ช่างบังเอิญ....
สองสามวันมานี้มีข่าวเกี่ยวกับ ผบ.ทบ. และอดีต ผบ.ทบ.อยู่หลายคน
เริ่มที่ ผบ.ทบ.คนปัจจุบันก่อน
อังคารที่ผ่านมา บิ๊กแดง พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ มอบหมายให้ พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก ผู้แทนกองทัพบก เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายแด่ พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และบำเพ็ญกุศลอุทิศแก่ พันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม
เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดี ของนายทหารที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน
คงผ่านหูผ่านตาไปพอควรกับ "กบฏบวรเดช"
การพูดถึงประวัติศาสตร์มักถูกตีความไปสองทางเสมอ
กบฏบวรเดช กับ กบฏวังหลวง เป็นกบฏเหมือนกัน แต่ถูกมองในแง่มุมที่ต่างออกไป
อยู่ที่คนมอง และมองจากมุมไหน
แต่ก็มีมุมมองที่เลยเถิด
ไปแปลความว่า มีฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย เพื่อให้ประเทศกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถือว่าผิดถนัด!
เพราะระบอบการปกครองนี้ไม่เหมาะสมกับโลกปัจจุบันแล้ว
ขณะเดียวกันความพยายามพาประเทศกลับไปสู่การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ไม่มีอยู่จริง
จะมีก็เพียงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น
ฉะนั้นวันนี้ไม่มีระบอบอื่น นอกจากประชาธิปไตย
เพียงแต่เรื่องราวในอดีต ที่ย้อนมามีบทบาทในวันนี้ กลับมีการอธิบายโดยใช้บริบทในปัจจุบันเข้าไปกำหนด
มันจึงมีความต่างอย่างมากมายจากความคิดที่แตกต่างกัน
"บิ๊กแดง" ให้ความสำคัญ กับ "กบฏบวรเดช" ไม่ได้อธิบายว่า "บิ๊กแดง" จะพาประเทศกลับสู่การปกครอง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของอดีต
เราพูดถึงพระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย หากฟังผ่านๆ อาจคิดได้ว่าหมายถึงเฉพาะพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ไม่ใช่เลย!
การวางรากฐานประชาธิปไตยมีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อยมาจนถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย จึงหมายความย้อนไปถึง พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
เมื่อครั้งมีพระราชอำนาจเต็มที่ พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้ทรงพยายามวางรากฐานประชาธิปไตย
เพื่อให้ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย
และมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บท
แต่คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม
ด้วยการช่วงชิงพระราชอำนาจ
หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน อดีตนักโทษกบฏ ใน "กบฏบวรเดช" บันทึกเอาไว้ว่า
....เป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ ผู้จะต้องตัดสินว่า การกบฏครั้งใด เพื่ออะไร และมีเหตุผลอย่างไร
นักประวัติศาสตร์จะไม่ด่วนทำคำวิพากษ์ในระหว่างที่บุคคลผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์นั้นๆ ยังมีชีวิตอยู่ และทั้งต้องรอเวลาให้ความรู้สึกของประชาชนในเหตุการณ์นั้นๆ ดับสูญลง
เป็นหน้าที่ของเขาที่จะรวบรวมข้อเท็จจริงจากหลักฐาน เอกสาร จดหมาย และบันทึกต่างๆ โดยไม่งมงายฟังความข้างเดียว....
และจากบันทึกเกี่ยวกับ "กบฏบวรเดช" พบว่าเหตุการณ์นี้มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้มีพระราชเสาวนีย์ เกี่ยวกับการวางบทบาทของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในเหตุการณ์กบฏบวรเดชว่า
"...ถึงแม้แต่พระองค์เจ้าบวรเดช ในหลวงก็เคยรับสั่งห้ามว่า ไม่ให้ทำอะไรเป็นอันเด็ดขาด
ขึ้นชื่อว่าเจ้าล่ะก็ไม่ให้ทำอะไรทั้งนั้น
ถ้าทำจะยิ่งร้ายแรง
ถ้าเผื่อเป็นคนอื่นเขาจะปฏิวัติซ้อนชิงอำนาจมาถวาย นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่ว่าเจ้าทำไม่ได้
ในหลวงท่านเตือนไว้เฉยๆ แล้วก็ไม่ทรงทราบอะไรจากพระองค์เจ้าบวรเดชอีกว่าจะคิดทำอะไร หรืออย่างไร แต่ผลที่สุดก็เกิดขึ้นจนได้....."
แต่ ณ ปัจจุบันลูกหลานไทยบางส่วน ยังผูกโยงโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ พยายามบิดเบือนว่าขัดขวางการเติบโตของประชาธิปไตย
ต้องการฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์!
หากมองอย่างนักประชาธิปไตยที่แท้จริง ด้วยมุมมองที่กว้างไกล มิใช่มุมที่อาฆาต เคียดแค้น จะเห็นความจริงหลายประการในอดีต
และไม่ควรนำอดีตมาจุดเชื้อให้เกิดความขัดแย้งในปัจจุบัน
นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็น ผบ.ทบ.ช่วงปี ๒๔๘๑-๒๔๙๑) กล่าวเมื่อคราวเปิดอนุสาวรีย์ปราบกบฏ
"....อนุสสาวรีย์ ๑๗ ทหารและตำรวจผู้กล้า ซึ่งประดิษฐานอยู่ฉะเพาะพระภักตร์และต่อหน้าท่านผู้รักชาติทั้งหลาย
ด้วยความจริงใจของเกล้ากระหม่อมแล้ว ไม่มีความยินดีเห็น
เพราะเป็นอนุสสาวรย์ ที่ต้องสร้างขึ้นภายหลังจากเหตุกาณ์อันเสร้าสลดที่สุด ที่คนไทยต่อคนไทยแตกความคิดความเห็น
และจับอาวุธเข้าประหัตประหารกันเอง จนถึงกับต้องเสียชีวิต
กระทรวงกลาโหมขออุททิศอนุสสาวรีย์นี้ไว้แก่ชาติไทย เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติเตือนใจชาวไทยว่า อย่าแตกความสามัคคีกัน ทั้งการคิด การพูดและการทำ
หากแม้ว่าสิ่งระลึกเตือนสะเทือนใจนี้จะเป็นคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองแม้แต่น้อย ก็ขอให้ผลอันนี้ได้ไปเป็นเครื่องประดับวิญญาณแก่สหายที่รักผู้กล้าหาญของเกล้ากระหม่อมทั้ง ๑๗ นายนั้นตลอดกาล...."
จะเห็นได้ว่าแม้จะมีความขัดเแย้งทางการเมืองสูงระหว่างคณะราษฎรกับกลุ่มจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
แต่ก็มีความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะจบความขัดแย้ง เพราะสุดท้ายแล้วความขัดแย้งจะนำไปสู่การเข่นฆ่ากันเองของคนไทย
กระนั้นก็ตาม การเมืองไทยเกิดเหตุการณ์รุนแรง และความสูญเสีย มาเป็นระยะ
ตัวละครเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ยังคงมี ผบ.ทบ.เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ
วานนี้ (๒๕ มิถุนายน) สนธิ ลิ้มทองกุล โพสต์รูปภาพ พล.อ.สุจินดา คราประยูร พร้อมข้อความว่า "อำนาจ คือ สิ่งสมมุติ หมกมุ่นในอำนาจ คือ สิ่งโง่เขลา เกิด แก่ เจ็บ ตาย คือ สัจธรรม"
....บุคคลที่ถูกประคองในภาพนี้คือ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ในอดีตท่านใหญ่คับประเทศ แต่วันนี้แค่เรี่ยวแรงจะเดินยังไม่มี ถือเป็นบทเรียนสอนใจได้ว่า...สุดท้ายแล้วคนเราทุกคนก็ต้องพ่ายแพ้ต่อสังขาร พ่ายแพ้ต่อธรรมชาติ ถึงคุณจะมีอำนาจล้นฟ้า แต่คุณก็ไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ ถึงคุณจะร่ำรวยมหาศาลจากการกอบโกยมาทั้งชีวิต แต่เมื่อคุณตายไปแล้วก็เอาติดตัวไปไม่ได้สักบาท....
พล.อ.สุจินดา จากเก้าอี้ ผบ.ทบ.สู่เก้าอี้นายกฯ และสู่เผด็จการมือเปื้อนเลือด
ใช่ครับ สุดท้ายต้องตายกันทุกคน ยิ่งใหญ่แค่ไหนก็หนีความตายไม่พ้น เพียงแต่จะให้ผู้คนจดจำในฐานะอะไร
อย่าง "บิ๊กตุ้ย" พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีต ผบ.ทบ.อีกคนที่เปิดบ้านเลี้ยงวันเกิดครบ ๗๕ ปี วานนี้ พูดถึงอดีต ผบ.ทบ.รุ่นน้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
"ที่เคยต่อว่านักการเมืองเป็นอย่างไรในสมัยก่อน ต่อว่าเขาอย่างไร ตนเองก็อย่าทำละกัน และให้เป็นตัวอย่างที่ดีหน่อย ยังมีเวลาปรับตัว”
"บิ๊กตุ้ย" ในความทรงจำวันนี้ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ที่สังคมจำได้มากที่สุดคือ ญาติผู้พี่ทักษิณ ชินวัตร
เริ่มต้นเรื่องจาก "บิ๊กแดง" - "กบฏบวรเดช" หากไม่มองผ่านมุมที่สุดโต่งจนเกินไป ก็จะเห็นว่าทุกคนล้วนอยากทำในสิ่งที่ถูกต้อง
ไม่ใช่กลับไปแก้ไขอดีต
แต่ยืนยันสิ่งที่เกิดในอดีต เพื่อเป็นบทเรียนให้ปัจจุบัน กระทำให้เกิดผลในอนาคต
ฉะนั้นไม่ว่าใครจะทวงอะไรจาก ๒๔๗๕
ขอความกรุณาอย่าทวงความขัดแย้ง ให้คนไทยต้องกลับมาฆ่าฟันกันอีก.
ผักกาดหอม
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |