11เม.ย.61- คนทีวี-ค่ายหนัง รับลูกรัฐบาลพร้อมทำหนัง -ละครประวัติศาสตร์ เสนอสร้างสตูดิโอแห่งชาติ-คลังเสื้อผ้า-ห้องสมุด เอื้อการผลิตเนื้อหา-โปรดักชั่นที่ดี วธ.เตรียมทำแผนสนับสนุนรายปีให้ชัดเจน "วีระ"ยกเกาหลีใช้ผู้กำกับระดับโลกจึงประสบความสำเร็จ 'คุณชายอดัม'ถามรัฐบาลพร้อมรับจุดยืน-วัฒนธรรมแตกต่างหรือไม่
ตามที่ละคร บุพเพสันนิวาส สร้างปรากฏการณ์สะท้านเมือง จนส่งผลให้ รัฐบาลออกโรงชื่นชมความสำเร็จ พร้อมขับเคลื่อนสานต่อการจัดสร้างละครน้ำดี ที่ส่งเสริมการนำมิติทางวัฒนธรรมส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม ในแง่มุมต่างๆ ผ่านละครและภาพยนตร์ เมื่อวันที่ 11 เม.ย. กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้เชิญผู้สร้าง ผู้ผลิต ผู้กำกับ ผู้เขียนบท จากสถานีไทรทัศน์ และ ค่ายภาพยนตร์ มาร่วมหารือ ถึงการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล โดยได้รับความสนใจจากผู้ที่เกี่ยวข้องตอบรับเข้าร่วมการประชุมอย่างล้นหลาม อาทิ บมจ.บีอีซี- เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ,บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น ทีวีซีน จำกัด ,จีดีเอช 559 จำกัด, สหมงคลฟิล์ม จำกัด ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ชมรมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ เป็นต้น
นายยงยุทธ ทองกองทุน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารการตลาด บริษัท จีดีเอช 559 จำกัด กล่าวว่า ที่ประชุม ได้มีการเสนอข้อคิดเกี่ยวกับต่อยอดกระแสละคร บุพเพสันนิวาส ซึ่งจุดประกายให้สังคมตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องละครประวัติศาสตร์ และการรักษาความเป็นไทย ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ ทุกฝ่ายเข้าร่วมหารือ ถึงการทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นการสานต่อการผลิตสื่อที่จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศ พร้อมเห็นตรงกันว่า เป็นเรื่องดีที่ทางภาครัฐพร้อมให้การสนับสนุนการผลิต แต่การส่งเสริมเรื่องราวของประวัติศาสตร์ชาติไทยนั้น จำเป็นต้องเปิดกว้างในความคิดและมุมมองของผู้ผลิตสื่อที่มีความหลากหลาย ว่าอะไรคือ เรื่องที่อยากจะเล่า มีรูปแบบใดบ้าง มุมมองทัศนคติของเรื่องมีอะไรบ้าง เพื่อไม่ให้โหมกระแสแค่ผลิตแต่ละครหรือภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ เพราะจะกลายเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ
"ขอชื่นชมละครบุพเพสันนิวาสที่สามารถนำเสนอความเป็นอดีตโบราณ ร่วมกับความร่วมสมัยได้อย่างลงตัว ประกอบกับการรับรู้ของรัฐบาลที่รับลูกเร็วมากและพยายามสร้างความร่วมมือให้เกิดเป็นรูปธรรม เป็นไปได้ที่ผู้ผลิตสื่อจะร่วมมือกันหยิบยกและสอดแทรกความเป็นไทยไว้ในเนื้อเรื่องของละคร และภาพยนตร์ ทั้งการแสดงออกทางท่าทาง ภาษาที่พูด คำที่ใช้ วัสดุสิ่งของ การแต่งกาย แต่ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและผู้ผลิตสื่อจะเกิดได้จริงหรือไม่นั้นต้องดูหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เพราะบางครั้งนโยบายรัฐเปลี่ยน รัฐมนตรีเปลี่ยน หรือไม่เกิดการสนับสนุนต่อเนื่อง ความพยายามก็คงไม่บรรลุผลตามที่วางไว้"นายยงยุทธกล่าว
ดร. ณฤดี เคียงศิริ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานโทรทัศน์ทองคำ กล่าวว่า ละครบุพเพสันนิวาส ไม่ใช่เรื่องแรกที่ประสบความสำเร็จ แต่ด้วยจังหวะ และช่วงเวลาที่เหมาะสม สามารถส่งให้ละครเรื่องนี้ ประสบความสำเร็จเร็วมาก ต้องขอชื่นชมการค้นหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี เป็นตัวอย่างของละคร ที่นำความร่วมสมัยเข้าไปอยู่ในละครย้อนยุค ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะวัยรุ่นเข้าใจและเข้ามามีส่วนร่วมในความรู้สึก และมีความสนใจอยากติดตาม ในขณะเดียวกัน หน่วยงานภารรัฐ และเอกชน ก็ปลุกกระแสไทยนิยมขึ้นมา ทำให้กระแสละคร และการส่งเสริมการแต่งผ้าไทยมีการรับลูกเกิดความต่อเนื่อง
"เมื่อละครจบคงต้องมาดูว่า จะทำอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยภาครัฐต้องมีนโยบายที่ชัดเจน รวมทั้งขอทางภาครัฐอำนวยความสะดวกผู้เขียนบทละคร ในการสัมภาษณ์ผู้รู้ทางด้านประเพณี วัฒนธรรม นักประวัติศาสตร์ ศิลปินแห่งชาติ เพื่อนำความรู้มาใช้ในการสร้างสรรค์บทละครสู่สังคม ขณะที่ ภาคเอกชนขอให้มีเป้าหมายในการสร้างสรรค์ผลงานมากขึ้น อย่ามองเป้าหมายอยู่ที่เงินอย่างเดียว นอกจากนี้ อยากให้วธ. ทำคลังสมองด้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลสำคัญในการให้ทุกภาคส่วนได้มาต่อยอดความรู้เกิดประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น"กรรมการจัดงานโทรทัศน์ทองคำกล่าว
นายสรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ นักเขียนบทละครโทรทัศน์เรื่องนาคี กล่าวว่า หากเราถอดบทเรียนจากประเทศ มีรายได้จากการใช้สร้างทุนทางวัฒนธรรม จะเห็นว่าประเทศเหล่านั้นจะทำการวิจัยก่อนแล้วจึงนำไปต่อยอด หากเราไม่มีการวิจัยเป้าหมายที่ชัดเจน ทุกอย่างก็จะจบไปตามกระแส ดังนั้นจึงต้องหาวิธีการที่จะทำให้ละครไทยก้าวไกลไปสู่ระดับนานาชาติ และปรากฏการณ์บุพเพสันนิวาสก็ทำให้เห็นว่า คนไทยกำลังโหยหาอัตลักษณ์ของความเป็นไทยอยู่ หากมีการวิเคราะห์โจทย์ของการนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยได้จะสามารถผลิตงานที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ประกอบกับช่วงมีละครบุพเพสันนิวาส ตรงกับช่วงงกระแสงานอุ่นไอรักคลายความหนาว เป็นการเปิดความรู้สึกใหม่ให้คนเห็นว่า เราสามารถใส่ชุดไทยได้อย่างไม่เก้อเขิน ชุดไทยไม่ได้แต่งแค่เพียงพิธีกรรม งานแต่งงาน งานบวช เอาไปถวายเจ้าพ่อ เจ้าแม่อีกต่อไป เราแต่งชุดไทยเหมือนกับญี่ปุ่นใส่ชุดกิโมโน การทำละคร และภาพยนตร์ต่อจากนี้ จะต้องที่เวลาและสถานที่ และการนำเสนอความเป็นไทยในรูปแบบไหนให้คนชอบ
"จะต้องทำความเข้าใจว่า ละครสามารถจุดประกายให้คนเห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์ได้ สะท้อนถึง สถานภาพการเรียนประวัติศาสตร์ในระบบการศึกษา ว่า ทำไมละครกระตุ้นคนสนใจประวัติศาสตร์อยากเรียน รู้และจดจำประวัติศาสตร์ ถือเป็นอำนาจอ่อนเชิงวัฒนธรรม ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในชั้นเรียน โดยไม่ได้เอาประวัติศาสตร์ไปไว้บนหิ้ง และมาทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม หากจะไม่ให้กระแสหายไป การทำละครจะต้องคำนึงถึงความเพลิดเพลินเป็นพื้นฐาน นำพาความคิด และจิตวิญญาณให้ได้" นายสรรัตน์ กล่าว
นายพันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ กรรมการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เรียกร้องให้ วธ.ผลักดันแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านภาพยนตร์ ระยะที่ 3 เพื่อนำไป สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม มีการสนับสนุนบุคลากรและการตลาด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และท้ายน้ำ อีกทั้งมีกองทุนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดตามแผน เพราะซีรีส์ประวัติศาสตร์ใช้งบประมาณสูงมาก โดยเสนอให้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม มีสตูดิโอแห่งชาติ และสนับสนุนคลังเสื้อผ้าและเครื่องประกอบฉากเพื่อให้ผู้ประกอบการใช้ถ่ายทำหนังละครในราคาที่ไม่สูงมากนัก ซึ่งโดยปกติ หนังและละครซีรีส์ทั่วไป ตอนละ 1.2-1.8 ล้านบาท แต่ถ้าละครพีเรียดจะแพงขึ้นอีก 30-40% และหากเกิดขึ้นจริงยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงและร่วมผลิตหนังละครประวัติศาสตร์ได้ด้วย
น.ส. ณัฐิยา ศิรกรวิไล ผู้เขียนบทละครมือรางวัลจากเรื่อง เพลิงบุญและ วัยแสบสาแหรกขาด ชมรมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ได้เสนอให้รัฐบาลมีส่วนส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ให้บุคลากรนักเขียนบท เพราะหนังและละครดีๆ ไม่ใช้ดีดนิ้วแล้วได้เลย นอกจากนี้ รัฐต้องมีบทบาทประสานนักวิชาการและรวบรวมทำเนียบนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่จะช่วยเหลือให้งานเขียนบทละครมีความสมบูรณ์ ที่ผ่านมาจะติดต่อขอสัมภาษณ์นักวิชาการยากมาก พอบทละครผิดพลาดจะโดนวิจารณ์ ตลอดจนควรจัดทำห้องสมุดที่รวบรวมหนังสือและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หากมีส่วนนี้อาจมีนักเขียนบทที่เก่งและเชี่ยวชาญเหมือนศัลยาเกิดขึ้นในสังคมไทยเพิ่มมากขึ้น รัฐต้องส่งเสริมการสร้างงานนักเขียนบทเลือดใหม่ ชมรมฯ ไม่ได้ต้องการเงิน แต่ต้องการให้รัฐร่วมสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ
ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ผู้กำกับภาพยนตร์และผู้เขียนบทร่วมตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เดอะซีรีส์ กล่าวว่า วธ.ควรหยิบประวัติศาสตร์และวิชาการมาจัดสัมมนาอย่างต่อเนื่องเพื่อถกเถียงและหามุมมองประวัติศาสตร์ใหม่ๆ ร่วมกัน ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าจะสร้างหนัง 2 เรื่อง เพื่อหนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือปรีดี พนมยงค์ เรามีความพร้อมจะรับจุดยืนทางประวัติศาสตร์ที่หลากหลายหรือไม่ ตลอดจนสยามในมุมมองต่างประเทศ วธ.จะสนับสนุนเรื่องแบบนี้ได้หรือไม่
นอกจากนี้ การอุดหนุนอุตสาหกรรมหนังและละครมี 2 ประเภท คือ เชิงพาณิชย์ อย่างละครบุพเพสันนิวาส จัดเป็นละครเพื่อขาย เข้าถึงคนได้ง่าย อีกประเภทเป็นงานแบบวิจิตรศิลป์ จะสนับสนุนทั้งหมดหรือไม่ จะพัฒนาอย่างไรทำให้ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์หมุนเวียน หรือหนังเรื่องโหมโรง และบางระจัน ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ลุ่มลึก แต่สามารถปลุกจิตสำนึกคนรักชาติและศิลปวัฒนธรรมได้ วธ.ต้องพิจารณาความหลากหลายของวัฒนธรรม ไม่มองแคบๆ อีกทั้งรัฐจะมีส่วนสนับสนุนงบประมาณในการบำรุงรักษาสถานที่ใช้ประกอบการผลิตหนังหรือละครประวัติศาสตร์ได้อย่างไร
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ข้อเสนอที่ประชุมให้ตั้งศูนย์เรียนรู้ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับหนังและละคร ตนเห็นด้วยว่า ควรจะต้องเกิดขึ้นในประเทศไทย เช่นเดียวกับการสร้างบุคลากรจะต้องจัดโครงการอบรมสำหรับนักเขียนบทและจัดอบรมสำหรับผู้กำกับภาพยนตร์ ซึ่งประเทศเกาหลีประสบผลสำเร็จจากการให้ความสำคัญกับกลุ่มคนเหล่านี้ รวมถึงใช้ผู้กำกับที่มีประสบการณ์แล้วสร้างภาพยนตร์ระดับโลก นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีประเด็นที่ฝากให้ผู้ประกอบการช่วยคิดต่อ ถ้าต้องการให้รัฐอุดหนุนผลิตหนังและละครน้ำดีสอดแทรกประวัติศาสตร์ควรจะสนับสนุนทุนตั้งต้นเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม แต่เป็นไปไม่ได้ที่รัฐจะอุดหนุน 100 % ทาง วธ.ยินดีให้การสนับสนุนในเรื่องข้อมูลและบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์หากประสานมาเพื่อให้เกิดภาพยนตร์ที่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ตนมีความกังวลว่าจากกระแสละครประวัติศาสตร์จะทำให้ผู้ผลิตแห่สร้างหนังในแนวเดียวกัน ฉะนั้น วธ.จะต้องวางแผนการสนับสนุนแต่ละปีจะส่งเสริมหนังและละครแนวใด เพื่อให้เกิดความหลากหลายของอุตสาหกรรมดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ตนจะนำข้อเสนอประเด็นต่างๆ เข้าสู่ที่ประชุม คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ เพื่อพิจารณาในวันที่ 17 เม.ย. นี้ด้วย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |