รางวัล”ศิลปาธร” เป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่มอบให้กับศิลปินไทยสาขาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เน้นส่งเสริม สนับสนุน และยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยให้ก้าวไปในเส้นทางอาชีพได้อย่างมั่นคง และมีกำลังใจสร้างสรรค์งานศิลป์ร่วมสมัยคุณภาพ ปีนี้คนในวงการร่วมสมัยลุ้นผลคัดเลือกรางวัลศิลปาธร โดยวันนี้มีงานประกาศรางวัลที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานประกาศผลการคัดเลือกและยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล “ศิลปาธร” ประจำปี พ.ศ. 2563
นายอิทธิพล คุณปลื้ม กล่าวว่า วธ. โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ได้ดำเนินโครงการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล “ศิลปาธร” เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยรุ่นกลางที่ได้ทุ่มเทพลังความคิด สติปัญญา และจิตใจอันมุ่งมั่น สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าเป็นที่ประจักษ์ต่อวงการศิลปะร่วมสมัยและผลงานได้เผยแพร่ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ ในปี 2563 ได้คัดเลือกศิลปินร่วมสมัยดีเด่นให้ได้รับรางวัลศิลปาธรให้แก่จำนวน 7 สาขา ดังนี้ สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่ นายอริญชย์ รุ่งแจ้ง สาขาสถาปัตยกรรม ได้แก่ นายฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล
กั๊ก- วรรณศักดิ์ ศิริหล้า คว้ารางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง
รมว.วธ. กล่าวต่อว่า สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ นายอุเทน มหามิตร สาขาดนตรี ได้แก่ นายไกวัล กุลวัฒโนทัย สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ นายวรรณศักดิ์ ศิริหล้า สาขาศิลปะการออกแบบ ได้แก่ นายสุรชัย พุฒิกุลางกูร และสาขาภาพยนตร์และสื่อเคลื่อนไหว ได้แก่ น.ส.อโนชา สุวิชากรพงศ์ โดยศิลปินทั้ง 7 ราย จะได้รับเข็มเชิดชูเกียรติและเงินรางวัลจำนวนหนึ่งแสนบาท ทั้งนี้ นับตั้งแต่ประกาศรางวัลศิลปาธร มาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มีศิลปินที่ได้รับรางวัล 80 ราย รวมถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงได้รับการยกย่องเป็นศิลปาธร สาขาศิลปะการออกแบบ (แฟชั่นและเครื่องประดับ) ในปี 2561 ด้วยพระปรีชาสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานอันโดดเด่นทั้งในและต่างประเทศ ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับศิลปิน วงการแฟชั่นไทย
นายอริญชย์ รุ่งแจ้ง ศิลปินศิลปาธรสาขาทัศนศิลป์
นายอริญชย์ รุ่งแจ้ง ศิลปินศิลปาธรสาขาทัศนศิลป์ กล่าวว่า ในการสร้างผลงานศิลปะได้นำความเป็นไทยวัฒนธรรมไทยไปเผยแพร่ผ่านงานให้เป็นที่รู้จักในระดับโลกเน้นการสร้างมุมมองใหม่ผลงานยังเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นเช่นผลงานชุด”Golden Teardrop “ ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติเวนิสเบียนนาเล่ ครั้งที่55 นอกจากนี้ ตนเป็นศิลปินไทยคนเดียวที่ถูกคัดเลือกแสดงงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัย Documenta ครั้งที่14 มหกรรมศิลปะที่ยิ่งใหญ่ของโลกได้สร้างชื่อเสียงให้ไทยได้เป็นที่รู้จักผ่านผลงานร่วมสมัย อีกผลงานที่ภูมิใจเป็นศิลปะจัดวางวิดีโอและประติมากรรมชุด”MONGKUT” สะท้อนความสัมพันธ์สยาม-ฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่4
“รางวัลศิลปาธรเป็นการตอบแทนความทุ่มเทการทำงานที่ผ่านมาได้ทำให้งานศิลปะร่วมสมัยฝีมือศิลปินไทยเผยแพร่ในเวทีนานาชาติรางวัลทรงคุณค่านี้เป็นกำลังใจให้ศิลปินรุ่นกลางได้รังสรรค์งานต่อเนื่องก่อนจะก้าวสู่ศิลปินรุ่นใหญ่อีกทั้งยกย่องบุคลากรด้านศิลปะร่วมสมัยที่มีความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์“ นายอริญชย์ กล่าว
หากย้อนเส้นทางสร้างสรรค์ 7 ศิลปินชนะรางวัล เริ่มที่ ไกวัล กุลวัฒโนทัย ศิลปาธร สาขาดนตรี มีผลงานสร้างสรรค์ครอบคลุม ครบเครื่อง ทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล เกือบทุกรูปแบบ อาทิ ดนตรีคลาสสิค ดนตรีไทยดั้งเดิม ดนตรีไทยประยุกต์ ป๊อป แจ๊ส และดนตรีไทยร่วมสมัย ความสามารถหลากหลายนับตั้งแต่การขับร้องเพลง การประพันธ์เพลง การเรียบเรียงและการอำนวยเพลง เริ่มศึกษาวิชาดนตรีที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร ได้เข้าร่วมงานกับวงฟองน้ำ ศึกษาการประพันธ์เพลงจาก บรูซ แกสตัน และปรมาจารย์ดนตรีไทย อาทิ บุญยงค์ เกตุคง จำเนียร ศรีไทยพันธ์ เป็นต้น ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวคิดสร้างสรรค์ผลงานประพันธ์ดนตรีไกวัลนับเป็นกำลังสำคัญให้แก่คณะนักร้องประสานเสียงหลายวง เช่น วงสวนพลู และวงเสียงไทยคอรัส ในบทบาทผู้อำนวยเพลงและผู้ประพันธ์เพลงได้ทดลองสร้างผลงานประสานเสียงที่มีเอกลักษณ์ไทย ทั้งเรียบเรียงเพลงเก่าและประพันธ์ขึ้นใหม่
ยกย่องเชิดชูเกียรตินายไกวัล กุลวัฒโนทัย ศิลปาธร สาขาดนตรี
ขณะที่ ฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล เป็นศิลปินสถาปนิกในฐานะผู้สะท้อนสังคมผ่านผลงานอย่างละเอียดรอบคอบมากขึ้นเพื่อที่จะก้าวเดินอย่างแข็งแรงในเส้นทางของตนเองต่อไป ผลงานที่มีความโดดเด่น เช่น Nanda Heritage Hotel, completed 2015โรงแรมที่ถูกออกแบบโดยมีแนวความคิดการผสมผสานวัฒนธรรมเก่า – วัฒนธรรมใหม่ องค์ประกอบส่วนใหญ่ของอาคารเกิดจากการประยุกต์วัสดุและโครงสร้างสถาปัตยกรรมต่างยุคเข้ามาไว้ด้วยกัน ตึกปูนฉาบเรียบทาสีเทาเข้มกับโครงสร้างเหล็กที่ดูโมเดิร์น ถูกตกแต่งรายละเอียดไปด้วยแผ่นไม้เก่า เฟอร์นิเจอร์โบราณ รีไซเคิลวัสดุจากบ้านไม้สักเก่าของเจ้าของโครงการเกือบทุกชิ้นเข้ามาจัดวาง เปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ ประกอบร่างฟื้นคืนชีวิตใหม่ขึ้นอีกครั้งภายในพื้นที่ส่วนกลางของโรงแรม และ “Bangkok Bastards” Project สถาปัตยกรรมสารเลวสร้างให้เกิดคุณค่า
ตัวจริงเก่งจริงที่คว้ารางวัลอีกคน กั๊ก-วรรณศักดิ์ ศิริหล้า เป็นศิลปินผู้มีพลังความสามารถในวงการศิลปะการแสดงร่วมสมัยอย่างมีอัตลักษณ์โดดเด่นน่าชื่นชม เป็นผู้มีทักษะรอบด้านทั้งในฐานะนักแสดงเดี่ยว นักแสดงนำ นักแสดงสมทบหลากหลายบทบาททั้งในละครเวทีและภาพยนตร์ เป็นผู้กำกับการแสดง ผู้เขียนบท และผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของละครเวทีมากมาย นำความรู้เฉพาะตัวด้านศิลปะการแสดงไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอนและการพัฒนาเยาวชน สามารถเชื่อมโยงวิชาการละครกับการศึกษาด้วยกระบวนการสอนและกิจกรรมที่กระตุ้นแรงบันดาลใจ มีความคิดสร้างสรรค์ในการใช้พื้นที่ในการแสดงอย่างหลากหลาย ทั้งริมถนน ในโรงละคร สวนสาธารณะ หอศิลป์ โรงเรียน ร้านอาหาร สนามเด็กเล่น คลับบาร์และโรงแรม เป็นศิลปินไทยร่วมสมัยที่มีแนวคิดและผลงานสร้างสรรค์ส่องสะท้อนมิติความหลากหลายในสังคมและความเสมอภาคเท่าเทียม
ด้าน สุรชัย พุฒิกุลางกูร เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการสร้างภาพด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในประเทศไทยผลงานทุกชิ้นมีความละเอียดเสมือนจริงดังเช่นภาพถ่าย มีการผสมผสานเทคนิคที่หลากหลาย ทั้งการสร้างภาพด้วยโปรแกรม 3 มิติ ภาพถ่าย และการตกแต่งภาพด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ กระบวนการออกแบบภาพประกอบของเขายังสะท้อนอารมณ์และเล่าเรื่องราวได้ ทำให้ความคิดโดดเด่นและสวยงาม
ส่วน อโนชา สุวิชากรพงศ์ ศิลปาธรสาขาภาพยนตร์ ไม่ใช่หน้าใหม่ แต่เชี่ยวชาญงานภาพยนตร์สุดๆ เป็นทั้งผู้กำกับโปรดิวเซอร์และนักบริหารจัดการในวงการภาพยนตร์ที่มีความสามารถโดดเด่น มากความสามารถยิ่งสำหรับวงการภาพยนตร์ ทำงานคุณภาพต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน ผลงานหลากหลายครอบคลุมทั้งภาพยนตร์กระแสหลักและภาพยนตร์อินดี้ มีบทบาทในวงการหลายมิติ ทั้งการกำกับ การอำนวยการผลิต รวมถึงงานที่สร้างประโยชน์ทั้งเพื่อการศึกษาและเพื่อสังคม สามารถสร้างตัวตนและสร้างโปรดักชั่นอิสระเป็นนักทำหนังทดลองที่ได้รับการยอมรับในเวทีนานาชาติ