ระยะเวลากว่า 5 เดือนผลกระทบการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้กิจกรรมหรือเทศกาลต่างๆ ต้องถูกเลื่อนกำหนดการจัดงานออกไป รวมถึง เทศกาลศิลปะ International Art Exhibition หรือ เทศกาลศิลปะนานาชาติ Venice Biennale ครั้งที่ 59 ประเทศอิตาลี ได้ประกาศเลื่อนจัดงานไปเป็นปี 2022 เลยทีเดียว สำหรับประเทศไทยหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น และได้มีการปลดล็อคดาวน์เฟส 4 แล้ว งาน "เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020” (Bangkok Art Biennale) ในแนวคิด “ศิลป์สร้าง ทางสุข” (Escape Routes) จึงประกาศความพร้อม การจัดงานอีกครั้ง รวมทั้ง ประกาศรายชื่อศิลปินที่เข้าร่วมงานอีก 40 คน(กลุ่มแรก 16 คน) รวม 56 ศิลปินที่จะมารังสรรค์กรุงเทพฯให้เป็นเมืองแห่งศิลปะ ในวันที่ 10 ตุลาคม 2563 - 21 กุมภาพันธ์ 2564
ศิลปินทั้ง 40 คน กลุ่มที่บินมาจากต่างประเทศ ได้แก่ มารีนา อบราโมวิช,อีร์วัน อะห์เมตต์ และติตา ซาลินา,มัสซิโม บาร์โตลีนี,โนมิน โบลด์,เอลินา บราเธรุส,คาร์ลอส กาซาส,ชอย คา ไฟ,แฟรงค์ ฮาลแลม เดย์,ไมลส์ กรีนเบิร์ก,มาเรีย สตาเมนโควิช เอรานซ์,ฟาร์ฮานา อิสลาม,คริสเตียน ยานคอฟสกี้,รีนา ไซนี กัลลัต,คูบรา คาเดมี่,ไนซา คาห์น,กา รัม คิม,อเลนา น็อกซ์,แฮเวน ลี,เรเชล แมคเคลน,เดน มิทเชลล์,นิว-เทอร์ริทอรี่ส์,โยโกะ โอโนะ,อานเดรส์ เซอร์ราโน,มินอา ซอน และ ยูเกน เทรูยะ สำหรับศิลปินไทย ได้แก่ เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล,ธาดา เฮงทรัพย์กุล,ลำพู กันเสาะ,โลเล,โน้ต กฤษฎา,P7,อัยนา ภูยุทธานนท์,ชฤต ภู่ศิริ,เป็นเอก รัตนเรือง,รุ่งเรือง สิทธิฤกษ์,แดนสรวง สังวรเวชภัณฑ์,วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์,ฉันทนา ทิพย์ประชาติ,อุบัติสัตย์ และตะวัน วัตุยา
ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เผยว่า ในปี 2018 ที่เป็นการจัดงานเทศการศิลปะนานชาติครั้งแรก ที่ได้มีการจัดแสดงงานศิลปะในหลากหลายพื้นที่ จากศิลปินมากมาย ซึ่งผลตอบรับดีมาก ซึ่งในปีนี้เราก็คาดหวังว่าจะดีเช่นกัน ภายใต้คอนเซ็ปต์ ศิลป์สร้าง ทางสุข คือสิ่งที่ทุกคนเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นในสังคม ดังนั้นในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ทั่วโลกต้องเผชิญ และการระบาดก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ คนก็ยังต้องการ escape routes มากขึ้น เราหวังว่าในช่วงที่วันงานจริงสถานการณ์โควืด จะดีขึ้นเรื่อยๆ และคนไทยยังการ์ดไม่ตก และเมื่อศิลปินที่ได้เดินทางมาที่กรุงเทพฯ ยังคงนำเสนอตัวตนผ่านงานศิลปะเหมือนที่ผ่านมา สร้างความสุข ในช่วงเวลาที่ไม่ปกตินี่แหละ คือเวลาที่เหมาะสม เป็นช่วงเวลาของความจริงแบบใหม่ บนความไร้เหตุผล เพราะเราเชื่อว่าศิลปะอาจจะช่วยกระตุ้นให้เกิดบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้คนดูได้เพลิดเพลิน และได้คิด ให้อารมณ์ความรู้สึก และความรู้ไปพร้อมกัน
“ในปีนี้เรา วางแผนกำหนดพื้นที่จัดแสดงงานให้น้อยลง เพื่อที่จะได้โฟกัสได้ง่ายขึ้น แต่ยังคงเป็นที่สำคัญของกรุงเทพฯ 9 แห่ง ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร, วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร, วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ, BAB BOX และพื้นที่ใหม่ที่เพิ่มเข้ามา คือ เดอะพรีลูดโครงการวันแบงค็อก,เดอะปาร์ค, ล้ง 1919 และมิวเซียมสยาม โดยจะมีผลงานศิลปะทั้ง ศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ จิตรกรรม สื่อสมัยใหม่ นอกจากนี้ในพื้นที่จัดงานก็มีการดำเนินการตามมาตรฐานสาธารณสุขครบ ทั้ง การวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอล์ และการแจกหน้ากาก และมีอาสาสมัคร BAB ที่คอยให้ความช่วยเหลือผู้ชมงาน แต่ข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ดังนั้นตั้งเดือนนี้เป็นต้นไป เว็บไซต์ www.bkkartbiennale.com จะมีการให้ข้อมูลการเว้นระยะห่างทางสังคม และหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ "ปรธธานจัดงานกล่าว
ยุรี เกนสาคู
ด้านศิลปิน ยุรี เกนสาคู ที่มีเอกลักษณ์ลายเส้นและสีสันบนงานภาพวาด กล่าวว่า จากคอนเซ็ปต์ ศิลป์สร้าง ทางสุข ที่ทำให้รู้สึกว่าผลงานของเราอาจจะเข้ากับคอนเซ็ปต์ของงานเพราะมีสีสันสดใส โดยแรงบันดาลใจมาจากการเดินทางไปทำงานในพื้นที่ต่างๆ การเปรียบเทียบวิถีชีวิต หรืออิทธิพลที่ได้รับจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะ การ์ตูน การเมือง หรือในปัจจุบันที่มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นมากมาย ก็อาจจะหยีบจับมาเล่าเรื่อง ซึ่งจะทำให้เข้าใจและมองว่าศิลปะกับชีวิตไม่ได้แยกออกจากกัน ดังนั้นคนที่ได้ชมผลงานอาจจะรู้สึกพอใจและมีความสุข
ดร.อัยนา ภูยุทธานนท์
ดร.อัยนา ภูยุทธานนท์ เล่าว่า การจัดแสดงงานครั้งนี้ได้สร้างงานวิดีโออาร์ต ที่บอกเล่าถึงสภาวะกดดัน ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ได้รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาโดยตลอด แต่วันหนึ่งเหตุการณ์ได้มาเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว คือ คุณอา ที่โดนยิงเสียชีวิตหน้าบ้าน หรือาพที่คนภายนอกมองคนในพื้นที่ หรือชอบแซวว่า พกระเบิดมารึป่าว ทำให้เราได้คิดว่าชีวิตที่กำลังอยู่กับความจริงแต่กลับหาทางออกไม่ได้ จึงอยากใช้ศิลปะสื่อสารออกมา และผลงานที่พูดถึงสภาวะปัจจุบันในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ได้มีการเก็บภาพเหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดสงขลา และปัตตานี ก่อนปิดเมืองในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ดังนั้นศิลปะอาจจะเป็นทางออกในการหาความสุข อย่างการทำงานเราก็มีความสุขที่ได้อยู่กับตัวเองมากขึ้นด้วย
พีระพงศ์ ลิ้มธรรมรงค์ หรือศิลปิน P7
พีระพงศ์ ลิ้มธรรมรงค์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ P7 เล่าถึงผลงานว่า เป็นประติมากรรมร่วมสมัย สร้างด้วยไฟเบอร์ ลงสีแบบเรียลลิสติก ถ่ายทอดคาแรคเตอร์ของเซลล์และการกลายพันธุ์ ผ่านตัวหุ่นเชิด และคนพากย์จะพูดในลำคอ ที่ทุกคนอาจจะเคยเห็นการแสดงในแถบอเมริกาและยุโรป เพื่อให้คนได้จินตนาการไปกับผลงาน เกิดการตั้งคำถาม และตีความด้วยตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าจะมีจินตนาการที่เกิดขึ้นจากหลายหลายรูปแบบไม่เหมือนกัน
อย่างไรก็ตามสามารถติดตามข่าวสาร และตารางกิจกรรมของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 เพิ่มเติมได้ทาง Facebook และ Instagram : Bkkartbiennale