ผับ-บาร์เตรียมเฮ ก.ค.จ่อปลดล็อก! เคาะสัปดาห์หน้า


เพิ่มเพื่อน    


    ไทยติดโควิดเพิ่ม 5 ราย กลับจากซาอุฯ ศบค.ส่ง "รอง ผบ.ทบ." เจรจานักดนตรี พร้อมนัดตัวแทนผับ-บาร์-คาราโอเกะคุยแนวทางปลดล็อก แย้มไฟเขียวเดือน ก.ค.ชงชุดใหญ่เคาะ 26 มิ.ย. "อนุทิน" หารือทูตญี่ปุ่นวางกรอบ "ทราเวลบับเบิล" เผยพัฒนาวัคซีนก้าวหน้า อีก 3-4 เดือนเริ่มทดลองกับคน
    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน เวลา 11.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 5 ราย ในสถานที่กักตัวของรัฐ ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 3,146 ราย หายป่วยสะสม 3,008 ราย ซึ่งไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดสะสมคงที่ 58 ราย 
    สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ทั้ง 5 ราย เป็นนักศึกษาชายไทย อายุระหว่าง 23-26 ปี เดินทางมาจากประเทศซาอุดีอาระเบีย ถึงประเทศไทยในวันที่ 12 มิ.ย. เข้าพักที่สถานกักตัวของรัฐใน กทม. ตรวจพบเชื้อในวันที่ 16 มิ.ย. โดยทุกรายไม่มีอาการ ซึ่งในเที่ยวบินดังกล่าวมีทั้งหมด 195 คน มีการตรวจ 3 ครั้ง พบผู้ติดเชื้อ 15 ราย สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อ 8,578,052 ราย และเสียชีวิต 456,284 ราย
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ข่าวที่น่าสนใจคือ ประเทศเยอรมนีสั่งระงับการปฏิบัติงานของโรงงานแปรรูปเนื้อแห่งหนึ่ง หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 650 ราย ซึ่งมีการตรวจเชื้อ 1,000 ราย และอยู่ระหว่างรอตรวจอีกหลายพันราย ดังนั้น เราเรียนรู้จากข่าวต่างประเทศ จะเห็นว่ามีการติดเชื้อจากกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากสถานที่ไม่ถูกสุขอนามัย ซึ่งประเทศไทยมีพระราชบัญญัติควบคุมโรคติดต่อ จึงฝากผู้ประกอบการเข้าไปดูเรื่องความสะอาด สาธารณสุข ถ้าไม่อยากให้มีการติดเชื้อก็ต้องดูแลตัวเองเป็นอย่างดี การบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องทางการ แต่อาจไม่ต้องบังคับใช้กฎหมาย ถ้าเรารู้หน้าที่ทุกคนก็จะปลอดโรค ปลอดภัย สำหรับคนไทยที่ตกค้างในต่างประเทศและจะเดินทางถึงประเทศไทยในวันเดียวกันนี้ 5 เที่ยวบิน จำนวน 500 ราย ในวันที่ 20 มิ.ย. จำนวน 503 ราย
    เมื่อถามถึงการช่วยเหลือคนไทยในอียิปต์ พบว่า 38 คน มีไข้สูงและได้รับการรักษาเพียงพาราเซตามอลและวิตามีนซี จะให้การดูแลอย่างไรได้บ้าง นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เป็นความกังวล แต่โรคนี้ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน มีเพียงวิธีการรักษาตามอาการเท่านั้น ถ้ามีไข้ก็ใช้ยาพาราเซตามอล ไม่ผิดจากการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งได้รับรายงานจากที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ว่านักศึกษาไทยที่ต้องอยู่ในหอพักใน 38 คน ได้รับการตรวจซ้ำ และผลตรวจออกมาเป็นลบ ส่วนที่เหลือมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการเลย โดยกรมควบคุมโรคและกรมการแพทย์ประสานและจัดทำกรุ๊ปไลน์ขึ้นมา เพื่อให้ทั้ง 38 คนได้ปรึกษากับแพทย์ ซึ่งหลายคนผ่อนคลายขึ้น โดยจะมี 4 เที่ยวบินจากประเทศอียิปต์ ในวันที่ 3 ก.ค. และวันที่ 8 ก.ค. รอบละ 200 คน และอีก 2 เที่ยวบินยังไม่มีกำหนดวันและเวลา แต่คาดว่าอีกพันคนจะกลับมาในช่วงเร็วๆ นี้ 
    ทั้งนี้ ไม่ว่าคนไทยจะอยู่ส่วนไหนของโลก เราจะพยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันยังพบว่ามีนักศึกษาตกค้างที่ประเทศซูดาน ซึ่งการเดินทางยากลำบากกว่าประเทศอียิปต์ เนื่องจากมีเที่ยวบินน้อย แต่โชคดีที่เรามีทหารไทยอยู่ที่ประเทศซูดาน 1 กองร้อย และมีแพทย์ทหาร จะได้ดูแล และคาดว่าในวันที่ 24 มิ.ย.จะเดินทางกลับมาได้ทั้งหมด
จ่อปลดล็อกสถานบันเทิง
    ส่วนกรณีกลุ่มนักดนตรีเรียกร้องให้รัฐบาลปลดล็อกกลับไปทำงานตามปกตินั้น โฆษก ศบค.กล่าวว่า เป็นที่น่าเห็นใจ เพราะกิจกรรมและกิจการอื่นเปิดได้ แม้แต่คอนเสิร์ตยังเปิดได้ แต่นักดนตรียังทำงานไม่ได้ และคนที่ติดเชื้อไม่ใช่นักดนตรี แต่เป็นนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในสถานบันเทิง เรื่องเหล่านี้ ผอ.ศบค.เป็นห่วงทุกอาชีพที่สุจริต ทุกอย่างล้วนมีสิทธิดำเนินการ ซึ่งวันเดียวกันนี้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะกรรมการคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 เจรจากับกลุ่มนักดนตรีอิสระแล้วว่ามีการเตรียมการจะอยู่กับวิถีชีวิตใหม่อย่างไร มีส่วนช่วยอะไรให้สังคมและจะช่วยทำอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ รวมถึงกิจการผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่จะมีผู้แทนมาพูดคุยแนวทางปลดล็อกในวันอาทิตย์ที่ 21 มิ.ย.นี้ เวลา 10.30 น.
     เมื่อถามว่า การจับคู่การเดินทางระหว่างประเทศที่มีความปลอดภัยจากโควิด-19 สูง (ทราเวลบับเบิล) เป็นห่วงจะทำให้เกิดการระบาดซ้ำ และไม่คุ้มหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ยังไม่มีข้อยุติ แต่อยากให้ทำความเข้าใจตรงกันว่าทราเวลบับเบิลไม่ใช่ว่าจะมีนักเที่ยวเข้ามาหลายแสนหลายล้านคนต่อปี แต่จะเป็นกลุ่มที่เข้ามาผลักดันเศรษฐกิจให้ดีขึ้น เช่น นักธุรกิจ แรงงานมีฝีมือ ผู้เชี่ยวชาญดูแลเครื่องจักร เครื่องกล ผู้เข้ามารับการรักษาพยาบาล ครูโรงเรียนนานาชาติ และผู้ที่ขออนุญาตทำงานในประเทศไทย ซึ่งมีการลงทะเบียนแล้วกว่า 2 หมื่นคน ไม่ใช่นักท่องเที่ยวทั่วไป ซึ่งกลุ่มดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาก่อน และเชื่อว่าหากเข้ามาประมาณ 2-3 หมื่นคน สามารถดูแลจัดการได้ โดยการอนุญาตให้เข้ามา ผอ.ศบค.จะพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ โดยให้ทีมเข้าไปศึกษารายละเอียดอย่างดี ถ้าเรียบร้อยก็จะเห็นความก้าวหน้าในลำดับต่อไป
    ด้าน พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานคณะทำงานมาตรการผ่อนคลายในคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ หรือ ศบค.ชุดเล็ก กล่าวภายหลังหารือกลุ่มนักดนตรีถึงแนวทางการผ่อนคลายมาตรฐานเพื่อให้กลับกลุ่มนักดนตรีได้ทำงานตามปกติ ศบค.มีแผนงานที่ให้เปิดกิจการอยู่แล้ว ที่ผ่านมาไม่ได้พิจารณาแค่ด้านสาธารณสุข แต่พิจารณาด้านเศรษฐกิจด้วย   ซึ่งได้ขออภัยกลุ่มอาชีพดังกล่าว เนื่องจากหลักคิด ศบค.พิจารณา 3 อย่าง คือ ความจำเป็น ความเสี่ยง และผลกระทบต่อสังคม รวมทั้งการทยอยสร้างความพร้อมแบบ New Normal ให้แก่ผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ และแม้แต่ภาครัฐเอง โดยคำนึงถึงความร่วมมือของประชาชน และหลัก 5 ข้อของกระทรวงสาธารณสุข
    “ขอยืนยันว่านายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค.ห่วงใยทุกอาชีพ และให้นโยบายให้มีการผ่อนคลายให้ได้มากที่สุด โดย 3 เดือนที่ผ่านมา ก็มีการเยียวยาให้กับทุกอาชีพ แต่หลายกิจการที่ได้ผ่อนปรน ก็เกิดการวิจารณ์ตามมา ดังนั้นจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจว่าหากอนุญาตให้เปิดกิจการได้แล้ว จะต้องปลอดภัยจากโควิด-19 อีกทั้งหากอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิงก่อนโรงเรียน ก็เกรงว่าจะไม่สามารถตอบคำถามสังคมได้ จึงอาจจะพิจารณาให้เปิดพร้อมกันกับโรงเรียนในวันที่ 1 ก.ค.นี้ หรือหลังเปิดโรงเรียนสักระยะ” พล.อ.ณัฐพลระบุ
    ส่วน น.ส.พรพรรณ เภตรารัตน์ ตัวแทนอาชีพนักดนตรีอิสระ เผยว่า ได้แบกรับค่าใช้จ่ายมาเป็นเวลากว่า 4 เดือน เราเข้าใจกับมาตรการของรัฐ แต่วันนี้พวกเราไม่ไหวแล้ว จึงอยากออกไปทำงาน โดยมีข้อเสนอเพื่อป้องกันการตะโกนใส่กัน เสนอทำฉากพลาสติกหน้าเวที รวมถึงจำกัดจำนวนคนเข้าไปชม เพื่อรักษาระยะห่าง ไม่ส่งแก้ว ชนแก้วกัน สนุกได้แบบมีระยะห่าง ยืนยันจะมีแนวทางป้องกันแพร่ระบาดของโควิด-19
ยังไม่สรุปเลิกต่อพรก.ฉุกเฉิน
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ที่จะครบกำหนดวันที่ 30 มิ.ย. ว่าตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปและเวลานี้ไม่ทราบแล้ว เป็นเรื่องที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ต้องไปหารือกับทางแพทย์ ซึ่งยังไม่ได้ประชุมกัน เพราะกำลังประเมินผลการผ่อนคลายมาตรการตามเฟส 4 ที่ผ่านมา ส่วนต้องผ่านที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ก่อนหรือไม่นั้น ปกติเราประมวลข้อเสนอแนะจาก ศบค. แล้วนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เลย ไม่เคยนำเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ แต่ครั้งนี้อาจจะนำเข้าก็ได้ เพราะไม่ใช่จะต่อหรือไม่ต่อ แต่ต้องดูว่าจะมีมาตรการอะไรที่จะต้องยกเลิกอีกด้วยหรือไม่
    ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำงานของรัฐบาลแบบ New Normal เพียงสั้นๆ ว่า "เดี๋ยวจะพูดวันหลัง"
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีกลุ่มนักดนตรี นักร้อง ขอให้ศบค.ช่วยผ่อนคลายอาชีพดังกล่าวด้วยว่า จะต้องพิจารณาให้เขา แต่ต้องขอความร่วมมือด้วย จะให้โฉงเฉงเหมือนเดิมคงไม่ได้ หรือจะให้เต้นรำทำเพลงแล้วมีสารคัดหลั่งออกมาจะติดเชื้อกันอย่างนั้นคงไม่ได้ แต่อาจจะเป็นการบรรเลงให้ฟังเพื่อเกิดความไพเราะ 
    "ผมก็คิดอยู่ เพราะผมก็เป็นนักดนตรีเหมือนกัน กำลังจะนำเสนอในที่ประชุม ศบค.วันศุกร์ที่ 26 มิ.ย. เพื่อหารือเรื่องดังกล่าวโดยจะดูว่าถ้าสามารถจำกัดวิธีการเล่นดนตรี และขอหารือทางกรมควบคุมโรคกับทางอาจารย์แพทย์ว่ามีความครอบคลุมได้มากน้อยเพียงใด แต่ถึงอย่างไรก็ต้องสวมหน้ากากอนามัยแน่นอน รวมไปถึงการเว้นระยะ" นายอนุทินระบุ
    นายอนุทินเปิดเผยว่า ในวันนี้ได้เชิญอธิบดีกรมควบคุมโรค และเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยมาหารือเรื่องทราเวล บับเบิล เพื่อหากรอบข้อตกลงระหว่างกัน โดยจะทำเป็นร่างก่อนว่ากติกาต่างๆ เหล่านี้สามารถยอมรับหรือไม่ เช่น การคัดกรอง Fit to Fly ก่อนเดินทางออกจากประเทศญี่ปุ่นแบบที่ประเทศไทยต้องการได้หรือไม่ หรือสามารถรับรูปแบบการคัดกรองของประเทศไทยก่อนที่คนไทยจะเดินทางไปญี่ปุ่นได้หรือไม่ ซึ่งต้องเตรียมพร้อมเพื่อนำไปเสนอนายกรัฐมนตรี และที่ประชุม ศบค.ให้พิจารณาต่อไป เราจะค่อยๆ ทำเป็นขั้นๆ เพื่อให้กลับสู่ความเป็นปกติให้มากที่สุด
    เมื่อถามว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะหมดอายุการบังคับใช้ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ทาง ศบค.จะมีการหารือเรื่องการบังคับใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ แทนหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ในส่วนนี้ต้องนำไปหารือในที่ประชุม ศบค. ซึ่งจะต้องนำข้อดี-ข้อเสียของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมาเทียบเคียงกัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด เราจะใช้กฎหมายฉบับใดนั้นก็คือความสะดวกและความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญกว่ากฎหมาย 
    "พอเราเห็นว่าสถานการณ์เริ่มผ่อนคลายและผู้ติดเชื้อลดลง เราก็เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่มีความหมาย แต่หากลองย้อนกลับไปเมื่อ 3-4 เดือนก่อนว่า หากไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็เหนื่อยเหมือนกัน" นายอนุทินระบุ
    เมื่อถามย้ำว่า ในทางการแพทย์มองสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร รมว.สาธารณสุขกล่าวว่า ได้เจรจากับอธิบดีกรมควบคุมโรค ซึ่งบอกว่ายังคงต้องใส่หน้ากากอนามัยต่อไป ถึงแม้ตอนนี้ไม่มีการติดเชื้อในประเทศติดต่อกันเป็นวันที่ 26 แล้วก็ตาม ถือว่าได้รับความร่วมมือที่ดีจากประชาชน ต้องขอบคุณมากจริงๆ อย่างไรก็ตาม ใส่หน้ากากอนามัยไว้ดีที่สุด ต่อให้ไม่มีเคอร์ฟิวแล้วก็ตาม 
3-4เดือนทดลองวัคซีนกับคน
    นายอนุทินยังกล่าวถึงกรณีที่รับอาสาทดลองฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นกลุ่มแรกว่า ยังไม่ได้เริ่มในทันทีทันใดนี้ ต้องรออีกสักพักหนึ่ง เพราะยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน ตอนนี้ยังอยู่ในระยะการใช้ตัวหนูทดลอง ซึ่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รายงานว่าผลการทดลองมีภูมิต้านทานเกิดขึ้นในตัวสัตว์ทดลอง ดังนั้นจะต้องขยายไปในขั้นต่อไปคือลิง แต่ไม่ใช่กระต่าย กว่าจะถึงฉีดกลุ่มคนคงต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3-4 เดือน ตามหลักของระบบการสาธารณสุข เวลาทดลองวัคซีนนั้น จะทดลองกับกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข เช่น แพทย์ กลุ่มเสี่ยง คนที่ต้องใกล้ชิดกับคนไข้ก่อน  แต่กว่าจะฉีดเข้าไปในคนได้นั้นต้องผ่านการรับรองความปลอดภัยตามมาตรฐาน และขั้นตอนไม่ได้มีอะไรน่ากลัว 
    "ตอนนี้ทางจุฬาฯ ได้ทำไปไกลมากแล้ว ไบโอเนท-เอเชีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนภาคเอกชนก็ทำไปได้มาก ทั้งสองสถาบันนี้ได้มีเอ็มโออยู่ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติของรัฐบาล ดังนั้นในงบเงินกู้ 4.5 หมื่นล้านบาท ทาง สธ.ได้มาส่วนใหญ่ประมาณ 3 พันล้าน เพื่อให้สถาบันวัคซีนไปช่วยเพิ่มศักยภาพเพิ่มความคล่องตัวในการทดลองวัคซีน โดยหารือกับอธิบดีถึงเรื่องบรรจุภัณฑ์ของวัคซีนด้วย เพราะอาจจะขาดตลาดได้ถ้ามีการค้นพบวัคซีนไปแล้ว ดังนั้นจึงต้องเตรียมโรงงาน เตรียมจองสินค้า เตรียมการให้พร้อมทั้งหมด ดังนั้นเมื่อมานำเสนอได้ขนาดนี้ ก็แสดงถึงความมั่นใจแล้ว เพื่อขอการสนับสนุนงบประมาณ คงไม่ทำอะไรโดยที่ไม่มีเป้าหมายของความสำเร็จที่จะทำได้ โควิด-19 นั้นสอนให้เราพึ่งพาตัวเอง ซึ่งสอนให้รู้ว่าถ้าจะรอซื้อจากต่างประเทศก็มีราคาแพง ดังนั้นลองผลิตเองด้วยความจำเป็นจะดีกว่า และด้วยศักยภาพพื้นฐานทางอุตสาหกรรมของประเทศไทยนั้นก็สุดยอดอยู่แล้ว สิ่งที่เราเคยคิดว่าขาดตลาดเราก็สามารถนำมาผลิตได้ ดังนั้นวัคซีนและยาโควิด-19 ก็เช่นกัน" นายอนุทินระบุ
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายอนุทิน ให้เป็นประธานการประชุมอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) สธ. พิจารณาหลักเกณฑ์การบรรจุข้าราชการตามที่ ครม. คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) กำหนดให้กับบุคลากรผู้ปฏิบัติหน้าที่หน้างาน และสนับสนุนการปฏิบัติงานโควิด-​19 โดยบรรจุรอบแรกในวันที่ 29 มิ.ย. และจะทยอยบรรจุให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานโรงพยาบาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลรอบต่อไปในเดือน ก.ย.
    ทั้งนี้ ได้มอบกองบริหารทรัพยากรบุคคลให้สื่อสารทำความเข้าใจกับบุคลากรว่า การจัดสรรครั้งนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ. และ คปร.กำหนด และมอบให้อธิบดี ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ทุกเขตสุขภาพ กำกับติดตามการจัดสรรให้มีความเป็นธรรม เนื่องจากตำแหน่งที่ได้รับครั้งนี้เป็นกรณีพิเศษจากการต่อสู้สถานการณ์โรคโควิด-​19 ในส่วนบุคลากรที่ยังไม่ได้รับการบรรจุจะหารือกับ ก.พ.และ คปร. เพื่อพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป
    สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องการเรียนออนไลน์ในสถานการณ์โควิด-19 ในเขตกรุงเทพฯ พบว่า ร้อยละ 95.8 มีเรียนออนไลน์ที่บ้าน และร้อยละ 69.7 มีสมาร์ทโฟนที่สามารถใช้เรียนออนไลน์ได้ เกือบร้อยละ 70 มีเรียนออนไลน์ของโรงเรียน วิธีเรียนส่วนใหญ่เรียนผ่านเทปหรือคลิปวิดีโอที่ทางโรงเรียนบันทึกไว้ 
    ทั้งนี้ พบว่าร้อยละ 75.1 รู้สึกเครียดจากการเรียนออนไลน์ สาเหตุที่ทำให้เครียด 3 อันดับแรก คือ 1) การเรียนออนไลน์ทำให้ความตั้งใจและสมาธิต่อการเรียนลดน้อยลง 2) ความไม่เข้าใจในเนื้อหาวิชาที่เรียน และ 3) วิชาบางวิชามีเนื้อหาที่ไม่เหมาะกับการเรียนการสอนออนไลน์ นอกจากนี้อยากให้มีการช่วยเหลือจากการเรียนออนไลน์ โดยการลดค่าเทอม และสนับสนุนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"