เฟส5อาบอบนวดเช็กอินไทยชนะ


เพิ่มเพื่อน    


     "เลขาฯ สมช." ชงคลายล็อกเฟส 5 เสนอ "ศบค.ชุดใหญ่" 29 มิ.ย. "ผับ-บาร์-อาบอบนวด" รอเฮ! เปิดบริการ 1 ก.ค.นี้ พร้อมเล็งถกต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ 25 มิ.ย. "โฆษก ศบค." แถลงติดเชื้ออีก 1 ราย หายกลับบ้านเพิ่ม 3 ราย ย้ำหลังผ่อนปรนระยะ 5 ทุกกิจการต้องยึดมาตรการป้องกันเข้ม  "สธ." เห็นชอบร่างระบบการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 จากผู้เดินทางที่จะเข้าไทย 
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 24 มิ.ย. พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ​ (สมช.)​  เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมีวาระการพิจารณาแนวทางการผ่อนคลายกิจกรรมและกิจการบางประเภท ระยะที่ 5 ซึ่งยังเหลือบางส่วน อาทิ สถานบันเทิง ผับ บาร์  คาราโอเกะ รวมถึงนักดนตรีอิสระ  
    พล.อ.สมศักดิ์กล่าวหลังการประชุมว่า กิจกรรมและกิจการบางประเภทที่จะได้รับการผ่อนคลายมาตรการในระยะที่ 5 จะประกอบด้วย​ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ต  สถานบริการอาบอบนวดและโรงน้ำชา ซึ่งจะสามารถเปิดบริการได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้ โดยจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการที่ผ่านมาพบว่าได้วางมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันอย่างเป็นขั้นตอน และจะนำข้อหารือทั้งหมดในการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ รายงานต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดใหญ่ในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ 
    "ถ้าที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอ จะสามารถอนุญาตให้กลับมาเปิดบริการได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้  หลังจากนั้นจะเหลือกรณีของสนามกีฬาที่มีคนเข้าชมการแข่งขันเท่านั้นที่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้"  พล.อ.สมศักดิ์กล่าว
    เลขาฯ สมช.กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ยังได้หารือถึงการจับคู่ประเทศที่สามารถจัดการโรคโควิด-19 ได้ดีเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างกัน (ทราเวลบับเบิล) ในเบื้องต้นคาดว่าจะเกิดขึ้นไม่เร็วกว่าเดือน ส.ค.นี้ เนื่องจากต้องพิจารณาปัจจัยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ความพร้อมของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจประเทศต้นทาง  
    "ส่วนการพิจารณาว่าหลังครบกำหนดการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน วันที่ 30 มิ.ย.นี้แล้วจะต่ออายุการบังคับใช้อีกหรือไม่นั้น สมช.จะมีการประชุมกันในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ แล้วจะนำผลการพิจารณารายงานต่อ ศบค.ในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ ก่อนจะเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 30  มิ.ย.นี้ต่อไป" เลขาฯ สมช.กล่าว
    ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)​ แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ประจำวันว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 1 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่เดินทางกลับมาจากประเทศฟิลิปปินส์ โดยผู้ป่วยยืนยันสะสมยังคง  3,157 ราย ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศเป็นเวลา 30 วัน จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศอยู่ที่  2,444 ราย และผู้ป่วยยืนยันที่พบในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 220 ราย มีผู้ป่วยหายเพิ่ม 3 ราย ยอดผู้ป่วยรักษาหายแล้วสะสม 3,026 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 73 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย
'ผับ-บาร์-อาบอบนวด' เฮ
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในส่วนการพิจารณาผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมที่ยังไม่รับการผ่อนผัน หรือการคลายล็อกในเฟส 5 ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กมีการพิจารณากิจการ/กิจกรรมที่จะเปิดนั้นจะมีมาตรการกลาง  คือ 1.ผู้ประกอบการลงทะเบียนด้วยแอปพลิเคชันไทยชนะเพื่อติดตามได้ 2.ให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้าสถานที่ทุกคน ส่วนเจ้าหน้าที่ตรวจประเมินติดตามต้องลงทะเบียนใช้แอปพลิเคชัน "ผู้พิทักษ์ไทยชนะ" ต่างหาก เพื่อลดปัญหาการไม่ได้ติดบัตร หรืออ้างว่ามาจากหน่วยงานของรัฐ 3.คัดกรองไข้ ไอ หอบ เหนื่อย จาม เป็นหวัด ทั้งพนักงานและผู้ใช้บริการ รายงานหน่วยงานรับผิดชอบเมื่อพบผู้ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 4.พิจารณาพัฒนานวัตกรรม เช่น การลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่ ระบบการเรียนการสอน การจองคิวแบบออนไลน์ เพื่อให้บริการรูปแบบใหม่ในระยะยาว นำไปสู่การป้องกันควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ และ 5.รายงานผลการตรวจประเมิน ติดตาม กำกับตามมาตรการควบคุมหลักให้ทราบเป็นระยะ
    โฆษก ศบค.กล่าวว่า ประเภทกิจการ/กิจกรรมที่ยังไม่ได้รับการผ่อนผันในช่วง มิ.ย.63 ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมาก แต่กระทบต่อการขับเคลื่อนธุรกิจต่างๆ น้อย มี 5 กิจการ คือ 1.การผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ซึ่งเดิมเฉพาะของเอกชน โรงเรียนกวดวิชา ตอนนี้สถาบันของรัฐให้เปิดใช้ได้ทั้งหมด 2.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตีมอลล์ จากเดิมกำหนดเวลาถึง  21.00 น. ระยะ 5 จะไม่กำหนดเวลาปิด หรือไม่มีเวลากำกับแล้ว 3.สถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ  ต้องมีใบอนุญาตประกอบการ การจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใบอนุญาตมีดนตรีการแสดงเพื่อบันเทิงเต้นรำ การฉายภาพวีดิทัศน์ในคาราโอเกะ มาตรการหลักคือบริการไม่เกิน 24.00 น.ทุกกรณี ระยะยืนนั่ง 1 เมตร จำกัด 4 ตารางเมตรต่อคน ห้ามร่วมโต๊ะกับกลุ่มอื่น พนักงานสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา จุดบริการล้างมือเพียงพอ  ทำความสะอาดสุขา พื้นผิวสัมผัสบ่อยๆ ระยะห่างโต๊ะมากกว่า 2 เมตร หากทำไม่ได้ต้องมีฉากกั้นสูง  1.5 เมตร มีระบบระบายอากาศ หมุนเวียนอากาศที่ดี มีพื้นที่เฉพาะในการสูบบุหรี่นอกอาคาร ลงทะเบียนเข้าออกด้วยแอปไทยชนะ
    "มาตรการเสริม คือ คัดกรองอายุ อุณหภูมิ อาการทางเดินหายใจ อาจตรวจหาเชื้อโควิดกลุ่มพนักงานเป็นระยะๆ งดกิจกรรมส่งเสริมการขายทุกรูปแบบ ทั้งโปรโมชัน ลดราคา ขายพ่วง โฆษณาโดยพนักงานเชียร์เบียร์ ไม่ยินยอมให้นำสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาบริโภค นั่งยืนเป็นกลุ่มไม่เกิน 5  คน งดนั่ง ร้องเพลง เต้น หรือยินยอมให้มีการเต้นกับลูกค้า งดเต้นนอกพื้นที่บริเวณโต๊ะที่นั่ง หลีกเลี่ยงการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รูปแบบเหยือกถ้วย ภาชนะที่ใช้จับร่วมกัน ติดกล้องวงจรปิดครอบคลุมพื้นที่ร้าน เก็บไว้มากกว่า 1 เดือน ส่วนหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบ ประเมิน ติดตามจะเป็นหน้าที่ของ ศปก.ทุกระดับ ศปม.ร่วมกับตำรวจ ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง" โฆษก ศบค.กล่าว
    นอกจากนี้ 4.ร้านเกมและอินเทอร์เน็ต โดย กทม.มี 2 พันร้าน ต่างจังหวัดมี 2 พันร้าน โดยต้องให้บริการตามช่วงอายุ อายุน้อยกว่า 15 ปี จันทร์-ศุกร์ใช้ได้ 14.00-20.00 น. วันหยุด 10.00-20.00 น.  อายุ 15-18 ปี จันทร์-ศุกร์ เวลา 14.00-22.00 น. วันหยุด 10.00-22.00 น. อายุมากกว่า 18 ปี ใช้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ต้องมีใบอนุญาต เช่น ให้บริการคอมพิวเตอร์ การฉายวีดิทัศน์ กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มาตรการควบคุมหลัก คือ สวมหน้ากากตลอดเวลา มีจุดล้างมือเพียงพอ ทำความสะอาดสุขา ผิวสัมผัสบ่อยๆ จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ 5 ตารางเมตรต่อคน เว้นระยะนั่งยืน ทางเดิน มากกว่า 1 เมตร จำกัดเวลาให้บริการในระบบ 2 ชม./รอบ หยุดพักทำความสะอาด 15 นาที ลงทะเบียนไทยชนะ ส่วนมาตรการเสริม คือ คัดกรองอุณหภูมิ ระบบทางเดินหายใจ ระบบระบายอากาศ กล้องวงจรปิดครอบคลุมพื้นที่ในร้าน เก็บไว้ 1 เดือน งดบริการเครื่องดื่ม อาหาร งดการรวมกลุ่มกิจกรรมแจกมอบรางวัล
    5.สถานประกอบกิจการอาบอบนวด โรงน้ำชา ต้องมีใบอนุญาตสถานบริการ คือ สถานอาบน้ำ  นวด อบตัว ซึ่งมีผู้บริการแก่ลูกค้า สถานที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการโดยมีผู้บำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้า มาตรการควบคุมหลัก คือ ต้องสวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้าตลอดเวลา เว้นขณะอาบน้ำ มีจุดบริการล้างมือเพียงพอ ทำความสะอาดห้อง อ่างอาบน้ำ สุขา ผิวสัมผัสบ่อยๆ ก่อนและหลังบริการแต่ละครั้ง เว้นระยะนั่งยืนมากกว่า 1 เมตร ยกเว้นขณะอาบน้ำ  ควบคุมไม่ให้แออัด ให้คำแนะนำลูกค้าตามมาตรการก่อนใช้บริการทุกรายลงทะเบียนไทยชนะ ตรวจหาโควิดพนักงานเป็นระยะ พร้อมเฝ้าระวังโรคอื่น มาตรการเสริม คือ ดูแลอุณหภูมิร่างกาย ระบบระบายอากาศ ติดตั้งกล้องวงจรปิดพื้นที่ส่วนรวมของร้าน เก็บไว้มากกว่า 1 เดือน โดยกระทรวงมหาดไทย  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขออกคู่มือเกณฑ์ปฏิบัติ 
    "ร่างมาตรการดังกล่าวจะเสนอ ศบค.ชุดใหญ่วันที่ 29 มิ.ย.นี้ ซึ่งเฟส 5 คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในวันที่ 1 ก.ค.63 เป็นต้นไป" โฆษก ศบค.กล่าว
แจง พ.ร.ก.ฉุกเฉินจำเป็น
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพิจารณาขยายเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อหรือไม่ว่า เลขาฯ สมช.ในฐานะประธานกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา จะพิจารณาร่วมกับ 4 ฝ่าย คือ สาธารณสุข เศรษฐกิจ ปกครอง และฝ่ายมั่นคง จากนั้นจะนำเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แล้วนายกฯ ก็จะพิจารณาและนำเข้าที่ประชุม ศบค.วันที่ 29 มิ.ย. และนำเข้าที่ประชุม ครม.วันที่ 30 มิ.ย. 
    ถามว่ามีความกังวลหรือไม่หากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วจะส่งผลกระทบกับศูนย์กักกันตัวของรัฐ  นายวิษณุกล่าวว่าก็มีส่วนบ้าง ซึ่งยอมรับว่ามีผลกระทบจริงๆ ใน 3 ประเด็น คือ อำนาจในการกักตัว  สถานที่ที่ใช้ในการกักตัว และค่าใช้จ่าย เพราะตอนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเราจะคุมใน 3 เรื่องนี้ได้ แต่ถ้าไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วไปใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ต้องไปดูว่าสั่งการเรื่องต่างๆ ได้หรือไม่ ถ้าพูดก็คือได้ แต่สั่งได้เป็นคนๆ เช่น สงสัยใครก็ดึงไปวัดไข้เป็นคนๆ แต่ถ้าจะสั่งการในภาพรวมมันยาก หากไปสั่งแล้วมีการขัดขืนคัดค้านก็จะไปถึงศาล แต่ถ้าอยู่ในช่วงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ไม่ต้องไปที่ศาล 
    "อย่างประเด็นเรื่องสถานที่ หากในอนาคตมีเครื่องบินมาลงจำนวนมาก เช่น มีคนลงมา 200 กว่าคนจะทำอย่างไร และจะพาไปไหน รวมถึงเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลคนเข้าสถานกักกัน 14 วัน คนละ 3  หมื่นกว่าบาท และหากต้องรักษาต้องใช้ค่าใช้จ่ายคนละ 1 ล้าน​ ใครจะรับผิดชอบ" นายวิษณุกล่าว
    ซักว่าจะใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อดำเนินการแทนได้หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า วันนี้เราใช้ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อควบคู่กันไป ลำพังใช้แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้ เพราะไม่ได้ออกแบบไว้ใช้สำหรับป้องกันโรคติดต่อโดยเฉพาะ แต่ใช้สำหรับภัยพิบัติ และได้สอบถามไปยังอธิบดีกรมควบคุมโรคว่าภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พนักงานตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะบูรณาการกันได้อย่างไร เพราะตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อให้อำนาจ รมว.สาธารณสุขแต่งตั้งเจ้าพนักงานควบคุมโรค ที่แล้วมาแต่งตั้งไปแล้วหลายหมื่นคน ทุกคนให้ความร่วมมือดีเพราะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินเข้าไปกำกับ 
    "เขาไม่ได้กลัว รมว.สาธารณสุข แต่กลัว พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่นายกฯ, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.), ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจกำกับตามกฎหมายดังกล่าว หากยกเลิกไปเหลือเพียง รมว.สาธารณสุขเป็นผู้สั่งการ กระบวนการที่ต้องใช้คนเยอะมาก เช่น การตั้งด่านที่ ผบ.ทสส.ระบุว่าใช้คนถึง  4 หมื่นคน หรือแม้แต่การรับเครื่องบิน 1 ลำก็จำเป็นต้องใช้คนจำนวนมาก คำถามคือต่อไปจะสนธิกำลังกันได้อย่างไร เพราะวันนี้เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าทุกวันนี้ที่สนธิกำลังกันเพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปก็คิดว่าคงทำได้ แต่จะได้ความร่วมมือหรือไม่นั้นผมไม่รู้" รองนายกฯ กล่าว
    วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2563 โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาและเห็นชอบ "ร่างระบบการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากผู้เดินทางที่จะเข้ามาในราชอาณาจักร ภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558" 
จับคู่ ปท.เสี่ยงต่ำเข้าไทย
    นายอนุทินกล่าวว่า ประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นจากนานาประเทศในความสำเร็จของการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทูตานุทูตหลายประเทศเข้ามาหารือเรื่องมาตรการผ่อนปรนการเดินทางระหว่างประเทศและขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมาตรการที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเสนอ จะใช้วิธีการจับคู่เจรจาและทำข้อตกลงระหว่างประเทศคู่เจรจา โดยจะเริ่มจับคู่กับประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำก่อน และจะมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะเพื่อปรับกลุ่มประเทศและมาตรการได้ตลอด 
    ทั้งนี้ กลุ่มชาวต่างชาติจะแบ่งเป็น 3 ระยะของการผ่อนปรน ดังนี้ ระยะที่ 1 คือ กลุ่มที่เข้ามาระยะสั้น อาทิ อาคันตุกะของรัฐบาล กลุ่มนักธุรกิจ/นักลงทุนที่ได้รับอนุญาตจากรัฐ กลุ่มที่เข้ามาอยู่ระยะยาว  อาทิ กลุ่มแรงงานฝีมือและผู้เชี่ยวชาญ คนต่างชาติที่เป็นครอบครัวคนไทย ผู้มีเหตุจำเป็น เช่น ครูและนักเรียนจากต่างประเทศตามความจำเป็นด้านเศรษฐกิจและสังคม ระยะที่ 2 คือ กลุ่มที่มีผลต่อเศรษฐกิจและเข้ามาอยู่ในสถานที่เฉพาะคือโรงพยาบาล คือผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการด้านสุขภาพ และระยะที่ 3 คือ  กลุ่มที่มีการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ มีผลต่อเศรษฐกิจและการผลิต คือกลุ่มนักท่องเที่ยวและแรงงาน  ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเมื่อพร้อมและสังคมมีความเชื่อมั่น โดยจะได้นำเสนอต่อ ศบค.พิจารณาต่อไป
    ส่วนนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข แถลงถึงโครงการวิจัยภาวะภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยโควิด-19  และผู้มีความเสี่ยงในคนไทยว่า การพิชิตศึกโควิด-19 ให้ได้ 100% คือการรอคอยวัคซีน ตอนนี้มีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยสถาบันวัคซีนร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแพทย์ บริษัทเอกชน จากการรายงานมีการทดลองกับสัตว์ในระยะแรก หากทดลองในสัตว์เรียบร้อยจะเริ่มทดลองในคน คาดว่าจะทดลองในคนได้ในช่วงปลายปีนี้ ระหว่างการรอคอยวัคซีน กระทรวงสาธารณสุขได้วิจัยเพิ่มข้อมูลช่วยรับมือโควิด-19  โดยวิจัยในผู้ติดเชื้อนำเอาเลือดมาทำการวิจัย ดูว่าคนเหล่านั้นมีภูมิคุ้มกันที่ได้รับการเชื่อถือทางการแพทย์หรือไม่ หากพบว่าคนที่เป็นแล้วมีภูมิคุ้มกันก็จะเป็นประโยชน์ พวกเขาเป็นฮีโร่ที่มาทดลองการวิจัยนี้
    นพ.ปกรัฐ หังสสูต หัวหน้าหน่วยไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า  โครงการนี้จะอธิบายสมมุติฐานที่ว่าคนติดเชื้อโควิด-19 สามารถมีภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ อยู่นานเท่าไหร่ และภูมิคุ้มกันนั้นป้องกันโรคได้จริงหรือไม่ เพราะภูมิคุ้มกันมีหลายแบบทั้งที่ปกป้องเชื้อไวรัสได้ และป้องกันได้ตลอดชีวิต รวมถึงภูมิคุ้มกันที่ป้องกันได้ แต่จะหายไปในระยะเวลาไม่นานนัก และโครงการนี้เราจะศึกษาผู้ติดเชื้อว่าที่หายได้เป็นเพราะอะไร มีแอนติบอดีคือโปรตีนในร่างกายมนุษย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันที่มีต่อเชื้อต่างๆ ในเม็ดเลือดขาวอย่างไร และไปศึกษาคนใกล้ชิดที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ กลุ่มคนนี้มีความสำคัญที่จะบอกให้เราทราบว่าเขาใช้ภูมิคุ้มกันอะไรป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ 
    "ระยะแรกรับอาสาสมัคร 500 คนจากกลุ่มคนที่หายแล้ว ให้มาบริจาคเลือดเพื่อดูว่าในเลือดมีภูมิคุ้มกันอะไรบ้างและมีคุณภาพอย่างไร จากนั้นจะติดตามต่อไปว่าผู้มีภูมิสามารถติดเชื้อได้หรือไม่ หวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครและผู้ใกล้ชิด เพื่อช่วยกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อปรับปรุงคุณภาพวัคซีนให้ดีขึ้น" หัวหน้าหน่วยไวรัสวิทยากล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"