20 มิ.ย.63 - นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยวานนี้ว่า วันนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยเรื่องร้องเรียน นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ และ นายทรรศนัย ทีน้ำคำ ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย เกี่ยวกับสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 90 คน ซึ่งเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่ามีลักษณะต้องห้ามเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 108 ข. (1) (3) และ (9) อันมีผลทำให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามมาตรา 111 (4) หรือไม่นั้น
ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่า ตามมาตรา 23 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้ เมื่อเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยที่ “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” หมายถึง กฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารก็ตาม ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนดที่ได้รับอนุมัติจากรัฐสภาแล้ว และประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่มีผลใช้บังคับเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ
แต่กรณีปัญหาตามคำร้องเรียนในเรื่องนี้เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลง มิใช่เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะพิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 82 บัญญัติไว้ว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (3) (5) (6) (7) (8) (9) (10) หรือ (12) หรือมาตรา 111 (3) (4) (5) หรือ (7) แล้วแต่กรณี และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่...” วรรคสี่ บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งมีเหตุสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งได้ด้วย”
จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภามีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานวุฒิสภา ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลง โดยให้ประธานวุฒิสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และยังกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องในลักษณะดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้ด้วย
เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่ากรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดหน่วยงาน หลักเกณฑ์ และวิธีการพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลงไว้โดยชัดแจ้งและเป็นการเฉพาะแล้ว โดยเป็นอำนาจของประธานวุฒิสภาและคณะกรรมการการเลือกตั้งในการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐธรรมนูญกำหนด ดังนั้น กรณีปัญหาตามคำร้องเรียนในเรื่องนี้จึงไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 37 (3) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่อาจอาศัยอำนาจตามมาตรา 23 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงวินิจฉัยให้ยุติเรื่อง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |