ไทยพบติดเชื้อเพิ่ม 1 ราย เด็กชายวัย 6 ขวบกลับจากแอฟริกาใต้ "รอง ผบ.ทบ." หัวโต๊ะถกตัวแทนผับ-บาร์-คาราโอเกะ จ่อชง ศบค.ชุดใหญ่ศุกร์หน้าคลายล็อกเฟส 5 ผู้ประกอบการพอใจ 1 ก.ค.ลุ้นเปิดกิจการอีกครั้ง นิด้าโพลเผยประชาชน 61%รายได้แย่ลงช่วงโควิด
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์โรคโควิด-19 ประจำวันผ่านเฟซบุ๊ก "ศูนย์ข้อมูล COVID-19" ว่า มีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 1 ราย ไม่มีหายป่วยเพิ่ม และผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 3,148 ราย ติดเชื้อในประเทศ 2,444 ราย จากสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) 211 ราย หายป่วยกลับบ้านรวม 3,018 ราย เสียชีวิตรวม 58 ราย ยังรักษาตัวใน รพ. 72 ราย
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่กลับมาจากต่างประเทศ คือ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ และเข้าพักในสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ เป็นเด็กชายไทยอายุ 6 ขวบ เดินทางพร้อมมารดาถึงไทยวันที่ 15 มิ.ย. เข้าพักสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ จ.ชลบุรี ตรวจหาเชื้อวันที่ 19 มิ.ย. ผลตรวจพบเชื้อ แต่ไม่มีอาการ ส่วนผลตรวจมารดาวันเดียวกันไม่พบเชื้อ
ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 8,915,863 ราย อาการรุนแรง 54,505 ราย รักษาหายแล้ว 4,736,606 ราย เสียชีวิต 466,727 ราย อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด คือ 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 2,330,578 ราย 2.บราซิล จำนวน 1,070,139 ราย 3.รัสเซีย จำนวน 576,952 ราย 4.อินเดีย จำนวน 411,727 ราย 5.สหราชอาณาจักร จำนวน 303,110 ราย ส่วนประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 91 จำนวน 3,148 ราย ประเทศไทยไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศ หรือเป็น 0 ต่อเนื่องเป็นวันที่ 27 แล้ว
ส่วนการนำคนไทยที่ติดค้างอยู่ต่างประเทศที่ต้องการเดินทางกลับมาในวันนี้ จะมีการเดินทางกลับมาจากประเทศบาห์เรน 199 คน, ยูเครน 5 คน, เนเธอร์แลนด์ 65 คน, สิงคโปร์ 163 คน และประเทศจีน 49 คน ในวันที่ 22 มิ.ย.63 มีการเดินทางกลับมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาผ่านญี่ปุ่น 79 คน, รัสเซีย 36 คน, ออสเตรเลีย/ฮังการี 160 คน, เนปาล 10 คน และประเทศสิงคโปร์ 156 คน
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งเป็นเด็กชายวัย 6 ขวบนั้น เดินทางกลับมาจากประเทศแอฟริกาใต้ พร้อมมารดา ถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ตรวจหาเชื้อตามระบบการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ผลตรวจพบเชื้อ แต่ไม่มีอาการ ได้นำส่งเข้าระบบรักษาในโรงพยาบาลทันที สำหรับมารดาได้ตรวจหาเชื้อเช่นเดียวกัน แต่ไม่พบเชื้อ และยังคงต้องเข้ารับการกักตัวให้ครบ 14 วัน เพื่อตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ซึ่งจะทำการตรวจในระหว่างวันที่ 11-13 ของการเฝ้าระวังโรคหลังจากที่เข้าพัก เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้ที่เข้ารับการกักตัวปลอดเชื้อจริง และไม่นำเชื้อไปแพร่สู่คนในครอบครัวหรือชุมชน
กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่า การติดเชื้อในเด็กอาจไม่มีการแสดงอาการป่วยได้ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อในครอบครัว เนื่องจากการเว้นระยะห่างระหว่างเด็กเป็นเรื่องยาก ดังนั้นคนในครอบครัวควรเลี่ยงการแสดงความรักด้วยการกอด จูบ และถ้าในครอบครัวมีผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวด้วยแล้ว กลุ่มนี้หากป่วยจะมีอาการรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูง
นพ.โสภณกล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้ออกมาแถลงเรียกร้องให้ทุกประเทศ และประชาชนทุกคนยังคงต้องระมัดระวังและป้องกันตนเองอย่างต่อเนื่อง จากรายงานในหลายประเทศมีการกลับมาระบาดระลอกที่ 2 อีกครั้ง พบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น โดยในวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนเพิ่มกว่า 1.5 แสนราย ซึ่งมากที่สุดในวันเดียว ตั้งแต่มีการเริ่มระบาด หลังมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศทั่วโลก
สธ.ย้ำห้ามประมาท
ขอย้ำเตือนประชาชน ไม่ควรประมาท หลังจากที่รัฐบาลได้มีการผ่อนปรนมากขึ้นจนเกือบเข้าสู่สถานการณ์ปกติ เริ่มมีการเดินทางมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้บริการรถขนส่งสาธารณะ ต้องสวมหน้ากากอนามัย/ผ้าตลอดการเดินทาง งดการพูดคุยและรับประทานอาหารบนรถ ล้างมือบ่อยๆ รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการพบปะหรือการชุมนุมกันเป็นกลุ่มก้อน จำกัดเวลาในการอยู่สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง และออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันตนเองและคนรอบข้าง ที่สำคัญเมื่อใช้บริการในสถานที่ต่างๆ ขอให้ลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่ ผ่านแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันไทยชนะทุกครั้ง
สำหรับผู้ประกอบการยังคงต้องเคร่งครัดมาตรการเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่ระบาดของเชื้อ ต้องทำความสะอาดสถานที่ สิ่งของและอุปกรณ์ที่ใช้ จัดการพื้นที่เพื่อลดความแออัด เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร จัดระบบคัดกรองผู้เข้ารับบริการ และจุดบริการล้างมือ หากเป็นสถานที่ปิด เช่น ห้องประชุม ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ ต้องเช็กระบบระบายอากาศให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ส่วนผู้ให้บริการต้องสวมหน้ากากอนามัย/ผ้าตลอดเวลา
ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานคณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และในฐานะกรรมการ ศบค.ชุดเล็ก หารือร่วมกับตัวแทนผู้ประกอบการผับ บาร์ และคาราโอเกะ เพื่อพูดคุยและรับฟังข้อเสนอในการวางแนวทางการผ่อนคลายมาตรการสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าว
โดย พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า การผ่อนคลายจะต้องให้ความสำคัญ 2 ข้อใหญ่ คือกิจการ-กิจกรรม ต้องคำนึงถึงความจำเป็นและความเสี่ยง รวมถึงผลกระทบของเศรษฐกิจและสังคม ว่าอะไรมีความจำเป็นมากกว่ากัน จะต้องทำเปรียบเทียบกัน ความพร้อมในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ รวมถึงความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแล ซึ่งการแก้ปัญหาที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ได้ย้ำว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น เกิดจากความร่วมมือของคนไทยทุกคนในการทำตามมาตรการของภาครัฐ และการผ่อนคลายในระยะเวลาที่ผ่านมา ภาครัฐได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ส่วนตัวยอมรับว่า ศบค.ไม่สามารถที่จะติดตามได้ทุกธุรกิจ และในวันนี้จะมารับทราบถึงปัญหาที่ผู้ประกอบการมาพูดคุยกัน เพื่อรับทราบถึงข้อปัญหาทุกอย่างที่พูดคุยกัน แล้วนำมาเป็นข้อสรุปในการผ่อนคลายกิจการ-กิจกรรมต่อไป
จากนั้น พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก เปิดเผยภายหลังการหารือว่า จะเสนอต่อที่ประชุมศูนย์บริการสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ในวันที่ 26 มิ.ย. ให้ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบันเทิง เปิดให้บริการได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ทั้งผู้ประกอบการและนักดนตรี แต่ต้องมีมาตรการป้องกันโรครองรับ ซึ่งหากมีการต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) อีก 1 เดือน จะมีการผ่อนปรนในระยะที่ 5 แต่หากไม่ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะถือว่าสิ้นสุดคำสั่งทำให้กิจการต่างๆ กลับมาเปิดได้ตามปกติ โดยในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ จะมีการหารือว่าจะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่
นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจถนนข้าวสาร กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการผับ บาร์ ร้านอาหาร พอใจถึงการพูดคุยร่วมกันครั้งนี้ ซึ่งจะมีการเสนอข้อเรียกร้องไปยัง ศบค.ชุดใหญ่ ในการวางมาตรการช่วยเหลือและให้ผ่อนคลายธุรกิจกลางคืนบางประเภทให้สามารถเปิดทำการได้ตามปกติ รวมทั้งขอให้มีมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม เช่น ขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน 5 ปี, ขอยกเว้นภาษีสรรพสามิต 5 ปี หรือจนกว่าเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 ฟื้นตัว เป็นต้น
ลุ้น 1 ก.ค.คลายเฟส 5
"ที่ประชุมได้เปรยว่า อาจจะได้รับการผ่อนปรนในระยะผ่อนคลายที่ 5 วันที่ 1 ก.ค.นี้ โดยหากเป็นไปตามนั้น จะทำให้ผู้ประกอบการและพนักงานมีรายได้หลังต้องแบกภาระค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งขอยืนยันว่า ทุกธุรกิจมีความพร้อมในมาตรการเตรียมรองรับโควิด-19 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดด้วย" นายสง่า ระบุ
ด้านตัวแทนชมรมสถานบันเทิงไทย ที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ บอกว่า มีความสบายใจขึ้น และมีความหวังว่าจะได้กลับมาเปิดกิจการ แต่สิ่งที่ยังเป็นกังวลคือ แต่ละจังหวัดต้องรอคำสั่งจากผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งไม่เหมือนคำสั่งในกรุงเทพมหานคร ที่ยึดตามหลัก ศบค.ชุดใหญ่ ดังนั้นหาก ศบค.มีคำสั่งใดออกมา ทางผู้ประกอบการเเต่ละพื้นที่อาจต้องรวมตัวไปพบผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อหารือแนวทางอีกครั้ง
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “การบริโภคอาหารในช่วงโควิด-19” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15- 16 มิถุนายน 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,273 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการบริโภคอาหารในช่วงโควิด-19 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง โดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลักของ “นิด้าโพล”
จากการสำรวจเมื่อถามถึงรายได้ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 61.51 ระบุว่าแย่ลง รองลงมาร้อยละ 37.00 ระบุว่าเหมือนเดิม และร้อยละ 1.49 ระบุว่าดีขึ้น
ส่วนความเพียงพอต่อการใช้จ่ายของรายได้ในปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 17.91 ระบุว่าเพียงพอ, ร้อยละ 16.03 ระบุว่าค่อนข้างเพียงพอ, ร้อยละ 33.46 ระบุว่าไม่ค่อยเพียงพอ, ร้อยละ 32.13 ระบุว่าไม่เพียงพอเลย และร้อยละ 0.47 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความกังวลต่อเงิน/รายได้ หรือทรัพยากร สำหรับการบริโภคอาหารที่จำเป็น พบว่า ร้อยละ 21.13 ระบุว่ามีความกังวลมาก, ร้อยละ 38.18 ระบุว่าค่อนข้างมีความกังวล, ร้อยละ 23.80 ระบุว่าไม่ค่อยมีความกังวล, ร้อยละ 16.65 ระบุว่าไม่มีความกังวลเลย และร้อยละ 0.24 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อถามผลกระทบต่อเงิน/รายได้ หรือทรัพยากรในการหาซื้อหรือจัดหาอาหารเพื่อการบริโภค จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิค-19 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 37.86 ระบุว่าบริโภคได้ตามปกติ รองลงมา ร้อยละ 35.43 ระบุว่าบริโภคอาหารครบทุกมื้อ แต่จำกัดชนิดอาหาร เพื่อประหยัดเงิน, ร้อยละ 17.44 ระบุว่างดบริโภคอาหารดี มีคุณค่าและมีราคา เพื่อประหยัดเงิน, ร้อยละ 13.75 ระบุว่าลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอ, ร้อยละ 8.01 ระบุว่างดอาหารบางมื้อ เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอ, ร้อยละ 0.31 ระบุว่าไม่ได้บริโภคอาหารทั้งวันเพราะไม่มีเงิน และร้อยละ 0.24 ระบุว่าทั้งครัวเรือนไม่มีอาหารเหลือเพราะไม่มีเงิน
สำหรับการไปรับอาหารแจกฟรีตามสถานที่ต่างๆ หรือไปรับอาหารจากตู้ปันสุข พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 83.19 ระบุว่าไม่เคยไปรับ ขณะที่ร้อยละ 16.81 ระบุว่าเคยไปรับ ด้านการเคยแจกเงิน อาหาร หรือสิ่งของเครื่องใช้ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 64.89 ระบุว่าไม่เคยแจกเงิน อาหาร หรือสิ่งของเครื่องใช้ ขณะที่ร้อยละ 35.11 ระบุว่าเคยแจกเงิน อาหาร หรือสิ่งของเครื่องใช้ โดยในจำนวนของผู้ที่เคยแจกเงิน อาหาร หรือสิ่งของเครื่องใช้ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 70.07 เคยแจกเงิน อาหาร หรือสิ่งของเครื่องใช้ของตนเอง และร้อยละ 32.20 ระบุว่าเคยร่วมแจกเงิน อาหาร หรือสิ่งของเครื่องใช้ของหน่วยงาน/องค์กร/สมาคม
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการได้รับเงินช่วยเหลือ/เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จากรัฐบาล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 53.42 ระบุว่าไม่เคยรับ ขณะที่ร้อยละ 46.58 ระบุว่าเคยรับ โดยในจำนวนของผู้ที่เคยได้รับเงินช่วยเหลือ/เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จากรัฐบาล ส่วนใหญ่ร้อยละ 58.01 ระบุว่าเคยรับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท ผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกัน รองลงมา ร้อยละ 37.77 ระบุว่าเคยรับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท สำหรับกลุ่มเกษตรกร ร้อยละ 2.53 ระบุว่าเคยรับเงินเยียวยาจากสำนักงานประกันสังคม และร้อยละ 1.69 ระบุว่าเคยรับเงินเยียวยาสำหรับกลุ่มคนที่มีความเปราะบางทางสังคม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |