เศรษฐกิจไทยเราจะฟื้นแบบไหน? หลายสำนักมองว่าศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงแน่
ที่ดูเหมือนจะเห็นตรงกันทั้งภาครัฐและเอกชนคือคงต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าปีสองปี และเป็นงานหนักที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างแข็งขันจึงจะประคองให้พ้นวิกฤติไปได้
ส่วนจีดีพีจะติดลงมากน้อยเพียงใดคงจะคาดเดาไม่ได้จนกว่าอะไรๆ จะ “นิ่ง” จากโควิด-19
แต่ปัญหาคือมันจะ “นิ่ง” ได้จริงหรือ เพราะปัจจัยความไม่แน่นอนมีสูงเหลือเกิน
ล่าสุด ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้หดตัว 6.5% จากที่เคยประเมินที่ติดลบ 4.8%
บางสำนักวิเคราะห์ว่า หากจะฟื้นก็ต้องดูว่าจะเป็นแบบตัว V หรือตัว U หรือ W หรือ L
วันก่อนได้อ่านบทวิเคราะห์จากสำนักวิจัย “กรุงศรี” ...ซึ่งดูเหมือนจะมองว่าการฟื้นตัวน่าจะเป็นรูปตัว U
แต่จะเป็นตัว U ที่มีเส้นข้างล่างยาวสั้นแค่ไหนก็ไม่มีใครบอกได้
บางส่วนของบทวิเคราะห์นี้น่าสนใจครับ
รายงานเศรษฐกิจประจำเดือนมิถุนายน 2563 Monthly Economic Bulletin ของ “กรุงศรี” ประเมินความเปราะบางของประเทศต่างๆ อันเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 รวมทั้งแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยว่าประเทศที่น่าจะฟื้นตัวได้เร็วคือ
ประเทศที่ 1) สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้เร็ว 2) มีการตอบสนองทางนโยบายที่มีประสิทธิภาพ 3) มีขีดความสามารถทางนโยบาย และ 4) พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวน้อย
เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เยอรมนี จีน และไต้หวัน เป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็ว ขณะที่บราซิล แอฟริกาใต้ ตุรกี และเมียนมา เป็นประเทศที่เปราะบางที่สุด
หากประเมินจากข้อแรก ควบคุมการระบาดของโควิด-19 นั้นยังมีหลายประเทศและหลายภูมิภาคที่ยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและสูงกว่า 20% ของระดับสูงสุด แม้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง
ส่วนข้อสอง ประสิทธิภาพของรัฐบาล กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือ emerging market เปราะบางที่สุด นำโดยเมียนมา ลาว และบราซิล
ขณะที่ข้อสาม ขีดความสามารถทางนโยบายนั้น แอฟริกาใต้ อาร์เจนตินา และบราซิล มีขีดความสามารถทางนโยบายต่ำมาก
และข้อสี่ การพึ่งพาภาคการท่องเที่ยว ไทยและฮ่องกงได้รับผลกระทบมากที่สุด จึงใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัว
วิจัยกรุงศรีบอกว่าเศรษฐกิจไทยได้เข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ไตรมาสแรกปีนี้
ถือว่าเป็นการหดตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ประสบภาวะน้ำท่วมใหญ่
เป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ติดลบ 1.8% จากระยะเดียวกันของปีก่อน และติดลบ 0.2% จากไตรมาสก่อนหน้าหลังปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว
หมายถึงการผลิตต่ำกว่าศักยภาพติดต่อกันสองไตรมาส
นั่นแสดงว่าเศรษฐกิจไทยถดถอยแล้ว
บทวิเคราะห์นี้บอกว่าเศรษฐกิจไตรมาสแรกหดตัวจากการลงทุนในประเทศที่ลดลง 6.5% จากระยะเดียวกันของปีก่อน การบริโภคที่อ่อนตัว โดยขยายตัวเพียง 3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และการส่งออกที่ร่วงลง 29.8% จากระยะเดียวกันของปีก่อน
เดือนเมษายนไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา การส่งออกและการบริโภคยังคงอ่อนตัว โดยการส่งออกไม่รวมทองคำติดลบ 10.3% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2015
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นลดลงไปที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ การลงทุนภาคเอกชนลดลง 6.1% และการบริโภคภาคเอกชนหดตัว 15.2%
แม้ด้านอุปทานที่ฟื้นตัวจะมีผลต่อความเชื่อมั่นมากขึ้น แต่ความต้องการในประเทศยังคงอ่อนแอ ท่ามกลางการว่างงานที่เพิ่มขึ้น
“วิจัยกรุงศรี” มองว่ายังมีความหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศเป็นศูนย์ และมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ โดยดัชนีชี้วัดด้านการสัญจรได้เพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดของเดือนเมษายน และดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับตัวขึ้นมาที่ระดับก่อนการระบาดของไวรัส
แต่มาตรการรักษาระยะห่างทางกายภาพและมาตรการล็อกดาวน์ที่ยังบังคับใช้ในบางด้าน ก็มีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผู้โดยสารระหว่างประเทศยังมีจำนวนน้อยมาก และกิจกรรมในธุรกิจค้าปลีกและสันทนาการยังเงียบเหงา
รวมทั้งยังมีความเสี่ยงในตลาดเงินหลังจากส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรกว้างขึ้น แม้มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
แปลว่ายังต้องมีการประเมินสถานการณ์ทั้งด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจควบคู่กันไปอย่างระมัดระวัง.
(พรุ่งนี้ : จะฟื้นแบบไหน?)
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |