เมื่อวานผมอ้างถึง “วิจัยกรุงศรี” ที่ประเมินว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยอาจจะเป็นรูป U หรือหากแย่กว่านั้นก็จะเป็นรูป L ซึ่งหนักหน่วงพอสมควร
ถามว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปสู่ภาวะปกติก่อนโควิดได้เมื่อไหร่?
วิจัยกรุงศรีระบุว่า การประเมินในกรณีฐาน กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับไปสู่ภาวะปกติก่อนการระบาดของไวรัสในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565
โดยมีสมมติฐานว่าการดำเนินการด้านสาธารณสุขเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของไวรัสมีประสิทธิภาพปานกลาง
คือสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในครึ่งแรกของปี 2563
และไม่มีสัญญาณที่จะเกิดการระบาดรอบสอง
แต่การระบาดของไวรัสได้สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจรุนแรง และมีผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนอย่างมาก
มองในระดับโลกเศรษฐกิจของประเทศหลัก ทั้งสหรัฐฯ จีน ยุโรป และญี่ปุ่น จะแตะระดับต่ำสุดในไตรมาสสองปีนี้ แต่ผลกระทบทางลบยังคงมีไปจนถึงปีหน้า
การระบาดของโควิด-19 กระทบรุนแรงต่อภาคท่องเที่ยว และมาตรการล็อกดาวน์กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จึงมีผลต่อเนื่องต่อการจ้างงานที่ลดลงและกำลังซื้อลดลง
การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ทันการณ์ที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจโดยรวม จึงมีผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง และทำให้ฟื้นตัวช้า
ภาคธุรกิจที่ต้องอาศัยการติดต่อของคนหรือการรวมตัวของคนจำนวนมากจะได้รับผลกระทบมากกว่า ในระยะเวลาที่นานกว่าด้วย ส่วนภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง จะยังไม่ฟื้นตัวมาที่ระดับปกติจนกว่าปีหน้าเป็นอย่างน้อย
ในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ของปีนี้ เป็นช่วงการระบาดหนักของไวรัสและแตะระดับสูงสุด (peak) จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดในเดือนมีนาคม และลดลงมากในปลายไตรมาส 2
การระบาดของไวรัสและมาตรการล็อกดาวน์กระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรง ต้นทุนด้านแรงงานสูงขึ้น แต่ประสิทธิผลลดลง รายได้ที่ลดลง ข้อจำกัดในการเดินทาง และการขาดตอนของห่วงโซ่อุปทานของโลกและภายในประเทศ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม
บทวิเคราะห์นี้บอกว่า ไตรมาส 3 และ 4 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน แม้มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่เส้นทางการฟื้นตัวยังมีอุปสรรคหลายด้าน
ที่สำคัญคือยังมีมาตรการป้องกันและมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมที่ต้องปฏิบัติตาม
อุตสาหกรรมที่กิจกรรมต้องการสัมพันธ์กับคนตามปกติจะยังประสบกับความท้าทาย อีกทั้งความต้องการโดยรวมจะยังอ่อนแอและมีผลกระทบต่อทุกภาคธุรกิจ
มองไปปีหน้า ไตรมาส 1 ปี 2564 ช่วงหลังโควิด-19 การระบาดของไวรัสจะทิ้งรอยแผลให้กับเศรษฐกิจ นอกจากสร้างผลกระทบอย่างทันทีแล้วการระบาดของไวรัสยังทิ้งแผลเป็นให้กับเศรษฐกิจไว้ด้วย คือ การว่างงานสูง และภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน ภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมใหม่และแสวงหาโอกาส
“วิจัยกรุงศรี” บอกว่าการระบาดของไวรัสมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 4 ช่องทางด้วยกัน คือ
1) ธุรกิจปิดตัวจากมาตรการล็อกดาวน์
2) ความต้องการโดยรวมลดลง
3) การขาดตอนของห่วงโซ่อุปทานโลก และ
4) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค
ภาคธุรกิจมีการตอบสนองต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแตกต่างกัน และแนวทางการตอบสนองจะเป็นตัวกำหนดเส้นทางการฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจ
“วิจัยกรุงศรี” ได้วิเคราะห์การฟื้นตัวของภาคธุรกิจจากข้อมูลเครือข่ายการผลิตโลกจาก Global Trade Analysis Project (GTAP) พบว่า ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจส่วนใหญ่มีความเป็นไปได้น้อยที่จะกลับสู่ภาวะปกติก่อนการระบาดของไวรัสก่อนปี 2565
ยกเว้นธุรกิจโรงพยาบาลและธุรกิจการผลิตอาหาร ที่จะกลับสู่ภาวะปกติก่อนการระบาดของไวรัสได้ในปี 2564
ที่เห็นชัดคือธุรกิจขนส่งทางอากาศ โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจบริการ ศูนย์นันทนาการจะยังประสบกับความยากลำบากไปจนถึงปี 2564
เหตุเป็นเพราะรูปแบบความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไป และอาจใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัว ขณะที่ธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง และอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าจากก๊าซ ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ อาจจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าธุรกิจอื่นๆ
วิจัยกรุงศรีระบุอีกว่า อุตสาหกรรมเกือบทั้งหมดของไทยได้รับผลกระทบรุนแรง โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมีถึง 26 อุตสาหกรรมจาก 60 อุตสาหกรรม หรือคิดเป็น 46.0% ของผลผลิตโดยรวม
โดยที่ 11 อุตสาหกรรม ซึ่งมีสัดส่วน 15.3% ของผลผลิตรวมจะไม่สามารถกลับมาสู่ภาวะปกติก่อนการระบาดของโควิด-19 ได้ ก่อนปี 2565
ขณะที่อีก 24 อุตสาหกรรม ซึ่งมีสัดส่วน 43.1% ของผลผลิตรวมได้รับผลกระทบปานกลาง มีเพียง 10 อุตสาหกรรม ซึ่งมีสัดส่วน 10.9% ในผลผลิตรวมเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบน้อย
อ่านบทวิเคราะห์อย่างละเอียดนี้แล้วคำถามใหญ่ที่สุดสำหรับประเทศไทยคือ
เรามียุทธศาสตร์ที่จะทำให้การฟื้นตัวเกิดขึ้นได้เร็วกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่าที่สำนักวิเคราะห์ทั้งหลายประเมินเอาไว้หรือไม่?.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |