เป็นเวลา 1 เดือนเต็มๆ ที่เมืองไทยมีการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด อาจจะนานกว่าครั้งไหนๆ ในประวัติศาสตร์บ้านเรา และราว 2 เดือนครึ่งที่ห้ามนั่งดื่มในร้านอาหาร ส่วนการนั่งดื่มในผับบาร์นั้นยังคงต้องรอต่อไปอย่างน้อยก็อีก 1 หรือ 2 สัปดาห์
แค่นี้คอน้ำเมาทั้งหลายก็บ่นแล้วบ่นอีก ลามไปถึงว่าประเทศไม่มีประชาธิปไตย ไร้สิทธิเสรีภาพ แค่จะเอาสิ่งของใส่ปากตัวเองแท้ๆ ยังถูกลิดรอนสิทธิ หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าประเทศต้นแบบประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกาเคยริบสิทธิเสรีภาพในการดื่มสุราของประชาชนมาแล้ว และเป็นระยะที่นานกว่าไทย ไม่มากไม่มาย แค่ 14 ปี
ช่วงนี้ผมยังไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวไปไหนได้ด้วยเจ้าโควิด-19 ไม่ยินยอม พึ่งของเก่าหากินไปได้ 2 ตอนก็หมดมุก วันอาทิตย์นี้ขออนุญาตท่านผู้อ่านแปลและเรียบเรียงเรื่องราวการห้ามบริโภคเหล้าในสหรัฐจากเว็บไซต์ history.com และ wikipedia.org แก้ขัดไปก่อนสักตอน หวังว่าท่านคงให้อภัย
ความพยายามผลักดันให้คนในสังคมงดเว้นการดื่มสุรามีมาตั้งแต่เริ่มตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยสาเหตุหลายประการ แต่เสียงที่ส่งออกมาดังที่สุดคงมาจาก “เบนจามิน รัช” ที่เป็นทั้งหมอและนักการเมือง ได้เขียนบทความเมื่อปี 1784 ทำนองว่าการดื่มเครื่องดองของเมามากเกินไปมีผลร้ายกับทั้งทางร่างกายและสุขภาพจิต พวกขี้เมาถือว่าเป็นคนป่วยชนิดหนึ่ง บทความนี้ส่งผลให้มีกลุ่มสนับสนุนการเลิกดื่มสุราเกิดขึ้นในหลายรัฐ โดยเฉพาะบรรดาสุภาพสตรีที่คุณพ่อบ้านมักเมาแล้วสร้างปัญหาต่างๆ นานา
มีการก่อตั้งสมาคมอเมริกันละเว้นของเมา (American Temperance Society) ขึ้นในปี 1826 ภายใน 10 ปีมีสมาชิกเข้าร่วมถึง 1.5 ล้านคน แน่นอนว่าเกินครึ่งคือสุภาพสตรี ยังไม่พอฝ่ายต่อต้านสุรายังได้ขบวนการผลักดันของทางฝ่ายศาสนาที่เป็นโปรเตสแตนต์ส่วนใหญ่อีกด้วย
ปี 1838 รัฐแมสซาชูเสตต์สได้ผ่านกฎหมายจำกัดการขายสุรา แม้ว่ากฎหมายนี้จะถูกยกเลิกในอีก 2 ปีต่อมา แต่ถือเป็นใบเบิกทางสำหรับกฎหมายลักษณะใกล้เคียงกันในรัฐอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐเมนที่ผ่านกฎหมายห้ามสุราขั้นเบาใน ค.ศ.1846 ก่อนจะตามมาด้วยขั้นเข้มข้นใน ค.ศ.1851 การห้ามผลิตและขายสุราเรียกกันในสหรัฐว่า Prohibition (ความหมายโดยปกติแปลว่า “ห้าม”) จากนั้นอีกหลายรัฐก็มีกฎหมายลักษณะนี้ออกตามมา ทว่ามีสิ่งที่ใหญ่หลวงสำหรับชีวิตอเมริกันชนเกิดขึ้นเสียก่อน นั่นคือสงครามกลางเมืองสหรัฐระหว่าง ค.ศ.1861-1865
เมื่อสงครามจบ การเคลื่อนไหวให้สุราเป็นของต้องห้ามก็กลับมาทันที มีการตั้งพรรคห้ามจำหน่ายสุราขึ้น (Prohibition Party) ถือเป็นพรรคการเมืองทางเลือกที่ 3 ของสหรัฐที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด และถือเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่เป็นอันดับ 3 รองจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน และที่สำคัญคือการถือกำเนิดของสหภาพสตรีคริสเตียนต่อต้านสุรา (Woman’s Christian Temperance Union : WCTU) ที่มีบทบาทในการทำให้สังคมตื่นรู้ถึงพิษภัยของสุราในทุกระดับ ปี 1881 แคนซัสกลายเป็นรัฐแรกในการห้ามสุราในธรรมนูญของรัฐ ตามมาด้วยรัฐอื่นๆ ทางภาคใต้ ในบางรัฐที่ยังไม่มีกฎหมายห้ามแต่กฎหมายในระดับเมืองเขียนห้ามไว้ก็มี เกิดคำศัพท์เรียกพวกไม่ดื่มว่า Dry และที่ดื่มเรียกว่า Wet
อย่างไรก็ตาม ร้านเหล้าในลักษณะที่เรียกว่า “ซาลูน” ยังเพิ่มขึ้นเป็นดอกเห็ดรับกับการเติบโตทางอุตสาหกรรมที่มีกลุ่มผู้ใช้แรงงานไหลบ่าเข้าสู่เมือง เจ้าของซาลูนจำนวนไม่น้อยเป็นเจ้าของเดียวกับโรงกลั่นและโรงเบียร์ ใช้ซาลูนเป็นที่ขายและทำการตลาดไปในตัว ถึงขั้นเสนอโปรโมชั่น “ฟรีมื้อเที่ยง” แต่มื้อเที่ยงเหล่านี้มักจะเป็นอาหารที่เน้นเกลือเต็มพิกัด ไม่วายลูกค้าต้องสั่งเครื่องดื่มแก้วแล้วแก้วเล่ามาล้างปากให้หายเค็ม
ในยุคที่เรียกว่า Progressive Era (1890-1920) กลุ่มนักเคลื่อนไหวทางด้านสังคมและนักปฏิรูปการเมืองได้มีบทบาทสำคัญมาก เกิดการรวมตัวกันเป็นสหพันธ์ชื่อ Anti-Saloon League เข้ามาเคลื่อนไหวแทนที่พรรค Prohibition Party และกลุ่ม WCTU เนื่องจากมีพลังมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อ Anti-Saloon League มีผู้นำชื่อ “เวย์น วีเลอร์” ผู้มีอดีตอันแสนขมขื่นจากพิษภัยของสุรา ถูกคนเมาทำร้ายบาดเจ็บตั้งแต่เด็ก เขากลายเป็นผู้นำที่ทรงอิทธิพลและได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว ในที่สุดก็เป็นผู้ร่างกฎหมายห้ามสุรา (National Prohibition Act) ยื่นสู่สภาคองเกรส
ในช่วงเวลานั้นเมืองกำลังขยายตัว คนในชนบทจำนวนมากอพยพเข้าสู่เมือง ว่างๆ ก็มักเข้าไปดื่มในซาลูน ฝ่ายนักการเมืองหัวใสเห็นช่องก็เสนอแนวทางช่วยเหลือ ทั้งการงาน การช่วยเหลือทางกฎหมาย และอาหารการกิน เพื่อแลกกับคะแนนเสียง ซาลูนในสายตาของฝ่ายต่อต้านสุราจึงเป็นฐานแห่งการคอร์รัปชัน
ฝ่ายนักเศรษฐศาสตร์และเจ้าของกิจการก็สนับสนุนการห้ามสุรา เพราะเมื่อแรงงานไม่มีปัญหาสุขภาพจากการดื่มก็ย่อมส่งผลต่อผลิตภาพที่ดีขึ้น มีคำศัพท์ที่ใช้กันในยุคนั้นว่า Blue Monday หมายถึงวันจันทร์ที่มืดมน เนื่องจากแรงงานมักจะมีอาการแฮงก์โอเวอร์ในวันจันทร์เพราะดื่มเสียหนักหน่วงในวันอาทิตย์ ทำให้วันจันทร์กลายเป็นวันที่เกือบสูญเปล่าสำหรับเจ้าของกิจการ
ในที่สุดการเสนอแก้รัฐธรรมนูญครั้งที่ 18 ของสหรัฐในเรื่องการห้ามสุราโดยเฉพาะก็เกิดขึ้น (The Eighteenth Amendment) รัฐธรรมนูญผ่านการลงมติจากทั้ง 2 สภาในเดือนธันวาคม 1917 จากนั้น 46 รัฐจากทั้งหมด 48 รัฐได้รับรองให้สัตยาบันในวันที่ 16 มกราคม 1919
ต่อมาในเดือนตุลาคมปีเดียวกันสภาคองเกรสได้ผ่านพระราชบัญญัติห้ามจำหน่ายสุรา (National Prohibition Act) เรียกกฎหมายนี้ในชื่อ Volstead Act ตามชื่อของ Andrew Volstead สมาชิกสภาคองเกรสและประธานกรรมาธิการกฎหมายผู้นำ พ.ร.บ. เข้าสู่การพิจารณา (เวย์น วีเลอร์ เป็นผู้ร่าง) ทำให้การห้ามสุราเริ่มมีผลในวันที่ 17 มกราคม 1920 หรือ 1 ปีหลังรัฐธรรมนูญได้รับการรับรอง
เมื่อมีผลบังคับใช้แล้ว วุฒิสมาชิกคนหนึ่งที่เป็นฝ่ายสนับสนุนกฎหมายนี้ถึงกับมั่นใจว่า “ความเป็นไปได้ที่จะมีการยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 18 มีพอๆ กับความเป็นไปได้ที่นกฮัมมิงเบิร์ดจะบินไปถึงดาวอังคารโดยที่หางของมันผูกอนุสาวรีย์วอชิงตันติดไปด้วย”
แต่ไม่ทันไรที่กฎหมายห้ามขายเหล้าถูกใช้บังคับซึ่งเป็นการบังคับธรรมชาติของมนุษย์ มันก็ย่อมมีการฝ่าฝืน โดยวิธีการฝ่าฝืนหรือหลบเลี่ยงก็แสดงให้เห็นถึงธรรมชาติมนุษย์ได้เป็นอย่างดี และเนื่องจากการห้ามสุรานี้ห้ามเฉพาะการผลิต การจำหน่าย การขนย้าย และการนำเข้า แต่ไม่ได้ห้ามการครอบครองและบริโภค ช่องทางจึงมีมาก นอกจากนี้ยังไม่ได้ห้ามไวน์ผลไม้และไซเดอร์ หากผลิตไม่เกิน 200 แกลลอนต่อปี รวมถึงไม่ได้ห้ามใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา
ก่อนกฎหมายจะมีผล โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 1919 มีการสต๊อกสุราชนิดต่างๆ ไว้ตามบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก แม้แต่ประธานาธิบดี “วูดโรว์ วิลสัน” ก็ยังย้ายคลังเครื่องดื่มกลับไปบ้านที่วอชิงตันหลังหมดวาระลง ส่วนประธานาธิบดีคนใหม่คือ “วอร์เรน จี. ฮาร์ดิง” ก็ย้ายคลังของตัวเองเข้ามายังทำเนียบขาวแทน พวกที่ไม่ได้เตรียมการไว้ก็อาจใช้วิธีเดินทางไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านอย่างแคนาดาและเม็กซิโก รวมถึงประเทศในทะเลแคริบเบียนแล้วดื่มเสียให้เต็มคราบก่อนกลับบ้าน หรือไม่ก็รอนักค้าของเถื่อนขนเข้ามาในประเทศ
อดีตร้านเหล้าทั่วไปจำนวนไม่น้อยที่เปลี่ยนเป็นร้านอาหารหรือคาเฟ่ยังคงแอบขายเหล้า รู้กันในหมู่นักดื่มว่าร้านใดขายหรือไม่ขาย หรือมีร้านหลบซ่อนขายเหล้าอยู่ตรงไหน เรียกร้านพวกนี้ว่า Speakeasy คงหมายถึง “พูดแค่นี้ก็รู้เรื่อง” นอกจากนี้ยังแปลงโฉมเป็นสถานที่ที่เรียกว่า Blind Pig และ Blind Tiger หรือหมูตาบอด เสือตาบอด นั่นคือเขียนป้ายให้ลูกค้าเข้าไปดูหมูดูเสืออย่างกับสวนสัตว์ จากนั้นก็ทำการเสิร์ฟเหล้าสบายใจ
น้ำองุ่นไม่ได้ถูกห้าม ฉะนั้นหลายคนก็ทำน้ำองุ่นกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพราะเมื่อผ่านไปสัก 2 เดือน มันก็จะกลายเป็นไวน์พร้อมแอลกอฮอล์ 12 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณการผลิตน้ำองุ่นได้เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าในยุคแห่งการห้ามนี้
เกิดกรณีที่ทางรัฐรู้ทันว่าจะมีการใช้เอทิลแอลกอฮอล์ในทางอุตสาหกรรมไปใช้ในการผลิตเหล้า จึงมีคำสั่งให้แอลกอฮอล์เหล่านี้กลายเป็นพิษโดยเติมสารต่างๆ ลงไป ดื่มแล้วอาจไม่ถึงตายแต่ก็คางเหลือง ฝ่ายคนรู้ทันก็จ้างนักเคมีมาแก้ไขให้กลายเป็นแอลกอฮอล์ที่ดื่มได้ ทางรัฐก็สั่งให้ทางโรงงานเติมสารเข้าไปเพิ่ม รวมถึงเอทิลแอลกอฮอล์และน้ำมันเบนซิน ฝ่ายแพทย์ออกมาคัดค้านเพราะทำให้ถึงตายได้ มีตัวเลขที่น่าตกใจระบุว่าคนตายจากการดื่มแอลกอฮอล์เติมสารอันตรายไปราวๆ 1 หมื่นคนตลอดอายุของกฎหมายนี้ โดยอาจไม่ตายในทันที แต่ตายผ่อนส่งจากพิษที่ค่อยๆ รับเข้าไป
การทำเหล้าบริโภคเองในครัวเรือนเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย เรียกว่า Moonshine หมายถึงแสงจันทร์ มีที่มาจากในอดีตที่การต้มเหล้าต้องไปทำในป่าโดยอาศัยแสงสว่างจากดวงจันทร์เพื่อหลบซ่อนเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ร้านค้าบางร้านขายน้ำองุ่นเข้มข้นโดยเขียนฉลากคำเตือนไว้อย่างละเอียดว่าควรหลีกเลี่ยงขั้นตอนดังต่อไปนี้ ไม่เช่นนั้นน้ำองุ่นของท่านจะกลายเป็นไวน์ไปเสียเปล่าๆ อีกทั้งยังมีร้านขายยาบางแห่งขายไวน์แบบยาน้ำ แอลกอออล์ประมาณ 22 เปอร์เซ็นต์ โดยไวน์นี้เมื่อดื่มเข้าไปจะมีรสชาติของยาเพื่อให้สามารถขายได้ไม่ผิดกฎหมาย
อาชีพที่รุ่งเรืองมากที่สุดในยุคแห่งการห้ามขายเหล้าคงหนีไม่พ้นหมอและเภสัชกร หลังผ่านไป 6 เดือน มีหมอได้รับใบอนุญาตสำหรับเขียนใบสั่งแอลกอฮอล์ที่ใช้ในการรักษามากกว่า 15,000 คน ด้านเภสัชกรได้ใบอนุญาตสำหรับขายแอลกอฮอล์สำหรับการรักษาราว 57,000 คน ตลอดทศวรรษ 1920s มีหมอเขียนใบสั่งเหล้าออกมาถึง 11 ล้านใบ หัวหน้าหน่วยงาน Prohibition ชื่อ “จอห์น เอฟ. คราเมอร์” เปิดเผยว่า มีหมอคนหนึ่งออกใบสั่งวิสกี้ให้กับคนไข้ไป 475 ใบในวันเดียว ร้านขายยาบางทีก็ได้รับใบสั่งยาจากทั้งหมอจริงและหมอเก๊ที่เขียนให้กับพวกพ่อค้าเหล้าเถื่อน (Bootlegger)
ในปี ค.ศ.1931 มีหมอถูกจับประมาณ 400 คน เภสัชกร 1,000 คน ในคดีออกใบสั่งยาปลอมและขายเหล้าให้กับพ่อค้าเหล้าในตลาดมืด อย่างไรก็ตามการขายเหล้าผ่านร้านขายยาทำกำไรอย่างงามให้กับ “ชาร์ลส์ อาร์. วอลกรีน” เจ้าของร้านขายยา Walgreen ซึ่งได้ขยายจาก 20 สาขา เป็น 525 สาขาในยุค 1920s อันเป็นผลมาจากธุรกิจขายเหล้าเพื่อการรักษาโรค
มีหลายคนเชื่อว่ากฎหมายนี้คงจะใช้ไม่ได้ผลตั้งแต่ประมาณปี 1925 นักข่าวชื่อดัง “เอช.แอล. เมนซ์เคน” เขียนไว้ว่า “กฎหมายห้ามขายเหล้าใช้การได้ดีกับเป้าหมายที่เป็นชนชั้นผู้ใช้แรงงานที่ยากจน” นักประวัติศาสตร์ชื่อ “ลิซาเบธ โคห์เอน” เขียนว่า “ครอบครัวเศรษฐีมีเหล้าเต็มห้องใต้ดินและไม่มีปัญหาอะไร แต่หากคนจนมีเหล้าทำเองสักขวดหนึ่งก็อาจจะซวย”
การบังคับใช้กฎหมายเป็นสิ่งที่ยากลำบากไม่น้อยแม้ว่ารัฐบาลกลางได้ตั้งฝ่ายปฏิบัติขึ้นมา 3 หน่วยงานสำหรับจัดการกับขบวนการค้าเหล้าเถื่อน สิ่งที่เป็นอุปสรรคอย่างมากก็คือลักษณะภูมิประเทศของอเมริกาที่มีลักษณะแตกต่างหลากหลาย ทั้งหุบเขา ภูเขา ทะเลสาบ บึงที่กว้างขวาง พื้นที่ชายทะเลทั้งแปซิฟิก แอตแลนติก และแคริบเบียน ท่าเรือนับไม่ถ้วน ชายแดนที่ติดกับแคนาดาและเม็กซิโก นอกจากเจ้าหน้าที่รัฐเกินจะต้านทานการลักลอบขายเหล้าแล้ว ก็ยังมีบางส่วนแอบหันไปรับสินบนจากผู้ทำผิดกฎหมาย เกิดตำนาน “อัล คาโปน” เจ้าพ่อเหล้าเถื่อนขึ้นในชิคาโกอย่างที่ทราบกัน
ยังมีกรณีของ “จอร์จ แคสซิเดย์” พ่อค้าเหล้าเถื่อนที่วันหนึ่งในเดือนตุลาคม ปี 1930 ได้ออกมาเปิดเผยกับหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ว่าเขาแอบขายเหล้ามาเป็นเวลา 10 ปี ลูกค้าของเขาหลายคนเป็นสมาชิกสภาคองเกรสและวุฒิสมาชิก ท่านผู้ทรงเกียรติจาก 2 สภานี้ทั้งหมดเป็นนักดื่มเสียประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์
สมาชิกพรรคเดโมแครตในรัฐทางเหนือส่วนมากนิยมดื่ม พวกเขาเชื่อว่าการห้ามขายเหล้าไม่ได้หยุดอาชญากรรม หากแต่ทำให้เกิดอาชญากรรมในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น ทำให้กลุ่มมาเฟียที่มีทั้งทุน กำลังคนและอาวุธเติบโต พร้อมชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ พรรคเดโมแครตได้เก้าอี้เพิ่มในการเลือกตั้งปี 1932 คนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับกฎหมายห้ามขายเหล้า โดยเฉพาะในสังคมเมือง
ตลาดมืดที่เกิดขึ้นยังได้แข่งขันกับระบบเศรษฐกิจปกติ ยิ่งเมื่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เรียกว่า Great Depression เริ่มส่งผลอย่างหนักในสหรัฐตั้งแต่ปี 1929 รัฐต่างๆ ต้องการรายได้จากภาษีแอลกอฮอล์เพื่อนำมาพยุงเศรษฐกิจ แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ได้หาเสียงยกเลิกกฎหมาย Prohibition เมื่อได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ในปี 1932 ก็ทำตามสัญญา ได้ลงนามแก้ไข Volstead Act ในเดือนมีนาคม 1933 อนุญาตให้ขายเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 4 เปอร์เซ็นต์ (ก่อนหน้านี้กำหนดไว้เพียง 0.5 เปอร์เซ็นต์) จากนั้นก็นำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 21 ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 18 ในวันที่ 5 ธันวาคม 1933 ถือเป็นครั้งแรกในสหรัฐที่มีการแก้ไขยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่า
แม้ว่ารัฐธรรมนูญถูกแก้ไขแล้ว แต่ไม่ได้มีการห้ามไม่ให้รัฐต่างๆ คงกฎเหล็กแบนแอลกอฮอล์ต่อไป มีถึง 18 รัฐที่ยังคงเดินหน้ากฎหมาย Prohibition มิสซูรีเป็นรัฐสุดท้ายที่กว่าจะยกเลิกกฎหมายห้ามขายเหล้าก็ปาเข้าไปปี 1966 สำหรับในเขตพื้นที่สงวนชาวอินเดียนแดงหรือชนพื้นเมืองผู้อยู่มาก่อนทั้งหลายยังคงถูกสั่งห้ามโดยกฎหมาย Federal Law
จอห์น ดี. ร็อกกีเฟลเลอร์ จูเนียร์ ผู้ที่เคยสนับสนุนกฎหมายห้ามขายเหล้า กล่าวไว้ในปี 1932 ว่า “เมื่อเริ่มมีการเสนอกฎหมาย ผมหวังว่าสาธารณชนจะอ้าแขนรับและตระหนักได้ถึงพิษภัยของเจ้าปีศาจตนนี้ ทว่าในเวลาต่อมาผมเริ่มรู้สึกว่าตัวเองคิดผิดหรือเปล่า เพราะอัตราการดื่มไม่ได้ลดลง บรรดาร้าน Speakeasy เข้ามาแทนที่ซาลูน เกิดกลุ่มมาเฟียติดอาวุธ คนดีๆ ของเราเริ่มเมยเฉยต่อกฎหมายนี้ เมื่อคนไม่เคารพกฎหมาย อาชญากรรมก็เพิ่มขึ้นในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน”
หลังจากนั้นเป็นต้นมาสังคมอเมริกันก็ยังมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการห้ามขายเหล้า Gallup Poll ทำการสำรวจเกือบทุกปีนับแต่ ค.ศ.1939 ระบุว่าอเมริกันชนทั้งประเทศที่อายุมากกว่า 18 ปี ดื่มแอลกอฮอล์เป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ส่วนโพลของ CNN เมื่อปี 2014 เปิดเผยว่ามีชาวอเมริกัน 18 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าการดื่มเหล้าควรเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
สังคมอเมริกันยังมีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย และเมื่อเป็นประเทศประชาธิปไตย ก็คงต้องว่ากันไปตามเสียงข้างมาก!!!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |