ป.ป.ช.ฟันแก๊งตำรวจอุ้ม "ทายาทกระทิงแดง" ชี้อดีต ผบก.น.5-รอง ผบก.พ่วงตำรวจ สน.ทองหล่อรวม 7 นาย ผิดวินัยไม่ร้ายแรงฐานไม่ดำเนินคดี-ไม่ออกหมายจับคดีเมาแล้วขับชน ตร.ตาย "บิ๊กตู่" นั่งหัวโต๊ะประชุม ก.ตร.มีมติปลดออก-ไล่ออก ตร. 42 นาย ทั้งค้ายา ต้องคดีอาญา ผิดวินัยร้ายแรง กำชับใครทำผิดต้องรับโทษจริงจัง ชม "บิ๊กแป๊ะ" ผู้บังคับบัญชาคนต้องมีทั้งการให้คุณและให้โทษ
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่เรื่องกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด โดยมีคดีที่น่าสนใจคือ คดีที่มีการกล่าวหา พล.ต.ต.กฤษฏิ์ เปียแก้ว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 (ผบก.น.5), พ.ต.อ.สุคุณ พรหมายน รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5, พ.ต.อ.ไตรเมต อู่ไทย รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5, พ.ต.อ.ชุมพล พุ่มพวง ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ, พ.ต.อ.สัมฤทธิ์ เกตุแย้ม ในฐานะคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนที่ร่วมลงนามในสำนวนการสอบสวน, พ.ต.ท.วิบูลย์ ถิ่นวัฒนากูล ในฐานะคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนที่ร่วมลงนามในสำนวนการสอบสวน และ พ.ต.ท.วิรดล ทับทิมดี เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ
ฐานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม กรณีสอบสวนช่วยเหลือนายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเครือธุรกิจเครื่องดื่ม "กระทิงแดง" ไม่ให้ถูกดำเนินคดีขับรถขณะเมาสุรา ขับรถเร็วเกินกว่าอัตรากฎหมายกำหนด และไม่ดำเนินการออกหมายจับนายวรยุทธ เพื่อให้ได้ตัวมาส่งพนักงานอัยการฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาหลบหนี
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่ามีมูลความผิด โดยแยกเป็นกรณี ประกอบด้วย กรณีมีเจตนาละเว้นไม่ดำเนินคดีกับนายวรยุทธ ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และกรณีไม่นำรายงานผลการคำนวณความเร็วของกองพิสูจน์หลักฐานซึ่งพบว่านายวรยุทธขับขี่รถยนต์ด้วยความเร็วโดยเฉลี่ย 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มาประกอบการทำความเห็นในทางคดีนั้น ป.ป.ช.มีมติว่า พ.ต.ท.วิรดล ทับทิมดี มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความตั้งใจอุตสาหะ เพื่อให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการ เอาใจใส่ ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ และประมาทเลินเล่อ ในหน้าที่ราชการตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 78 (9) ทั้งนี้ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 23 วรรคสอง ส่วนกรณีละเว้นไม่ดำเนินการออกหมายจับนายวรยุทธนั้น ป.ป.ช.มีมติว่า พ.ต.อ.ชุมพล พุ่มพวง, พ.ต.อ.สัมฤทธิ์ เกตุแย้ม, พ.ต.ท.วิบูลย์ ถิ่นวัฒนากูล และ พ.ต.ท.วิรดล ทับทิมดี มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 78 (9)
ส่วนกรณีคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ร่วมลงนามในสำนวนการสอบสวน คดีจราจร 632/2555 ของสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อนั้น ป.ป.ช.มีมติว่า พล.ต.ต.กฤษฏิ์ เปียแก้ว, พ.ต.อ.สุคุณ พรหมายน และ พ.ต.อ.ไตรเมต อู่ไทย ในฐานะผู้บังคับบัญชา ไม่กำกับดูแล ติดตาม เพื่อให้การสอบสวนเป็นไป โดยถูกต้องรอบคอบ และเป็นธรรม เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย อันถือเป็นความบกพร่อง ซึ่งมีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 78 (9) เช่นกัน
โดย ป.ป.ช.มีมติให้ส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัยกับ พล.ต.ต.กฤษฏิ์ เปียแก้ว, พ.ต.อ.สุคุณ พรหมายน, พ.ต.อ.ไตรเมต อู่ไทย, พ.ต.อ.ชุมพล พุ่มพวง, พ.ต.อ.สัมฤทธิ์ เกตุแย้ม, พ.ต.ท.วิบูลย์ ถิ่นวัฒนากูล และ พ.ต.ท.วิรดล ทับทิมดี ตามฐานความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91 (2)
สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเช้ามืดวันที่ 3 กันยายน 2555 นายวรยุทธ อยู่วิทยา เป็นลูกชายคนเล็กของนายเฉลิม อยู่วิทยา มหาเศรษฐีเจ้าของเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อกระทิงแดง ขับรถยนต์หรูยี่ห้อเฟอร์รารี ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ อดีตผู้บังคับหมู่ปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิตบนถนนสุขุมวิท ขณะกำลังขับรถจักรยานยนต์ไปปฏิบัติหน้าที่ หลังจากเกิดเหตุนายวรยุทธได้หลบหนีไปทันที จากนั้นได้มอบตัวสู้คดีและได้รับการประกันตัวไป แต่การดำเนินการสอบสวนดำเนินคดีเป็นไปอย่างล่าช้า ปัจจุบันยังหลบหนีอยู่ต่างประเทศ
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 14.50 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เดินทางมาเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 5/2563 โดยมี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. และ รอง ผบ.ตร.เข้าร่วมประชุม ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
ภายหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการลงโทษทางวินัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีหลายรายด้วยกัน มีทั้งไล่ออก ปลดออก และเรื่องของการให้ความเป็นธรรม ที่มีการเปิดให้อุทธรณ์บางส่วนตามที่มีหลักฐานที่รับได้ ซึ่งการลงโทษทางวินัยก็มีในเรื่องของการให้ความเมตตา มีการลดโทษอะไรต่างๆ อย่างที่เคยพูดไว้ถ้าทำไม่ดีก็ต้องถูกลงโทษ คนดีก็ต้องสนับสนุนทำงานต่อไป
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อีกเรื่องตนให้คำชมเชยแก่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ในฐานะผู้บริหารระดับสูงของ สตช.และที่ปรึกษาคณะผู้ช่วยต่างๆ ที่ได้รายงานความคืบหน้า ตนจึงให้นโยบายไปว่าต้องสร้างการรับรู้เป็นระยะๆ การลงโทษทางวินัยอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามองย้อนกลับไปจะเห็นว่าเราลงโทษไปไม่น้อย บางทีเราก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องนี้แล้วปัญหาใหม่ๆ ก็เข้ามา ความผิดใหม่ๆ ก็เข้ามา โดยที่หลายคนไม่เข้าใจว่าเราดูแลกันอย่างไร ในฐานะที่ตนกำกับดูแล สตช.จึงให้ความสำคัญในเรื่องนี้ การเป็นผู้บังคับบัญชาคนมี 2 อย่าง คือให้คุณกับการให้โทษให้เหมาะสม ต้องลงโทษตามโทษานุโทษไปให้ได้
พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษก ตร. กล่าวว่า นายกฯ กำชับว่าขณะนี้มีอาชญากรรมหลายอย่างที่กระทบต่อชีวิตพี่น้องประชาชน ให้ตำรวจดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ยกตัวอย่างการกวาดล้างยาเสพติด กลุ่มนายทุนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนี้นอกระบบ การพนันออนไลน์ หรือนายทุนที่รับจำนำรถในบ่อนการพนัน ตำรวจต้องสร้างความเชื่อมั่นโดยการทำงาน ขอให้ตำรวจเป็นกลไกสำคัญในการทำงานวิถีใหม่ นิวนอร์มอล รวมไทยสร้างชาติ เน้นการทำงานโปร่งใส ลดขั้นตอนการปฏิบัติ
พล.ต.ท.ปิยะกล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นสุดท้ายนายกฯ กำชับเกี่ยวกับบทบาทของผู้บังคับบัญชา ที่จะต้องให้ทั้งคุณและโทษแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ในกรณีที่ตำรวจทำผิดในรูปแบบต่างๆ ต้องลงโทษอย่างจริงจัง ซึ่งในที่ประชุมวันนี้มีการพิจารณาปลดออก/ไล่ออกข้าราชการตำรวจที่กระทำผิดจำนวน 42 นาย เป็นกรณีของการละทิ้งหน้าที่เกินกว่า 15 วันเกี่ยวพันกับยาเสพติด กรณีต้องหาคดีอาญา และกระทำผิดวินัยร้ายแรง ตำรวจต้องปรับแนวทางในการตอบแทนความดีความชอบให้ข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเหนื่อยยาก โดยแบ่งเป็นกลุ่มงาน อาทิ ตำรวจที่ทำหน้าที่ในการปราบปรามยาเสพติด การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และเรื่องการค้ามนุษย์ อยากให้มีการพิจารณาตอบแทนตำรวจที่ทำหน้าที่ตรงนี้ด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |