เกิดการตั้งคำถามจากคนในแวดวงเศรษฐกิจ ธุรกิจ และบรรดาสื่อมวลชน ต่อคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกคำสั่งห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผล และห้ามซื้อหุ้นตัวเองคืน (ลดทุน) ว่า เพราะเหตุใดถึงมีแนวคำสั่งแบบนี้ หมายความว่า ธปท.เห็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อภาวะเศรษฐกิจของไทยในอนาคตอันใกล้นี้หรือไม่
แน่นอนเหตุผลของคำสั่งนี้ของแบงก์ชาติอ้างว่า เพื่อเป็นการยกการ์ดป้องกันระบบธนาคารพาณิชย์ ที่จะรักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งและรองรับการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง แต่ในอีกแง่มุมก็หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ก็กำลังมีแววจะเจอภาวะหนี้เสีย และจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานใช่หรือไม่
ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ “ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ก็ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อว่า การที่ธนาคารพาณิชย์ช่วยลูกค้าชะลอหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ หรือลดดอกเบี้ยให้ช่วงโควิด แม้เบื้องต้นจะช่วยลูกค้าได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าธนาคารจะช่วยพักเบรกการชำระหนี้ได้อย่างยาวนาน ความแข็งแรงของธนาคารเองก็มีจุดสิ้นสุดเช่นกัน ซึ่งในส่วนของธนาคารกรุงไทยก็อาจจะได้รับผลกระทบจากรายได้ดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับลดลง ขณะที่ต้นทุนทางการเงิน (cost of fund) ไม่ได้ลดลง จึงเป็นโจทย์ที่ธนาคารทุกแห่งต้องต่อสู้
เห็นได้ชัดว่า แม้ว่าภาพรวมของธุรกิจธนาคารในตอนนี้ยังคงแข็งแรง แต่หากโควิด-19 มีความยืดเยื้อ ธนาคารก็ไม่สามารถแบกรับต้นทุนและรายได้ที่หายไปด้วยเช่นกัน ซึ่งกระทบกับงบการเงินที่จะอ่อนแอลงจากสัญญาณหลายๆ อย่างที่ประเมินออกมา คงต้องยอมรับโดยดุษณีว่า ไทยกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวค่อนข้างรุนแรงใกล้เคียงกับช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง โดยข้อมูลจากธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี ระบุว่า ในส่วนเศรษฐกิจไทยคาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวที่ 6.5% ซึ่งหดตัวเพิ่มมากขึ้นจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 4.8% เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนที่ลดต่ำอันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 กอปรกับแนวโน้มอุปทานภายนอกที่อ่อนแอส่งผลให้การส่งออกสินค้าและบริการลดต่ำลง
ขณะที่ สำนักวิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก็ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะติดลบ 5% ในปี 2563 และจะค่อยๆ ฟื้นตัวในรูปแบบตัวยู (U-shaped Recovery) โดยอาจต้องใช้เวลาถึง 2 ปีครึ่งกว่าที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดได้
ส่วน EIC ของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มาแรงหน่อย ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 หดตัวมากกว่าที่คาดจาก -5.6% เป็น -7.3% จากผลกระทบของ COVID-19 โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชนได้ปรับลดคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2563 เหลือเพียง 9.8 ล้านคน (-75.3%) จากเดิมที่คาดไว้ที่ 13.1 ล้านคน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวมากขึ้น ตามแนวโน้มการบริโภคและการส่งออกที่ซบเซา และความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ปรับลดลงมาก สำหรับการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มหดตัวสูงที่ -10.4%
เห็นได้ชัดว่า ตอนนี้เครื่องยนต์หลักในการหารายได้ของเศรษฐกิจไทยนั้นแทบจะหยุดทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกหรือการท่องเที่ยว ตอนนี้เหลือเพียงเครื่องยนต์จาก การใช้จ่ายภาครัฐ และการกระตุ้นการบริโภคของประชาชน ซึ่งตอนนี้ก็ได้แต่งหวังงบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาทที่รัฐบาลกำลังเร่งทำโครงการออกมาใช้นั้น จะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นกลับคืนมา ซึ่งเงิน 4 แสนล้านต้องใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้การเกิดหมุนเวียนในเศรษฐกิจจริงๆ รวมถึงต้องมีส่วนช่วยในการปรับปรุงโครงสร้างทางธุรกิจของประเทศให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกหลังโควิด ซึ่งรัฐบาลต้องมียุทธศาสตร์ในการใช้เงินด้วย
ดังนั้น จากนี้สิ่งที่หวังพึ่งได้ก็คือ ภาครัฐ ซึ่งก็ต้องคาดหวังให้ใช้เงินอย่างตรงจุด ตอบโจทย์ และช่วยกระจายงบประมาณให้ทั่วถึงแบบฝนตกทั่วฟ้า.
ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |