คณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมามีมติรับทราบตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เรื่องการลงนามในหนังสือตราสารการโอนกรรมสิทธิ์ ระหว่าง Police Coast Guard (PCG) และสำนักงาน ป.ป.ส. โดยฝ่ายไทยเป็นผู้รับมอบเรือลาดตระเวน จำนวน 3 ลำ คือ เรือแบบ PT จำนวน 1 ลำ และเรือแบบ SU จำนวน 2 ลำ จากฝ่ายสิงคโปร์ ซึ่งเป็นขั้นตอนทางธุรการให้ถูกต้องตามกรรมวิธีระหว่างประเทศ
รวมถึงเห็นชอบการลงนามในหนังสือตราสารการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ส. และ Loa National Commission for Drug Control and Supervision (LCDC) โดยฝ่าย สปป.ลาวเป็นผู้รับมอบเรือลาดตระเวนแบบ SU จำนวน 1 ลำ จากฝ่ายไทย และการลงนามในหนังสือตราสารการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ส. และ Drug Enforcement Division of Myanmar Police Force (DED) โดยฝ่ายเมียนมาเป็นผู้รับมอบเรือลาดตระเวน จำนวน 2 ลำ คือ เรือแบบ PT จำนวน 1 ลำ และเรือแบบ SU จำนวน 1 ลำ จากฝ่ายไทย
อีกทั้งมีการดำเนินการส่งมอบไปเรียบร้อยแล้ว โดยเลขาธิการ ป.ป.ส.เป็นผู้แทนรัฐบาลไทย เดินทางไปลงนามในหนังสือตราสารการโอนกรรมสิทธิ์รับมอบเรือลาดตระเวนจากสาธารณรัฐสิงคโปร์ จำนวน 3 ลำ เมื่อวันพุธที่ 16 ตุลาคม 2562 ณ สำนักงานใหญ่หน่วยงานตำรวจตระเวนชายฝั่งสิงคโปร์ (Police Coast Guard: PCG) โดยมีนายเชียง เคง ค็อง (Mr.Cheang Keng Keong) ผู้บังคับการ PCG เป็นผู้แทนฝ่ายสิงคโปร์ในการลงนาม โอกาสนี้ นายอึ้ง เซอ ซง (Mr.Ng Ser Song) ผู้อำนวยการหน่วยงานกลางด้านยาเสพติดของสาธารณรัฐสิงคโปร์ (Central Narcotics Bureau: CNB) ร่วมเป็นเกียรติในพิธีดังกล่าว
และทางสำนักงาน ป.ป.ส.ได้จัดพิธีลงนามหนังสือตราสารการโอนกรรมสิทธิ์ และส่งมอบเรือลาดตระเวนระหว่างไทย-สปป.ลาว และไทย-เมียนมา เมื่อวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม 2563 ณ ท่าเรือ BMT Pacific Ltd. (BMTP) จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนายเควิน ฉ็อก (H.E. Mr.Kevin Cheok) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสิงคโปร์ประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามหนังสือตราสารการโอนกรรมสิทธิ์ และส่งมอบเรือลาดตระเวนระหว่างไทย-สปป.ลาว และไทย-เมียนมา เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการลาดตระเวนสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดนลุ่มน้ำโขง
โดยมีเลขาธิการ ป.ป.ส. นายวงเพ็ด แสนวงสา (Mr.Vongphet Senvongsa) รองเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อตรวจตราและควบคุมยาเสพติด สปป.ลาว (Loa National Commission for Drug Control and Supervision: LCDC) และพันตำรวจเอกลา มิน (Pol.Col. Hla Min) ผู้อำนวยการฝ่ายอำนวยการและแผน กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดเมียนมา (Drug Enforcement Division of Myanmar Police Force: DED) เป็นผู้แทนในการลงนามหนังสือตราสารการโอนกรรมสิทธิ์
ทั้งนี้ ผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ส.ดำเนินการส่งมอบเรือลาดตระเวนแบบ SU จำนวน 2 ลำ ให้แก่ฝ่าย สปป.ลาว และฝ่ายเมียนมา ประเทศละ 1 ลำ เพื่อใช้ในการลาดตระเวนสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่แม่น้ำโขงและสามเหลี่ยมทองคำ เมื่อวันพุธที่ 11 มีนาคม 2563 ณ ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน 1 จังหวัดเชียงราย
ขณะที่ ผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ส.ดำเนินการส่งมอบเรือลาดตระเวนแบบ PT จำนวน 1 ลำ ให้แก่ฝ่ายเมียนมา เพื่อใช้ในการลาดตระเวนสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันมิให้เข้าสู่ราชอาณาจักรไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน เมื่อวันศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2563 ณ ท่าเรือระนอง จังหวัดระนอง
การส่งมอบเรือเป็นไปตาม “แผนความร่วมมืออาเซียนเพื่อต่อสู้กับปัญหาการลักลอบผลิตและการค้ายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ” ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มในการผลักดันให้ประเทศอาเซียนทั้งหมด ช่วยสนับสนุนประเทศอาเซียนตอนบนที่มีพื้นที่ติดต่อกับสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งได้แก่ ประเทศไทย สปป.ลาว และเมียนมา ซึ่งแผนความร่วมมืออาเซียนดังกล่าวได้กำหนดกรอบการดำเนินงานร่วมกัน ทั้งการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ การพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการสกัดกั้นสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตยาเสพติด
ประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มการเจรจาเพื่อแสวงหาความร่วมมือจากประเทศอาเซียน และเป็นผู้นำในการจัดทำแผนความร่วมมือดังกล่าว จึงเป็นผู้แทนในการรับมอบเรือจากประเทศสิงคโปร์ ประกอบด้วย เรือลาดตระเวน PT 1 ลำ และเรือลาดตระเวน SU 2 ลำ ซึ่งเรือลาดตระเวนทั้ง 3 ลำนี้ได้ถูกส่งต่อให้กับ สปป.ลาว และเมียนมา เพื่อนำไปใช้ในภารกิจการลาดตระเวนสอดคล้องกับ “แผนปฏิบัติการสามเหลี่ยมทองคำ 1511" ทั้งการสกัดกั้นมิให้สารตั้งต้นเข้าไปสู่แหล่งผลิตในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ รวมทั้งสกัดกั้นมิให้ยาเสพติดออกจากแหล่งผลิตมาสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
ซึ่งผลการดำเนินงานปราบปรามยาเสพติดนี้เป็นแผนปฏิบัติการร่วมสามเหลี่ยมทองคำ 1511 ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ถึงปัจจุบัน มีผลการจับกุมปราบปรามทั้งสิ้น 4,930 ครั้ง ยึดยาบ้ามากกว่า 238.6 ล้านเม็ด ไอซ์เกือบ 7 ตัน เฮโรอีน 1.2 ตัน สารตั้งต้น 8.3 ตัน กาเฟอีน 7.2 ตัน และเคมีภัณฑ์อื่นๆ อีกมากกว่า 218.5 ตัน โดยเฉพาะในเมียนมาตรวจยึดสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ได้มากที่สุดรวมกัน 190 ตัน
แผนปฏิบัติการร่วมสามเหลี่ยมทองคำ 1511 หรือ Operation 1511 เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ให้ความสำคัญต่อการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อยุติปัญหาแหล่งผลิตยาเสพติดในสามเหลี่ยมทองคำ ในตลอด 5 เดือนที่ผ่านมานั้นถือเป็นการหยุดยั้งยาเสพติดจำนวนมหาศาลก่อนจะถูกส่งเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศต่างๆ เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญในการตัดวงจรยาเสพติด
น่าสนใจว่า นอกจากประเด็นความร่วมมือในการปราบปรามยาเสพติดแล้ว สภาพปัญหาในแม่น้ำโขงยังมีความเกี่ยวพันกับสถานการณ์ของประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคนี้ด้วย เพราะต้องยอมรับว่าบทบาทของจีนส่งผลกระทบต่อประเทศในภูมิภาคนี้ค่อนข้างสูง
ขณะที่สหรัฐเริ่มขยับเข้ามาในปัญหาในลุ่มน้ำโขงมากขึ้น การที่สิงคโปร์เข้ามาสนับสนุนยุทโธปกรณ์ในภารกิจด้านการปราบปรามยาเสพติด จึงถือเป็นการขยายความร่วมมือให้เกิดความแน่นแฟ้น และสร้างความสมดุลในการแก้ไขปัญหาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |