Tanee แบรนด์ชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์จากต้นกล้วย
กล้วยมีความผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมาช้านาน นอกจากจะนำมาบริโภคเป็นอาหารแล้ว ทุกส่วนของกล้วยยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้ ตั้งแต่ต้นจนถึงใบ ก้านกล้วยหรือต้นกล้วยทำเป็นเชือกกล้วยถักร้อยเป็นกระเป๋า ถาด และเสื้อ ใบกล้วยใช้ห่อขนม ทำกระทง หรือประดิษฐ์บายศรีใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา แต่สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนช่างสกุลบายศรี ต.เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี มีการอนุรักษ์หัตถกรรมจากภูมิปัญญาและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากต้นกล้วยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ช่วง 3 เดือนที่ไทยล็อกดาวน์คุมการแพร่ระบาดโควิด ทำให้ชุมชนกระทบหนักจากปัญหาเศรษฐกิจซบเซา ยอดขายผลิตภัณฑ์จากต้นกล้วยภายใต้แบรนด์ ตานี (Tanee) ลดลงชัดเจน
แต่ในวิกฤติยังมีโอกาส ชุมชนได้ทบทวนปัญหาในการผลิตสินค้าและค้นหาแรงบันดาลใจออกแบบรูปแบบสินค้าใหม่ๆ ให้โดนใจผู้ชื่นชอบงานแฮนเมดผ่านโครงการ "ศิลปะร่วมสมัยสร้างสรรค์และต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน" โดยได้รับทุนสนับสนุนในการพัฒนาและสร้างผลงานต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากงานศิลปะร่วมสมัยจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม
กระเป๋าผลิตจากกาบกล้วย งานแฮนเมดมีเอกลักษณ์
ธนกร สดใส ประธานวิสาหกิจชุมชนช่างสกุลบายศรี เจ้าของแบรนด์ Tanee กล่าวว่า เดิมชุมชนมีภูมิปัญญาการทำบายศรีและแทงหยวกกล้วย เป็นงานช่างฝีมือที่สร้างรายได้ ถือเป็นองค์ความรู้ที่มีค่าและสะท้อนวิถีชีวิตชุมชนที่พึ่งพาธรรมชาติ คนในชุมชนอนุรักษ์ไว้ ต่อมามีแนวคิดเพิ่มมูลค่าจากต้นกล้วย ทั้งกล้วยตานี กล้วยน้ำว้า ผลิตกระเป๋าแฟชั่นทำจากกาบกล้วย แล้วยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น หมวก กระเป๋าสะพาย กล่องใส่เอกสาร สมุดโน้ต กลุ่มวิสาหกิจชุมชนช่างสกุลบายศรียังพัฒนาและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์แบรนด์ Tanee เป็นกระเป๋าจากกาบกล้วยที่เหมือนการใช้กระเป๋าหนัง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกับนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี ทำให้ผลิตภัณฑ์ทั้งกันน้ำ กันเชื้อรา และทนทาน อายุใช้งานนาน แบรนด์ไทย Tanee กำลังไปได้ดี แต่โควิดฉุดให้ยอดขายหายไปเกือบ 100% เพราะห้างปิด แหล่งท่องเที่ยวปิด ตลาดนัดศิลปะเลื่อนออกไป แหล่งศึกษาเรียนรู้ช่างสกุลบายศรีก็จัดกิจกรรมไม่ได้ ขาดรายได้หล่อเลี้ยงชุมชน จึงตัดสินเขียนโครงการขอรับทุนจาก สศร. เพื่อสร้างโอกาสให้กับชุมชนอีกครั้ง
กระเป๋าแฟชั่นแบรนด์ชุมชน สร้างงานสร้างรายได้
ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ กล่าวต่อว่า จากการที่ชุมชนร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ด้วยศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยด้วยศาสตร์ 4DNA ที่ สศร.ร่วมกับจังหวัดราชบุรี จัดขึ้นที่วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่า ศาสตร์ของศิลปะร่วมสมัย สามารถพัฒนาและต่อยอดให้ผลิตภัณฑ์เติบโตไปสู่งานอื่นๆ อีกมากมาย เช่น งานตกแต่งบ้าน งานโครงสร้าง งานออกแบบ ที่มาจากกล้วยเพื่อประโยชน์ใช้สอยด้านอื่นๆ จากโปรเจ็กต์นี้ ยังมีเป้าหมายสร้างผลงานร่วมสมัยจากกาบกล้วยที่เป็นตันแบบผลิตภัณฑ์ใช้เผยแพร่องค์ความรู้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนด้วย
“ ตำบลเจ็ดเสมียนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และมีชาวไทยเชื้อสายเขมรอยู่ที่นี่ เคยมีอาชีพควาญช้าง ช้างเป็นสัญลักษณ์ ผมนำเรื่องราวของช้างในวันวานเป็นไอเดียออกแบบเฟอร์นิเจอร์จากกาบกล้วย เป็นสินค้าใหม่ยังไม่มีใครทำ รูปแบบผลิตภัณฑ์ลดทอนรูปทรงของช้าง โดยคงเอกลักษณ์ของลวดลายและพื้นผิวธรรมชาติของลำต้นกล้วยเมื่อแปรสภาพแล้ว ดีไซน์ผสมวัสดุอื่นๆ ให้ทันสมัย สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าแบรนด์ Tanee เร็วๆ นี้ คนที่สนใจงานจากวัสดุธรรมชาติช่วยรักษ์โลกจะได้พบกับโต๊ะ เก้าอี้ โคมไฟที่กิ๊บเก๋ แล้วยังมีวอลเปเปอร์ลายช้างจากกาบกล้วย รวมถึงชุมชนจะรุกช่องทางตลาดออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและปรับตัวรับโควิด“ ธนกร เล่าการต่อยอดผลงานทำให้ Tanee แตกต่างแต่ร่วมสมัย เป็นของดีชุมชนและอวดชาวโลก
ธนกร สดใส ประธานวิสาหกิจชุมชนช่างสกุลบายศรี เจ้าของแบรนด์ Tanee
หลังโควิด-19 คลี่คลาย ธนกรกล่าวด้วยว่า ชุมชนของเราเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เพื่อเสริมความแข็งแกร่งเศรษฐกิจฐานราก ปลายปีนี้จะได้พบกับตลาดพังพลาย กระตุ้นการเที่ยวชุมชน ส่วนตานีฟาร์มสเตย์เรียนรู้ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ หัตถกรรม คาดว่าอีก 2 เดือนจะเปิดให้บริการ ขณะที่ศูนย์การเรียนรู้ช่างสกุลบายศรี ซึ่งมีภารกิจหลักอนุรักษ์งานหัตถกรรมจากภูมิปัญญา สู่การพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์จากต้นกล้วย ช่วยสร้างงานให้ชุมชน ตามแผนจะเปิดปี 2564 ทุกกิจกรรมชุมชนร่วมมือกันใช้ทุนวัฒนธรรมที่มีอยู่มาสร้างสรรค์ สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนอยู่ดีกินดี มีความมั่นคง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |