"บิ๊กตู่" ยันอย่าห่วงงบโควิด จัดเหลื่อมไปถึงงบปี 64 เน้นฟื้นเศรษฐกิจ ฝ่ายค้าน "สุทิน" อัด พ.ร.บ.งบ 64 ขรก.อยากทำแต่ ปชช.ไม่อยากได้ จองกฐินชำแหละงบศาลรัฐธรรมนูญไม่มี กม.รองรับ กมธ.วิสามัญงบโควิดถกวางกรอบปะทะอีก! ฝ่ายค้านชงตรวจสอบงบกลาง เรียกนายกฯ แจง "ไพบูลย์" ตัดบทเอาแค่ พ.ร.ก. 3 ฉบับ
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ว่า อย่าได้กังวล รัฐบาลทำด้วยเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์ ซึ่งได้พูดไปแล้วว่างบประมาณฟื้นฟูเหมือนต่อลมหายใจให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ หลายๆ อย่างต้องบรรจุไว้ในปี 2564 เพื่อสานต่อเรื่องเหล่านี้ในการพัฒนา ดังนั้นขอให้แยกแยะให้ออก เพราะมีการพูดในสื่อหลายช่อง
ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า รัฐบาลส่งร่างพ.ร.บ.ให้สภาตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีกรอบพิจารณาให้แล้วเสร็จในวาระ 3 จำนวน 105 วัน ซึ่งจะต้องเสร็จสิ้นในวันที่ 28 ก.ย.63 โดยสภาจะพิจารณาในวาระแรกระหว่างวันที่ 1-3 ก.ค.นี้ และจะใช้วิธีพักการประชุมเพื่อให้เช้าวันรุ่งขึ้นพิจารณาต่อได้ทันทีไม่ต้องนับองค์ประชุม ทั้งนี้ วิปรัฐบาลและฝ่ายค้านได้มีการตกลงเวลากันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยประธานและรองประธานสภามีเวลา 2 ชั่วโมง ฝ่ายค้านมีเวลา 22 ชั่วโมง 30 นาที ส่วนรัฐบาลมีเวลา 22 ชั่วโมง จึงอยากให้ทุกฝ่ายเคารพกติกาและต้องบริหารเวลาตามที่ตกลงกันไว้ ไม่มีการขอเวลาเพิ่ม หากมีการประท้วง พาดพิง ให้หักเวลาของฝ่ายนั้น
นพ.สุกิจกล่าวว่า สภามีปัญหาเรื่องการจราจร รวมทั้งจำนวนคนที่จะเดินทางเข้ามาในวันดังกล่าวจำนวนมาก จึงขอร้องให้บรรดารัฐมนตรีและ ส.ส.ให้ผู้ติดตามมาน้อยที่สุดไม่เกิน 1-2 คน และให้งดการประชุมคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ในช่วงการอภิปรายงบประมาณ เพื่อลดจำนวนคนที่เข้ามาสู่รัฐสภา บรรเทาความแออัดของผู้คนรวมถึงความคับคั่งของการจราจร
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง พร้อมด้วยปลัดกระทรวงการคลังได้ประชุมร่วมกับสำนักงบประมาณ และหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง ประกอบด้วย กรมสรรพากร, กรมสรรพสามิต, กรมศุลกากร, กรมบัญชีกลาง, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบปี 2564 ในวาระแรก ภายใต้วงเงิน 3.3 ล้านบาท สอดคล้องตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งให้ความสำคัญต่อความเชื่อมโยงกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล มีเป้าหมายเพื่อบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มั่นใจว่าจะผ่านการพิจารณาของสภาอย่างแน่นอน
ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ส.ส.ฝ่ายค้านมีผู้แสดงเจตจำนงอภิปรายกว่า 120 คน และอาจมีเพิ่มหลังจากนี้ ยอมรับว่ามี ส.ส.หลายคนถามถึงการจัดสรรงบประมาณให้ศาลรัฐธรรมนูญ ที่อ้างว่ายังไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งที่ผ่านมายังคงติดใจการรับงบประมาณของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้จะมีสมาชิกหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาอภิปราย ขณะเดียวกันเห็นว่าการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบปี 2564 ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน เป็นการจัดงบประมาณที่ข้าราชการอยากทำ แต่ประชาชนไม่อยากได้ รวมทั้งยังติดใจเรื่องการจัดทำงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยเฉพาะการใช้งบจาก 3 ก้อนที่ใช้ดำเนินการซ้ำซ้อนไม่สัมพันธ์กัน คืองบประมาณตาม พ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ 2563 งบตามพระราชกำหนดกู้เงิน 3 ฉบับ และร่าง พ.ร.บ.งบปี 2564
นายสุทินกล่าวว่า จากการหารือกับประธานวิปรัฐบาลได้กำหนดตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2564 จำนวน 72 คน มีกรอบเวลาศึกษา 80-90 วัน โดยจะเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3 ประมาณเดือน ก.ย.นี้ อย่างไรก็ตามเห็นว่าเป็นกรอบเวลาที่มีข้อจำกัด จึงอยากฝากต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือนักการเมืองรุ่นต่อไปว่าขอให้ใช้เวลาในการอภิปรายและพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณที่มากขึ้นกว่านี้
นอกจากนี้ กรณีที่นายกฯ ระบุว่าโลกเปลี่ยนไปมาก ส.ส.ทุกคนต้องปรับตัวตามโลก แต่รัฐบาลกลับไม่ปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณ และยังมีงบในส่วนของงบบูรณาการให้จังหวัดที่สมาชิกยังคงติดใจ เพราะงบปี 2564 เป็นงบที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2562 แต่มีปรับเปลี่ยนตอนมีโควิด-19 เข้ามา ซึ่งงบจังหวัดเดิมจัดสรรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการ แต่ก็จัดงบมาไว้ที่ส่วนกลาง ถือเป็นความซ้ำซ้อนระหว่างงบกลางกับงบจังหวัด
นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ได้เอกซเรย์การจัดทำงบประมาณปี 2564 แล้วรู้สึกใจหาย เพราะผู้รับผิดชอบมีเวลาล้นเหลือ แต่กลับจัดทำงบประมาณแบบไม่สะท้อนความจริง ไม่แน่ใจว่าแก่ชราหรือยังหลงยุคอยู่กันแน่ ภายหลังการระบาดของโควิด-19 โลกจะเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบนิวนอร์มอล แต่ประเทศไทยกลับจัดทำงบประมาณรูปแบบเดิมๆ แถมยังอ้างยุทธศาสตร์ชาติที่ไม่เคยใช้สมองคิดรองรับเรื่องโควิดมาก่อน ดังนั้นโครงการต่างๆ จึงโบราณเก่าแก่ ไม่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกในครั้งนี้เลย
นอกจากนี้ กรอบงบประมาณปี 2564 มีวงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2563 จำนวน 1 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.1% โดยเป็นการจัดงบประมาณแบบขาดดุลที่รัฐบาลต้องกู้อีกกว่า 6 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับการกู้เงินตามพระราชกำหนดอีก 1 ล้านล้านบาท จึงกลายเป็นหนี้ที่คนไทยต้องแบกรับจำนวนมหาศาล แต่ร่างกฎหมายขอใช้เงินฉบับนี้กลับมีรายละเอียดที่น่าผิดหวัง จึงขอตั้งข้อสังเกตเอาไว้วันนี้เลยว่าการใช้เงินต่างๆ จะซ้ำซ้อน ไม่ได้ประโยชน์ และจะมีคำครหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชันออกมาอย่างไม่ขาดสาย
วันเดียวกัน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาติดตามตรวจสอบการใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน กมธ. ได้มีการประชุมเพื่อหารือถึงขอบเขตการทำงานของ กมธ.
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ เสนอว่า กมธ.ชุดนี้ควรต้องได้ตรวจสอบงบกลางที่ได้รับโอนย้ายมาจากงบประมาณปี 2563 เพราะงบกลางเป็นงบที่มีแนวโน้มการใช้แบบสะเปะสะปะ และควรต้องติดตามตรวจสอบรายละเอียดในมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลด้วย เช่น มาตรการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน รวมไปถึงเรื่องการช่วยเหลือเยียวยา รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนอย่างไรได้บ้าง นอกจากนี้ กมธ.ควรต้องมีอายุมากกว่า 120 วัน เพื่อให้เป็นการตรวจสอบติดตามในระยะยาว เนื่องจาก พ.ร.ก.กู้เงินให้อำนาจรัฐบาลกู้เงินถึง ก.ย.64
ด้านนายอดิศร เพียงเกษ กรรมาธิการในส่วนของพรรคเพื่อไทย เสนอว่าควรเชิญนายกรัฐมนตรีมาตอบคำถามและเสนอวิสัยทัศน์ต่อ กมธ. เพราะควรต้องตรวจสอบฝ่ายการเมืองคือนายกฯ ไม่ใช่แค่ไปตรวจสอบข้าราชการในหน่วยงานต่างๆ เท่านั้น เพราะเป็นเพียงกลไกที่นายกฯ สั่งการมา จากนั้นได้ขอให้มีการลงมติกันในที่ประชุมว่าควรเชิญนายกฯ มาหรือไม่ แต่นายไพบูลย์ประธานในที่ประชุมได้ตัดบท ส่งผลให้นายอดิศรประท้วงโดยการเดินออกจากที่ประชุม
ทั้งนี้ นายไพบูลย์ได้สรุปกรอบการทำงานของ กมธ.ว่าจะพิจารณาแค่ พ.ร.ก. 3 ฉบับให้เสร็จก่อน โดยการประชุมในครั้งถัดไปคือวันที่ 29 มิ.ย. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลและตอบคำถามกรรมาธิการในส่วนของ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท และในการประชุมวันที่ 30 มิ.ย.จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมาให้ข้อมูลและตอบคำถามเรื่อง พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 และ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |