมนุมถึงแก่ความตาย จึงไม่เกินกว่าเหตุตามที่จำเลยอ้าง
ส่วนที่จำเลยที่ 4-7 ฎีกาขอลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษนั้น ศาลเห็นว่าการกระทำเป็นลักษณะเตรียมวางแผนล่วงหน้าในการนำมวลชนจำนวนมากไปมั่วสุมใช้กำลังประทุษร้าย ทำลายทรัพย์สินราชการ ฝ่าฝืนคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของตำรวจ ต่อสู้ขัดขวางตำรวจจนเกิดการปะทะเป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก สร้างความวุ่นวายปั่นป่วนทำลายความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน จำคุกจำเลยที่ 1, 4-7 คนละ 2 ปี 8 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศภายหลังพิพากษาว่า ญาติของจำเลยและมวลชน นปช. ที่เดินทางมาให้กำลังใจในห้องพิจารณาคดี ต่างเข้าไปพูดคุยร่ำลากับจำเลยทั้งห้า พร้อมจับมือและสวมกอด อาทิ นายประภัสร์ จงสงวน อดีตกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ ก็ได้เข้ามาสวมกอดให้กำลังใจนายณัฐวุฒิ ขณะที่ญาติและมวลชนบางรายได้ร่ำไห้ บ่นแสดงความไม่พอใจ ต่อมาระหว่างเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทยอยควบคุมตัวจำเลยทั้งห้าออกจากห้องพิจารณา เพื่อนำไปคุมขังรับโทษตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดนั้น นายนพรุจ จำเลยที่ 1 ได้ร่ำไห้ ส่วนมวลชนก็มีทั้งร่ำไห้และส่งเสียงให้กำลังใจจำเลยด้วย
'จตุพร'รับชะตากรรม
นายจตุพรให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้พี่น้องเราทุกคนที่ศาลได้อ่านคำพิพากษาจำคุก ซึ่งทุกคนก็น้อมรับคำตัดสิน ตนและที่เหลืออยู่ในสำนวนคดีที่สอง (คดีบุกบ้านสี่เสาฯ เช่นเดียวกัน ซึ่งนายจตุพรถูกฟ้องทีหลัง) ก็รอคำพิพากษาเช่นกัน ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มคนที่ผ่านเรื่องราวกันมาต่างเหลือพื้นที่กันน้อยมาก อยากบอกว่าทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง กลุ่มพันธมิตรฯ หรือ กปปส. ก็ต่างอยู่บนวิถีทางที่ไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ว่าพวกตนจะติดคุกกันมากขึ้น และสังขารของผู้อาวุโสของแต่ละฝ่ายก็อยู่ในช่วงยากลำบากทั้งสองฝ่าย ที่เหลือก็ทยอยกันขึ้นศาล
นายจตุพรกล่าวว่า จากที่ได้เข้าฟังคำพิพากษานั้น ตนเห็นว่าที่แตกต่างกันคือ ตนยังพอมีเวลาเหลืออยู่บ้าง ก็ต้องไปจัดการชีวิตทั้งเรื่องส่วนตัว เรื่องส่วนรวม เรื่องสุขภาพ เพราะต้องอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง พวกตนน้อมรับคำตัดสินของศาลอย่างไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ได้พูดคุยกับทั้ง 5 คนในคดีนี้อยู่บ้าง เพราะกว่า 10 ปีนี้ มันมีเรื่องราวกันมากเหลือเกิน แม้กระทั่งคนที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามมาอยู่ฝ่ายเดียวกันก็มี เช่น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย, พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ส่วนนายชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด ก็เป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย เพราะฉะนั้นความลำบากของชีวิตไม่ใช่เฉพาะคนเสื้อแดง คนเสื้อเหลืองก็ลำบาก ทุกฝ่ายที่ต่อสู้กันมาช่วง 10 ปีนี้ ที่ไม่ติดคุกก็ต้องมาขึ้นศาลทุกสัปดาห์ พวกเราต่างรู้จักกันมาตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภา 2535 ทั้งสิ้น
“ถ้าใครฟังคำพิพากษาก็รู้ว่าอย่างไรผมก็ไม่รอด 100 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมก็ยอมรับความเป็นจริง เวลาที่เหลืออยู่ถ้าผมทำอะไรได้ให้กับประเทศชาติบ้านเมืองในท่ามกลางวิกฤตินี้ที่กำลังจะเกิด ผมก็จะทำ ผมไม่ได้สนใจว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล หรือใครจะมาเป็นตำแหน่งใด ผมเลยมันมาแล้ว” นายจตุพรกล่าว
ด้านนางธิดากล่าวว่า สิ่งที่ต้องเตรียมตัวคือ ทำอย่างไรให้สามารถเยี่ยมได้บ่อยมากขึ้น แล้วเข้าใจว่าขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยน แม้จะถูกจำกัดอิสรภาพ แต่ว่าเมื่อไปอยู่ในเรือนจำเราเข้าใจว่าสถานการณ์เรือนจำเปลี่ยนไป โดยทำให้คนที่อยู่ในคุกได้ใช้ชีวิตอย่างมีประโยชน์ให้มากที่สุด และจำเลยที่เข้าคุกวันนี้เป็นบุคคลที่มีประโยชน์มีทัศนคติในทางที่ดี น่าจะมีโอกาสได้ทำงานต่อสังคมได้ แม้จะถูกคุมขังอยู่ในคุก หวังว่าจะได้รับการปฏิบัติที่ดีพอสมควร แม้จะมีความคิดเห็นต่างทางการเมือง และไม่ใช่อาชญากร หวังว่าสื่อจะสามารถถ่ายทอดเรื่องราวในเรือนจำได้
ส่วนนางสิริสกุล ใสยเกื้อ ภรรยาของนายณัฐวุฒิ กล่าวว่า จะเดินทางไปเยี่ยมนายณัฐวุฒิที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อ เนื่องจากยังไม่ได้เตรียมเสื้อผ้ามา ก่อนหน้านี้ก็มีการเตรียมใจกันมา ส่วนจะมีการดำเนินการใดๆ ทางคดีต่อหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับนายณัฐวุฒิตัดสินใจ ตนต้องปรึกษาก่อน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |