แอปพลิเคชันติ๊กต๊อก tiktok กิจกรรมยอดฮิตในโลกออนไลน์ ที่ทั้งเด็กและเยาวชนให้ความสนใจไม่แพ้กับผู้ใหญ่คนทั่วไป ดารา รวมถึงผู้ทรงอิทธิพลในสาขาต่างๆ ที่ถือเป็นผู้จุดประกายให้แอปพลิเคชันนี้ฮอตฮิตเป็นอย่างมากในช่วงที่บ้านเราขอความร่วมมือให้ทุกคนทำงานอยู่บ้าน
มีทั้งคลิปวิดีโอลิปซิงค์ตามภาษา เหนือ กลาง ใต้ พร้อมกับใส่ท่าทางหน้าเด็ก ที่สร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ที่ได้เข้าชมแอปพลิเคชัน แต่ที่เรียกกระแสฮือฮาที่หลายคนทำตาม คือการเต้นตามเสียงเพลงที่มีแอปพลิเคชันภาพซ้อนหลายๆ คน ซึ่งหากใครที่นึกไม่ออก ก็สามารถนึกภาพท่าเต้นคัฟเวอร์ “เจน นุ่น โบว์” ที่ทำให้นักร้องทั้ง 3 คนกลับมาโด่งดังอีกครั้ง ก็ต้องร้องอ๋อ!! ทันที หรือแม้คลิปวิดีโอสำหรับคนรักการทำอาหาร ก็พอจะนึกภาพคลิปการทำอาหาร พร้อมวิธีทำอย่างง่ายๆ กระชับภายใน 1 นาที ที่ดูแล้วเข้าใจ กระทั่งหลายคนแอบปรุงเมนูต่างๆ ตาม หรือหันมาอัดคลิป tiktok ทำอาหารลงในโซเชียลให้ทุกคนได้ติดตามกัน ก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย
แม้ว่ากระแสความนิยมดังกล่าวจะฮิตมาก และส่งผลให้ยอดคำค้นหาอย่าง tiktok ในเว็บไซต์ google สูงสุดเป็นอันดับหนึ่งกว่าคำค้นไหนๆ ก็ว่าได้ หลายคนก็อดสงสัยไม่ได้ว่า แอปพลิเคชันสัญชาติจีนดังกล่าวจะให้แต่ความสนุกเพลิดเพลินเพียงอย่างเดียวหรือไม่ หรืออันที่จริงแล้วมันยังแฝงประโยชน์เอาไว้ โดยเฉพาะหากพลิกแพลงเข้ามาในโรงเรียน และในห้องเรียนของคุณน้องๆ หนูๆ ได้อย่างเหมาะสม…งานนี้ผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำไว้น่าสนใจ
ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ที่ปรึกษาสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) บอกว่า “สำหรับกระแสแอปพลิเคชัน tiktok นั้น เป็นสิ่งที่เยาวชนชอบมาก ถึงขั้นหลายคนรู้สึกว่ามันจะเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ หรือไม่ แต่ตอนนี้แม้แต่เด็กเล็กๆ ก็นิยมเล่นกันเอง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ทั้งนี้เด็กที่เล่นแอปพลิเคชัน tiktok นั้น จะต้องเล่นกับพ่อแม่ด้วย ก็จะยิ่งทำให้การเล่นสนุกมากยิ่งขึ้น เพราะว่าพ่อแม่เป็นผู้ที่ช่วยเลือกเนื้อหาที่เหมาะสมให้กับเด็ก
“แต่ถ้าพูดถึงการเล่น tiktok ในระดับโรงเรียนของเด็กในช่วงประถมศึกษาและมัธยมศึกษา สามารถพลิกแพลงแอปพลิเคชันดังกล่าวเป็นเกม ประกอบกับการแสดงท่าทางที่มีเนื้อหาสาระก็จะเป็นประโยชน์มากค่ะ เช่น ในช่วงนี้ที่ใกล้ถึงวันภาษาไทย คุณครูสามารถให้เด็กส่งคลิปติ๊กต๊อกเกี่ยวกับการพูดและออกเสียงคำภาษาไทยที่ถูกต้อง หรือให้เด็กๆ อ่านคำภาษาไทยที่ยากให้ถูกต้อง จากนั้นก็ส่งคลิปมาประกวดกัน ว่าใครทำได้น่ารักที่สุด ตรงนี้ก็จะทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และไม่ลืมวันภาษาไทย เป็นต้น หรือจะให้เด็กๆ แข่งกันคิดเลขเร็ว และอัดคลิปเป็นแอปติ๊กต๊อก ที่ดูแล้วน่ารักโดยมีเสียงพูดหรือเอฟเฟ็กต์เสียงที่ตลกๆ ก็ได้เช่นกัน เพราะอย่าลืมว่าในแอปพลิเคชันดังกล่าวมีรูปใบหน้าที่ตลกอยู่หลายรูป ที่สามารถเลือกใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ จากนั้นก็ส่งมาให้คุณครูคัดเลือกคนที่คิดเลขถูกต้อง และทำคลิป tiktok ได้น่ารักและดูสนุกสนาน เป็นต้น
ที่สำคัญอย่าลืมว่าการที่เด็กและเยาวชนจะเล่นแอปติ๊กต๊อกให้เกิดประโยชน์นั้น ก็จำเป็นจะต้องใช้ให้ถูกทาง อีกทั้งผู้ปกครองควรศึกษาเกี่ยวกับการใช้แอปพลิเคชันนี้ เพื่อที่จะคอยให้ความรู้กับลูกๆ เพื่อให้เล่นแอป tiktok ได้อย่างก่อให้เกิดประโยชน์ หรือเลือกฟีเจอร์ได้เหมาะสมกับช่วงวัย เพราะในหลายๆ ครั้ง ถ้าสังเกตให้ดีนั้น จะมีหลายครอบครัวที่เล่นแอปติ๊กต๊อกได้อย่างน่ารัก อีกทั้งเป็นการสานใยรักในครอบครัวได้ดีอีกด้วย เช่น พ่อแม่ลูกเต้นตามเสียงเพลงด้วยกัน หรือลิปซิงค์ตามเสียงพูดสลับกันพ่อแม่ลูก”
ดร.ทัศนัย บอกอีกว่า แม้แอปพลิเคชันดังกล่าวจะมีข้อดี แต่ทว่าก็มีข้อเสียเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะหากผู้ปกครองปล่อยปละละเลยให้ลูกเล่นตามลำพัง เพราะบางครั้งเด็กอาจจะไปคัฟเวอร์เนื้อหาที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม ดังนั้นพ่อแม่จะต้องคอยเป็นไกด์ไลน์ให้กับลูกๆ เวลาที่เขาเล่น ส่วนข้อเสียด้านสุขภาพหรือด้านสายตานั้น ดร.ทัศนัยมองว่าอาจจะยังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะว่าแอปพลิเคชันดังกล่าวไม่ได้เป็นการจ้องหน้าจอมือถือตลอดเวลา เหมือนกับการที่เด็กเล่นเกมออนไลน์แต่อย่างใด ดังนั้นแม้แอปพลิเคชัน tiktok จะมีข้อดีในการพลิกแพลงไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ แต่ทว่าทุกอย่างนั้นต้องใช้อยู่บนทางสายกลาง หรือไม่ใช้มากจนเกินไป
ด้าน คุณน้ำหวาน-งามศิริ อาศิรเลิศสิริ นักจิตวิทยาเด็ก บอกคล้ายกันว่า “สำหรับการเล่นแอปพลิเคชัน tiktok ทั้งในเด็กและเยาวชนนั้น น้ำหวานคิดว่าจะต้องเดินทางสายกลาง คือต้องไม่เล่นน้อยหรือมากจนเกินไป เพราะการที่หากเด็กไม่ได้เล่นหรือไม่เคยเล่นแอปพลิเคชันดังกล่าวเลย เวลาที่เด็กไปโรงเรียนเด็กก็จะต้องไปเห็นเพื่อนๆ เล่น ประกอบกับโลกอินเทอร์เน็ตนั้นค่อนข้างกว้าง บางครั้งการที่ผู้ปกครองห้ามเด็กเล่น สุดท้ายเด็กก็จะแอบเล่นอยู่ดี และเนื่องจากแอปพลิเคชัน tiktok นั้นจะมีฟีเจอร์ให้เลือกที่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งคลิปทำอาหารหรือคลิปเต้นรำที่สร้างความสนุกสนาน แต่บางครั้งถ้าตามข่าว เราก็จะพบว่ามีผู้ที่นำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น นำไปล้อเลียนผู้อื่น เช่น การนำภาพของผู้อื่นไปใส่เสียงหรือข้อความต่างๆ เพื่อทำให้ดูเป็นคลิปที่ตลกขบขัน ซึ่งนั่นถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะถือว่าเข้าข่ายการบูลลี่คนอื่น ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ และผู้ปกครองจึงจำเป็นต้องคอยช่วยดูแลและสอดส่องเช่นกัน
สำหรับการใช้แอปพลิเคชัน tiktok ให้เกิดประโยชน์นั้น อาจจะเป็นไปในทางที่ว่า คุณครูในโรงเรียนอาจจะสร้างให้เป็นชาเลนจ์ในวิชาพลศึกษา เพื่อให้เป็นคลิปไวรัลที่ก่อให้เกิดการเลียนแบบ เช่น เล่นติ๊กต๊อกโดยการออกกำลังกายในท่าทางต่างๆ ประกอบกับเสียงเพลง เพื่อให้เด็กๆ ในห้องเรียนได้ทำตาม ซึ่งตรงนี้จะเป็นการกระตุ้นให้เด็กได้ออกกำลังกายในวิชาพละที่ถูกต้องเหมาะสม หรือหันมาสนใจการเล่นกีฬาชนิดต่างๆ เป็นต้นค่ะ”
ปิดท้ายกันที่ กิตติมา จอดเกาะ คุณแม่วัย 32 ปี ผู้ปกครองของ ด.ญ.กิตติวรรณ กิจแสวง วัย 9 ขวบ ที่แล่นแอปพลิเคชัน tiktok มานานกว่า 1 ปี บอกว่า “เนื่องจากลูกสาววัย 9 ขวบนั้น ชอบเล่นแอปพลิเคชันติ๊กต๊อกเกี่ยวกับงาน DIY ต่างๆ ดังนั้นจึงมองว่าแอปพลิเคชันดังกล่าวมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อดีนั้นคือเมื่อลูกสาวเล่นแอปติ๊กต๊อกแล้วก็มักจะชอบประดิษฐ์สิ่งของต่างๆตามคลิปวิดีโอที่ดู เช่น ที่ผ่านมาลูกสาวได้ DIY กล่องกระดาษเหลือใช้ให้เป็นที่ตั้งโทรศัพท์มือถือ และข้อดีอีกอย่างของการเล่นแอปติ๊กต๊อกคือการที่ฝึกความกล้าแสดงออก เวลาที่ลูกสาวอัดคลิปเต้นหรือลิปซิงค์น่ารักๆ และขบขันลงในแอปพลิเคชัน tiktok
ที่สำคัญยังเป็นการฝึกใช้เทคโนโลยีในโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะการตัดคลิปวิดีโอก่อนโพสต์ หรือการเลือกสติกเกอร์น่ารักที่มีอยู่ในแอปเพื่อให้เหมาะกับบุคลิกของลูกสาว อีกทั้งยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ หลังจากที่ลูกสาวทำการบ้านเสร็จแล้ว ส่วนข้อเสียก็มีอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะการที่เด็กอาจจะติดมือถือมากเกินไป และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ ตามมามากมาย แต่ส่วนตัวก็จะป้องกันปัญหานี้โดยการให้ลูกสาวเล่นแอปติ๊กต๊อกวันละไม่เกิน 1 ชั่วโมง และต้องเล่นหลังจากทำการบ้านและกินข้าวเย็นแล้ว หรือให้ลูกสาวเบรกจากการเล่นมือถือโดยไปวิ่งออกกำลังกายกับเพื่อนๆ ส่วนเนื้อหาของบางฟีเจอร์ในแอปติ๊กต๊อกที่อาจใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม ตรงนี้ในฐานะที่เราเป็นคุณแม่ ก็จะคอยดูและช่วยเลือกฟีเจอร์ที่เหมาะสมกับช่วงวัยของลูกสาวค่ะ”
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |