"หมอวรงค์" ชี้ทางออกประชาธิปไตยของไทย ในวันที่สังคมโลกไม่เอาการรัฐประหาร ไม่ต้องไปโทษทหาร ทุกอย่างอยู่ที่นักการเมืองอย่าโกง ไปกันใหญ่ ปั่นเองติดเอง "แฮชแท็กเซฟโรม" รับลูกเป็นเครือข่ายในและต่างประเทศ เป้าหมายอยู่ที่สถาบันเบื้องสูง
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ระบุว่า วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง จากอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินของสถาบันพระมหากษัตริย์ มาสู่คณะชนชั้นนำที่เรียก “คณะราษฎร” ซึ่งแกนนำส่วนใหญ่เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลไทยที่ไปศึกษาที่ฝรั่งเศส
ข้อสังเกตของการปฏิวัติครั้งนั้น เป็นแนวคิดจากชนชั้นนำ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ ที่เรียกว่า "ประชาธิปไตย" โดยมีการวางแผนกันตั้งแต่ฝรั่งเศส และใช้กองกำลังทหารเป็นฐานใหญ่ มีพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งไม่ได้มาจากฐานรากของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาการกดขี่ข่มเหง ความอดอยากแร้นแค้นของประชาชน เหมือนการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงในหลายประเทศ
ดังนั้น อำนาจที่ได้มาจากสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อหวังให้การบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อความอยู่ดีกินดี การศึกษาที่ดี ความผาสุกของประชาชน จึงวนเวียนแต่ในชนชั้นนำ และก็เป็นจุดเริ่มต้นของวัฏจักรอำนาจ นั่นคือการแย่งชิงอำนาจของแกนนำคณะราษฎร ซึ่งคือต้นตอของการรัฐประหารของกองทัพเป็นต้นมา
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของ "ประชาธิปไตย" นั้น ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด เพราะการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างกองทัพและนักการเมือง จนกระทั่งมีการเกิดรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และเกิดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่เข้มแข็ง จนสังคมไทยไม่มีใครเชื่อว่า จะมีการรัฐประหารเกิดขึ้น
ใครจะไปคิดว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่เข้มแข็ง ประกอบกับกระแสสังคมโลกที่ต่อต้านการรัฐประหาร จะเกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันถึงสองครั้ง ในปี 2549 และปี 2557 เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นล้วนมาจากเครือข่ายเดียวกัน สร้างปัญหาไม่ต่างกัน นั่นคือการโกงทั้งโคตร และโคตรโกง ใช้อำนาจไม่ชอบ แบ่งแยกประชาชน จาบจ้วงเบื้องสูง ออกกฎหมายล้างผิด ถึงขนาดมีประชาชนออกมาร่วมกันชุมนุมขับไล่ และนำไปสู่การรัฐประหาร
ดังนั้นทางออกประชาธิปไตยของไทย ในวันที่สังคมโลกไม่เอาการรัฐประหาร ไม่ต้องไปโทษทหาร ทุกอย่างอยู่ที่นักการเมือง ถ้านักการเมืองทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ทหารทั้งกองทัพก็ทำอะไรไม่ได้ ส่วนนักการเมืองคนไหนที่บอกว่า ภารกิจ 2475 ยังไม่สำเร็จ ยังมีประเด็นที่จะคุยให้ฟังต่อไป #save112
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกระแสการให้กำลังตนเอง โดยมีแฮชแท็กเซฟโรม ว่าตนเชื่อว่าทุกกำลังใจที่ส่งมาถึงตน เพราะเห็นที่ตนเองเข้าไปจับต้อง เช่น งานด้านสิทธิมนุษยชนกรณี “วันเฉลิม” กรณี “หมู่อาร์ม” การผลักดันกฎหมายด้านสิทธิต่างๆ หรือการต่อสู้กับผู้มีอำนาจ หรือการชนกับทหาร ประกอบกับสภาวะทางสังคมที่อยู่ในความกลัว สังคมเกิดความไม่ปลอดภัย ซึ่งเกิดจากการกระทำของผู้มีอำนาจ แต่รัฐไม่สามารถปกป้องคนเหล่านี้ได้
ทั้งนี้ การขึ้นแฮชแท็กเซฟโรมสำหรับตนมันไม่ใช่แค่การแพร่กระจายข่าว แต่มันคือการโชว์ให้เห็นว่าทุกคนพร้อมทั้งเคียงข้าง แสดงว่าสังคมไทย เห็นด้วยกับการที่ต้องเปิดกว้างในการตั้งคำถาม เปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น การที่จะไปเซ็นเซอร์ ไม่ให้มีการแสดงความคิดเห็น เป็นสิ่งที่ล้าสมัยแล้ว ดังนั้นคิดว่าทุกอย่างมันเริ่มชัดเจน คนไทยตื่นตัวกับเสรีภาพในการแสดงออก และการทำหน้าที่ในการปกป้อง พื้นที่ตรงนี้ผ่านกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน มันอาจเป็นสิ่งที่สำคัญ สำหรับสังคมไทยในเวลานี้
พร้อมกันนี้ นายรังสิมันต์ยืนยันว่าสัญญาณเตือนจากการปฏิบัติหน้าที่ จะไม่เป็นอุปสรรคในการทำงาน เพราะตนเองไม่รู้สึกหวาดกลัว เมื่อไม่หวาดกลัวการแสดงออกต่างๆ ก็จะไม่ถูกเซ็นเซอร์ ขณะเดียวกันปัญหาในการทำงานหรืออุปสรรคที่แท้จริง คือการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ผ่านการทำหน้าที่เปิดเผยข้อเท็จจริงในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่เชื่อว่าคนรุ่นใหม่กำลังแสวงหาสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะสิทธิมนุษยชนที่จะต้องไม่เห็นเป็นแค่เพียงวาทกรรมสวยหรู ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่ ยืนยันจะทำหน้าที่ให้คุ้มกับเงินภาษีของประชาชน โดยเฉพาะการผลักดันการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น
เป็นที่น่าสังเกตว่ามีบุคคลหนีคดีความมั่้นคงทั้งไทยและต่างชาติซึ่งหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ใช้โซเชียลปล่อยข่าวว่า นายรังสิมันต์ถูกหมายหัวว่าจะถูกอุ้มเป็นรายต่อไป และยังบิดเบือนถึงสถาบันเบื้องสูง ทำให้กลุ่มที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า พากันติดแฮชแท็กเซฟโรม
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสการนิรโทษกรรมว่า เรื่องนิรโทษกรรมต้องคุยกันด้วยความระมัดระวัง ต้องตามว่าคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรมเกี่ยวข้องกับฐานความผิดใดบ้าง ถ้าเป็นเหมือนสมัยรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เกี่ยวกับการทุจริต เผาบ้านเผาเมือง ฆ่าคน เรายอมไม่ได้ ซึ่งพรรคจะติดตามอย่างใกล้ชิด
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า "ช่วงเดินทางกลับพื้นที่นครพนม ชาวบ้านเชียร์แนวคิดการสร้างความปรองดองของคนในชาติเพียบ ไปทางไหนก็มีแต่คนสนับสนุน ผมเชื่อโดยสุจริตใจว่า ไม่มีผู้นำประเทศคนไหนไม่อยากเห็นบ้านเมืองของตนเองสงบสุข เลิกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่ก็ไม่ใช่เออออห่อหมก ร่วมมือกันกินบ้านกินเมือง ยังต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลซึ่งกันและกันตามระบอบประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องทำความเข้าใจกับนักวิชาการบางท่านที่เห็นว่า ผมได้เรียกร้องให้รัฐบาลนิรโทษกรรมแบบ "เหมาเข่ง" และเรียกร้องให้มี "รัฐบาลแห่งชาติ" นั้น เป็นการกล่าวเกินเลยความจริงไปมาก จึงขอปฏิเสธมา ณ ที่นี้ "เหมาเข่ง" เป็นวาทกรรมที่บิดเบือน ไม่เป็นความจริงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะนิรโทษกรรมคดีทุจริต มีแต่นิรโทษกรรมคดีการเมือง และคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องการเมือง
ในข้อเท็จจริง ผมเขียนบทความลงเฟซบุ๊กสองวันติดกัน ในวันที่ 18 และ 19 มิ.ย.63 เรียกร้องให้รัฐบาลสร้างความปรองดองของคนในชาติ ด้วยการนิรโทษกรรมผู้ต้องคดีการเมือง และคดีอาญาเกี่ยวเนื่องการเมือง ยกเว้นคดีทุจริตที่กระบวนการกล่าวหาต้องยืนอยู่บนหลักนิติธรรม ไม่มีส่วนไหนเลยที่ขอนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง และไม่มีข้อความใดเลยที่ขอให้มีรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่ง fb ของผมทั้งสองวันดังกล่าวก็ยังอยู่ ไม่ได้ลบบทความแต่อย่างใด สามารถตรวจสอบได้ ผมเป็น ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย จึงไม่อาจไปเรียกร้องให้มีรัฐบาลแห่งชาติได้
ส่วนการนิรโทษกรรมผู้ต้องคดีการเมือง และคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องการเมือง ยกเว้นคดีทุจริต ที่ผมเสนอความเห็นไว้นั้น ไม่ใช่การนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งแน่นอน ไม่มีประเทศใดในโลกจะนิรโทษกรรมคดีทุจริตได้
ขอเรียนว่า ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้างความปรองดองของคนในชาติ ผู้บริหารของประเทศนั้น ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ละอคติส่วนตน มองประโยชน์ความสามัคคีของคนในชาติเป็นสำคัญ
ส่วนการนิรโทษกรรมคดีการเมือง และคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องการเมือง หลักคิดก็คือ ความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันไม่ใช่อาชญากรรมร้ายแรงที่จะอภัยกันไม่ได้ ยกตัวอย่าง ในอดีตมีประชาชนที่มีความเห็นต่างทางอุดมการณ์ทางการเมืองจนถึงขั้นจับอาวุธรบราฆ่าฟันกันนานนับสิบปี มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก สุดท้ายสงครามกลางเมืองยุติลงได้ด้วยการให้อภัยต่อกัน รัฐบาลในขณะนั้นที่มี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/23 เรื่อง นโยบายการเมืองนำการทหาร ส่งผลให้เกิดผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย บ้านเมืองก็กลับมาสู่ความสงบสุข
ดังนั้น ณ สถานการณ์ปัจจุบัน หากผู้นำประเทศเข้าใจหลักคิดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองที่หมักหมมมากว่า 10 ปี แล้วตัดสินใจให้อภัยต่อกัน ผมมั่นใจว่าก็จะเกิดความปรองดองขึ้นในบ้านเมือง ซึ่งจะส่งผลให้ทุกภาคส่วนต่างๆ ร่วมมือกันแก้ไขวิกฤติของชาติที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
ผมเชื่อว่า ไม่มีผู้นำประเทศคนไหนไม่อยากเห็นบ้านเมืองของตนเองสงบสุข ถึงเวลาที่เหมาะสมที่สุดแล้วที่จะสร้างความปรองดองของคนในชาติ ดังที่ผมเคยกล่าวไว้ว่า มะม่วงสุกแล้ว หวานกำลังดี ไม่อ่อนจนเปรี้ยว แต่ถ้าปล่อยให้เนิ่นนานก็จะเน่า".
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |