ขยายฉุกเฉินถึง31กค. สมช.ยันสู้โควิดปัดการเมือง บิ๊กตู่ลั่นป้องกันระบาดรอบ2


เพิ่มเพื่อน    


    "สมช." ชง "ศบค." ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน รับมือเฟส 5 ผ่อนปรนกิจการล่อแหลม  ปัดมีนัยแฝงการเมือง อ้าง 24 มิ.ย.มีชุมนุมก็ไม่ได้ใช้ "บิ๊กตู่" กำชับรัฐต้องเข้มข้นป้องกันระบาดรอบ 2  ขอ ปชช.ร่วมมืออย่าการ์ดตก "พท." โวยคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินหวังจัดการคนเห็นต่าง "ศบค." แถลงพบผู้ติดโควิดเพิ่ม 1 รายกลับจากอียิปต์ เฮ! ในประเทศไร้ติดเชื้อเป็นเวลา 31 วัน "สธ." เผยจีน-ญี่ปุ่นยื่นข้อเสนอทราเวลบับเบิลกับไทยแล้ว
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 25 มิ.ย. เวลา 10.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (รมว.กลาโหม) ได้หารือกับคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.ชุดเล็ก) เป็นการภายใน ก่อนที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะหารือในช่วงบ่าย โดยมี นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานคณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และในฐานะกรรมการ ศบค.ชุด สมช. พร้อมด้วย พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ร่วมหารือเรื่องการต่ออายุการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)
    พล.อ.สมศักดิ์กล่าวหลังการเข้าพบและพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ว่า เป็นการรายงานผลการประชุมเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนเรื่องการต่ออายุการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ จะมีการประชุมพิจารณาในช่วงบ่าย 
    จากนั้น พล.อ.สมศักดิ์ พร้อมด้วย พล.อ.ณัฐพลได้ขึ้นไปพบและพูดคุยกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าเป็นการหารือกันในส่วนของข้อความกฎหมายต่างๆ
    ต่อมาเวลา 14.30 น. พล.อ.สมศักดิ์แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อประเมินความเหมาะสมในการขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. มีการพิจารณาเรื่องสำคัญคือ การผ่อนคลายกิจกรรม กิจการในระยะที่ 5 ที่จะเริ่มในวันที่ 1 ก.ค. ซึ่งเรียกได้ว่ามีการผ่อนคลายทั้งหมด เช่น การเปิดเรียน การไม่จำกัดเวลาในการเปิดห้างสรรพสินค้า สถานบริการผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด ร้านเกม โดยรายละเอียดตรงนี้ต้องเสนอให้ ศบค.ชุดใหญ่พิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 29 มิ.ย.  ส่วนการแข่งขันกีฬาจะให้มีผู้เข้าชมได้เมื่อไรนั้น ต้องรอดูการผ่อนคลายระยะที่ 5 ก่อน ถ้าสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น รวมถึงสถานการณ์โลกดีขึ้นค่อยพิจารณา เพราะวันนี้ ศบค.ชุดเล็กเขาก็ประเมินกันเป็นรายวัน
    พล.อ.สมศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้ได้พิจารณาเกี่ยวกับการขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  ซึ่งเราดูในทุกมิติ ทั้งความมั่นคง ข่าวกรอง กฎหมายและสาธารณสุข โดยเห็นควรให้ขยายเวลาออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-31 ก.ค.63 เพราะกิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลายในระยะที่ 5 มีความล่อแหลมต่อการระบาดของโควิดมากที่สุด เช่น การเปิดเรียน เราจึงต้องให้ความสำคัญในการป้องกันอย่างมาก  จึงจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป 
    "หากไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ต้องใช้กฎหมายถึง 5 ฉบับมาแทนที่ แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะมีประสิทธิภาพเท่ากับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เช่น พ.ร.บ.ควบคุมโรค ก็จะเน้นการแก้ปัญหาเฉพาะจุด ไม่ใช่การทำงานเชิงรุก กลยุทธ์ในการป้องกันโควิดของเราตั้งแต่แรกคือใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคุมไม่ให้มีการนำโรคจากต่างประเทศเข้ามาสู่ประเทศไทย ซึ่งมีประสิทธิภาพ เป็นกลไกสำคัญ เมื่อเราจะผ่อนคลายกิจกรรมที่ล่อแหลม จึงต้องคงเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพนี้ต่อไป และเรื่องนี้ยังเป็นเพียงการพิจารณาของชุดเฉพาะกิจ ยังต้องเข้าที่ประชุม ศบค.และ ครม.ต่อไป" พล.อ.สมศักดิ์กล่าว
ยันต่อ พรก.ฉุกเฉินสู้โควิด
    ถามว่าฝ่ายการเมืองออกมาโจมตีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่ามีนัยแฝงทางการเมืองนอกเหนือจากการป้องกันโควิด เลขาฯ สมช.ยืนยันว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่มีนัยทางการเมืองตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันและอนาคต เห็นได้จากเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่มีการทำกิจกรรมทางการเมือง ก็ไม่มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปดำเนินการ เพราะมี พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะอยู่ เราใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วยเหตุผลทางสาธารณสุขเป็นหลัก และเมื่อมีการประกาศผ่อนคลายเฟส 5 แล้ว ก็ไม่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน  
    "ที่สำคัญช่วง 1 เดือนนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะสถานการณ์โลกยังมีความน่าเป็นห่วง แม้ประเทศเราดีแต่ก็กังวลเรื่องการระบาดรอบ 2 หากเป็นเช่นนั้นสิ่งที่เราทุ่มเทมาจะสูญเปล่า เราจึงต้องมีมาตรการที่สร้างความมั่นใจป้องกันการแพร่ระบาด นั่นคือการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" เลขาฯ สมช.กล่าว
    ถามถึงการพิจารณา Travel Bubble พล.อ.สมศักดิ์กล่าวว่า เรื่องนี้มีการพูดคุยแต่ยังไม่มีข้อยุติในเร็ววันนี้ ต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน และปัจจุบันก็ยังไม่มีประเทศใดประสานเข้ามาแต่อย่างใด แต่ที่มีข้อยุติในเร็ววันคือ การเดินทางของนักธุรกิจที่ปัจจุบันมีบางส่วนเดินทางเข้ามาแล้วต้องถูกกักตัว 14  วัน แต่เราจะพิจารณาในส่วนของนักธุรกิจที่เข้ามาเพียงไม่กี่วัน จะให้เขาสามารถเดินทางไปทำธุรกิจต่อได้เลย ไม่ต้องกักตัว แต่ต้องมีมาตรการที่เข้มข้น คือต้องมีการตรวจโควิดอย่างน้อย 3 ครั้ง คือก่อนเดินทาง เมื่อมาถึงไทย และก่อนออกจากประเทศไทย รวมทั้งระหว่างอยู่ประเทศไทยก็ต้องสามารถติดตามตัวได้ตลอด คาดว่าจะให้เขายื่นเรื่องเข้ามาให้เราพิจารณาได้ตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นไป 
    "ประเทศที่เราจะพิจารณาในเบื้องต้นคือ ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ฮ่องกง และจีนบางเมือง ซึ่งเราจะพิจารณาถึงประเทศต้นทางว่ามีขีดความสามารถทางสาธารณสุขใกล้เคียงกับเรา และที่สำคัญการจะให้เข้ามานั้นต้องประเมินแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจ" พล.อ.สมศักดิ์กล่าว
    อย่างไรก็ตาม เลขาฯ สมช.กล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพื่อรักษาการเจ็บป่วย (medical  and wellness tourism) ว่า การท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรมทางการแพทย์นั้น ผู้ที่เข้ามาจะไม่ใช่การเข้ามาเพื่อรักษาโควิด เพราะหากเป็นโควิดก็ไม่สามารถขึ้นเครื่องได้ตั้งแต่ต้น เวลาเข้ามาจะต้องอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 14 วัน และหากรักษาเสร็จสิ้นจะอยู่ต่อหรือไม่ก็ได้ ถือเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจ มีหลายชาติให้ความสนใจในส่วนนี้ 
    ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ถึงการรับมือการผ่อนปรนกิจกรรมและกิจการบางประเภทระยะที่ 5 ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ว่า ในการผ่อนปรนระยะที่ 5 ต้องมีการรับมือตั้งแต่ต้น โดยต้องคิดไว้ก่อนว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและการทำมาหากินของประชาชน และมาตรการของรัฐจะต้องมีอย่างไรในระดับที่เข้มข้นในการติดตามตรวจสอบ เปิดแล้วก็ปิดได้หากไม่ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ ซึ่งรัฐบาลต้องคิดให้รอบด้าน  โดยต้องดูว่ามีปัญหาที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง จะปลดล็อกตรงไหนอย่างไร มีมาตรการไหนรองรับและลดความเสี่ยงได้บ้าง 
    "ขอบคุณประชาชนที่ร่วมมือมาตลอดที่ผ่านมา จนทำให้ถึงวันนี้มีความก้าวหน้าตามลำดับ รวมทั้งมีความก้าวหน้าในเรื่องวิจัยและพัฒนายารักษา ถือเป็นประเทศสำเร็จในชั้นต้นถ้าเทียบกับหลายประเทศที่มีศักยภาพในเวลานี้ ซึ่งเป็นการร่วมมือของคนไทยทุกคนในชาติที่สร้างสรรค์สิ่งดีๆ นี่คือคำว่า รวมไทยสร้างชาติ จะเห็นว่าทุกคนใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างและปฏิบัติตามมาตรการของรัฐและต่อต้านน้อยมาก แต่มีหลายแห่งที่เห็นตามสื่อโดยเฉพาะสถานบริการต่างๆ เริ่มไม่ระวัง ดังนั้นต้องสร้างความเข้าใจให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่เช่นนั้นหากมีการแพร่ระบาดรอบใหม่ทุกอย่างจะเสียหายหมด จึงฝากสื่อช่วยเตือนด้วย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
บิ๊กตู่ย้ำเฟส 5 อย่าการ์ดตก
    นายกฯ กล่าวว่า เรื่องมาตรการสาธารณสุขได้เน้นย้ำให้ทุกคนยังคงเคร่งครัดและเข้มงวดกับตัวเอง  ขณะที่สังคม ชุมชน และพื้นที่ก็ต้องดูแล ทั้งจากส่วนกลางและท้องถิ่นที่ต้องเป็นกำลังหลักดูแลประชาชน ดูแลครอบครัว ดูแลตัวเองและคนอื่น เรียกว่ารวมไทยสร้างชาติ ซึ่งคนไทยทุกคนก็หวังให้ประเทศชาติปลอดภัย มีความสุข มีความก้าวหน้าและพัฒนา ก็ต้องร่วมมือกัน ตนยินดีรับฟัง หากเสนออะไรที่เป็นประโยชน์ ตนก็รับมาและรับปากอะไรที่ดูแลได้ก็จะช่วยดูแล
    ส่วน พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า นายกฯ ฝากขอบคุณตำรวจทุกนายที่ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ ในการสนองนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม 
    "ในการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ความผิดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม  นายกฯ ให้ตำรวจดำเนินคดีอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยใช้กฎหมายเป็นตัวตั้ง ให้ใช้หลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ควบคู่กัน รวมทั้งกำชับเกี่ยวกับการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ซึ่งจะเข้าสู่ระยะที่ 4-5 มีหลายกิจกรรมที่ต้องให้ฝ่ายความมั่นคงทั้งตำรวจและทหารช่วยกันกำกับดูแล เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถปฏิบัติหน้าที่ด้วยความราบรื่น และคนไทยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ" โฆษก ตร.กล่าว
    อย่างไรก็ตาม นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์โควิด-19 ประจำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า  พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปแล้ว รัฐบาลสามารถใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อควบคู่กับกฎหมายปกติก็สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเชื่อว่าสามารถแก้ปัญหาได้ 
    "ที่นายกรัฐมนตรีอ้างว่าคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น เพราะการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพียงเพื่อกระชับอำนาจในการสั่งการ และปกป้องตัวเองจากความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล ดังนั้นการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพียงเพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการกับกลุ่มที่เห็นต่างกับรัฐบาลมากกว่าการป้องกันโรค" ผอ.ศูนย์โควิด พท.ระบุ
    วันเดียวกัน พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)​ แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 1 ราย เป็นผู้ป่วยเพศชาย อายุ 24 ปี เดินทางกลับมาจากประเทศอียิปต์ ถึงไทยเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.63 เข้าพักที่สถานกักกันที่รัฐจัดให้ใน จ.ชลบุรี โดยตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.63 ซึ่งไม่แสดงอาการ 
    "ผู้ป่วยยืนยันสะสมยังคง 3,158 ราย โดยไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศเป็นเวลา 31 วัน โดยจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศอยู่ที่ 2,444 ราย และผู้ป่วยยืนยันที่กลับมาจากต่างประเทศ 714 ราย  และพบผู้ติดเชื้อในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 221 ราย มีผู้ป่วยหายเพิ่ม 12 ราย ยอดผู้ป่วยรักษาหายแล้วสะสม 3,038 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 62 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม โดยยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย" ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว 
    ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศเป็นวันที่ 31 แล้ว โดยการที่จะทำให้ผู้ป่วยในประเทศไทยเป็นศูนย์ไปตลอด จากนี้จะต้องมีราคาที่ต้องจ่ายและต้นทุนที่สูงมาก โดยจะต้องล็อกทุกอย่างมาตรการต้องเข้มมาก ซึ่งปัญหาความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมจะมีมาก แต่ในทางกลับกันถ้าปล่อยให้มีผู้ป่วยโควิด-19 มากจนเกินระบบที่สาธารณสุขในประเทศจะรองรับได้ อัตราการเสียชีวิตก็จะเพิ่มขึ้นเหมือนหลายประเทศ และจะกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นจึงมีจุดที่ได้ประโยชน์สูงสุด เรายอมให้มีคนไข้จำนวนหนึ่งที่สามารถจัดการได้ แล้วเศรษฐกิจก็สามารถเดินไปได้
จีน-ญี่ปุ่นยื่นขอจับคู่ไทย
    นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ในส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยส่วนใหญ่มาจากคนจีน ซึ่งมีร้อยละ  27.6 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด และทำให้เกิดรายได้เข้าประเทศร้อยละ 28.1 ดังนั้นถ้าทำ Travel  Bubble กับประเทศจีนก็จะได้รายได้กลับคืนมา แต่ในระยะต้นก็ยังมีข้อจำกัดที่จะต้องมีเงื่อนไขและมาตรการต่างๆ โดยหลักการของ ร่าง Travel Bubble คือเจรจากับประเทศเสี่ยงต่ำเป็นคู่ๆ โดยใช้เกณฑ์ผู้ป่วยใหม่ในประเทศนั้นๆ
    กำหนดกลุ่มบุคคลที่อนุญาตให้เข้ามา และกำหนดแผนการดำเนินการกิจกรรมในประเทศไทย โดยกำหนดมาตรการของประเทศต้นทางที่ได้จับคู่ ตั้งแต่การป้องกันตั้งแต่ประเทศต้นทาง มีการตรวจคัดกรอง มีประกันที่ครอบคลุม การตรวจรักษาโควิด-19 Travel Certificate/Visa ออกโดยสถานทูตไทย  ระหว่างการเดินทางต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ลดการสัมผัสผู้โดยสารด้วยกันรวมถึงลูกเรือและผู้โดยสาร แยกโซนผู้โดยสารที่มีอาการ และมีชุด PPE สำหรับลูกเรือ
    นอกจากนี้ เมื่อมาถึงไทยสนามบินอาจมีกำหนดแยกโซนในอาคารระหว่างประเทศสำหรับผู้ที่เดินทางแบบดังกล่าว หรือจัดสนามบินเฉพาะ เช่น อู่ตะเภา และผู้ที่เดินทางทุกคนต้องมีแอปพลิเคชันติดตาม เช่น DDC Care หรือหมอชนะ ซึ่งทุกคนจะต้องมีสมาร์ตโฟน ถ้าใครไม่มีจะต้องซื้อหรือเช่าได้ที่สนามบิน และเดินทางด้วยรถของโรงแรมเท่านั้น ห้ามใช้ขนส่งสาธารณะ ในส่วนของโรงแรมจะต้องจัดชั้นที่พักแยกเฉพาะสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ทำความร่วมมือกับโรงพยาบาล และผู้ที่เดินทางทุกคนต้องอยู่ในห้องพักจนกว่าจะรู้ผลตรวจ​โควิด-19 โดยขณะนี้ประเทศที่มีหนังสือข้อเสนอมาตรการ Travel Bubble อย่างเป็นทางการให้แก่ไทยคือจีนและญี่ปุ่น โดยแนบขั้นตอนการจัดการต่างๆ มาด้วย ซึ่งหลักการดังกล่าวไทยจะนำข้อเสนอของประเทศต่างๆ มาเจรจา ถ้าเจรจากันได้เรียบร้อยก็จะจับคู่กัน และจะทำ MOU ร่วมกันโดยต้องผ่านที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบจึงจะสามารถดำเนินการได้
    ถามว่ากรณีคนต่างชาติที่อยู่ในประเทศที่จับคู่กับประเทศไทย เมื่อมาไทยจะต้องกักตัว 14 วันใช่หรือไม่ และกรณีที่คนไทยเดินทางไปต่างประเทศจะต้องกักตัว 14 วันก่อนเข้าประเทศหรือไม่ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ไม่ต้องถูกกักตัว 14 วัน ส่วนคนไทยที่กลับมาก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน เฉพาะประเทศที่ทำ  Travel Bubble
    ซักว่า หากเกิดกรณีประเทศจับคู่มีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างไร จะยกเลิกการจับคู่ Travel Bubble หรือไม่ รองปลัด สธ.กล่าวว่า เรามีเกณฑ์ในการกำหนดความเสี่ยงอยู่  เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป วันหนึ่งประเทศจับคู่อาจจะมีความเสี่ยงสูง วันนั้นประเทศคู่ทางก็อาจจะเปลี่ยน อย่างไรก็ตามวันนี้ประเทศไทยค่อนข้างเนื้อหอม เนื่องจากประเทศไทยจัดการค่อนข้างดี มีหลายประเทศมุ่งเข้ามาเจรจากับไทยอยู่มาก
    ด้านนายเทวัญ​ ลิปตพัลลภ​ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังเข้าเฝ้ากราบถวายสักการะสมเด็จพระสังฆราชเนื่องในวันคล้ายวันประสูติ​ 26​มิ.ย.ว่า ท่านประทานกำลังใจแก่คณะรัฐมนตรี และเป็นห่วงเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ที่สำคัญวันนี้สมเด็จพระสังฆราชตรัสถึงเรื่องโรงทาน ซึ่ง​นายกรัฐมนตรีได้ถวายข้าวสาร 30 ตัน และนมอีกแสนกว่ากล่อง โดยสมเด็จพระสังฆราชได้ทรงนำข้าวและนมไปแจกจ่ายแก่วัดที่ทำโรงทาน รวมถึงมีเรื่องเมล็ดพันธุ์พืชที่จะทำสวนครัวในวัด เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาทำซึ่งบางวัดมีพื้นที่เหลือเยอะ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"